วันศุกร์, กันยายน 30, 2554

น้ำตก"ไนแองการ่า” ของขวัญจากธรรมชาติ



ทวีปอเมริกาเหนือบนแผนที่โลก นับเป็นทวีปใหญ่ และมีประเทศใหญ่ๆเพียงสองประเทศครอบครองดินแดนของทวีป  คือ แคนาดาอยู่ตอนเหนือ สหรัฐอเมริกาอยู่ตอนใต้ พรมแดนระหว่างประเทศทั้งสองที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งคือ บริเวณน้ำตก ไนแองการ่า เป็นน้ำตกที่ไหลจากประเทศสหรัฐอเมริกาไปตกฝั่งประเทศแคนาดา  คนทั้งสองประเทศจึงเห็นน้ำตกสวยงามแตกต่างกัน  คนประเทศสหรัฐอเมริกาเห็นความสวยงามอลังการของน้ำตกจากมุมสูงของหน้าผาที่มองลงไปยังน้ำตกเบื้องล่าง   คนประเทศแคนาดามองเห็นความสวยงามอลังการของน้ำตก บนเรือที่แล่นฝ่าละอองน้ำเข้าหาน้ำตกเป็นอีกมุมหนึ่ง  ทั้งสองมุมล้วนแล้วแต่นำเงินจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้กับสองประเทศ  เพราะสังเกตจากเรือนำโต้กระแสน้ำติดธงชาติของทั้งสองประเทศ  แสดงถึงการทำมาหากินร่วมกัน  จากน้ำตกไนแองการ่าของขวัญจากธรรมชาติ แห่งนี้

สนสีเหลืองเสาไฟฟ้าแรงสูงของ Canada


ต้นสน เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นตรงโดดเดี่ยว  มีกิ่งเล็กๆ รอบต้นลักษณะเป็นรูปฉัตรแผ่จากโคนต้นขึ้นไปสู่ยอดสน
                ด้วยความสูงและตรงอาจสูงถึง  30-40  เมตรจึงเหมาะที่จะนำมาทำเสาไฟฟ้า  เมื่อเดินทางไปประเทศแคนาดาหรือสหรัฐอเมริกา  พื้นที่บางรัฐบางเมืองที่ยังไม่ฝังสายไฟฟ้าลงดินจึงเห็นเสาไฟฟ้าแรงสูงทำด้วยต้นสนที่ชื่อ สนสีเหลือง อยู่ทั่วไป
                มีคณะดูงานตั้งคำถาม ถามมัคคุเทศก์ว่า “ ทำไมเขาไม่เปลี่ยนมาใช้เสาไฟฟ้าที่เป็นโลหะ” มัคคุเทศก์ ตอบว่า “คงประหยัดดี  หาง่าย  เสาต้นสนมีความคงทนอยู่ได้เป็นร้อยปี เจาะก็ง่าย  จึงเห็นเสาไฟฟ้ามีรูพรุนไปทั้งต้น” นับเป็นการใช้ทรัพยากรที่กลมกลืนกับบริบทแวดล้อมที่ชาญฉลาดของทั้งสองประเทศ  ภาพประกอบอาจไม่ใช่ต้นสนสีเหลืองนะ

Buddy ของฉัน


                ในการเดินทางไปศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์ ณ ประเทศ Canada ระหว่างวันที่ 19-26 กันยายน 2554 ครั้งนี้ ทุกคนต่างมีคู่หู (Buddy) คนไปต่างประเทศนะนาย  เผลอไม่ได้ เดี่ยวหลง ถูกทิ้ง  ฉะนั้นทุกคนต่างหาบัดดี้  กันพลาด  การจับคู่ก็มีเทคนิคเหมือนกันนะ  คู่นี้ชอบนอนเงียบ  คู่นี้ชอบนอนไปบ่นไป  คู่นี้ชอบชอปปิ้งกลางวัน  คู่นี้ชอบชอปปิ้งกลางคืน  คู่นี้ชอบตื่นมากินกาแฟยามดึก  คู่นี้ชอบอยู่ไกลฝรั่งไว้  เดี่ยวมันถามตอบมันไม่ได้   (แซวเล่น)  สรุปแล้วจับได้ 8 คู่ แปดห้องนอนลงตัวพอดี
                สำหรับคู่ของฉัน ชอบตื่นมาคุยกันตอนตีสอง คุยไปจิบกาแฟไป  พอเช้าไปดูงาน ฝรั่งบรรยาย  เสียงกรน ดัง  ครอก..ครอก...ฝรั่งยิ้ม  สงสารท่าจะปรับเวลาไม่ได้กระมั้ง

อาการ Jet Lag


อาการ เจทแลค  เป็นอาการของผู้โดยสารหรือกัปตัน ที่เดินทางโดยเครื่องบินเป็นระยะทางไกลๆ ข้ามวันเวลา  ลักษณะอาการคือ นอนไม่หลับ  ปวดหัว  เซื่องซึม  ฉุนเฉี่ยวง่าย  สมาธิกระเจิดกระเจิง  ไม่อยากกินอาหาร เป็นต้น
                การเดินทางจากประเทศไทยไปประเทศแคนาดา  จากสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินนาริตะของญี่ปุ่น               บินจากนาริตะ สู่สนามบินโตรอนโตของแคนาดา  บินต่อไปสนามบินนครออตตาว่า  เมืองหลวงของแคนาดา   ใครที่เดินทางไกลเช่นนี้  แน่นอนว่าอาการ Jet lag ต้องเกิดขึ้น  ข้อแนะนำจากการสืบค้นคือ พยายาม งดเครื่องดื่มกาแฟ  และอาบน้ำให้ตัวสบายๆ จะช่วยแก้ได้

วันพุธ, กันยายน 28, 2554

นกหัวขวานยักษ์ที่ CN Tower


ในความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ ของนคร Toronto ซึ่งเต็มไปด้วยตึกรามสูงเสียดฟ้า ถนนต่างระดับขวักไขว่ ใกล้ๆ กับหอคอยที่เคยสูงที่สุดในโลก ชื่อ CN Tower (ปัจจุบันเป็นที่ 3) มีสิ่งประดับอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่แสดงถึงความโหยหาธรรมชาติ คือ ประติมากรรม นกหัวขวานยักษ์เกาะต้นไม้ปลอมขนาดใหญ่ แสดงลีลาคล้ายชีวิตจริงในธรรมชาติ


               ในความเป็นจริงแล้ว  มนุษย์ คือ ผลิตผลของธรรมชาติ  มีวิวัฒนาการเป็นขั้นเป็นตอนจากธรรมชาติ  เหมือนนก  เหมือนต้นไม้  แม้ปัจจุบันมนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีไปเพียงใด ก็เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความสะดวกเท่านั้น  หาใช่ความจริงตามธรรมชาติแต่อย่างใด  เราจึงเห็นนกหัวขวานยักษ์เป็นประติมากรรม  ปรากฏอยู่กลางมหานคร  Toronto ของประเทศ Canada

นิทรรศการจำลองขยะในมหาสมุทร



ใกล้ที่พักผู้โดยสารในสนามบินนคร Toronto มีตู้กระจกขนาดใหญ่ แสดงการเคลื่อนไหวของขยะในกระแสน้ำให้ผู้เดินทางได้เห็น ได้ตระหนักถึงการทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ สุดท้ายขยะทั้งหมดโดยเฉพาะขยะที่ไม่ย่อยสลายไปกองรวมกันที่ก้นทะเลอยู่ในกระแสของมหาสมุทร  นับเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดที่มนุษย์ให้กับโลกนี้




วันหนึ่งได้ดูโทรทัศน์ช่องทีวีไทย รายการท่องโลกกว้าง  โทรทัศน์ได้แสดงภาพขยะพลาสติกหมุนวนอยู่ในกระแสน้ำของมหาสมุทรแปรซิฟิก  จนเป็นเหตุให้บริเวณที่มีเม็ดพลาสติกแตกตัวเป็นเศษเล็กจากคลื่นรังสีไวโอเลต  ไม่มีแพลงตอนซึ่งเป็นอาหาร ลำดับต้นในห่วงโซ่อาหารอยู่เลย
 ขยะพลาสติกที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงนับเป็นอันตรายสูงสุดที่มนุษย์ทำลายโลก  สุดท้ายจะย้อนกลับมาทำลายตัวเองในที่สุด

ONTARIO SCIENCE CENTRE




            ศูนย์วิทยาศาสตร์ ออนตาริโอ  นับเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด  และดีที่สุดของ Canada คณะดูงานเรียกศูนย์วิทยาศาสตร์ ontario ว่า “ ศูนย์ตัวพ่อ” ที่เรียกว่าศูนย์ตัวพ่อเพราะเกือบทุกแง่ทุกมุมที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ของไทยมี Ontario มีทั้งนั้น  เมื่อเราศึกษาเรียนรู้ศูนย์วิทยาศาสตร์ ออนตาริโอแห่งนี้แล้ว  เราสามารถออกแบบศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งอื่นๆ ตามบริบท ปัจจัย ที่เรามีได้ทั้งนั้น  หากจะเขียนในรายละเอียดคงยากที่จะครอบคลุม  จึงเขียนเป็นคำสำคัญ (Keyword) ของ  Ontario Science Centre ไว้ดังนี้
-ออกแบบอาคารสถานที่กลมกลืนกับบริบทแวดล้อมและแหล่งธรรมชาติ
-เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
-Communication
-มีการพัฒนาสม่ำเสมอ
-เปลี่ยนแปลงตามความต้องการและความพร้อมขององค์กร
-เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ที่มีการใช้ Interactive แห่งแรกของ Canada
-พัฒนากระบวนการเรียนรู้และใช้การเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry Workshop)
-เป็นแหล่งผลิต/สร้าง สื่อวิทยาศาสตร์
-เป็นแหล่งออกแบบนิทรรศการวิทยาศาสตร์
ศึกษาเพิ่มเติมได้อีกมาก จาก Website ชื่อ WWW.OntarioScienceCentre.ca

ล่องเรือเรียนรู้ความเป็นอยู่ผู้คนในนคร Kingston





            เมือง Kingston  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เซนท์ ลอเรนท์  เมื่อสังเกตการปลูกสร้างบ้านตามแบบฉบับของคนเมืองหนาวที่ต้องผจญกับหิมะ พบว่าหลังคาบ้านชันมีปล่องไฟอยู่บนหลังคา  บ้านทุกหลังไม่มีรั้ว จากถนนก็เป็นบันไดขึ้นบ้านเลย  ช่วงเวลานี้ เห็นช่างเปลี่ยนกระเบื้องบนหลังคาหลายหลัง  คงเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ฤดูหนาวในเร็ววันนี้  ขณะรอเรือเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือ  เห็นนกน้ำหลายชนิด เช่น นกนางนวล  นกเป็ดน้ำและที่ตื่นเต้นคงเป็นนกอ้ายงั่ว  ค่อนข้างพบเห็นมากเป็นพิเศษ ที่บ้านเราหาดูนกอ้ายงั่วได้ยาก  มีอยู่ไม่กี่แห่ง  ที่เขื่อนพระปรง  จังหวัดสระแก้ว  และที่บึงบอระเพ็ด  จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งหลัก  บนเรือคณะเดินทางรับประทานอาหารเที่ยง เป็นบุฟเฟ่ต์ฝรั่ง  มีสลัดผักสด  ผักต้ม  พาสต้า  ขนมปัง  สปาเกตตี้  ตามด้วยเค้กเนยสดแทรกแยมผลไม้อร่อยดี จิบกาแฟอุ่นๆ สองแก้ว (สำหรับผู้เขียน)  เมื่อทานอาหารเสร็จขึ้นไปดาดฟ้าเรือ ถ่ายภาพวิถีชีวิตผู้คนตามเกาะกลางแม่น้ำ  และนกอ้ายงั่วที่ลอยตัวอยู่ทั่วไปในแม่น้ำ เซนท์ ลอเรนท์ ที่ใสสีเขียวครามมีคลื่นเมื่อลมพัด  จนดูแม่น้ำจืดเป็นเหมือนทะเลไปเลย  เมื่อมองข้ามไปฝั่งตรงข้ามเห็นกังหันลมขนาดใหญ่หมุนอยู่ฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกานับร้อยตัว เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกระแสลมนับเป็นพลังงานบริสุทธิ์วิธีหนึ่ง

ใบไม้เปลี่ยนสีที่นคร Kingston ประเทศ Canada




            รถ Coach พาคณะเราเดินทางจากนคร Ottawa  เมืองหลวงของ Canada ผ่านอาคารบ้านเรือนที่แสน Classic เมื่อพ้นนคร Ottawa ก็เป็นป่าธรรมชาติมีหมอกปกคลุมไปทั่ว  มองผ่านไปเห็นเสาไฟฟ้าทำด้วยไม้สน สูงเสียดเข้าไปในหมอกตลอดเส้นทาง  เมื่อพ้นสายหมอกสองข้างทาง  ใบไม้กำลังเปลี่ยนสีจึงเห็นทั้งสีเขียว  สีเหลือง  สีแดงปะปนกัน  มัคคุเทศก์บอกเราว่าที่แคนาดา  เวลานี้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ล่วงแล้ว  รถ Coach ยังคงพาเราเดินทางไปตามถนนที่คดโค้ง  สูงต่ำตามลีลาของธรรมชาติมุ่งสู่เมือง Kingston   เมืองที่มีท่าเรือ  มีโรงเรียนนายเรือ และอยู่ริมแม่น้ำชื่อ เซนท์ลอเรนท์ เป็นแม่น้ำที่กว้างใหญ่คล้ายทะเลเลย  ความกว้างของแม่น้ำบางช่วงอาจมากกว่า 2 กิโลเมตร โดยมีรัฐนิวยอร์ค  ของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ฝั่งตรงข้าม

จาก Kingston สู่มหานคร Toronto



            กว่า 3 ชั่วโมง ที่คณะนั่งรถ Coach จากเมือง Kingston  รถวิ่งผ่านภูเขาหินปูน  สองข้างทางที่ถนนเจาะผ่านเป็นขอบภูเขาหินปูนสูงประมาณ 2-3 เมตร ถึงสิบกว่าเมตร  เกือบมืดฝนตกลงมาโปรยปราย  รถเคลื่อนที่เป็นทางยาว มองเห็นไฟรถเป็นสาย  ที่จริงแล้วรถยนต์ที่ Canada วิ่งเปิดไฟทั้งกลางวันกลางคืนอยู่แล้ว

            วันนี้มัคคุเทศก์พาคณะไปกินอาหารเกาหลี  เป็นมื้อเย็นตอน 2 ทุ่ม  ร้านอาหารเกาหลีชื่อ Korean Grill House จัดตกแต่งไว้สะอาด  อาหารอร่อย  ทั้งเนื้อ/หมู /  ปลา/แกะ/ทะเล  ย่างหอมกรุ่น  สุดท้ายเข้าพักโรงแรมชื่อ  Delta  Chelsea  ในมหานคร  Toronto  ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของ Canada

การเรียนรู้ดูงานที่ Canada Science and Technology Museum




            สถานที่แห่งแรก ที่คณะผู้บริหารกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเข้าดูงาน คือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแคนาดา  ในสภาพที่ร่างกายทุกคนอยู่ในช่วงการปรับตัว จากเวลาที่เคยเป็นกลางคืนกลับเป็นกลางวัน  ทั้งระบบขับถ่ายที่ปั่นป่วน ตื่นในเวลาที่ควรนอน  ง่วงนอนในเวลาที่จะต้องศึกษาดูงาน  นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำในชีวิต สิ่งที่ได้เรียนรู้ ณ ที่แห่งนี้ ด้วยเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ  เรื่อง สถานที่ ความสะอาด การวางผังภูมิทัศน์ (Landscape) การตกแต่ง สมบูรณ์ไปหมด การบริหารจัดการ  มีการทำงานวิจัยในพื้นที่อย่างกว้างขวาง มีทีมงานวิจัยกว่า 70 คน   มีหน่วยนิทรรศการเคลื่อนที่  ได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ในการกำหนดการจัดพิพิธภัณฑ์ในลักษณะ Focus Group  สิ่งที่เขาค้นพบคือ “วิธีการจัดการความรู้มีความสำคัญกว่าหัวข้อ (Topic) ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
            คำสำคัญ ของ  Canada Science and Technology Museum  ดังนี้
            -      กระบวนการจัดการความรู้
-          การวิจัยอย่างกว้างขวาง
-          ใช้วิทยากรประจำฐานการเรียนรู้
-          ผู้ปกครอง/ครู  นำผู้เรียนรู้ เคลื่อนไปตามฐานเรียนรู้
-          อาคารนิทรรศการโล่ง  เพดานให้สีดำทั้งหมด
-          มีจุดแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show)
-          มีอาสาสมัคร 2 ประเภท คือ ผู้ฝึกงาน  และผู้รู้มีประสบการณ์

ความประทับใจของคณะดูงานที่ Canadian Museum of Nature





            ลักษณะเด่นของความเป็นแคนาดา คือการผสมผสานของคนจาก 2 ชาติใหญ่ๆ คือ อังกฤษและฝรั่งเศส  จึงเห็นทุกสถานที่ของแคนาดาใช้ 2 ภาษาคู่กันตลอด คือ ภาษาอังกฤษคู่กับภาษาฝรั่งเศส  ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกถนน ป้ายอาคารสถานที่  และที่ต่างจากประเทศไทยคือ รถยนต์ทุกคันพวงมาลัยซ้าย  วิ่งชิดขวา  ตามแบบประเทศฝรั่งเศสและประเทศลาว (ฝรั่งเศสเคยปกครอง)  พิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาของแคนาดา  นับเป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติที่อลังการที่สุดที่คณะของเราเคยศึกษามา  ด้วยอายุการก่อสร้าง คือ สร้างในช่วงปี ค.ศ. 1905-1912 และมีการปรับปรุงโครงสร้างอาคารเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวและป้องกันความชื้นให้สมบูรณ์เต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2004  นับถึงปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาแห่งนี้มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว
            ลักษณะเด่นของ Canadian  Museum of  Nature  คือการจัดการ รวมทั้งการจัดเก็บ  นก นาๆ ชนิดทั้งนกปัจจุบันและนกที่สูญพันธุ์ไปจากโลกเราแล้ว โดยการสต๊าฟ  พร้อมให้ข้อมูลที่สมบูรณ์  ไม่เบื่อที่จะศึกษาเรียนรู้  และเรื่องของดิน สินแร่ซึ่งหมายรวมถึงอัญมณีก็อลังการมาก  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งนี้ทำให้เรารู้สึกรักแผ่นดินอย่างมาก แผ่นดินให้ความสวยงามของโลหะและอัญมณีตามธรรมชาติอย่างอัศจรรย์เกินกว่าพรรณนา  การแสดงเรื่องน้ำ  ธรรมชาติของน้ำ  การแสดงเรื่องซากฟอสซิลของไดโนเสาร์และอื่นๆ
            สรุปว่าทุกคนในคณะประทับใจ Canadian  Museum of  Nature มากที่สุด

ใบเมเปิลและกระรอกดำ หน้าโรงแรม Embassy Hotel & Suites





            ที่นคร Ottawa เมืองหลวงของ Canada คณะศึกษาดูงานพักที่โรงแรม Embassy Hotel & Suites จำนวน 2 คืน เป็น 2 คืนที่ต้องปรับตัวอย่างมาก  จากการเดินทางข้ามเส้นเวลาซึ่งใช้เวลา  เดินทางทั้งสิ้นกว่า  21 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่อยู่  Ottawa อากาศสบายๆ ไม่หนาวจนเกินไป มีฝนเบาๆ  จึงออกไปยืดเส้นยืดสายใกล้โรงแรมได้บ้าง ไปถ่ายภาพใบเมเปิลที่กำลังเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นแดงเข้ม  จากแดงเข้มเป็นเหลืองทอง  เตรียมหล่นลงสู้พื้นดิน  เป็นทั้งความสวยงามตามธรรมชาติ ระคนความเหงาในจิตใจเล็กน้อย  เหมือนธรรมชาติมันบอกว่า “พี่ๆ พี่หมดเวลาแล้วนะ เหมือนผมนี่แหละที่กำลังจะล่วงหล่นลงดินไงล่ะ”  หันไปเห็นเจ้ากระรอกน้อยสีดำสนิทกำลังกัดกิ่งไม้ไปเสริมรังบนต้นสนชนิดหนึ่งอยู่บริเวณหน้าโรงแรม  เจ้ากระรอกน้อยก็สอนเราอีก “ พี่ๆ พี่มีบ้านอยู่แล้วยัง  พี่ปรับปรุงบ้านเหมือนผมหรือเปล่าใกล้ฤดูหนาวแล้วนะ  พี่ต้องเหงาแน่ๆ” ทั้งใบเมเปิลและกระรอกน้อย ต่างเป็นครูของฉันในวันนี้แล้ว

การเดินทางที่แสนยาวไกล



                กลางเดือนกันยายนปี 54 เป็นช่วงเวลาที่คณะผู้บริหารกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จำนวน 14 คน ผู้ช่วยเหลืออีก 2 ท่าน  ร่วมเป็น 8 ห้องนอนพอดี  ไปทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คือ การเดินทางไปเจรจาความร่วมมือและศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิทยาศาสตร์ ณ ประเทศแคนาดา  ที่ว่าภารกิจที่ยิ่งใหญ่นั้น ความหมาย หมายถึงการเดินทางที่หฤโหดที่สุดในชีวิตของคณะเรา  ขอเริ่มบอกเล่าถึงเส้นทาง การเดินทางของคณะเราเลยนะ
                เวลานัดหมายที่ สนามบินสุวรรณภูมิ  จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย คือ 05.30 น. เดินทางโดยสายการบินไทย TG  676 ล้อพ้นแผ่นดินไทย 7.54 น. มุ่งสู่สนามบิน นาริตะประเทศญี่ปุ่น  ใช้เวลาบินถึงสนามบินนาริตะประมาณ  6 ชั่วโมงครึ่ง  ลงพักที่สนามบิน นาริตะ 2 ชั่วโมง เดินทางต่อโดยสายการบินแคนาดา มุ่งสู่นครโตรอนโต  เครื่องบินแอร์แคนาดาล้อพ้นแผ่นดินญี่ปุ่น 16.24 น.   เครื่องบินพาคณะเราบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านอลาสก้า ถึงนครโตรอนโต เวลา 03.40 น. โดยใช้เวลาบินต่อเนื่อง 11 ชั่วโมงถึงโตรอนโตประเทศแคนาดา ทุกคนสะบัดสะบอมแต่ยังยิ้มนิดๆที่มุมปากได้  ลงพื้นพักหายใจอีก 2 ชั่วโมง  ขึ้นเครื่องบินแอร์แคนาดาเป็น Flight สุดท้าย สำหรับการเดินทางเวลา 06.10 น.  ถึงสนามบิน OTTAWA เวลา 07.10 น. ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง  รวมเวลาบินตลอดเส้นทาง 17 ชั่วโมงบิน บวกเวลาพักที่สนามบินอีก 4 ชั่วโมง ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 21 ชั่วโมง

                เวลาที่บันทึกเป็นเวลาของประเทศไทย  ซึ่งเร็วกว่าแคนาดา 11 ชั่วโมง เหนื่อยมากๆ กับการเดินทางที่แสนยาวไกลในชีวิต แต่ก็มีสุขที่ได้รับโอกาสไปเรียนรู้

วันพุธ, กันยายน 14, 2554

ปลาตะเพียนหางแดงในสระมะรุมล้อมรัก



                ปีนี้ (2554) น้ำเยอะ ฝนตกหนักติดต่อกันไม่ยอมทิ้งช่วงเลย  เหตุการณ์ภูเขาถล่มปิดเส้นทางที่เกิดทั้งภาคเหนือ ภาคใต้  ทำให้การเดินทางบนเส้นทางที่มีภูเขาชะงักเป็นช่วงๆ  ตลอดเดือนสิงหาคม  เดือนกันยายน  ปรากฏการณ์ ฝนหนัก ลมแรง แผ่นดินไหว เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างน่าหวาดหวั่น  นี่แหละคือธรรมชาติที่แท้จริง  เป็นทั้งผู้ให้และผู้ทำลายในบางโอกาส  หากเรารักธรรมชาติธรรมชาติก็รักเรา  เราเกลียดธรรมชาติทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็เกลียดเราทำลายเรา
                ที่โรงเรียนกรสรกสิวิทย์  จังหวัดสระแก้ว  น้ำจากคลองพระสะทึงล้นออกทุ่ง  ชลประทานมาแจ้งว่าน้ำอาจเข้าสระมะรุมล้อมรัก  สระสวยงามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตั้งชื่อให้  เพราะน้ำมากจริงๆในปีนี้  ผู้เขียนได้แวะไปเยี่ยมไปดื่มกาแฟเย็น “ควายเผือก” เห็นปลาในสระมะรุมล้อมรักสวยมากเป็นฝูงใหญ่  เจ้าหน้าที่ร้านกาแฟควายคะนองบอกว่า  ปลาที่เห็นคือ ปลาตะเพียนหางแดงที่สมเด็จพระเทพฯ นำมาปล่อยไว้เมื่อต้นปีนี้  หากน้ำไม่ล้นสระจนฝูงปลาตะเพียนหางแดงจากไป  เราคงเห็นปลาตะเพียนหางแดงฝูงใหญ่ตัวโตขึ้นเต็มสระมะรุมล้อมรัก  ให้เพลินใจเมื่อมาพักผ่อน และเรียนรู้ ณ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์แห่งนี้

วันอังคาร, กันยายน 13, 2554

ประคำร้อยหก

ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจมนุษย์ มีความเป็นธรรมชาติมาก ถ้าเราไม่ฝืนเราจะเห็นนิสัย ความต้องการ การกระทำของเราเปลี่ยนเป็นระยะๆ อย่างน่าสนใจ เช่น วัยเด็กทุกอย่างดูสนุกสนาน โตขึ้นหน่อยวางท่าสุขุมเริ่มจะเป็นผู้ใหญ่ วัยทำงานก็ดูจริงจังมุ่งมั่น พอวัยชรากับชอบค้นหาสัจธรรมความจริงในชีวิต แน่นอนเมื่อค้นหาความจริง องค์ความรู้ทาง ปรัชญา ศาสนา ย่อมมีส่วนสำคัญ ในวัยหกสิบปี ผู้เขียนสนใจศึกษาค้นคว้า ศาสนาพุทธ ทั้งปริยัติและปฏิบัติ สิ่งไหนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมศาสนาก็สนใจทั้งนั้น เช่น “ประคำ” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ประกอบการภาวนา ประคำเป็นอย่างไร ขอคัดข้อความบางส่วนจากหนังสือ พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์คำวัด ซึ่งเขียนโดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต)เพื่อการเรียนรู้ ความว่า “ประคำ หมายถึง ลูกกลมๆที่ร้อยเป็นพวง สำหรับเป็นเครื่องหมายการนับในเวลาบริกรรมภาวนา โดยทั่วไป ประคำ ทำจากไม้จันทน์ ไม้เนื้อแข็ง ผลไม้ตากแห้ง หินสี พลาสติก หยก เจาะรูตรงกลางร้อยเป็นพวง นิยมมีจำนวน 108 ลูก หรือ น้อยกว่านั้นตามต้องการ...” ผู้เขียนมีประคำหนึ่งสาย น่าจะทำในประเทศจีน สีขาวครีม นับดูมี 106 ลูก คิดในทางบวกว่า ประคำมี 106 ลูกก็ถูกแล้ว เพราะรวมกับกายและจิตของเราอีกสองเป็นร้อยแปดพอดี เพียงมองเห็นประคำใจก็นิ่งลงได้อย่างอัศจรรย์ พระพุทธศาสนาให้คุณกับเราถึงเพียงนี้

วันอาทิตย์, กันยายน 04, 2554

บุคคลผู้ปรากฎในประดู่ป่าแคมป์

คุณปัญญา เป็นข้าราชการเกษียณอายุ (ค.ศ.2012) ชอบสันโดษ เรียบง่าย รักธรรมชาติ ชอบดูนก ดูผีเสื้อ มีประสบการณ์ท่องเที่ยวไปในอุทยานแห่งชาติเกือบทุกแห่งของประเทศไทย แม้ไม่ใช่นักเขียน แต่ก็ชอบเขียนหนังสือ เกี่ยวกับธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม เผยแพร่สิ่งที่เขียนใน Website ตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 เป็นต้นมา คุณพจมาน เป็นคุณครูยอดนักออกแบบ จินตนาการสร้างฝัน ทุ่มเทความสามารถ เพื่อรังสรรค์ประดู่ป่าแคมป์ ด้วยกำลังกายและกำลังทรัพย์ ถักทอเครือข่ายผู้คน เพื่อเติมเต็มแก้ปัญหา และสนองความต้องการ ในการพัฒนา วางพื้นฐานบริหารจัดการ ส่งต่อมรดกถึงทายาททั้ง 2 คน ลูกหวาย ทายาทลำดับที่ หนึ่ง ผู้พัฒนาต่อยอดกิจกรรมสานฝันของวงศ์ตระกูล ด้วยความฉลาดเฉียบคม นุ่มนวลต่อมวลมิตรและบริวาร ก้าวต่อก้าวบันทึกเรื่องราวเป็นตำนาน ดูอดีตผ่านปัจจุบันสู่อนาคต พี่โม่ คู่ชีวิตคุณลูกหวาย พี่ใหญ่จิตใจดีงาม ที่เอื้ออาทรต่อน้อง ๆ เดินคู่ตลอดเส้นทาง ประมวลความเป็นไปได้ ผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์ ให้จินตนาการนั้นเป็นจริง ตระกร้อ ทายาทลำดับที่ 2 ผู้อุดมไปด้วยศิลปะสุนทรีย์ เทคโนโลยีขั้นเทพ (พี่สาวเค้าชมนะ) นักออกแบบ Art ๆ ไม่ยุ่งไม่เพ้อเจ้อ ไม่นิยมนินทาว่าร้าย ไม่โกหก ไม่ฆ่าหนอน เป็นเทพบุตรผู้รักษาศีลเบื้องต้นได้ดีอยู่นะ พี่กร ดูแลทุกเรื่องราวในประดู่ป่าแค้มป์ แม้ว่าจะเกิดคนละแดน เป็นเชื้อสายหลวงพ่ออุตตมะ (มอญ) พี่กรดูแลสวนประดู่ป่า มาเกือบทศวรรษ มีทายาทถึง 2 คน ณ ที่แห่งนี้ พี่นก แม่บ้านผู้มีความสามารถ เรื่องอาหารการกิน พี่นกทำกับข้าวทุกชนิดที่ทำเป็นให้มีรสชาติอร่อยอย่างอัศจรรย์ เมื่อเราทุกคนกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาที่ประดู่ป่าแคมป์ หน้าที่อาหารการกินเป็นของพี่นกแน่นอน นัท ลูกชายคนโตพี่กร พี่นก เรียนหนังสือถึงระดับมัธยมแล้ว หน้าที่ความรับผิอชอบของนัท คือช่วยพ่อแม่ทำงาน ดูแลคอกม้า อาหาร น้ำ ฟาง ของเจ้ามาฆา ขุนพัน นางตาหวาน และลูกม้าที่จะตกอีกไม่นานนี้ แพร ลูกสาวคนเล็กพี่นก วิกร น้องพี่นัท แพรเป็นเด็กฉลาดเรียนรู้เร็ว สวยด้วย เอาใจคุณตาคุณยายเก่ง เข้าโรงเรียนแล้ว สอง หลานชายพี่นก อายุใกล้เคียงกับนัท เริ่มเป็นวัยรุ่น มีทักษะในการดูแลม้าเป็นอย่างดี ถูกส่งไปฝึกการดูแลม้า ที่ชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สองเป็นผู้ดูแลม้าเป็นหลักของประดู่ป่าแคมป์

วันศุกร์, กันยายน 02, 2554

ความป็นมาของประดู่ป่าแคมป์

คุณพจมาน วารปรีดี ผู้เนรมิตรังสรรค์ประดู่ป่าแคมป์ ย้ำความฝันของตน เพื่อให้ได้มาซึ่งสมบัติและเป็นสมบัติจากความขยัน ส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกสาวลูกชายทั้งสองคน โดยออกแบบตามแนวคิด ความชอบของสามี ที่ชอบป่า ชอบธรรมชาติความสุนทรีย์ร่มรื่น ประดู่ป่าแคมป์จึงเริ่มก่อตัวบนผืนดิน จากหนึ่งไร่ เป็นสอง เป็นสี่ เป็นสิบ สุดท้ายเป็นที่นาทั้งสิ้นจำนวน 14 ไร่ ในปี พ.ศ. 2540 ได้เริ่มจัดการที่ดินที่เป็นที่นาดินเหนียวแห่งนี้ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20 เมตร ขุดที่นาเป็นสระ 3 สระเพื่อเก็บน้ำ โดย 2 สระ เป็นรูปเม็ดถั่วคว้ำเข้าหากัน อีก 1 สระ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สัดส่วนของสระน้ำคือร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดู่ป่าแคมป์มีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ประเทศไทย ภูมิทัศน์ของผืนดินสี่เหลียมผืนผ้าผืนนี้ นอกจากมีสระน้ำทั้งสามสระที่ลึกประมาณ 3 – 6 เมตร แล้ว ยังมีต้นไม้เป็นองค์ประกอบ ไม้ป่า ไม้มงคล ไม้หายาก ตัวอย่าง เทพธาโร จันทน์กระพ้อ หมากลิง หมากเม่า หมากหลอด มะขามป้อม อินจัน สาละ ไม้ผลเช่น มะม่วงแก้ว หว้า มะเฟือง ฝรั่ง กล้วย ตะขบ มะยงชิด ไม้ดอกมี ต้นลีลาวดีนานาพันธุ์ บัวสายหลากสีในสระน้ำ ภู่นายพล ตะแบก อินทนิล ฝ้ายคำ มีนาข้าว 2 แปลง ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวขาวตาแห้งไว้กิน อาคารภายในประดู่ป่าแคมป์ ส่วนใหญ่ใช้อาคารอเนกประสงค์ มีบ้าน 3 หลัง ซึ่งรวมทั้งบ้านคนสวนด้วยแล้ว มีศาลาริมน้ำ วิมานคนดิน (ห้องน้ำ) และคอกม้า แน่นอนเมื่อมีคอกม้าก็ต้องมีม้าพันธุ์พื้นบ้าน ชื่อ เจ้ามาฆา ลูกนางตาหวาน และพ่อม้าชื่อ ขุนพัน ทุกตัวนิสัยดีเด็ก ๆ สามารถขี่ได้ สำหรับสัตว์ในธรรมชาติมีมากมายน่าศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะนกมีกว่า 20 ชนิดในสวน มี กบ เขียด มีต่อ แตน มีผึ้ง มีปูปลา แมลงกว่าง หิ่งห้อย ผีเสื้อ แม้ไม่ชุกชุมแต่ก็ปรากฎผีเสื้อถุงทองธรรมดาที่แสนสวยบินโฉบเฉี่ยวในยามเช้าให้เห็นบ่อยๆ
อุดมการณ์ของประดู่ป่าแคมป์ เนรมิตตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ผสมผสานการเกษตรธรรมชาติปลอดสารพิษสารเคมี เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนของวงศ์ตระกูล เอื้ออาทรต่อเพื่อนและผู้คนด้วยกัลยาณมิตร เป็นศูนย์เรียนรู้รายบุคคลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หากมีความพร้อม เป้าหมายเพื่อบริบาลเด็กพิเศษในลักษณะ “อาชาบำบัด”