วันจันทร์, มกราคม 25, 2553

กล้วยป่า/ต้นงิ้วป่า

















บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 13 (น้ำตกสวนห้อม) อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา แม้ว่าเป็นหน่วยพิทักษ์เล็ก ๆ แต่มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ที่โดดเด่นคือ เป็นบริเวณที่เกิดทะเลหมอกเสมอ ๆ นักท่องเที่ยวจึงชอบมากางเต็นท์พักแรมเพื่อชมธรรมชาติ ชมทะเลหมอก บริเวณหุบเขามีต้นกล้วยป่าขึ้นอยู่กระจาย กล้วยป่าผลัดกันออกปลีมีลูกตลอดทั้งปี พอสุกก็เป็นอาหารของนกของสัตว์ ปลีกล้วย ต้นกล้วยเป็นอาหารของคนได้ สรรพคุณทางสมุนไพรของกล้วยป่าเคยอ่านพบใน Website ว่ายางกล้วยสามารถห้ามเลือดได้ หัวปลีกินแล้วลดความดันโลหิตสูงได้ ผลดิบแก้ท้องเสีย ผลสุกเป็นยาระบาย กล้วยป่ามีชื่อสามัญว่า Cavendish Banana ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa acuminata Colla นอกจากนี้ยังพบต้นงิ้วป่าออกดอกสีแสดเต็มต้นดอกโตสวยงามมาก นกแซงแซวหงอนขนเกาะกินน้ำหวานในดอกงิ้วป่า อ้างอิง www.vegetableinthailand.com

ช้างแดง


ช้างแดง เป็นกล้วยไม้ป่าชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhynchostylis gigentea (Lindl.) Ridl. ช้างแดงบานดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ดอกมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อห้อยลงคล้ายรวงข้าว กลิ่นดอกหอมลึกล้ำกลิ่นเฉพาะไม่เหมือนใคร ช้างแดงมีชื่ออื่น เช่น ช้างกระ ช้างเผือก ช้างดำ ถ้าสีขาวและมีจุดสีม่วงแดงก็เรียกช้างกระ ถ้ามีสีแดงเข้มเรียกช้างแดง ถ้าสีแดงเข้มมาก ๆ น่าจะเป็นช้างดำ แต่ที่เห็นในภาพถ่าย คือ ช้างแดงในสวนประดู่ป่าแคมป์ออกดอกให้เห็นครั้งแรก (ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 23 มกราคม 53) นำมาเลี้ยงได้ประมาณหนึ่งปีแล้ว
หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วนได้จากหนังสือ กล้วยไม้ป่าเมืองไทย สลิล สิทธิสัจจธรรม

วันอังคาร, มกราคม 19, 2553

ไก่ฟ้าหลังขาว ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่












วันที่สิบเก้ามกราคม มีโอกาสพาอาสาสมัครอาวุโสสองสามีภรรยาจากประเทศญิ่ปุ่น ไปศึกษาเรียนรู้ห้องสมุดธรรมชาติซึ่งมีความสำคัญลำดับที่ 1 ของประเทศไทย คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.เมือง จ.นครนายก ที่จริงแล้วอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีอาณาบริเวณคลุมพื้นที่ถึง 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา สระบุรี ปราจีนบุรีและนครนายก (แต่ที่ทำการของอุทยานตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก) อาสาสมัครฯ ตื่นเต้นกับขี้ช้าง ตื่นเต้นกับคำอธิบายเมื่อเห็นขี้ช้างพร้อมฉี่ ว่าเป็นของเพศเมีย หรือเพศผู้ ตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ต้องใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์คือ การสังเกต การวิเคราะห์ สรีระของช้างและอวัยวะเพศ ที่จะทำให้ฉี่แล้วสร้างรอยไว้บนถนนว่าเป็นแบบใด
อาสาสมัครฯ ตื่นเต้นกับ ไก่ป่าตุ้มหูขาว ลิง กวาง เก้ง กระแต นกเงือก เสียงชะนี เสียงนก และตื่นเต้นมากเมื่อได้พบ ไก่ฟ้าหลังขาว พยายามช่วยกันบันทึกภาพได้คนละครึ่งตัว ก่อนจากกันทั้งสองคนมาขอบคุณ และขอมา Camping ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกสักครั้งก่อนกลับญี่ปุ่น
หมายเหตุ ไก่ฟ้าหลังขาว ชื่อสามัญ Silver Pheasant ชื่อวิทยาศาสตร์ Lophura Nycthemera

วันจันทร์, มกราคม 18, 2553

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ....ประติมากรรม ภูมิปัญญา และวิทยาศาสตร์












บ่ายวันอาทิตย์ ช่วงฤดูหนาวแดดค่อนข้างจัด อุณหภูมิที่จังหวัดลพบุรีประมาณ 33 องศาเซลเซียส มีต่างชาติชาวยุโรปประมาณสิบคน เดินดูบ้าง นั่งคุยกันบ้าง ณ บริเวณประติมากรรม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นพุทธสถานที่เก่าแก่คู่พระมหาราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ มองไปทั่วบริเวณวัด สัดส่วนผู้ชมคนไทยต่อชาวต่างชาติเป็น 1 : 9 เป็นสัดส่วนที่น่าสนใจ ไม่รู้ว่าชาวต่างชาติมาชมด้วยวัตถุประสงค์ใด แต่ท่าทางทุกคนสนใจ ที่สังเกต ถ่ายภาพ จดบันทึก พูดคุยกัน สำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในสิบ ผู้มาเยี่ยมชมมีวัตถุประสงค์ เพื่อบันทึกภาพวัดพระศรีรัตนมหาธาตุอย่างตั้งใจ ทุกที่ทุกมุมล้วนแล้วแต่แทรกความสวยงามและมีศิลปะทั้งสิ้น หลังจากที่ผ่านไปผ่านมาเป็นเวลาสามสิบกว่าปีแล้วไม่เคยแวะเลย เพิ่งจะเข้าไปเยี่ยมชมในครั้งนี้คิดได้ก็เกือบสายเกินไปเสียแล้ว

วันพฤหัสบดี, มกราคม 14, 2553

แกะดำหรือไข่แดง



เส้นทางจากตัวจังหวัดสระแก้วมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร สองข้างทางมีบ้านเรือนสลับกับสวนยูคาลิปตัสไปตลอด พื้นที่ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นสวนยูคา แต่ที่บ้านหนองปรือมีบ้านหลังหนึ่งไม่ปลูกยูคา กลับปลูกถั่วฝักยาวพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ในสวนติดตั้งระบบรดน้ำด้วยสปริงเกอร์ มองจากบนถนนลงไปต้นถั่วฝักยาวกำลังออกฝักสวยงาม เสียดายว่า ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของ ในโอกาสต่อไปหากได้พูดคุยจะถามว่า มีรายได้จากการปลูกถั่วฝักยาวต่อวัน ต่อเดือน ต่อปีอย่างไร ทำไมถึงได้ปลูกถั่วฝักยาวคนอื่นเขาปลูกยูคากันหมด สวนถั่วฝักยาวถูกมองว่าเป็นแกะดำที่ไม่เหมือนคนอื่นหรือไม่ หรือว่าเป็นไข่แดงในความรู้สึกของผู้ปลูก จะอย่างไรก็ตามความเชื่อเบื้องต้น เชื่อว่า รายได้ต่อวัน รายได้ต่อเดือน จากการปลูกถั่วฝักยาว ต้องมากกว่ารายได้ต่อ 3 ปี ของการปลูกต้นยูคาลิปตัสอย่างแน่นอน หรือว่ามีประเด็นอื่น ๆ ซ่อนอยู่ในความเป็นจริงที่มองไม่เห็น

วันจันทร์, มกราคม 11, 2553

บนรอยทราย







จากการไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เห็น ได้รับรู้การจัดการเรื่องขยะในมหานครโตเกียวแล้ว รู้สึกประทับใจมาก เขาใช้วิธีการให้ทุกครอบครัวมีส่วนรับผิดชอบในขยะของตน จึงไม่เห็นถังขยะอยู่ริมถนนเหมือนในบ้านเราและไม่เห็นขยะตามท้องถนนเลย นับเป็นการจัดการแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ที่เมืองไทยมองไปทางไหนล้วนแต่พบเจอขยะ บริเวณชายหาดแม่รำพึง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สะอาดมาก ทรายก็สะอาด ภาพนั้นยังอยู่ในความทรงจำมาจนบัดนี้ ปัจจุบันหาดแม่รำพึงมีขยะสารพัดชนิด แม้ว่ายังไม่มากมายแต่แนวโน้มหากไม่จัดการอย่างถูกต้องความสวยงามของหาดแม่รำพึงคงจะหมดไป ขยะไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะชายหาด ขยะยังเป็นปัญหาใหญ่ของแหล่งท่องเที่ยว เช่น บนเกาะเสม็ด ซึ่งรอการจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสะอาดสวยงามของธรรมชาติและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติ นำเงินมาสู่เมืองไทย
หากถามว่าอยากให้ชายหาดเป็นเช่นไร ขอบอกด้วยภาพทั้งสามภาพนี้ คือ ภาพเงาบนรอยทราย ภาพรอยปูบนชายหาด และภาพคลื่นซัดสาดแล้วหายไป

วันพุธ, มกราคม 06, 2553

บุญจากการถวายความรู้สามเณร












หลวงพ่อ (หลวงพ่อธัมมชโย) เทศน์โปรดญาติโยมเสมอ ๆ ว่า บุญทำได้หลายทาง การทำทานก็ได้บุญ การรักษาศีลก็ได้บุญ การนั่งสมาธิก็ได้บุญ การให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรมด้วยกัลยาณมิตรก็ได้บุญ ก่อนปีใหม่ได้มีโอกาสนำคณะไปถวายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แด่สามเณรที่กำลังศึกษาวิชาสามัญอยู่ในระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย ณ ศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จำนวนกว่า 150 รูป ปีติมาก ๆ อธิษฐานในใจดัง ๆ ว่า เกิดชาติภพใด ขอให้มีสติปัญญาเป็นเลิศ เพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตให้ได้พ้นทุกข์ และขอแบ่งปันความปีตินั้นกับทุกคน

วันอังคาร, มกราคม 05, 2553

"การเล่นลูกข่าง"วิถีชีวิต วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ของชาวเขา








หนาวปีนี้พาตัวเองไปเดินดูวิถีชีวิตของคนไทยที่อยู่บนภูเขา ที่ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ ว่าเขาอยู่กันอย่างไร เวลาสั้น ๆ เพียงครึ่งชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ตกลับเหลี่ยมเขา ได้เห็นเรื่องราวของชีวิตชาวเขา ภาพเด็ก ๆ และวัยรุ่น เล่นลูกข่างอย่างสนุกสนาน การเล่นลูกข่างเป็นวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของแรงและการหมุน เป็นวิทยาศาสตร์ภูมิรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเย็บปักถักร้อยของสตรีชาวเขาเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรม และยังเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งนอกจากการปลูกกะหล่ำปลีเป็นอาชีพหลัก สรุปแล้ววิถีชีวิตวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์กลมกลืนกันอย่างแยกไม่ออก

วันจันทร์, มกราคม 04, 2553

กว่างห้าเขาที่"ภูทับเบิกขุนเขากะหล่ำปลี"




“ภูทับเบิก” เป็นแหล่งท่องเที่ยวในฤดูหนาวที่เพิ่งเปิดตัวของจังหวัดเพชรบูรณ์ จุดเด่นของภูทับเบิก คือ เป็นยอดเขาที่มีความสูงเริ่มจากระดับที่ราบสูง 200 เมตร ของจังหวัดเพชรบูรณ์ไต่ชันขึ้นเป็นระยะ ๆ จนถึงระดับความสูงที่ 1,685 เมตร จากระดับน้ำทะเล นับเป็นความท้าทายของนักเดินทางที่ยานพาหนะพร้อมแห่งหนึ่ง ปีนี้ (2552) ภูทับเบิกอาจดูว่ายังไม่พร้อม เพราะถนนบางช่วงยังก่อสร้าง แต่ผู้คนมากมายได้ใช้เวลาในวันหยุดปีใหม่ของตนไปพักผ่อน ทบทวนเพื่อการเริ่มต้นในปีต่อไป ที่ภูทับเบิกสิ่งที่พบเห็นบนภูเขา นอกจากทิวทัศน์ที่มองจากที่สูงลงไปสู่พื้นราบแล้ว บนยอดเขายังเต็มไปด้วย กะหล่ำปลีที่ชาวเขาเผ่าม้งปลูก มีร้านค้าของชาวเขา ของที่นำมาขาย ได้แก่ เสื้อผ้าชาวเขา พืชผักที่ปลูกเขตหนาว เช่น กะหล่ำปลี แครอท ยอดฟักแม้ว มะระหวาน มะขามหวาน มันเผา เผือกเผา ที่สะดุดตา คือ ซากกว่างห้าเขา จำนวน 5 ตัว วางขายอยู่ เมื่อเข้าไปถามว่าเป็นของใคร ชาวเขาเจ้าของร้านปฏิเสธว่าไม่ใช่ของตน มีคนมาฝากไว้ การปฏิเสธแสดงถึงความเข้าใจของคนขายว่า กว่างห้าเขาเป็นสัตว์ป่าที่ควรอนุรักษ์เป็นสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ ลักษณะเหมือนผีเสื้อบางชนิด เช่น สมิงเชียงดาวเป็นต้น ที่จริงแล้วที่ถามนั้นวัตถุประสงค์เพื่อหาที่มาว่ามาจากแหล่งไหน จะอนุรักษ์ได้อย่างไร แต่ตั้งคำถามพลาดทำให้โอกาสการสืบเซาะขาดลง แต่ก็นับเป็นโอกาสที่ดีที่พบเจอกว่างห้าเขาถึงห้าตัว ได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก เข้าใจเองว่า กว่างห้าเขาทั้งห้าตัวนี้มาจากอุทยานแห่งชาติภูหินล่องกล้าจังหวัดพิษณุโลกซึ่งมีพื้นที่ติดกัน นั้นแหละ