วันพฤหัสบดี, มีนาคม 18, 2553

วลีสุดท้าย"นั่งจิบน้ำชา นินทาเพื่อน"

เดือนมีนาคม 2553 ความร้อนระอุของสถานการณ์การเมือง เติมด้วยเหตุการณ์ไม่สงบของชายแดนใต้ จนเป็นเหตุให้เกิดคำกล่าวเป็นวลีสุดท้ายของนายตำรวจยศ พันตำรวจเอกท่านหนึ่งก่อนเสียชีวิต กล่าวด้วยความสุขด้วยวัยใกล้เกษียณว่า อยากพักผ่อน อยากกลับบ้าน นั่ง “จิบน้ำชา นินทาเพื่อน” ได้อยู่ใกล้ครอบครัว เกือบ 40 ปีแล้วที่พวกเราไม่ได้อยู่ใกล้กันเลย บัดนี้นายตำรวจท่านนั้น ได้พักผ่อนได้อยู่ใกล้ครอบครัวชั่วนิรันดรแล้ว เพียงแด่ไม่ได้จิบน้ำชานินทาเพื่อนเท่านั้นแหละ...เพื่อนเอย
พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
คำประพันธ์ สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส

วันจันทร์, มีนาคม 15, 2553

แปรงสีฟัน





“แปรงสีฟัน” ในที่นี้เป็นชื่อกล้วยไม้ป่าตระกูลหวายชนิดหนึ่ง ชื่อเรียกอื่นเช่น เอื้องหงอนไก่ เอื้องคองูเห่า มีชื่อวิทยาศตร์ว่า Dendrobium secundum (Blume) Lindl. มีชื่อพ้อง Dendrobium bursigerum Lindl. เวลาออกดอกส่วนใหญ่จะทิ้งใบเหลือเพียงลำลูกกล้วยและออกดอกปลายสุดของลำลูกกล้วย ถ้ากล้วยไม้แปรงสีฟันโตเต็มที่ ลำลูกกล้วยยาวประมาณ 10 – 12 นิ้ว ส่วนของดอกเป็นเหมือนขนของแปรงสีฟัน ช่อดอกเกือบตั้งฉากกับลำลูกกล้วย โดยทั่วไปออกดอกเป็นสีชมพูอมม่วง เคยเห็นแปรงสีฟันออกดอกเป็นสีขาว แต่พบไม่บ่อยนัก ในช่วงเดือนมีนาคมใกล้เข้าฤดูแล้ง แปรงสีฟันชูช่ออวดความสวยงามให้เห็น
หากจินตนาการไปในอดีต ช่วงฤดูแล้งในป่า กล้วยไม้ที่ชื่อแปรงสีฟันยามบานดอกคงเป็นเหมือนผีเสื้อสีชมพูอมม่วง กระจายตามคาคบในไพรพฤกษ์อย่างน่าดูชม แปรงสีฟันในภาพ ถ่าย ณ สวนประดู่ป่า อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ข้อมูลบางส่วนอ้างอิง www.NanaGarden.com

วันศุกร์, มีนาคม 12, 2553

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากับการตอบความสงสัยของชุมชน
















เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ชาวบ้านตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ได้นำชิ้นส่วนโครงกระดูกเก่าซึ่งงมขึ้นมาได้จากห้วยวังจั่น ประมาณสิบชิ้น มามอบให้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ด้วยความสงสัยว่า กระดูกนั้นคืออะไร บางชิ้นมีลักษณะคล้ายฝ่ามือ จึงมีผู้คนนำไปกราบไหว้บูชา บางคนก็ไม่ยอมให้นำกระดูกเข้าบ้านเกรงว่ามีสิ่งชั่วร้ายแฝงอยู่ในกระดูกเหล่านั้น บางคนก็บอกว่าคล้ายชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ เป็นส่วนครีบหลังของไดโนเสาร์ชนิดหนึ่ง เคยเห็นรูปปั้นอยู่ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ หลายคนสงสัย
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจึงต้องทำหน้าที่ตอบโจทย์ความสงสัยให้กับชุมชน โดยเดินทางไปกับชาวบ้านโคกปี่ฆ้อง ณ จุดที่งมกระดูกขึ้นจากน้ำครั้งแรก เพื่อหาชิ้นส่วนกระดูกเพิ่มเติม ด้วยจำนวนกระดูกที่มีอยู่ยังตอบความสงสัยไม่ชัดเจนนัก แต่น้ำในห้วยวังจั่นสูงขึ้นทำให้ดำลงไปงมลำบาก จึงไม่พบชิ้นส่วนใดเพิ่มอีก เบื้องต้นต้องอธิบายตอบความสงสัยอย่างมีหลักการให้ชุมชน เพื่อให้เข้าใจถูกต้องไม่เกิดกระแสข่าวลือ โดยสืบค้นข้อมูลทาง Internet พร้อมพิมพ์ภาพที่สืบค้นมาได้ ให้ชาวบ้านได้ดูประกอบกับการสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับกระดูกสัตว์ ได้สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นกระดูกส่วนฟันและรากฟันของช้างที่เสียชีวิตมานานในแหล่งน้ำนี้ อาจนานเป็นร้อยเป็นพันปี จึงมีลักษณะคล้ายหินปะปนกระดูกมาด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯแจ้งชาวบ้านว่าจะนำกระดูกไปมอบให้นักโบราณคดี วินิจฉัยอีกครั้ง ผลเป็นอย่างไร จะนำมาเรียนให้ทราบในโอกาสต่อไป ข้อมูลเพิ่มเติมวันที่ 18 มีนาคม นักโบราณคดีได้ตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นกระดูกกรามช้างตามที่สันนิษฐานไว้แต่ไม่สามารถบอกอายุได้เพราะต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อน
ชาวบ้านโคกปี่ฆ้องที่นำกระดูกมาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาดูมีความสุขที่ได้รับคำตอบเบื้องต้นและรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นในชุมชนของตน

วันพุธ, มีนาคม 10, 2553

เกาะผิดที่





มีสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งมีชื่อเรียกว่า “เพรียง” เพรียงเป็นสัตว์ชนิดเดียวกับกุ้ง ปู แต่มีวิวัฒนาการแตกต่างไปจากกุ้งและปู คือการสร้างเปลือกด้วยสารพวกหินปูนคล้ายหอย ไว้ห่อหุ้มตัว อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลน้ำตื้น ในแง่การประมงแล้วเพรียงมีโทษมากกว่าประโยชน์ชาวประมงรังเกลียดเพรียง หากเพรียงเกาะท้องเรือเกาะก้อนหินแล้ว เปลือกเพรียงมีคมบาดเป็นแผลได้ ในทางชีววิทยาแล้ว เพรียงเป็นสัตว์ที่น่าศึกษาเรียนรู้ชนิดหนึ่งโดยเฉพาะในเรื่องวิวัฒนาการ การสร้างเปลือกด้วยสารพวกหินปูนซึ่งแตกต่างไปจากสัตว์ชนิดเดียวกัน
เพรียงไม่แยกแยะที่เกาะ บางครั้งเกาะขวด เกาะเศษวัสดุที่ปนเปื้อนไปในทะเล ทะเลเป็นแหล่งน้ำที่รักความสะอาด ทะเลจึงซัดสาดสิ่งปนเปื้อนขึ้นสู่ฝั่ง เรามักเห็นเพรียงเกาะอยู่ตามขวด ตามทุ่น อุปกรณ์การประมงที่ขาดหลุดอยู่ในทะเล และถูกคลื่นซัดสาดมาไว้บนหาดทรายเสมอ

คุณค่าของต้นไม้สู่คุณค่าของตอไม้




มนุษย์ทุกคนเมื่อได้รับการศึกษาต่างรู้ว่าคุณค่าของต้นไม้มีต่อมนุษย์อย่างอเนกอนันต์คุณค่าทางตรงคือ ให้ร่มเงา กำบังลมพายุ คายก๊าซออกซิเจนซึ่งจำเป็นต่อการหายใจของมนุษย์ เพียงสิ่งที่กล่าวก็มีคุณอย่างมหาศาลแล้ว ประโยชน์ทางอ้อมมนุษย์และสัตว์เมื่อหายใจนำเอาก๊าซออกซิเจนไปใช้ในการเผาผลาญของร่างกายแล้ว ต้องหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้ ก็ต้นไม้อีกนั่นแหละที่นำกลับไปใช้ในการสังเคราะห์แสงในเวลากลางวัน และเปลี่ยนเป็นก๊าซออกซิเจนให้มนุษย์และสัตว์ได้ใช้ ต้นไม้จึงสมควรได้รับการกราบไหว้บูชาจากมนุษย์ด้วยบุญคุณที่มองเห็น
บนเส้นทางจากอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ไปยังอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีตอไม้ขนาดใหญ่ เข้าใจว่าเป็นตอไม้ตะเคียนทองถูกตัดต้นไปนานเท่าใดไม่ทราบ เห็นเพียงตอไม้ไหม้ไฟอยู่ริมทางมา 20 กว่าปีแล้ว สองข้างทางเป็นไร่สับปะรดและยางพาราสุดหูสุดตา ยังแปลกใจทำไมมีตอไม้ใหญ่ขนาดนี้อยู่ เป็นไปได้อย่างไรที่ต้นไม้ใหญ่ขนาดนี้ไม่มีเพื่อนเลยหรือว่าบริเวณนี้เคยเป็นป่าขนาดใหญ่มาก่อน แต่เพื่อนๆคงถูกตัดจนไม่เหลือซาก เป็นคำถามที่ฉงนตลอดมา เวลาผ่านไป 20 ปีบัดนี้ จากตอไม้ธรรมดาปรากฏมีศาลเพียงตา มีดอกไม้พวงมาลัยซึ่งผู้คนนำมากราบไหว้บูชาเต็มตอไม้ตายต้นนี้
อะไรเกิดขึ้น คุณค่าของต้นไม้ขณะมีชีวิตควรได้รับการกราบไหว้บูชา กลับเป็นว่ามีคุณค่าตอนเป็นตอไม้ให้มนุษย์ที่ขาดที่พึ่งทางใจได้กราบไหว้ขอโชคขอพร สรุปอีกครั้งว่าคุณค่าใดๆที่ส่งผลตรงต่อการมีชีวิตอยู่ของผู้คน ยังสู้คุณค่าที่เยียวยาความอ่อนแอทางจิตใจไม่ได้เลย