วันศุกร์, มิถุนายน 26, 2552

นกแขกเต้า

วันที่ 26 มิถุนายน 2552 เวลาประมาณหกโมงเช้า ขณะเดินอยู่หน้าบ้านพักที่จังหวัดสระแก้ว ได้ยินเสียงนกร้องมาแต่ไกล เสียงดัง “แอ๊ก แอ๊ก แอ๊ก” เมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้าเห็นนกบินมาเป็นฝูงเข้าใจว่าเป็นนกแขกเต้า (จากเสียงร้องที่ได้ยิน) บินในลักษณะหน้ากระดาน คะเนด้วยสายตาประมาณ 500-600 ตัว บินตรงมาจากอุทยานแห่งชาติปางสีดามุ่งหน้าไปสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา
สิ่งที่ได้เห็นเช้าวันนี้ ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของนกแขกเต้าเพิ่มขึ้นว่า นกแขกเต้ามีวัฒนธรรมการรวมกลุ่มขนาดใหญ่เพื่อการเดินทางไปหาแหล่งอาหาร นกบางตัวบินไม่ทันเพื่อน ๆ ก็บินตามไปส่งเสียงร้องดัง แอ๊ก แอ๊ก ตลอดเวลาที่เห็นมี 2 ตัว บินมาในเวลาห่างกันประมาณ 5 นาที การส่งเสียงร้องน่าจะเป็นการสื่อสารในกลุ่มของนกเหล่านี้
ข้อควรคำนึง แม้ป่าจะกว้างใหญ่แต่ป่าก็ไม่ได้มีอาหารให้สัตว์ได้กินตลอดเวลา ผลไม้และลูกไม้ต้องใช้เวลาในการสุก สัตว์รู้ว่าเขาจะได้กินผลไม้ชนิดนี้ได้ในเวลาใด มนุษย์เปิดโอกาสให้มีต้นไม้ มีผลไม้ให้สัตว์ได้กินบ้างหรือไม่
นกแขกเต้า มีชื่อสามัญ Red - breasted Parakeet ชื่อวิทยาศาสตร์ Psittacula alexandri

วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 25, 2552

นกกาน้ำเล็ก


นกกาน้ำเล็ก มีชื่อสามัญว่า Little Cormorant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phalacrocorax niger ชื่อว่านกกาน้ำ ย่อมมีบางสิ่งบางอย่างคล้าย กา ในระยะไกลเมื่อเรามองเห็นคือนกเป็นสีดำทั้งตัวนั่นเอง ความจริงแล้วถ้าเราใช้กล้องส่องทางไกล (Binoc.) จะพบว่านกกาน้ำเล็กมีสีดำเหลือบน้ำตาลเหลือบเขียว ใต้จะงอยปากมีสีเหลืองนิด ๆ เรามักพบนกกาน้ำเล็กหากินเดี่ยว ในหนองน้ำบริเวณพื้นที่นากุ้งร้าง ที่จังหวัดสมุทรสาคร ดำผุดดำโผล่ บางครั้งขึ้นมาเกาะตากปีกบนตอไม้ตายในบริเวณแหล่งน้ำที่หากิน
เวลาประมาณหกโมงเย็น นกกาน้ำเล็กจึงบินกลับรังเป็นฝูง ๆ ละ 20-30 ตัว
สรุปว่า นกกาน้ำเล็กแยกกันทำมาหากิน กลับถิ่นไปนอนด้วยกัน ความรักสามัคคีคงเดิม

วันพุธ, มิถุนายน 24, 2552

อดีตและปัจจุบันที่คลองโคกขาม












คลองโคกขามเป็นคลองที่สร้างตำนานความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ต่อหน้าที่และรักษากฎหมายของลูกผู้ชายคนหนึ่ง ที่จารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย “พันท้ายนรสิงห์” ท่านยอมให้ประหารชีวิตเพื่อรักษากฎเมื่อตนเองทำหน้าที่พันท้ายเรือผิดพลาดคือไม่สามารถรักษาโขนเรือพระที่นั่งพระเจ้าเสือไว้ได้ ด้วยคลองโคกขามคดเคี้ยวเป็นเหตุให้โขนเรือชนกิ่งไม้หักลง
ปัจจุบันคลองโคกขามเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่พบได้คือคลองโคกขามตื้นเขินแต่ยังเห็นร่องรอยของความคดเคี้ยวไว้เช่นเดิม สิ่งมีชีวิตบริเวณคลองโคกขามที่พบ ได้แก่ ปลาตีน ตะกวด นกกาน้ำ นกแขวก นกตีนเทียน และการขึ้นลงของน้ำในคลองโคกขาม
ผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ มากราบไหว้ศาลพันท้ายนรสิงห์สังเกตได้จากพวงมาลัยคล้องอยู่เต็มศาลสักการะ เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าผู้คนมาสักการะด้วยหวังลาภยศหรือมาสักการะในคุณค่าของความซื่อตรงต่อหน้าที่ที่ท่านทำไว้เป็นแบบอย่าง

มหัศจรรย์พันธุ์ไม้ที่ชื่อโกงกาง







อันที่จริงแล้วภาพของต้นไม้ที่ชื่อ “โกงกาง” ติดอยู่ในความทรงจำว่าเป็นต้นไม้ที่แปลกและมีวิวัฒนาการในเรื่องการพัฒนารากให้กางออกเพื่อการยึดติดกับผืนดินที่เป็นดินเลนของป่าชายเลนได้ดี การมีความทรงจำอย่างนั้นเกิดจากการพบเห็นต้นโกงกางในช่วงเวลาปกติที่ไม่ใช่ฤดูขยายพันธุ์
ครั้งนี้ (เดือนมิถุนายน) ได้มีโอกาสมาศึกษาป่าชายเลนที่ “ศาลพันท้ายนรสิงห์” ณ คลองโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร พบความมหัศจรรย์ของโกงกางซึ่งถือได้ว่าเป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการ ก้าวกระโดดให้เห็น ดังนี้
ราก กางออกจากโคนต้นเป็นกิ่งก้านจำนวนมากนับได้เป็นร้อยราก เพื่อการยึดเกาะดินเลน
ใบ ลักษณะหนาใต้ใบมีรูระบายคายเกลือออกได้ดี เพราะโกงกางอยู่ใกล้น้ำเค็ม
ดอก สีเหลืองอ่อน กลีบเล็กแข็งต้านแรงลมได้ ความมหัศจรรย์คือ ผล เล็กยาว คล้ายฝักมะรุมปลายแหลมชี้ลงดิน ยาวประมาณ 80 เซนติเมตร ที่สำคัญมีตุ้มสีน้ำตาล ขนาดผลมังคุดอยู่ด้านบนของผล วิวัฒนาการของโกงกางเป็นเช่นนี้ ย่อมเชื่อได้ว่าทุกครั้งที่ผลหล่นลงสู่เลนต้องปักลงไปไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตรด้วยตุ้มที่หนักอยู่ด้านบนของผล
สรุปว่า โกงกางนับเป็นสุดยอดของพันธุ์ไม้ที่มีวิวัฒนาการเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์

วันอังคาร, มิถุนายน 23, 2552

อารมณ์นักประพันธ์

งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นเหตุให้เราต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเสมอๆ การไม่ได้อยู่บ้านจึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่คงไม่ธรรมดาสำหรับเธอเพื่อนที่แสนดีเมื่อเราไม่อยู่บ้าน เธอคงเหงา ปกติแล้วเธอไม่ค่อยช่างพูด ไม่ช่างเจรจา เธอน่ารักอาจจะดูเงียบขรึมไปบ้าง แต่เธอก็ช่างเอาใจใส่เรา เวลาพักผ่อนยามนอนเธอชอบซุกอยู่ข้างกายคลอเคลียอยู่เสมอๆ วันนี้เราเพิ่งกลับจากต่างจังหวัด ซื้อชุดใหม่มาฝากเธอ เป็นชุดสีส้มอ่อนๆมีลายดอกจำปาสีขาว...เธอคงชอบ กลับถึงบ้านดึกแล้ว เธอก็เป็นเหมือนทุกครั้ง คลอเคลียอยู่ข้างกายเราจนหลับไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย สะดุ้งตื่นเกือบสว่างแล้ว เรานอนกอดหมอนข้างใบโปรดอยู่ สงสัยตัวเองเปลี่ยนปลอกหมอนข้างชุดใหม่ ตั้งแต่ตอนไหนนี่....

วันจันทร์, มิถุนายน 22, 2552

ความเป็นจริงที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน







ผีเสื้อหางติ่งนางระเวงผสมพันธุ์ด้วยสัญชาตญาณหรือ..ความรักก็แล้วแต่เพราะเขาไม่บอก.ตัวผู้มีชื่อเรียกเฉพาะว่าผีเสื้อถุงเงิน..ออกเป็นไข่ ไข่ที่เห็นเป็นไข่นกเขาชวานะ ที่กอกล้วยไม้บ้านสวนประดู่ป่าแคมป์.....กลายเป็นลูกนกที่น่ารัก....หันมามองอย่างสงสัย.....ตัวฉันเป็นใครนี่.....บอกให้ก็ได้เจ้าหนูน้อยเรานั้นนะชื่อ...ขมิ้นน้อยธรรมดา..ไงละ

วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 18, 2552

นกปรอดหน้านวล


ทุกเช้าเวลาประมาณหกโมงครึ่ง หลังห้องทำงาน มีสายไฟฟ้าพาดผ่านเหนือสระบัวหลวง นกปรอดหน้านวลคู่หนึ่งมาเกาะสายไฟฟ้า ไซร้ขน กางปีก ส่งเสียงร้อง มองไปมองมา นกปรอดหน้านวลทั้งคู่ไม่รู้ว่ามีมนุษย์จ่องสังเกตพฤติกรรมของเขาอยู่ หลังกระจกสีชาในห้องทำงาน
นกปรอดหน้านวลเป็นนกประจำบ้านของศูนย์วิทยาสาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ต้นหมากแดง หมากเหลือง หน้าตึกนิทรรศการ เป็นรังนก เป็นแหล่งฟักไข่ เลี้ยงลูกของนกปรอดหน้านวล ลูกหว้า ลูกหมากเม่า และ ลูกไทร ในศูนย์วิทย์ฯ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำกินอยู่ในสระบัว สระน้ำไดโนเสาร์
บ้านที่อบอุ่นในฤดูหนาว ร่มเย็นในฤดูร้อน ปลอดภัยในฤดูฝนจะมีที่ไหน นอกเสียจากเราต้องร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ ให้บ้านของเราคุ้มครองเราทุกคนพร้อมสรรพสัตว์ได้อยู่อาศัยร่วมกันอย่างมีความสุข

วันอังคาร, มิถุนายน 02, 2552

บึงบัวบาที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา




อุทยานแห่งชาติตาพระยาจังหวัดสระแก้ว เป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติที่ผนวกเข้าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และแห่งอื่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย 200-300 เมตร บริเวณทั่วๆไปเป็นภูเขาหินทรายเป็นป่าโปร่ง ฤดูแล้งแหล่งน้ำที่ขังจึงแห้ง เมื่อถึงฤดูฝนแอ่งต่าง ๆ มีน้ำขัง ทำให้ไม้น้ำบางชนิดเจริญเติบโตได้ ตัวอย่างเช่น “บัวบา” หากเดินทางเข้าไปศึกษาธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติตาพระยาในช่วงเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นฤดูฝน พบบัวบาชูช่อดอกเล็ก ๆ มี 5 กลีบสีขาวเกสรสีเหลือง หรือบางชนิดก็เป็นดอกสีเหลือง ดอกเล็ก ใบเล็ก เต็มบึง ขนาดดอกประมาณเหรียญห้าบาทใบบัวบาก็ขนาดจานรองแก้วนั่นแหละ
“บัวบา” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Water snowflake ชื่อวิทยาศาสตร์ Nymphoides indica มีชื่ออื่น เช่น ตับเต่าใหญ่ บาดอกขาว เป็นไม้ลอยน้ำขนาดเล็ก มีไหลและรากยึดติดดิน ใบกลม ออกดอกตรงข้อที่ก้านใบ ภาพที่เห็นถ่ายที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว