วันจันทร์, ธันวาคม 15, 2551

กะเต็นปักหลัก(Pied Kingfisher)


วันนี้ (๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑) เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง ขณะที่ทีมงานสำรวจแหล่งน้ำฝายน้ำล้นท่ามะตูมคลองพระปรง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เพื่อทำกิจกรรมนักสืบสายน้ำในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ที่จะถึง ณ บริเวณกระแสน้ำที่ตกจากฝายเป็นฝอยกระจายภาพที่พบคือเจ้ากะเต็นปักหลักสีดำขาวกำลังบินหยุดนิ่ง และดิ่งตัวลงไปในกระแสน้ำ เพื่อจับปลา เป็นภาพที่สวยงามและยากที่จะได้พบเห็น เจ้ากะเต็นปักหลักตัวนี้ดิ่งลงจับปลาอยู่ 3 ครั้ง เป็นภาพที่ประทับใจยิ่งนัก
เคยมีข้อมูลจากนักดูนกว่า พบกะเต็นปักหลักที่คลองพระปรง จังหวัดสระแก้ว วันนี้ปรากฏเจ้ากะเต็นปักหลักจริง ๆ ดูทั้งปราดเปรียว สง่าสวยงามเหมือนเครื่องบินรบที่พุ่งจู่โจมข้าศึก
กะเต็นปักหลักเป็นนกกินปลาอยู่ในตระกูล Kingfisher แล้วเราคงได้พบกันอีกเพื่อบันทึกภาพให้ได้ วันนี้ดูภาพสถานที่พบก่อนก็แล้วกันนะ

สะพานไม้แห่งการเรียนรู้ป่าชายเลน


พื้นที่บริเวณด้านหลังองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี มีการจัดสร้างสะพานไม้เป็นทางเดิน เพื่อเข้าไปศึกษาเรียนรู้ป่าชายเลน สะพานไม้ที่เดินศึกษามีความยาว ประมาณ 2 กิโลเมตร จากการสังเกตป่าชายเลน แห่งนี้มีต้นแสมขาวอยู่ประมาณเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของป่ามีการปลูกป่าเพิ่มเติมเป็นป่าโกงกางบ้าง เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปครบรอบมีข้อคิดเห็นในใจหลายเรื่อง เช่น ป่าชายเลนแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งศึกษาต้นแสมขาวโดยเฉพาะได้อย่างลึกซึ้ง พบสัตว์หลายชนิดได้แก่ กุ้งขัน ปลาตีน งู นกยางโทน นกกินเปี้ยว นกกาเหว่า โดยเฉพาะนกกินเปี้ยวถือว่าพบหนาแน่นเป็นแหล่งศึกษาได้ สัตว์ทุกชนิดไม่มีข้อมูลศึกษาเลยนับเป็นสิ่งน่าเสียดาย มีประชาชนบางคนได้ใช้สะพานไม้เป็นที่ออกกำลังกายโดยการวิ่ง ความแข็งแรงของสะพานไม้อาจลดลง ประเด็นที่สำคัญและมองข้ามไม่ได้คือ การมีประตูน้ำเปิดผ่านป่าชายเลนทำให้เกิดร่องน้ำ ผลคือต้นแสมขาวสองฝั่งล้มลงเป็นจำนวนหลายต้น เหตุของการล้มเพราะป่าเกิดช่องว่างต้นไม้ไม่สามารถเกาะเกี่ยวผูกพันกัน

สรุปว่าป่าชายเลนรากตื้นเป็นป่าอยู่ได้เพราะการเกาะเกี่ยวผูกผันทั้งรากและลำต้น เหมือนคนในชุมชนอยู่ได้ด้วยความสามัคคีทั้งความคิดจิตใจ และการกระทำ

"พูพอน"ต้นพระเจ้าห้าพระองค์ที่เขาสอยดาว


“พูพอน” เป็นวิวัฒนาการของรากต้นไม้ที่ปรับตัว โดยปกติแล้วต้นไม้ใหญ่ต้องหยั่งรากให้ลึกลงไปในดินเพื่อการยึดลำต้น แต่ในภูมิประเทศบางแห่งมีชั้นของดินตื้นใต้ดินเป็นขั้นของหินต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถหยั่งรากลงลึกได้ ต้นไม้จึงต้องแผ่รากให้เป็นปีกสูงๆอยู่บนดินเพื่อยึดลำต้น อาการเช่นนี้นักพฤกษศาสตร์เรียกว่า “พูพอน”

หากเราเดินป่า ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เส้นทางดงติ้ว – มอสิงโตจะพบพูพอนขนาดใหญ่อาจถึงสิบคนโอบ แต่เป็น“พูพอนของต้นสมพง” เมื่อเคาะพูพอนจะเกิดเสียงดังกังวานไปไกล คนเดินป่าสมัยก่อนใช้การเคาะพูพอนเพื่อการสื่อสารถึงกลุ่มพวกเมื่อเกิดหลงป่า แต่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี กลับพบ“พูพอนของต้นพระเจ้าห้าพระองค์”ขนาดใหญ่สวยงามดูเป็นปีกที่บางกว่าต้นสมพง ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลป่าให้ข้อมูลว่า ถ้าเดินขึ้นไปบนเขาสอยดาวที่สูงขึ้นอีกจะพบพูพอนของต้นพระเจ้าห้าพระองค์ที่มีขนาดใหญ่มากอาจถึงยี่สิบคนโอบ

ในโอกาสต่อไปถ้ามีเวลาคงได้มาเยือน พูพอนยักษ์ของต้นพระเจ้าห้าพระองค์ที่เขาสอยดาวอีกครั้ง

บรรพบุรุษของต้นแสมขาว


ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระแบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งอยู่ในโครงการพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ให้ประชาชนได้ศึกษา เรื่องป่าลายเลน โดยจัดเป็นทางเดินไม้เข้าไปในบริเวณป่าชายเลนระยะทาง 1600 เมตร ในป่ามีทั้งต้นแสม ต้นโกงกาง ต้นลำพู ที่ โดดเด่นคงเป็นต้นแสมขาวที่มีอายุยืนยาวที่สุดในบริเวณนี้ โดยเชื่อว่ามีอายุยืนกว่า 200 ปี ต้นแสมขาวต้นนี้จึงถูกขนานนามว่า “ ปู่แสมขาว” เมื่อได้เห็นต้นไม้ต้นโตๆ มีอายุมากๆ รู้สึกมีความสุข ดูเหมือนโลกนี้ยังมีความหวังอยู่ โลกนี้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ในขณะเดียวกันก็แอบคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่า “ ถ้าต้นไม้พูดได้น่าจะดีนะ โดยเฉพาะต้นปู่แสมขาวต้นนี้ จะได้ถามท่านถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ครั้ง พ.ศ. 2310 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ท่านกอบกู้เอกราชเช่นไร จึงทำให้ประเทศเป็นเอกราชเช่นทุกวันนี้”

เจ้างาขาว


“ เจ้างาขาว” ไม่ได้เป็นชื่อของช้าง แต่ เป็นชื่อของวัวตัวหนึ่ง ซึ่งเจ้าของเขาตั้งให้เนื่องจากความผิดปกติของเขาสีขาวที่ยาวมากๆ เจ้างาขาวเป็นวัวหนุ่มสีแดงเพลิงทั้งตัวรูปร่างสง่าสวยงาม

จากการพูดคุยกับเจ้าของบ้านบันเทิงรีสอร์ท ที่อยู่ใกล้ๆอ่าวคุ้งกระเบนอำเภอท่าใหม่
จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเลี้ยงเจ้างาขาวไว้บอกว่าเจ้างาขาวเป็นของน้องชายซื้อมาจากทางภาคอีสาน ในราคาห้าแสนบาท น่าจะเป็นวัวลูกผสมแต่ไม่รู้ว่าลูกผสมพันธุ์อะไร บ้างครั้งก็ดุเหมือนกันถ้าขังนานๆ เลี้ยงไว้กับฝูงวัวตัวเมียมีการผสมพันธุ์บ้าง แต่ลูกที่ได้ก็ไม่เหมือนเจ้างาขาวเลย

มีข้อมูลน้อยแต่แปลกดีนะ คิดเอาเองว่าน่าจะเป็นลูกผสมวัวแดง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าเพราะดูแข็งแรง สง่างาม

วันอังคาร, ธันวาคม 09, 2551

บ่อเกลือโบราณ




ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านมีบ่อเกลือสินเธาว์หรือบ่อเกลือภูเขา ซึ่งชาวอำเภอบ่อเกลือมีความภาคภูมิใจและเชื่อว่าบ่อเกลือของเขาเป็นบ่อเกลือสินเธาว์ภูเขาแห่งเดียวในโลก
บ่อเกลือแห่งนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานเนื่องจากเกลือมีความสำคัญต่อมนุษย์ อย่างยิ่ง ในอดีตเกลือเคยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อเหตุแห่งการแย่งชิง (เอกสารแผ่นพับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ่อเกลือ) ปัจจุบันบ่อเกลือกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดน่าน หากได้ไปเยี่ยมชมการทำเกลือสินเธาว์ที่อำเภอบ่อเกลือ จะพบกับมัคคุเทศก์น้อย ๆ คอยแนะนำการทำเกลือว่ามีขั้นตอนอย่างไร เราจะได้ยินคำเชิญชวนจากมัคคุเทศก์น้อยเหล่านี้ว่า “ชิมเกลือของเราหน่อยเกลือของเราหวานนะ” แล้วตักเกลือจากขอบกระทะที่ต้มมาให้ชิม
ความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ผนวกกับความน่ารักของเด็ก ๆ ทำให้หายเหนื่อยจากการเดินทางที่คดโค้งไปบนยอดดอยได้เหมือนกัน

ช่างเงิน..เม็ดเงิน..ทำเครื่องประดับเงิน


คุณ นำชัย จารุศิลากุล เป็นช่างเงินที่ทำเครื่องประดับด้วยเงิน อยู่ที่บ้าน ป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ กำไร ต่างหู ทุกชิ้นสวยงามมีศิลปะในการออกแบบอย่างน่าทึ่ง จากการได้พูดคุยกับคุณนำชัย ทำให้ทราบว่าที่บ้านป่ากลางมีการรวมกลุ่มกันทำเครื่องเงินทุกขั้นตอน โดยเริ่มแปรรูปจากเม็ดเงินเล็กๆ ขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ นำมาทำเป็นแผ่นบ้าง เป็นเส้นเพื่อถักเป็นสร้อยบ้าง ทำทุกขั้นตอนจนเป็นเครื่องประดับที่สวยงามเพื่อจำหน่ายที่บ้านป่ากลาง และส่งไปจำหน่ายตามใบสั่งของลูกค้าทั่วประเทศ
ก่อนจากกันได้ถามคุณนำชัยด้วยความสงสัยว่า “ ชาวบ้านป่ากลางดูธรรมดาๆ แต่ทำไมทำเครื่องเงินได้สวยงามและทันสมัยจริงๆ” คุณนำชัยยิ้มแล้วตอบว่า “พวกเราได้รับการฝึกฝนจากศูนย์ศิลปชีพในสมเด็จพระราชินีนาถส่วนหนึ่ง ผนวกกับทุนความรู้ดั่งเดิมที่เคยทำเครื่องเงินจากบรรพบุรุษมา จึงทำให้เป็นวันนี้ครับ”

หลวงพ่อกับต้นดิกเดียม


คำว่า “ดิกเดียม” เป็นภาษาของคนในภาคเหนือโดยเฉพาะชาวจังหวัดน่าน ซึ่งแปลว่า “จักจี้” ฉะนั้น ต้นดิกเดียมที่จะเขียนจึงหมายถึงต้นจักจี้ ต้นจักจี้เป็นเช่นไร ต้นจักจี้อยู่ที่ไหน

ต้นดิกเดียม ต้นนี้อยู่ที่วัดปรางค์ อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อต้นดิกเดียมอยู่ในวัดแน่นอนที่สุดบุคคลที่จะให้ข้อมูลได้ดีก็ต้องเป็นหลวงพ่อนั้นแหละ วันนั้นคณะของพวกเราได้ยืนฟังหลวงพ่อบรรยายถึงต้นดิกเดียม พร้อมทั้งสาธิตการลูบไปตามต้นดิกเดียม ผลปรากฏคือต้นดิกเดียมสั่นสะท้านจนใบไหว นับเป็นเรื่องที่แปลกมากถึงปฏิกิริยาของต้นไม้ที่มีต่อการลูบเบาๆของหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อสาธิตให้ดูแล้ว พวกเราทุกคนต่างทดลองลูบต้นดิกเดียมดูบ้าง ผลปรากฏการสั่นสะท้านของต้นดิกเดียมที่ทุกคนลูบแตกต่างกัน บางคนสั่นมาก บางคนสั่นน้อย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นยังคงต้องพิสูจน์ทดลองอีกต่อไป

สิ่งที่ได้พบเห็นเรื่องนี้น่าศึกษาวิจัยเป็นอย่างยิ่งทั้งด้านวิทยาศาสตร์และด้านศาสนา

วันจันทร์, ธันวาคม 08, 2551

ท่องเที่ยวพันภู...ดูเมืองน่าน


นักท่องเที่ยวมักกล่าวว่า “จังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยในเรื่องการท่องเที่ยวแล้วมีจุดเด่นของแต่ละจังหวัด เช่น ถ้าเป็นเมืองกาญจนบุรีก็ต้องเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว ถ้าเป็นพระนครศรีอยุธยาก็ต้องเป็นกรุงเก่าร่องรอยประวัติศาสตร์ ถ้าต้องขับรถถึง 1,864 โค้ง ก็ต้องเป็นแม่ฮ่องสอน แต่ถ้าอยากดูภูเขาสลับซับซ้อนนับพันภูก็ต้องไปดูที่เมืองน่าน”
จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 13 ของประเทศขณะที่ความหนาแน่นของประชากรเพียง 42 คน ต่อ 1 ตร.กม. พื้นที่จังหวัดน่านจึงเต็มไปด้วยขุนเขา ภูเขาที่สูงที่สุดคือดอยภูคาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 1,980 เมตร ในเดือนธันวาคมอุณหภูมิบนดอยภูคาต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบาย ความงามของขุนเขาสลับซับซ้อนสุดตาเหนือจินตนาการ ดอยภูคานับเป็นขุนเขาแห่งความสงบเขียวขจี ส่วนดอยภูแวเป็นขุนเขาแห่งพลังสีสนิมเหล็ก น่านคือพลังที่แข็งแกร่งและสงบร่มเย็น
สำหรับผู้คนที่รักภูเขาเป็นชีวิตจิตใจแล้ว อยากให้หาโอกาสให้ตนเองได้ “ท่องเที่ยวพันภูดูเขาที่เมืองน่าน” เพื่อเป็นรางวัลให้ชีวิต

ฝายแม้วที่น้ำแม่ว้า


น้ำแม่ว้า เป็นแม่น้ำสายรองไหลไปรวมกับแม่น้ำน่าน ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ช่วงต้นเดือนธันวาคม ยังมีน้ำไหลอยู่ไม่มากนัก ด้วยพื้นที่ต้นน้ำถูกตัดต้นไม้บนภูเขาเกือบโล้นทำให้ไม่มีพื้นที่ซับน้ำ ประชาชนที่อยู่ริมน้ำแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกผักและกระเทียม บริเวณริมแม่น้ำ โดยการช่วยกันทำฝายแม้วชะลอน้ำให้ไหลช้าลงเพื่อยืดระยะเวลาการนำน้ำไปใช้

ที่จริงแล้วฝายแม้ว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในชุมชนภาคเหนือของประเทศไทยมายาวนาน บรรพบุรุษได้สั่งสม องค์ความรู้ไว้ให้อนุชนได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการบูรณาการ(ทำไปพร้อมกัน) ภูมิปัญญากับความรู้สมัยใหม่ในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน เพื่อคนรุ่นต่อๆไป

ฝายแม้วชะลอน้ำให้ไหลช้าเพื่อการนำไปใช้ ฉันใด การลดการบริโภคที่เกินความจำเป็นช่วยชะลอธรรมชาติสิ่งแวดล้อมถูกทำลายได้ ฉันนั้น

วันอังคาร, ธันวาคม 02, 2551

เมื่อฟากฟ้าปรากฏ"ดาวเคียงเดือน"


1 ธันวาคม 2551 ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 1 ปีชวด เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ทิศตะวันตกเฉียงใต้บนฝากฟ้าเมื่อดาวและเดือนโคจรมาอยู่ใกล้กันในลักษณะตา 2 ข้าง และปากที่ยิ้ม ตาข้างขวาเป็นดาวศุกร์สว่างกว่า ตาข้างซ้ายเป็นดาวพฤหัส ดวงจันทร์ยิ้มอยู่ด้านล่าง คนไทยทั้งประเทศต่างคนต่างมอง ต่างคนต่างคิด คิดทั้งด้านบวก คิดทั้งด้านลบ บ้างก็บอก ธรรมชาติยิ้มเยาะมนุษย์ บ้างก็บอกสิ่งดีดีกำลังจะปรากฏให้มนุษย์ได้เห็น
ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้แปลกเป็นธรรมชาติการโคจรของดวงดาวเพียงแต่ว่า เกิดยากที่ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส และดวงจันทร์จะโคจรแล้วปรากฏเป็นรูปเช่นวันนี้ เป็นปรากฏการณ์ให้เห็นเพียงวันเดียว มีผู้ให้ข้อมูลว่าหากต้องการดูอีกครั้งต้องรอไปถึง 44 ปี สมมุติว่าวันนี้เราอายุ 57 ปี ต้องดูแลสุขภาพอย่างดีเพื่อให้มีอายุถึง 101 ปี จึงจะได้ดูอีกครั้ง..ดูดีไหมเอ่ย