วันพุธ, เมษายน 30, 2551

ภูมิปัญญาช่างตีเหล็กบ้านนาป้อ ตีมีดตัดยางสืบทอดกว่า 100 ปี

ตาแหนด สีผม เป็นชื่อภูมิปัญญาช่างตีเหล็ก บ้านนาป้อ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ที่ดูแข็งแรงแม้ว่าอายุของตาแหนด จะย่างเข้า 78 ปี แล้ว ตาแหนด เล่าว่ากลุ่มช่างตีเหล็กบ้านนาป้อ เป็นชุมชนอิสลามล้วน ๆ มีอาชีพตีเหล็ก ตีมีดตัดยาง (กรีดยาง) พร้า มีดโต้ มากว่า 100 ปี แล้ว ตั้งแต่สมัยปู่ พ่อ มาถึงตาแหนด ปัจจุบันรุ่นลูกและหลานยังประกอบอาชีพตีเหล็ก มีช่างรวมกลุ่มกันมากกว่า 20 คน ลูกชายตาแหนดชื่อ นายจรูญ สีผม เล่าให้ฟังว่า ช่างตีเหล็กแม้อายุจะมากแต่ทุกคนมีร่างกายแข็งแรงเพราะได้ออกกำลัง แม้ว่าการเพิ่มอุณหภูมิในเตาเผาจะไม่ได้ใช้มือในการสูบอากาศเข้าไปแล้ว แต่กระบวนการตีเหล็กยังคงเอกลักษณ์เดิมของ “พร้านาป้อ” ที่สวยงาม คงทน ถ่านที่ใช้ยังคงเป็นถ่านจากไม้เคี่ยมเหมือนเดิม ซึ่งสั่งซื้อมาจากจังหวัดกระบี่ เป็นไม้เคี่ยมที่เป็นส่วนโคนที่ฝังอยู่ในดินนำมาเผาเป็นถ่าน ซื้อขายราคากระสอบละ 130 บาท มีองค์ความรู้อีกมากจะนำเสนอรายละเอียดของแหล่งเรียนรู้นี้ในโอกาสต่อไป
“คุณภาพของคน คุณภาพของพร้านาป้อ เป็นคุณค่าน่าศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่สาธารณะ นี่คือ วิทยาศาสตร์ชุมชนภูมิปัญญาของชาติ”

ครูสมพงษ์ ยอดนักสังเกต เลี้ยงหอยขมด้วยอาหารธรรมชาติ

ครูสมพงษ์ อยู่บ้านน้ำผุด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง บริเวณหลังบ้านมีฝานน้ำล้น
ครูสมพงษ์จึงเลี้ยงปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ในกระชัง เป็นรายได้เสริม วันหนึ่งได้สังเกตพบว่า
บริเวณริมตลิ่งมีหอยขมเกาะกินตะใคร่น้ำอยู่ทั่วไป เกิดความคิดว่าถ้าเอากระชังมาล้อมหอยขมไว้
น่าจะเก็บขายได้ง่าย ที่ตลาดซึ่งครูสมพงษ์นำปลาไปขายทุกเช้า มีคนขายหอยขมจานเล็กๆ ไม่ถึง 10 ตัว
ราคาตั้ง 10 บาท การทดลองใช้กระชังล้อมหอยขมได้ผล ครูสมพงษ์สามารถเก็บหอยไปขายได้
แต่พบว่าหอยไม่สามารถนำไปเป็นอาหารได้ทันที เนื่องจากหอยอยู่ริมตลิ่งมีทรายอยู่ในตัวต้องทิ้งไว้
1 คืนก่อน ปัจจุบันใช้วิธีการเลี้ยงหอยขมในกระชัง หอยกินตะไคร่น้ำที่อยู่รอบๆ กระชังทำให้หอยไม่มีทราย
จึงมีรายได้เสริมจากการเลี้ยงหอยขมโดยใช้อาหารจากธรรมชาติเพราะความช่างสังเกตและทดลองนั้นเอง

วันจันทร์, เมษายน 21, 2551

ประมงชายฝั่งบ้านพระม่วง

ประมงชายฝั่งบ้านพระม่วง

บ้านพระม่วงเป็นหมู่บ้านชาวประมง ตั้งอยู่ในตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เกือบทั้งหมดเป็น คนไทยนับถือศาสนาอิสลาม ยังชีพด้วยการทำประมงเรือเล็ก จากการพูดคุยทำให้รู้ว่าการออกเรือของชาวพระม่วงมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าออกเรือหาปลา หาปู จะออกช่วงเวลาน้ำตาย (น้ำนิ่ง ช่วง 6-12 ค่ำ ) หากเป็นช่วงน้ำใหญ่ (น้ำมาก 13-15 ,1 ,2 ค่ำ) ชาวพระม่วงจะออกตกหมึก รายได้โดยเฉลี่ยต่อวันยังไม่หักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท

ชาวพระม่วงต่อเรือในหมู่บ้านตนเอง ไม้ที่ใช้ต่อเรือนิยมใช้ไม้จำปาดะเป็นกระดูกงู ตัวกง และส่วนหัวซึ่งยกสูงขึ้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ใช้ไม้ขนุนเป็นพื้นเรือด้วยเหตุผลเมื่อแห้งน้ำหนักจะเบา และใช้ไม้ตะเคียนทรายเป็นส่วนข้างเรือทั้งหมด ลักษณะเรือที่ใช้ออกหาปลา ถ้าเป็นเรือขนาด 21 ตัวกง ใช้เวลาต่อเรือประมาณ 1-2 เดือน

ข้อสังเกต จะพบว่าการออกเรือมักออก 1-2 คนต่อเรือหนึ่งลำ แต่ส่วนใหญ่เป็น 2 คน (ผู้ชาย) ออกในช่วงเวลาตีสามกลางคืนและกลับเข้าฝั่งอีกครั้งในช่วงบ่ายสามโมง เมื่อกลับถึงฝั่ง ผู้ชายพักผ่อนด้วยการดื่มชา โกปี้ และน้ำหวาน ส่วนผู้หญิงและเด็ก ๆ เก็บปลาและปูจากอวนที่ขึ้นมาจากเรือ

“นกกรงหัวจุก”

“นกกรงหัวจุก” เป็นชื่อที่เรียกนกชนิดหนึ่งของคนเลี้ยงนกในภาคใต้เลี้ยงไว้เพื่อแข่งขันเสียงร้องประชันกัน นกกรงหัวจุก มีชื่อที่เป็นทางการคือ นกปรอทหัวโขน (Red whiskered Bulbul) เป็นนกประจำถิ่นที่พบบ่อยมากเกือบจะทั่วประเทศยกเว้นภาคใต้ ซึ่งนิยมเลี้ยง แทบไม่พบนกปรอทหัวโขนในธรรมชาติเลย อาจพบบ้างบางครั้งมักจะเป็นนกที่หลุดจากการขังกรง คนเลี้ยงนกในภาคใต้เมื่อเห็นนกหลุดกรง ก็นำนกของตนมาพยายามต่อนกหลุดด้วยใจที่จดจ่อที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า นกกรงหัวจุกแต่ละตัวซื้อมาด้วยราคาแพง ราคาตั้งแต่ 500-600 บาท บ้างตัวราคาหลักพัน หลักหมื่น หลักแสน แหล่งที่ซื้อจะซื้อนกจากภาคเหนือ จากประเทศพม่า ประเทศลาวและเขมร สถานการณ์นกปรอทหัวโขนในภาคใต้ใกล้ สูญพันธ์ เส้นทางระหว่างวัฒนธรรมกับการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นเส้นทางคู่ขนานที่ไม่ยอมเชื่อมต่อกันได้ สถานการณ์ของนกปรอทหัวโขน น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนหล่อหลอม วัฒนธรรมกับการอนุรักษ์ได้อย่างกลมกลืนเพื่อความสวยงามของโลกใบนี้

“Super Markets” ของชุมชนคนตรัง

“Super Markets” ของชุมชนคนตรัง

ซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่บอกกล่าว ณ ที่นี้มิใช่ หมายถึง ห้าง Macro หรือ Lotus หากแต่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ ของชุมชนคนตรัง ราว ๆ เดือนเมษายนของทุกปี นับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูจากร้อนจะเข้าสู่ฤดูฝน หากมีฝนตกชุก 1-2 วันติดกัน หลังจากนั้นจะเกิดมหกรรมของชุมชน คนตรังไม่ว่าเป็นชาวพุทธหรืออิสลาม นับเป็นจำนวนร้อย ๆ คน จะมาบริเวณป่าชุมชนในโรงเรียนวิเชียรมาตุและศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรัง ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือ การเก็บเห็ดเสม็ด ทุกคนไม่แย่งชิง แต่พยายามเขี่ยหาเห็ดซึ่งขึ้นอยู่ใต้ใบต้นเสม็ดขาวหรือกระถิ่นเทพาที่หล่นทับกัน แต่ละคนได้มากบ้าง น้อยบ้าง บางคนอาจได้ถึง 20-30 กิโลกรัม

จากการสังเกต พบว่าเห็ดเสม็ด เป็นเห็ดตับเต่าชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายเห็ดฟางแต่ขนาดเล็กกว่ามีสีม่วงอ่อน ๆ ดอกเห็นค่อนข้างแข็ง ทุกคนที่มาเก็บเห็ดดูมีความสุข มีสมาธิในการค้นหาเห็ด เมื่อซักถามพูดคุย ทราบว่า เห็ดเสม็ดเมื่อนำไปต้มหรือแกงกะทิจะมีรสขมนิด ๆ มีเมือกลื่น ๆ รับประทานอร่อยมาก ถ้านำไปขายจะได้ราคาประมาณกิโลกรัมละ 80-120 บาท ความต้องการของตลาดไม่เพียงพอเฉพาะในจังหวัดตรัง
คำถาม ถามว่าจะทำอย่างไร จึง จะทำให้ป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์มีเห็ด มีผัก ให้ลูกหลานได้เก็บกินในอนาคต มิใช่เป็นเพียงตำนานเล่าขานถึงดินแดนที่เคยเต็มไปด้วยเห็ดเสม็ดในป่าชุมชนโรงเรียนวิเชียรมาตุและศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรัง แต่ปัจจุบันป่าไม่มีแล้ว

นบยักษ์แหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนของคนตรัง

นบยักษ์แหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนของคนตรัง

“นบ” เป็นคำย่อของคำว่า “ทำนบ” ซึ่งหมายถึงคันกั้นน้ำ นบยักษ์ในที่นี้เป็นคันหินที่กั้นน้ำทะเลขึ้นลง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดตรังประมาณ 10 กิโลเมตรไปทางอำเภอกันตัง ความโดดเด่นเป็นช่วงเวลาน้ำลง จะเห็นเกาะแก่งหิน หาดทราย นกทะเลจำนวนมาก ปูดำ หอยกาบ ป่าโกงกาง นับเป็นแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนที่สำคัญซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรังนำกลุ่มเป้าหมายไปเรียนรู้

ทุ่งค่ายมรดกล้ำค่าของคนตรัง

ทุ่งค่ายมรดกล้ำค่าของคนตรัง

ทุ่งค่ายเป็นชื่อของตำบลหนึ่งที่นำมาตั้งเป็นชื่อ สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (ทุ่งค่าย)จังหวัดตรัง สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้จัดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติเป็นภาคีเครือข่ายของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรังมาช้านาน ความสำคัญของทุ่งค่ายอยู่ที่ เป็นแหล่งศึกษาพรรณไม้ เขตร้อนชื้น ป่าพรุ ที่น่าสนใจ มีไม้เคี่ยม ไม้ยมชวน ระกำ ลุมพี นกที่พบเป็นนกขนาดเล็กสีสันสวยงาม เช่น นกกาฝากท้องสีส้ม นกกินปลีอกสีม่วง เป็นต้น และที่ถือว่าเป็นมรดกล้ำค่าของคนตรังคือ....สะพานลิงเหล็กสำหรับเดินศึกษาเรือนยอดไม้ มีความสูงถึง 3 ระดับสูงกว่า 20 เมตรจากพื้นดินซึ่งสร้างในสมัย พณ ฯ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เราสามารถเรียนรู้อยู่ที่นี่ได้มากกว่า 3 ชั่วโมง