วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 25, 2554

พระอุปัชฌาย์ที่สอง



หลวงพ่อธัมมชโย ท่านเทศน์สอนว่า “หากเราศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในคำสอนของพระพุทธองค์ ประสงค์บวช จะบวชกี่ครั้งก็ได้บุญทุกครั้งไป” คำโบราณที่กล่าวว่า “ชายสามโบสถ์” จึงเป็นคำสอนโบราณที่มีคุณค่าในช่วงเวลานั้น กาลเวลาเปลี่ยนแปลง การประกอบอาชีพ ภารหน้าที่ ความรับผิดชอบ ทำให้การทำความดีให้ตนเองโดยการบวชเพื่อศึกษาธรรม จึงต้องทำทุกจังหวะที่มีโอกาส
ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้เขียน บวชพระถึงสามครั้ง บวชเณรถึงหกครั้ง การบวชพระที่อยู่ในความทรงจำและได้ปฏิบัติธรรม ทั้งปริยัติและปฏิบัติมากที่สุด เห็นจะเป็นการบวชพระครั้งที่สอง ซึ่งบวชในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 โดยได้รับความเมตตาสูงสุด จากพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยบวชที่พระอุโบสถวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี และได้รับเมตตาจาก หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เฝ้าอบรมสั่งสอน ตลอดช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ทั้งภาคปริยัติ ปฏิบัติ และทั้งยังมีพระอาจารย์พี่เลี้ยงอีกหลายรูปเฝ้าดูแล
ผู้เขียนกราบขอบคุณในความเมตตาเหล่านั้น บุญใดที่ผู้เขียนได้ทำไป ขอบุญนั้นส่งผลถึงครูบาอาจารย์ทุกรูปด้วยเทอญ

วันพุธ, สิงหาคม 24, 2554

ปะการังเทียม ทำที่หว้ากอไปลงทะเลที่สวี





ปะการังเทียม คืออะไร ปะการังเทียมคือบ้านปลอมๆของสัตว์เล็ก สัตว์น้อย สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยในทะเล อาศัยหลบซ่อนตัว หาอาหารยามเยาว์วัย ปัจจุบันปะการังธรรมชาติถูกทำลายหรือเหลือน้อยทำให้สัตว์ทะเลเล็กๆที่เคยอาศัยหากินหลบซ่อนตัวไม่มีที่อาศัย มนุษย์จึงต้องช่วยสัตว์เล็กๆเหล่านั้นให้มีที่อาศัยโดยการทำปะการังเทียมขึ้นมา ปะการังเทียมอาจทำได้หลายแบบ จากวัสดุหลายอย่าง แน่นอนว่าวัสดุนั้นต้องหนักและไม่ถูกน้ำเค็มกัดกร่อนได้ โดยทั่วไปปะการังเทียมทำจากคอนกรีตล้วนที่เรียกว่า “มาลีนไทด์” เป็นคอนกรีตที่ไม่ถูกกัดเซาะจากน้ำเค็ม
ที่บริเวณหาดริมทะเล ใกล้อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการหล่อปะการังเทียมนับ 2,000-3,000 แท่ง เพื่อเตรียมนำไปลงทะเล ที่อำเภอเมือง และอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ในสิ้นปี พ.ศ. 2554 นี้
จากข้อมูล Website http://wikipedia.org กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2552 มีการทำปะการังเทียมไปแล้ว 362 แห่ง ในจังหวัด เพชรบุรี ชุมพร พังงา ปัตตานี นราธิวาส ตราด สุราษฎร์ธานี และผลจากการมีปะการังเทียม ทำให้ปลาหายากหลายชนิดในทะเลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาหมอทะเล ปลาช่อนทะเล และปลาดุกทะเลเป็นต้น
ภาพถ่ายประกอบจากกล้อง ผอ.สุชาติ มาลากรรณ์

วันศุกร์, สิงหาคม 19, 2554

หลักสูตรการแยกขยะ


สังคมไทย เดิมเป็นสังคมเกษตรกรรม ชีวิตส่วนใหญ่จึงอยู่กับพืชผลทางการเกษตร อยู่กับต้นไม้ อยู่กับป่า อยู่กับไร่นา สิ่งใดที่ไม่ใช้ สิ่งใดที่เหลือใช้ ทิ้งไว้ ก็สามารถย่อยสลายโดยธรรมชาติ หรือนำมาเผาเป็นถ่าน เป็นเชื้อเพลิงได้ เราจึงไม่เห็นว่าอะไรเป็นขยะทิ้งไว้เลย
ปัจจุบัน สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามกระแสโลกาภิวัตน์ จากสังคมเกษตรกรรมกลายเป็นสังคมกึ่งอุตสาหกรรม มีผลิตภัณฑ์มากมาย เกิดจากการสังเคราะห์ที่ซับซ้อน การย่อยสลายทำได้ยาก ใช้เวลามากในการสลาย(อาจเป็นร้อยเป็นพันปี) ใช้พลังงานมากในการทำลาย ขยะจึงเพิ่มพูนขึ้น ทุกหย่อมหญ้าทั่วประเทศไทย ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่มากๆที่ถูกมองข้าม ไม่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ ไม่มีการวางแผน
ประชาชน เยาวชน ในสังคมไทย ยังคงทิ้งขยะไม่เลือกสถานที่ ไม่มีนิสัยรักความสะอาด ไม่ตระหนักรู้ว่า ปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ต้องบรรจุหลักสูตรการแยกขยะ การกำจัดขยะ การทิ้งขยะ การจัดการขยะ ในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับ อนุบาลถึงระดับอุดมศึกษาของการศึกษาชาติ

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 11, 2554

เห็นสมณะคือเห็นความสงบ



สมณะ คือใคร ? และใครจึงเรียกสมณะได้ ? พระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปท เล่มที่ 25 ข้อที่ 29 หน้าที่ 50 กล่าวถึงสมณะความว่า “ คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณะเพราะหัวโล้น คนที่ไม่ทำกิจวัตร มีแต่พูดพล่อยๆ มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จะจัดเป็นสมณะได้อย่างไร คนที่เราตถาคตเรียกว่าสมณะนั้น จะต้องเป็นผู้ระงับจากการทำบาปน้อยใหญ่เสีย ” จากพุทธพจน์ดังกล่าว สมณะจึงเป็นบรรพชิตแน่ แต่บรรพชิตรูปใดไม่ทำกิจวัตรย่อมไม่ใช่สมณะ เพราะสมณะ แปลว่า ผู้สงบ ซึ่งหมายถึงบรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรมฝึกฝนตนเองด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา มาแล้วอย่างเต็มที่ จนกระทั้งมี กาย วาจา ใจ สงบแล้วจากบาป
ฉะนั้นสมณะจึงเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย
เรียบเรียง จาก มงคลชีวิตที่ 29 เห็นสมณะ (ฐานวุฑฺโฒฺ ภิกฺขุ )

วันพุธ, สิงหาคม 10, 2554

คนธรรมดาก็บำเพ็ญตบะได้




เมื่อกิเลสจับ เราไม่เห็นตัวกิเลสหรอก เห็นเพียงอาการของกิเลส เช่น ฟุ้งซ่าน ท้อถอย ซึมเศร้า รำคาญ ง่วงเหงาฯลฯ ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ หม่นหมองใจ ลองมาดูวิธีทำความเข้าใจกับการแก้ไขกิเลสทุกข์เหล่านี้ ตามวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “อินทรียสังวร ” ดูนะ อินทรียสังวร เป็นการสำรวมอินทรีย์โดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ อินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อายตนะภายใน”นั่นเอง พระพุทธองค์เปรียบเทียบอินทรีย์ทั้งหกไว้ดังนี้ ตา คนเราเหมือนงู (ชอบลึกลับซับซ้อน) หู คนเราเหมือนจระเข้ (ชอบที่เย็น) จมูก คนเราเหมือนนก (ชอบตามกลิ่น) ลิ้น คนเราเหมือนหมาบ้าน (ชอบหากินของอร่อย) กาย คนเราเหมือนหมาป่า(ชอบที่อุ่น) ใจ คนเราเหมือนลิง(ไม่นิ่งชอบซุกซน)
เมื่อรู้ธรรมชาติของอินทรีย์ทั้งหกเป็นเช่นนี้ การระวังอินทรีย์โดยใช้สติเข้ากำกับ จึงควรเป็นดังนี้ “อะไรไม่ควรดูก็อย่าดู อะไรไม่ควรฟังก็อย่าฟัง อะไรไม่ควรดมก็อย่าดม อะไรไม่ควรชิมก็อย่าชิม อะไรไม่ควรสัมผัสก็อย่าสัมผัส อะไรไม่ควรคิดก็อย่าคิด ” หากละได้บุคคลผู้นั้นย่อมถือว่าเป็นบุคลผู้บำเพ็ญตบะ(ทำให้ร้อน) เพื่อกำจัดกิเลสทุกข์ได้ในระดับหนึ่งแล้ว
เรียบเรียง จากมงคลชีวิตที่ 31 บำเพ็ญตบะ (ฐานวุฑฺโฒ ภิกฺขุ)

วันอังคาร, สิงหาคม 09, 2554

เพื่อนร่วมทาง






หลายปีที่ผ่านมา (5 ปีแล้ว) ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตการรับราชการ ด้วยบทบาทหน้าที่ พื้นที่ความรับผิดชอบ สถานภาพที่มีต่อองค์กรที่เปลี่ยนไป ทำให้การเดินทางเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่าเกือบจะเดินทางไปทุกจังหวัดของประเทศไทยก็ว่าได้ บางครั้งเดินทางโดยเครื่องบิน บางครั้งเดินทางโดยรถไฟ บางครั้งเดินทางโดยเรือออกทะเลไปเกาะแก่ง แต่ส่วนใหญ่เดินทางโดยรถยนต์ การเดินทางโดยรถยนต์มีเพื่อนร่วมเดินทาง ที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชีวิตดังนี้
เพื่อนลำดับแรก รถยนต์ ISUZU 2 ตอนสีขาว มีรอก ขนาด 4 ตัน อยู่หน้ารถ เคยใช้งานไป 1 ครั้งแล้ว
เพื่อนที่สอง แผนที่เดินทาง 1 เล่ม แม้ว่ารถยนต์จะติดตั้งระบบนำทางแล้ว แผนที่ก็ยังจำเป็น ด้วยเหตุผลผู้ใช้แก่เกินกว่าจะใช้ Hi-TECH ได้สมบูรณ์
เพื่อนที่สาม นาฬิกาข้อมือ CASIO PROTREX ที่บอกทิศทาง บอกความสูงจากระดับน้ำทะเล บอกอุณหภูมิ ความกดอากาศ และอื่นๆ 1 เรือน
เพื่อนที่สี่ กล้องส่องทางไกล OLYMPUS 8 x 42 EXWP I พร้อมกล้องถ่ายรูป OLYMPUS SMART 5 x WIDE
เพื่อนที่ห้า ยาธาตุ 4 ตรากิเลนขวดใหญ่ ประจำอยู่หลังเบาะนั่งเสมอ ยังมีเพื่อนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ปากกา สมุดบันทึก ไฟฉาย กาแฟ แอมฟี่ของ AMWAY โทรศัพท์ขาดไม่ได้เลย แว่นตา แปรงสีฟันยาสีฟัน เอาเป็นว่าพอเดินทางเหมือนย้ายบ้านนั่นแหละ
เพื่อนสุดท้าย คือ พนักงานขับรถ คุณประไพ ตัวดำฟันหลอ ชอบกินเม็ดอม Copiko ฟันเลยผุไม่ยอมอุด เขาบอกว่าเก็บไว้เป็นที่ระลึก จบบันทึกเพื่อนเดินทาง

วันจันทร์, สิงหาคม 08, 2554

ความทรงจำที่ 2 เขาแหลมหญ้า – เกาะเสม็ด







เดือนสิงหาคมปี 2554 ด้วยมีราชการต้องไปจังหวัดระยอง พอมีเวลาในตอนเช้า จึงใช้เวลาว่างประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อเดิน Trail ของอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า ระยะทางสั้นประมาณหนึ่งกิโลเมตร เริ่มต้นเดินที่ระดับความสูง 125 เมตรจากระดับน้ำทะเล เดินอ้อมเขาแหลมหญ้าขึ้นไปสูงประมาณ 160 เมตรไปสิ้นสุดที่แหลมหญ้าความสูงประมาณจุดเริ่มต้น ที่บริเวณแหลมก็มีแต่หญ้าจริงๆ เพราะเป็นหินผุไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเลย จึงเป็นที่มาของชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งนี้
แม้เส้นทางสั้น แต่ความทรงจำคงแสนยาว ด้วยดื่มด่ำกับอากาศที่บริสุทธิ์ กระแสลมที่พัดกระทบทั่วขุมขน เสียงคลื่นสาดซัดริมฝั่งดังก้องกังวาน ตรงออกไปในทะเล มองเห็นเกาะเสม็ดอยู่ไม่ไกล (นั่งเรือประมาณ 15 นาที) เขาแหลมหญ้าจึงผนวกกับเกาะเสม็ดเป็นอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 04, 2554

ต้นมะเดื่อที่ท่าน้ำ




เมื่อเริ่มโตจำความได้ก็เห็นต้นมะเดื่อที่ท่าน้ำต้นนี้แล้ว เวลาผ่านไปกว่า 50 ปี ต้นมะเดื่อยังอยู่ที่เดิม ต้นก็ดูเหมือนว่าไม่ได้โตขึ้นเท่าใด อาจเป็นเพราะตอนนั้นเป็นเด็กมองว่าต้นมะเดื่อต้นโตมาก ลูกก็ดกเต็มต้นมีทั้งสีเขียว สีแดง สุกส่งกลิ่นหอมฟุ้ง
เมื่อวันเวลาผ่านไป เรื่องราวรอบๆต้นมะเดื่อก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เดิมทีแล้วแม่น้ำกว้างใหญ่น้ำไหลผ่านต้นมะเดื่อตลอดปี มีท่อนซุงถูกตัดลอยเป็นแพกลางแม่น้ำ บางคุ้งน้ำลึกช้างลงไปอาบน้ำได้มิดตัว ช้างนับสิบเชือกอยู่บริเวณท่าน้ำ ควานช้างปีนต้นมะเดื่อใช้มีดลิดพวงมะเดื่อ เมื่อตกถึงพื้นช้างแบ่งกันกิน ช้างไม่แย่งอาหารกันเลย นี่เป็นภาพความทรงจำตอนเป็นเด็ก ปัจจุบัน (50 ปีผ่านปี) ท่าไม่มีน้ำ แม่น้ำตื่นเขิน ช้างหายไปจากความทรงจำของผู้คน เด็กๆบอกว่าไม่เคยเห็นช้างเดินผ่านมาเลย ต้นมะเดื่อยังอยู่ที่เดิม แต่มีผู้คนนำศาลเพียงตาหลายศาล มาตั้งไว้โคนต้น บทบาทของต้นมะเดื่อจึงเปลี่ยนไป จากเดิมเคยเป็นต้นไม้ที่เป็นอาหารของช้าง กลายเป็นที่อยู่ของวิญญาณเร่ร่อน ที่มนุษย์ยัดเยียดให้อยู่โคนต้นมะเดื่อต้นนี้

วันพุธ, สิงหาคม 03, 2554

ตลาดเช้าชนบทของคนภาคเหนือ






แม้พื้นที่เป็นเพียงตรอกซอกเล็กๆ ก็เป็นตลาดเช้าเพื่อขายสินค้าจำเป็นในการดำรงชีพของคนชนบทในภาคเหนือได้ ภาพแม่ค้าตั้งกระบุงวางสินค้าอยู่สองข้างตรอก ช่องระหว่างกลาง อนุญาตให้มีคนเดินได้พอสวนทางกันแบบเบียดๆ หน่อย เมื่อก้มลงซื้อของก้นก็โด่ง ทางภาคใต้จึงเรียกตลาดประเภทนี้ว่า “ตลาดโก้งโค้ง” หมายถึงเมื่อซื้อของก็ต้องโก้งโค้ง ชื่อตลาดก็น่ารักไปอีกแบบหนึ่ง
สินค้าที่วางขายได้แก่ แมลงทอดใส่ถาดเล็กๆ รังต่อ พร้อมพริก มะเขือ เพื่อนำมาทำน้ำพริกต่อ ถุงพลาสติกใส่ปลาดุกตัวเล็กปากถุงมีท่อทำจากต้นอ้อผูกไว้ด้วย เพื่อให้ปลาดุกมีอากาศหายใจ วิถีชีวิตในชนบทเรียบง่ายมีเหตุมีผลอยู่ในตัวของมันเอง เช่นถ้าซื้อรังต่อไปตำน้ำพริก ก็ซื้อพริกมะเขือตรงนี้เลย ปลาดุกถ้าขายไม่ได้ปลาก็ไม่ตายเพราะมีท่อหายใจไว้แล้ว
สรุปว่าหากจะทำอะไรซักอย่างหนึ่ง ทางที่ถูกต้องน่าจะมีธรรมเป็นคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง เป็นคำตอบที่มีทั้งเหตุและผลให้คิดและไตร่ตรองได้

ชายสามโบสถ์





วันที่หนึ่งสิงหาคมสองพันห้าร้อยห้าสิบสี่ กลับไปบ้านภาคเหนือเพื่อทำบุญครบ 7 รอบให้แม่ แม่ผมขาวทั้งหัว แม่บอกว่า แม่จะไม่ย้อมผมอีกอายุ 84 ปีแล้ว ผมขาวเป็นเส้นไหม ดูแม่มีสุขภาพดี มีเพียงเข่าข้างขวาที่ต้องใช้สนับเข่าช่วยบ้างบางครั้ง
ตื่นตอนตีสี่คุยกับแม่และน้องๆ เกือบหกโมงเช้า เดินไปตลาดเช้า ระยะทางน่าจะไม่เกิน 400 เมตร แต่ต้องเดินผ่านวัดที่เคยบวชเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว เห็นการบูรณะโบสถ์มหาอุตตม์ (โบสถ์ที่มีประตูเดียว) บูรณะได้ละเอียดสวยงามมาก ทั้งหลังคา หน้าบรรณ บันไดนาค รู้สึกปลื้มใจ คำนึงว่าโบสถ์สวยๆหลังนี้แหละเมื่อสี่สิบปีที่แล้วเราเคยเข้าพิธีบวช มีพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์และมีหมู่สงฆ์ห้อมล้อมเราอยู่ในโบสถ์หลังนี้ ผู้หญิงเข้าไปในโบสถ์มหาอุตตม์ไม่ได้เลย นั่นเป็นการบวชครั้งแรก
หลวงพ่อ ธัมมชโย สอนว่า เมื่อเราบวชทุกครั้งเราย่อมได้บุญทุกครั้ง ในชีวิตที่ผ่านมาจึงบวชพระไปสามครั้ง บวชเณรหกครั้ง การบวชคือการทำความดีให้ตัวเอง “ลูกผู้ชายมีโอกาสต้องบวชทดแทนคุณบิดา มารดาและเพื่อตัวของเราเอง”