วันศุกร์, กรกฎาคม 30, 2553

คืนอันตราย








เวลาห้าทุ่มครึ่งของคืนวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 ตื่นขึ้นมาพร้อมอาการปวดหัวอย่างรุนแรง พักบ้านพักอยู่คนเดียวอาการเจ็บป่วยจากความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้มากว่าหนึ่งเดือนแล้ว แม้กินยาลดความดันโลหิตสูงมาตลอด หลังจากไปพบแพทย์คนใหม่ เปลี่ยนยาใหม่อาการไม่ดีขึ้น ความดันโลหิตอยู่ที่ 170/100 เกือบทุกวันไม่เคยสบายตัวเลย
คืนนี้จะไปพึ่งใครได้ ปวดหัวลืมตาเกือบไม่ได้ ภวังค์ความคิดขณะนั้นว่า หรือชีวิตเราจะจบสิ้นที่ตรงนี้แล้ว คลำไปเปิดสวิทซ์ไฟฟ้า ตัดสินใจอีกครั้งอย่างไรต้องลดความดันโลหิตสูงให้ได้ไปหยิบยาลดความดันโลหิตสูงชุดเก่าที่เคยใช้ได้ผลมากว่า 5 ปี และเพิ่งหยุดไปเมื่อเดือนที่แล้วซึ่งดูเหมือนว่าจะควบคุมไม่ได้ที่จริงแล้วอาจเครียดจากงานและการเดินทางก็เป็นได้ ตัดสินใจกินยาตอนห้าทุ่มครึ่งอาการปวดหัวยังไม่ลดลงเวลาผ่านไปเกือบตีหนึ่งวัดความดันโลหิตอีกครั้ง ความดันลดลงเกือบภาวะปกติคือ 140/92 หัวใจเต้น 58 ครั้งต่อนาที
ชีวิตกลับมาอีกครั้งหลังจากเป็นสัมภเวสี(วิญญาณแสวงหาที่เกิด) เร่ร่อนไปกว่าหนึ่งเดือน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์โปรดสัตว์ทั้งหลายว่า “จงดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาทเถิด” คืนอันตรายได้ผ่านชีวิตไปอีกหนึ่งคืนแล้ว

วันพุธ, กรกฎาคม 28, 2553

นักดนตรีบรรเลงเพลงจากแก้วแชมเปญ







ที่ปาลิโอ (PALIO) เขาใหญ่ บริเวณทางขึ้นเขาใหญ่ฝั่งอำเภอปากช่อง เป็นสถานที่จำลองคล้ายกับการได้ไปเดินเที่ยวนครเก่าแก่ของอิตาลี คือนครเวนิส ตึกปลูกสร้างดูเก่าสีทึม ๆ มีร้านค้าของเล็ก ๆ ให้หนุ่ม สาว ได้เดิน Shopping ผู้คนที่เดินเที่ยวอยู่ใน Palio เกือบทั้งหมดมีกล้องถ่ายภาพเพื่อบันทึกบรรยากาศแบบ อิตาลี่ ที่นี่
บนถนนที่คนเดินเที่ยวมีกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ วณิพกบรรเลงเพลงบนปากแก้ว แชมเปญที่มีขนาดแก้วแตกต่างกัน มีระดับน้ำอยู่ในแก้วต่างกัน แก้วแต่ละใบเป็นตัวโน๊ตดนตรีเฉพาะ วณิพกบรรเลงด้วยสุนทรียภาพไม่เคยเหลือบมามองผู้คนที่เดินผ่านไปมาเลย สมาธิอยู่ที่ปากแก้วที่จะเคลื่อนนิ้วไปลูบให้เกิดเสียงดนตรีเท่านั้น ดูการบรรเลงเพลงแล้วมีความสุขตามนักดนตรีไปด้วย
อันที่จริงแล้วการใส่น้ำต่างระดับกันลงไปในแก้วแชมเปญที่มีขนาดต่างกัน เมื่อลูบที่ปากแก้วทำให้เกิดระดับเสียงแตกต่างกัน เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องคลื่นเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือน เพียงแต่ต้องทำให้ระดับเสียงกับตัวโน๊ตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วนักดนตรีก็บรรเลงเป็นเพลงได้นับเป็นการประยุกต์สิ่งดีดีวิธีหนึ่ง

วันศุกร์, กรกฎาคม 23, 2553

ซากต้นตะเคียนทองกับแป้งฝุ่นหอม








ความเชื่อเรื่องนางไม้ที่สิงสถิตอยู่กับต้นตะเคียนทอง เป็นความเชื่อที่ฝังใจผู้คนมาช้านานและไม่เคยเสื่อมคลาย โดยเฉพาะผู้คนในชนบทความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ ยังคงอยู่อีกต่อไป
ที่จังหวัดสระแก้ว ในอดีตคงเคยเป็นป่าไม้ที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะต้นตะเคียนทองและคงมีนางไม้สิงสถิตอยู่ทุกต้น แต่นางไม้ไม่สามารถต้านเลื่อยยนต์ของนายทุนตัดไม้ทำลายป่าได้ ปัจจุบันไม่มีต้นตะเคียนทองหลงเหลืออยู่เลย เว้นแต่ที่นางไม้พาต้นตะเคียนทองลงไปฝังไว้ใต้น้ำใต้ดิน...เลยรอดมาบ้าง
วัดใหม่ไพรวัลย์ พระท่านก็อยากสร้างโบสถ์ ยอมให้ฆราวาสใกล้วัดชักรากต้นตะเคียนทองขึ้นมาจากน้ำมาจากใต้ดินนำมาไว้ที่วัด...โดยอ้างว่าวิญญาณนางไม้ไปบอก..ผู้คนหลั่งไหลมาวัดใหม่ไพรวัลย์ พร้อมแป้งฝุ่นหอม สำหรับโรยตามซากต้นตะเคียนทองเพื่อเอาใจนางไม้ โดยหวังว่านางไม้คงจะบอกใบ้ให้เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับหวยของรัฐบาล สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ออกสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง
สรุปว่า ความเชื่อของประชาชนสอดรับกับความเชื่อของรัฐบาลในเรื่องโชคจากหวย

วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 22, 2553

ป่าฟื้นตัวในพื้นที่ทหารจังหวัดสระแก้ว







จากข้อมูลทางธรณีวิทยา ระบุว่า พื้นที่ดินสระแก้วเป็นดินกรวดลูกรัง ชั้นล่างเป็นดินเหนียวมีอินทรียวัตถุ ธาตุโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ต่ำ ไม่เหมาะในการทำเกษตรเพราะจะต้องใช้ทุนในการจัดการสูง ควรปล่อยไว้เป็นป่าธรรมชาติ
สภาพความเป็นจริง เกษตรกรในจังหวัดสระแก้วส่วนใหญ่ใช้ที่ดินของตนปลูกต้นยูคาลิปตัส เพื่อขายให้โรงงานทำกระดาษ ด้วยความเคยชินกับการทำการเกษตรแนวใหม่ แม้ปลูกต้นยูคาลิปตัส เกษตรกรเกือบทั้งหมด ได้ใช้ยาฆ่าหญ้า ได้ใส่ปุ๋ย กับต้นยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการจัดการ หากคิดอย่างละเอียดอาจพบว่าขาดทุน หรือไม่ได้กำไรเลย เพียงแต่ได้เงินมาเป็นก้อนเท่านั้น
ส่วนพื้นที่ ที่ทหารครอบครองได้ปล่อยแผ่นดินทิ้งไว้ เวลาผ่านมาเกือบยี่สิบปีพื้นที่ว่างเปล่า มีต้นไม้ป่าเริ่มเจริญเติบโตเป็นป่าธรรมชาติมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์
หากมีเวลาต้องการศึกษาการฟื้นตัวของป่าในพื้นที่ของทหารบริเวณที่กำหนดเป็นสถานที่ฝึกนักศึกษาวิชาทหารของจังหวัดสระแก้ว สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ดีแห่งหนึ่ง

วันอังคาร, กรกฎาคม 20, 2553

น้ำใต้ดินท่วมฐานเรียนรู้เรื่อง"ดิน"





ข้อสรุปทางธรณีวิทยาของดินสระแก้ว (Sa kaeo series : Ska) คุณสมบัติทางเคมีมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ อินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมต่ำ ดินมีความเป็นกรด pH 5.0 – 6.5 เป็นดินที่เกิดจากตะกอนน้ำพัดพามาทับถมบนที่ราบตะกอนน้ำพาบริเวณตะพักลำน้ำจึงเป็นดินตื้น พบลูกรังภายใน 50 เซนติเมตร ไม่เหมาะในการเกษตร เพราะจะใช้การจัดการอย่างมาก ควรปล่อยไว้เป็นป่าธรรมชาติ
ที่ฐานเรียนรู้เรื่องดินของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ขุดเป็นหลุมลึกประมาณหนึ่งเมตรห้าสิบเซนติเมตร ทำบันไดเดินลงไปศึกษาชั้นดิน ดินบนเป็นดินร่วนปนทรายปนกรวดสีน้ำตาล ดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนกรวดสีเหลืองปนแดง ถัดลงไปเป็นดินเหนียวสีเหลืองปนแดงที่ความลึก 150 เซนติเมตร ถึงฤดูฝนน้ำใต้ดินเต็มบ่อ ขอบหลุมพังทลายด้วยดินล่างเป็นดินเหนียวที่อ่อนนุ่ม เมื่อขังน้ำจึงทำให้ขอบหลุมพัง ซึ่งเป็นธรรมชาติของดินสระแก้วเป็นสภาพที่ควรศึกษาเรียนรู้ถึงบริบทแหล่งทางธรณีวิทยาของดินสระแก้ว

นกกินปลีอกเหลืองกับดอกพู่ชมพู














ที่สวนประดู่ป่าต้นพู่ชมพูหรือพู่นายพล บานดอกสีชมพูเต็มต้น แม้ว่าพู่ดอกดูเป็นเส้นฝอยกระจายแต่กลางกระเปาะของดอกพู่ชมพูกลับอุดมไปด้วยน้ำหวาน ทุกครั้งที่พู่ชมพูบานดอก นกกินน้ำหวาน เช่น นกกินปลี มักมารุมล้อมอยู่ที่ต้นไม้ชนิดนี้ตั้งแต่เช้าจนเกือบเที่ยงทุกวัน
สัปดาห์ที่ผ่านมากลับไปพักผ่อนฟื้นสุขภาพที่สวนประดู่ป่า ได้ยินเสียงนกร้องดัง “วิตวิตวิต วี้วี้วี้ด” ที่ต้นพู่ชมพู เมื่อเดินไปใกล้ภาพที่เห็นคือนกกินปลีอกเหลือง (Olive – backed Sunbird)และนกกินน้ำหวานอีกชนิดหนึ่งคล้ายนกกินปลีสีเรียบ (Plain Sunbird) เกาะดูดน้ำหวานของดอกพู่ชมพูอยู่กว่าสิบตัว ใช้กล้องถ่ายภาพสวย ๆ ได้ โดยเฉพาะกินปลีอกเหลืองตัวผู้ ได้แสดงพฤติกรรม “เกี้ยวพาราสี” ตัวเมีย ขยับขนสีเหลืองบนปีกทั้งสองข้างดูสวยงามและแปลกตาดี
ที่สวนประดู่ป่า นกและคนเป็นมิตรกัน นกอาศัยป่าเป็นบ้าน เป็นแหล่งขยายเผ่าพันธุ์ มีต้นไม้เป็นแหล่งอาหารไม่มีสารพิษสารเคมีทำลายพืช ทำลายแมลง ทำลายแหล่งอาหารในวงจรธรรมชาติ นกกับคนอยู่ร่วมกันต่างได้รับผลประโยชน์และความสุขทั้งสองฝ่าย

วันจันทร์, กรกฎาคม 19, 2553

ฤดูกาลกับความคิดถึง




เมื่อฤดูฝนเข้าสู่รอบแห่งฤดูกาล ธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลง ฝนตกต่อเนื่อง ต้นไม้ ใบหญ้าเขียวชอุ่ม นกอพยพ เช่น แซงแซวสีเทา นกจับแมลงคอแดง ได้จากไปแล้วสำหรับปีนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมายังเห็นเขาบินอวดโฉมลงโฉบแมลงบนพื้นดินอยู่เลย โลกเปลี่ยนแปลง ฤดูกาลเปลี่ยนไป ความคิดถึงโหยหา สิ่งที่เคยพบ เคยเป็น เคยเจอ ทำให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกันนะ นี่กระมังที่พุทธศาสนาเรียกว่า “ภวตัณหา” ความอยากให้เป็น อยากให้อยู่ อยากให้เหมือนเดิม มันเป็นกิเลสชนิดหนึ่งเชียวแหละ
อย่างไรก็ตาม ปุถุชนคนธรรมดาที่พยายามมองการเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของธรรมชาติเทียบเคียงกับหลักธรรมของพุทธศาสนายังอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล ผนวกกับความคิดถึงเจ้านกอพยพตัวน้อยผู้จากไปอีกหนึ่งฤดูกาลแล้ว

ซากดึกดำบรรพ์ที่เหมืองถ่านหิน







ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นบริเวณหนึ่งที่สำรวจพบถ่านหินและถูกสำรองไว้เป็นพลังงานของประเทศ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่เจ็ด พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วิธีขุดถ่านหินใช้วิธีเปิดหน้าดิน ขนย้ายส่วนที่เป็นดินออกไปกองไว้ เพื่อนำกลับมากลบดังเดิมในโอกาสที่ขุดถ่านหินนำไปใช้พอแล้ว วิธีการเช่นนี้นับเป็นโอกาสที่ทำให้สามารถเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกของเรานับเวลาล้านปีที่ผ่านมาได้จากซากดึกดำบรรพ์ที่พบเจอจากการขุดลึกลงไปในชั้นดินกว่าสามร้อยเมตรบริเวณที่เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) มาก่อนในอดีต
เหมืองแม่เมาะเคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในอดีต เมื่อขุดลงไปจึงพบซากดึกดำบรรพ์ เช่นซากช้างโบราณ ช้างสี่งา ซากหอย ซากตะพาบ ซากสาหร่าย ซากอื่น ๆ ซึ่งมีอายุนับล้านปี ในอนาคตเหมืองแม่เมาะจะปิดตัวลง เหมืองแม่เมาะจะถูกจัดการให้เป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้เรื่องซากดึกดำบรรพ์และประวัติศาสตร์การทำเหมืองถ่านหินของประเทศไทย ให้มนุษย์ชาติทั่วโลกได้ศึกษาแหล่งเรียนรู้แห่งนั้น

คลื่นความร้อนความเจ็บป่วยของธรรมชาติ







ปีนี้ (2553) ปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงถึงความเจ็บป่วยของธรรมชาติ ที่บอกเตือนมนุษย์ปรากฏการณ์นั้นคือ การเกิดคลื่นความร้อนกระจายไปทั่วโลกทุกทวีป ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย อุณหภูมิสูงถึง 38-39 องศาเซลเซียส สำหรับในประเทศเขตหนาว ในประเทศเขตร้อนเช่น ประเทศไทย อุณหภูมิ 42-43 องศาเซลเซียส ประเทศอินเดียสูงถึง 46 องศา เซลเซียส
เมื่อผู้คนจากทั่วโลกได้รับคลื่นความร้อนที่ผิดปกติจากเคยเป็น อาการจึงเหมือนสัตว์ที่ถูกขังกรงและขาดน้ำ ดิ้นรน พล่าน เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เคยสวมใส่ไม่ใส่ใจแล้ว วิ่งหาน้ำหาความเย็นทุกรูปแบบที่จะทำได้
นักวิทยาศาสตร์พยายามสรุปสาเหตุการเกิดคลื่นความร้อนว่ามาจากเหตุใดบ้าง ทุกสาเหตุสุดท้ายคำตอบอยู่ที่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของโลกและบรรยากาศขาดสมดุล แน่นอนการขาดสมดุลส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่มาจากการกระทำของมนุษย์นี้เอง
มีคำถามว่า “เราจะปล่อยให้วิกฤตธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและพรากชีวิตมนุษย์ทุกคนไปจากโลกพร้อมกันหรือว่าเราจะร่วมกันกรอบกู้วิกฤตธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยมือเราทุกคน” ถามอีกคำถามว่า “แล้วเราจะทำอย่างไรละ” คำตอบอยู่ที่ “ เราทุกคน ”

วันเสาร์, กรกฎาคม 17, 2553

แพรพะยูง




ที่สวนประดู่ป่ามีพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ นอกจากจะมีต้นประดู่ป่าตามชื่อแล้ว ยังมีไม้ป่าอีกหลายชนิด เช่น ตะเคียนทอง มะค่า ตะแบก สัก กันเกรา ยาง ที่สำคัญ คือ ต้นพะยูง เป็นไม้ป่าเนื้อแข็งมีอยู่กว่า 50 ต้น แม้จะชื่อ สวนประดู่ป่า แต่ไม้ป่าที่กระจายอยู่เต็มพื้นที่กลับเป็นต้นพะยูง ต้นไม้ทั้งหมดมีอายุกว่าสิบปีแล้ว



ท้ายสวนประดู่ป่าเป็นบ้านคนสวนอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีพ่อ แม่ และลูกชาย ลูกสาว บ้านคนสวนอยู่ท่ามกลางป่าพะยูง ลูกสาวตัวน้อยคลอดที่บ้านหลังนี้ หน้าตาเธอน่ารักมาก คุณตา คุณยาย เจ้าของสวนประดู่ป่าตั้งชื่อเธอว่า "แพรพะยูง" แพรพะยูงเติบโตในสวนที่มีเด็กเล็กคนเดียว จึงเป็นที่รักของทุกคน เธอสวยและฉลาด อายุเพิ่งย่างเข้าสามขวบ พูดได้ 2 ภาษา พูดภาษามอญกับพี่ชาย พ่อ แม่ พูดภาษาไทยกับคุณตา คุณยาย คุณตาไปทำงานต่างจังหวัด เมื่อกลับมาถึงสวนประดู่ป่าแพรพะยูง ต้องเดินมาหา คลอเคลีย หอมแก้ม พูดคุยนิดหน่อยแล้วเดินกลับบ้าน ส่วนคุณยายไม่ต้องพูดถึงเจอทุกวันมากราบที่ตักทุกวัน



ความรักของคุณตาคุณยาย และแพรพะยูง ถูกเชื่อมด้วยสวนป่าธรรมชาติที่คุณตาคุณยายรัก โดยมีพ่อ แม่ของแพรพะยูงเป็นผู้ดูแลรักษาสวนประดู่ป่า ที่เป็นสายใยธรรมชาติ สายใยแห่งความรัก