วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 26, 2552

โบชิ(boshi)หมวกกระดาษของเด็กชาย



คุณ KAZUMI MANABE ภรรยาของอาสาสมัครอาวุโสจากญี่ปุ่น(คุณ MANABE) เป็นสตรีที่มีความตื่นตัว สดใส สนุกสนาน อารมณ์ดี ห่วงใย และบริการทุกคนที่อยู่ใกล้ตัวด้วยความใส่ใจ ยามว่างเธอหากระดาษมาสอนเด็กๆพับเป็น ของเล่น ของใช้ เป็นนก เป็นหมวก ดังในภาพ คุณ KAZUMI สอนเด็กพับหมวกที่เรียกว่า”โบชิ”เพื่อสวมใส่ “คาบูโตะ”เป็นหมวกของเด็กผู้ชาย เด็กๆที่มาเรียนพับกระดาษได้ความรู้และเพลิดเพลินกับกิจกรรมดีดี ขอขอบคุณ JICA ไว้ ณ โอกาสนี้

วันพุธ, พฤศจิกายน 25, 2552

อาสาสมัครญี่ปุ่นมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร


ตุลาคม 52 - กันยายน 53 นับเป็นเวลาดีดีของชาวศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ที่ได้รับความกรุณาจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ส่งอาสาสมัครอาวุโส คุณ NORIAKI MANABE มาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรศูนย์วิทย์ฯทุกคน และกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่เข้าชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์ในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว

เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน ได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของคุณ MANABE และภรรยา เป็นรูปแบบที่ควรทำและปฏิบัติตาม ดังนี้ การเรียนรู้ทุกเรื่องใช้วิธีพยายาม พูดเป็นคำ จดเป็นคำบันทึกภาพเรื่องที่จด เปิดพจนานุกรม ญี่ปุ่น - อังกฤษ - ไทย ทีละคำ ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเวลา กิน,เที่ยว,หรือเวลางาน ถือว่ากระบวนการเรียนรู้ใช้วิธีบูรณาการทำไปพร้อมๆกับกิจกรรมในวิถีชีวิต นับเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ดี เป็นธรรมชาติและเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว ในเวลาสั้น ๆ คุณ MANABE สามารถเข้าใจภาษาไทยและกิจกรรมต่างๆมากขึ้น ชนชาติที่เจริญแล้วพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ได้ผลเพื่อการเรียนรู้ ฉะนั้นรูปแบบที่พบเห็นน่าจะมีประโยชน์ต่อเยาวชนคนไทยทุกคน

ไก่ฟ้าพญาลอเพศเมียที่ปางสีดา


ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน มีโอกาสพาอาสาสมัครจากญี่ปุ่นไปศึกษาธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดา เย็นวันนั้นเป็นวันอังคาร เป็นวันปลอดนักท่องเที่ยว (เสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวมาก) จึงมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น นกตบยุง นกกะปูด นกแซงแซวสีเทา นกแก๊ก แมวดาว งูเหลือมยาวกว่า 3 เมตร รวมทั้งผีเสื้อจำนวนมากหลากหลายชนิด แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ ได้พบเห็นไก่ฟ้าพญาลอเพศเมีย ยืนรีรออยู่บนถนนที่รถวิ่งช้า ๆ และหยุดเพื่อถ่ายภาพ ได้ถามคุณประเสริฐ เจ้าหน้าที่สื่อความหมายของอุทยาแห่งชาติปางสีดาที่ไปด้วยกันว่า “ทำไมไก่ฟ้าพญาลอดูเชื่องจัง” คุณประเสริฐตอบว่า “ช่วงเวลาฤดูหนาวเป็นฤดูผสมพันธุ์สัตว์หลายชนิดหาคู่นะครับ”
ไก่ฟ้าพญาลอมีชื่อสามัญว่า Siamese Fireback ชื่อวิทยาศาสตร์ Lophura diardi หากดูชื่อสามัญแล้วแน่นอนที่สุดคือ ต้องพบครั้งแรกในประเทศไทยจึงมีชื่อขึ้นต้นด้วย Siamese ส่วนชื่อภาษาไทยว่า ไก่ฟ้าพญาลอ ต้องมีความสวยงามมากจึงตั้งชื่อให้เกี่ยวข้องกับวรรณคดีของไทยเรา รายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้จากคู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล ในภาพเป็นไก่ฟ้าพญาลอเพศเมียถ่ายที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 เวลาประมาณ 17.00 น.

วันจันทร์, พฤศจิกายน 09, 2552

“หมอไม่เหมือนหมอ หมาไม่เหมือนหมา”


คุณตานิรันดร์ อายุ 73 ปีแล้ว มีอาชีพขับรถ ตุ๊ก ตุ๊ก สถานที่รับผู้โดยสารประจำทุกเช้า คือ หน้าโรงแรมตรัง เป็นโรงแรมเก่าที่เปิดบริการมากว่า 40 ปีแล้ว
เช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณตานิรันดร์ ก่อนที่จะไปปฏิบัติภารกิจ คุณตานิรันดร์เล่าให้ฟังว่า “ผมเคยเป็นทหารอากาศไปสงครามเวียดนามไปรบอยู่ที่เมืองดานัง ปัจจุบันสุขภาพทั่วไปผมดีนะ ยกเว้น หู หูตึงไม่ค่อยได้ยิน หลังจากผมออกจากทหาร ผมขับรถบรรทุกมาตลอดกว่า 40 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ผมเจ็บป่วยด้วยโรคหนึ่ง คือ โรคเลือดกำเดาไหล เป็นตลอดมาหลายปี รักษาโรงพยาบาลหลายแห่งจนท้อใจ ผมเคยจดบันทึกการไหลของเลือดกำเดา ผมมานับดูเฉลี่ยแล้วเหมือนกับไหลวันละครั้งนับเป็นปี ๆ ผมพยายามเล่าอาการให้หมอฟัง บางครั้งก็ถูกดุ หาว่าพูดมาก รู้มาก ผมอยากหายเพราะทุกข์ทรมาน ด้วยต้องขับรถส่งของระยะทางไกล ๆ มาวันหนึ่งผมตัดสินใจจะรักษากับหมอคนนี้เป็นคนสุดท้ายแล้ว ท่านชื่อ หมอชาญชัย ผมนำบันทึกที่ทำไว้มาให้คุณหมอ เล่ารายละเอียดให้ฟัง คุณหมอซักถามและฟังด้วยความตั้งใจและจดบันทึก คุณหมอปรึกษาวิธีการรักษาร่วมกับผม ท่านถามว่าผมยอมรับการรักษาด้วยวิธีที่คุณหมอจะทำหรือไม่ สุดท้ายท่านรักษาการไหลของเลือดกำเดาผมโดยการนำเยื่อบาง ๆ ไปปิดแผลในโพรงจมูก หลังจากนั้นผมหายจากโรคเลือดกำเดาไหลตลอดมา” ประโยคสุดท้ายคุณตานิรันดร์ทิ้งคำพูดว่า “ผมว่า หมอไม่เหมือนหมอ หมาไม่เหมือนหมา การรักษาขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่มีและการเป็นผู้ฟังที่ดี ผมโชคดีครับที่เจอหมอที่ดีเช่นหมอชาญชัยคนนี้”