วันจันทร์, มีนาคม 20, 2549

หมอของต้นไม้

เช้าวันหนึ่งเรานั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน ขณะมองผ่านกระจกออกไปนอกหน้าต่างพบนกชนิดหนึ่งตัวโตกว่านกกระจอกนิดหนึ่ง สีเขียวเข้ม หางสั้น ส่วนบนของหัวมีสีส้มเข้ม ใต้คางก็มีสีส้ม ลักษณะคล้ายนกโพระดก สวยจริงๆ เราเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก ทำไมนกชนิดนี้ปรากฏบริเวณนี้ สงสัยคงมีที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ เดินไปหยิบกล้องส่องทางไกลในรถ นำมาส่องสังเกตอย่างละเอียด พบว่าที่ต้นมะม่วงตายริมสระน้ำมีโพรงเป็นรูกลมๆ 2 โพรง เจ้านกที่สวยงาม บินเข้า บินออก จากโพรงที่เห็น ความน่ารัก การบิน การเกาะปากโพรง การคาบเหยื่อ ทำให้มีความสุขในกิจวัตรของเจ้านกตัวนี้ กลับมาค้นหารายละเอียดจากคู่มือดูนกพบข้อมูลว่า ........นกชนิดนี้มีชื่อว่า “นกตีทอง “นักดูนกกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ตั้งสมญานาม “หมอของต้นไม้” เป็นนกที่ทำประโยชน์ต่อต้นไม้คอยรักษาต้นไม้ที่มีหนอนเจาะ เพราะนกตีทองกินหนอนและผลไม้เป็นอาหาร

วันพุธ, มีนาคม 15, 2549

งัวกะหลาล้อ

“งัวกะหลาล้อ”เป็นภาษาเหนือแปลว่า”วัวเทียมเกวียน”เมื่อปลายปีเรามีโอกาสกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อกับแม่ขณะที่ขับรถจากจังหวัดลำปางไปตามถนนหมายเลข 1 คือถนนพหลโยธินจะไปอำเภองาว ข้างทางเราได้เห็นเกวียนลำหนึ่งผูกวัววัยรุ่นคู่หนึ่งอยู่ข้างหลัง เดินกลับจากไร่.....ทำให้หวนคิดถึงคนแก่เฒ่าเล่าให้ฟังถึงเรื่องการฝึกวัวรุ่นไว้เทียมเกวียนอย่างน่าฟัง.......วัวที่จะนำมาเทียมเกวียนแต่ละคู่นั้นจะต้องถูกคัดสรรอย่างดี เริ่มจากอายุ ขนาด นิสัยจากนั้นจึงนำมาฝึกเดินโดยการผูกเชือกให้เดินตามเกวียนไปทำงานในไร่...ดูว่าทั้งคู่เดินขัดกันหรือไม่แต่ละตัวถนัดที่จะอยู่ซ้ายหรือขวา......ดูจนเห็นว่าทั้งคู่กลมกลืนกันจึงตัดสินใจเลือกไว้เพื่อเปลี่ยนวัวคู่เก่าที่อ่อนร้าโรยแล้ว......การมีชีวิตคู่ของหนุ่มสาวก็คงเช่นกัน ต้องแบ่งปันต้องปรับตัวและกลมกลืนกันไปตลอดชีวิต

บอกความรักผ่านต้นไม้

ภาคฤดูร้อนที่ผ่านมาลูกสาวเกรงว่าคุณพ่อจะเหงาจึงหางานให้ทำ โดยการพาวัยรุ่นระดับมัธยมมาฝากให้เข้าค่ายกินนอนอยู่ที่ประดู่ป่าแคมป์สักครึ่งเดือน จำนวน 3 คน มี บอม บูม มินนี่ กิจกรรมเริมต้นจากการใช้แผนภูมิความคิด(mind mapping)ค้นหาความต้องการของเด็กๆแล้วจึงมากำหนดตารางกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กๆกับคุณตาซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก(facilitator) ในเรื่องกีฬา มีอยากฝึกกอล์ฟ ว่ายน้ำ บาสเกตบอล อยากไปเที่ยวมรดกโลกทางประวัติศาสตร์ที่อยุธยา อยากไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่อุทยานแห่งชิเขาใหญ่ ทุกความต้องการถูกกำหนดเป็นโปรแกรมแล้วการเรียนรู้ก็เริ่มต้น ทุกกิจกรรมทั้งสนุก ทั้งเหนื่อย การแก้ปัญหามีตลอดเวลา การใช้จิตวิทยา และธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ร่วมกัน(action learning)ระหว่างเด็กๆกับคุณตา ..........สุดท้ายเมื่อจะจากกันเด็กสะท้อนความรู้สึกยกตัวอย่าง หนูมินนี่”คุณตาทำให้มินนี่รู้สึกรักต้นไม้มากที่สุด เพราะต้นไม้มีชีวิตจริงๆ.....ที่เขาใหญ่คุณตาให้มินนี่เอาหูแนบต้นไม้ที่กำลังสังเคราะห์แสงเมื่อโดนแดด มินนี่ได้ยินเสียงการลำเรียงน้ำดังเหมือนเสียงน้ำไหลในท่อประปาเลย มินนี่จะนำไปเล่าให้เพื่อนๆฟัง..ต้นไม้มีชิวิตจริงๆ เราต้องรักต้นไม้ให้มากๆกว่านี้”

วันอังคาร, มีนาคม 07, 2549

สุขใจที่ได้ให้

น้าเวช เป็นทีมงานคนหนึ่งในสำนักงานเรา น้าเวชมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ความสะอาดและทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน น้าเวชอายุ 50 กว่าๆแล้วโดยปกติเป็นคนประหยัด อดออม ขยัน ฤดูทำนาก็เช่านาคนอื่นทำ ฤดูน้ำหลากก็ปักเบ็ดหาปลา วันหนึ่งอาจหาได้ 7-8 กิโลกรัม ขายได้ 3-4 ร้อยบาท เริ่มทำงานด้วยการเป็นหนี้เช่านา ด้วยนิสัยดังกล่าวปัจจุบันน้าเวชมีที่นา 100 กว่าไร่ มีวัวฝูง มีรถ มีบ้าน มีความสุขกับครอบครัว........วันหนึ่งน้าเวชเข้ามาหาเราในห้องทำงานและพูดว่า”ผอ.ครับราชการเลี้ยงดูผมมามากแล้ว ผมอยากตอบแทนบุญคุณบ้างผมอยากจะทาสีสำนักงานเราใหม่ ผอ.ว่าจะเอาสีอะไรดีผมจะออกเงินค่าสีและทาเอง ผมขอเป็นผู้ให้สักครั้งเพื่อความสุขใจของผมนะครับ”

วันพุธ, มีนาคม 01, 2549

ตัวห้ำที่ครูเคยสอน

ตอนเป็นเด็กเราเรียนวิทยาศาสตร์ครูจะสอนว่าแมลงในธรรมชาตินั้นมี 2ประเภท ปรเภทหนึ่งเรียกว่า”ตัวห้ำหรือตัวห้ำหั่น ตัวที่พิฆาตตัวอื่นนั่นแหละ” อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า”ตัวเบียนหรือตัวเบียดเบียนไงละ”ครูพยายามอธิบายให้เข้าใจ ดูคล้ายว่าจะเข้าใจ...แต่ไม่ชัดคงไม่ใช่ครูผิดเป็นเพราะเราโง่มากกว่า.....ความชัดเจนเฉลยเมื่อเร็วๆนี้ ในสวนเรามีต้นสะเดาใหญ่ขึ้นบนจอมปลวก วันหนึ่งมีตัวต่อมาทำรังโคนต้นสะเดา ตัวต่อน่ากลัวมากถ้าต่อยใคร 3-4ตัวอาจทำให้คนนั้นเสียชีวิตได้ เรามีความวิตกกังวลมาก เพราะคนสวนไปตัดหญ้าใกล้บริเวณเกรงว่าจะเกิดอันตราย จะฆ่าก็สงสาร......จำนวนก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำไงดีละ....คิดไม่ออก..นั่งห่างๆใช้กล้องส่องทางไกลเฝ้ามองดูว่าเขามีชีวิตอย่างไร.....สิ่งที่พบต่อบินเข้า บินออกรังตลอดเวลา บินเข้ามาพร้อมหนอนตัวเล็กๆเพื่อใส่ในแคปซูลให้ตัวอ่อน ทำทั้งวันจนมืดค่ำ......รังก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ความฉลาดเกิดขึ้นจากการสังเกต ...ตัวต่อนี่แหละคือตัวห้ำที่ครูบอก และพวกหนอนก็คือตัวเบียนแน่ๆ...มาวันนี้ตัวต่อได้จากรังไปแล้ว...ทิ้งรังเป็นชั้นถึง8ชั้นไว้ให้ดู ลองนับแคปซูลของตัวอ่อนเล่น....มีต่อเกิดใหม่มากกว่าหมื่นตัวที่เป็นตัวห้ำไปทำหน้าที่ในธรรมชาติ...หวนคิดว่าถ้าวันนั้นเราตัดสินใจทำลายรังต่อ......เราคงเสียใจไปตลอด....โชคดีที่มีสำนึก

ปรัชญาของลุงสุก

ในหมู่บ้านมีธนาคารข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำไปฝากไว้กว่า 200 ครอบครัว ธนาคารข้าวแห่งนี้เป็นของ”ลุงสุก”ลุงสุกรับฝากข้าวมาหลายสิบปีแล้ว เราเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่นำข้าวไปฝากลุงสุกไว้เมื่อจะกินข้าวก็ไปบอกให้ลุงสุกสีข้าวให้..รำ แกลบ ลุงสุกเอาไปเลี้ยงเป็ดเทศ ไก่ ไก่งวง ข้าวสารเราเอามาไม่ต้องเสียค่าสีข้าวเป็นเช่นนี้มากว่า 15 ปีแล้ว ถามว่าทำไมชาวบ้านจึงนิยมนำข้าวเปลือกหลังจากการทำนาแล้วไปฝากไว้กับลุงสุก......คำตอบที่ได้รับจากชาวบ้านที่นำข้าวไปฝากคือ...ลุงสุกเป็นคนซื่อสัตย์มาก...ซึ่งหาได้ยากยิ่งในยุคนี้...ลุงสุกมีปรัชญาที่ยึดมั่นมาตลอดชีวิต.....ว่า”ข้าวสักกำ เกลือสักก้อน เราจะไม่เอาของใคร”ความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อลุงสุกยังยั่งยืนแม้วันนี้ลุงสุกเริ่มอ่อนล้าย่างสู่วัยชราแล้ว...ลุงสุกจึงต้องหาวิธีผ่อนแรงจัดระบบการวางกระสอบข้าว เขียนชื่อคนฝาก ลำดับที่กระสอบ นับเป็นการบริหารจัดการอย่างน่าสนใจยิ่ง

คำครู

ลุงหวังแกเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดนตรีไทย สามารถทำเครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิด เช่นขลุ่ย ระนาด ซอแต่ที่ลุงหวังถนัดมากๆเห็นจะเป็น อังกะลุง ลุงหวังออกแบบอังกะลุงให้สามารถเล่นได้ด้วยนักดนตรีเพียงคนเดียวและตั้งชื่อว่า”อังกะลุงราว” สิ่งที่ลุงหวังภูมิใจที่สุดในชีวิตคือการได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเพื่อถวายอังกะลุงราวที่ตนประดิษฐ์ วันก่อนเราแวะไปเยี่ยมลุงหวัง...พูดคุยตามภาษาคุ้นเคยกันตอนหนึ่งของการเสวนา..ลุงหวังพูดว่า”อาจารย์ผมนี้นะคิดถึงคำครูตลอดมา..ครูดนตรีท่านสอนผมว่า...ลูกเอยตลอดชีวิตการทำเครื่องดนตรีคำคำหนึ่งที่พูดไม่ได้คือคำ ..ช่างแม่มัน...ถ้าพูดคำนี้เมื่อไรชีวิตการเป็นนักดนตรีจบกัน”ผมปฏิบัติตามคำสอนของครูมาตลอด..ทำให้ผมผลิตผลงานด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ เครื่องดนตรีที่ลูกค้านำไปใช้ทุกชิ้นต้องมีคุณภาพ เสียงได้มาตรฐาน ทุกวันนี้ชีวิตผมครอบครัวรวมทั้งลูกๆมีรายได้จากดนตรีไทยเป็นหลักก็เพราะ”คำครู”