วันพุธ, กันยายน 30, 2552

ช้างป่า อุทยานแห่ชาติเขาใหญ่




ช้างป่าเป็นสัตว์อายุยืนใกล้เคียงกับคน ช้างป่าฉลาดมีความจำ มีความสามารถเรียนรู้เรื่องที่ไม่ซับซ้อนได้ ที่สำคัญช้างป่ามีวัฒนธรรม มีรูปแบบการดำรงชีวิตในโขลงช้าง เช่น มีการจัดลำดับความสำคัญ ช้างป่าตัวที่เป็นใหญ่ในโขลงเป็นช้างพังเพศเมียระดับยายหรือย่า เรียงลำดับต่อไปเป็นป้า น้า อา ส่วนช้างพลายเพศผู้ถูกย่าหรือยายขับออกจากโขลงเมื่องาเริ่มยาวประมาณ 1 คืบ เป็นช้างโทนที่หากินอิสระ วัฒนธรรมเช่นนี้ เป็นการป้องกันการผสมพันธุ์ในโขลงเดียวกัน (หากเกิดเลือดชิด ช้างจะอ่อนแอ) นอกจากการอยู่ร่วมกันเป็นโขลงแล้ว ช้างยังมีเส้นทางหากินในป่าที่เรียกว่า “ด่านช้าง” ช้างเดินทางหากินตามทางด่านที่บรรพบุรุษช้างกำหนดไว้ เช่น เดินไปกินกระท้อนป่าที่ไหนเมื่อไร ไปกินดินโป่งที่ไหน ไปกินไผ่ที่ไหน ไปกินมะเดื่อที่ไหนเมื่อไร ช้างเดินทางไปหากินก็เหมือนกับคนที่เดินทางไปตลาด ตลาดมีอยู่บางที่ในเมือง แหล่งอาหารช้างก็มีอยู่บางแห่งในป่า ในป่าไม่ได้มีอาหารช้างทั้งหมด ช้างจำเป็นต้องกำหนดจุดหากินและเดินทางไปตามทางด่านช้าง ซึ่งเป็นเส้นทางที่แน่นอนมาแต่บรรพบุรุษ
เมื่อใดที่มนุษย์ตัดถนน ผ่านด่านช้างหรือเส้นทางเดินของช้าง รถกับช้างจำต้องพบกันแน่นอน เส้นทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นเส้นทางหนึ่งที่ช้าง รถและคน อาจพบกันได้เสมอ
คน ช้าง ป่า เคยพึ่งพาและผูกพันคงเป็นเช่นนั้นตลอดไป

พริกเมืองกาญจน์





ปลายเดือนกันยายนซึ่งเกือบจะเป็นช่วงปลายฤดูฝนแล้ว ได้มีโอกาสไปเมืองกาญจนบุรี อากาศที่นี่ร้อนนิด ๆ ผืนดินดูมีความชุ่มชื้นอยู่ สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับกับพื้นราบจึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองกาญจน์มีเขื่อนหลายเขื่อนทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ มีของป่าที่ขึ้นชื่อ คือ เห็ดโคน มีพืชไร่ เช่น ข้าวโพด พริก โดยเฉพาะพริกในไร่มองไปสุดตา ได้มีโอกาสซักถามพูดคุยกับคนรับจ้างเก็บพริกในไร่ เขาบอกว่า “วันหนึ่งเก็บพริกได้ประมาณ 30 กิโลกรัม สำหรับคนธรรมดา บางคนเก็บเก่งเก็บได้ประมาณ 50 – 60 กิโลกรัม ค่าจ้างกิโลกรัมละ 4 บาท มีรายได้ต่อวันเฉลี่ย 120 – 240 บาท อยู่ได้สบาย อยู่เมืองกาญจน์ไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายอะไรมาก”
กาญจนบุรี เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ ทั้งธรรมชาติและผู้คนที่มีนิสัยมิตรไมตรีเอื้ออารีต่อนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนเสมอมา

วันศุกร์, กันยายน 18, 2552

"กาสรกสิวิทย์"แหล่งเรียนรู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง




สองอาทิตย์ที่ผ่านมามีโอกาสไปเยือนโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ โรงเรียนสอนคนและกระบือให้ทำนาที่จังหวัดสระแก้ว ทุกครั้งที่ไปเยือนได้เห็นแหล่งเรียนรู้นี้ พัฒนา คิดค้น ทดลองไม่หยุดนิ่ง ครั้งนี้ได้รับความรู้เพิ่มเติม 2 เรื่อง
เรื่องแรก เป็นการทดลองเลี้ยงสุกรที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “หมูหลุม” หมูหลุมที่นี่แปลกเลี้ยงในคอกดินพื้นดินรองด้วยแกลบ อาหารที่เลี้ยงเป็นพืชพรรณในท้องถิ่น เช่น ต้นกล้วย มะละกอ ผัก นำมาต้มปนรำ ที่สำคัญตัวคอกปั้นด้วยดินเหนียว ผู้ดูแลสุกรบอกว่า ราคาต้นทุนในการทำคอกหนึ่งพันบาท เลี้ยงลูกสุกรได้ประมาณ 10 ตัว การทดลองครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่มาเรียนรู้ ณ แหล่งเรียนรู้นี้
เรื่องที่สอง สังเกตพบว่าในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์มีต้นมะรุม เจริญงอกงามเป็นจำนวนมาก ต้นสูงเฉลี่ยแล้วประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง มะรุมออกฝักสั้น ๆ ฝักใหญ่ คะเนว่าเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งนิ้วครึ่ง ยาวประมาณ 12 – 15 นิ้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นมะรุมพันธุ์อินเดีย นำมาปลูกเพื่อเก็บเมล็ดเมื่อแก่จัดใช้ในการทดลองเป็นสมุนไพรรักษาโรค
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า เพื่อคนไทยที่รักการเรียนรู้ได้มาศึกษาหาความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน

วันพฤหัสบดี, กันยายน 17, 2552

เศร้าใจ กรณีช้างป่าเสียชีวิตที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ข่าวจากโทรทัศน์ทางช่องไทยทีวีช่วงเช้า วันที่ 17 กันยายน 2552 ช้างป่าเพศผู้ตัวหนึ่งถูกลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าของชาวไร่ช็อตเสียชีวิตใกล้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภาพที่เห็นจากโทรทัศน์ช้างพลายน่าจะอายุไม่เกิน 10 ปี สังเกตจากงายาวประมาณหนึ่งคืบ งวงช้างเกี่ยวเส้นลวดนอนเสียชีวิต ขี้กระจาย น้ำตาไหล น่าอนาถ หนึ่งชีวิตของช้างป่าดับไปอีกครั้ง ภาวะการสูญพันธุ์ของช้างป่าคืบคลานเข้าไปใกล้ยิ่งขึ้น
จากเอกสาร ศูนย์ปฏิบัติการป่าไม้ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พฤษภาคม 2551 ความตอนหนึ่งว่า ประชากรช้างป่าในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3,000 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่ 67 แห่ง สำหรับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนมีประมาณ 300 ตัว ปัจจัยคุกคามการเสียชีวิตของช้างป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ระหว่างปี 2539 – 2551 มีทั้งสิ้น 20 ตัว ตายด้วยน้ำมือมนุษย์ 13 ตัว ตายตามธรรมชาติ 5 ตัว ไม่ทราบสาเหตุ 2 ตัว สาเหตุการตายที่เกิดจากมนุษย์ 9 ตัวตายจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง 3 ตัวตายเพราะรถชน 1 ตัวตายเพราะถูกล่างา
สรุปว่า ความขัดแย้งเป็นสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตของช้างป่า หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น ช้างจะเป็นฝ่ายสูญพันธุ์ไปก่อน เมื่อมนุษย์ไม่มีช้างเป็นคู่ต่อสู้แล้ว มนุษย์ก็จะขัดแย้งกันเอง โดยเริ่มจากสีเหลืองกับสีแดงในปี 2551 – 2552 สุดท้ายสูญพันธุ์ทั้งคู่

วันพุธ, กันยายน 16, 2552

ไผ่สีสุก




“ไผ่สีสุก” เป็นหนึ่งในเก้าชนิดของไม้มงคล ที่รัฐพิธีใช้ในการวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสถานที่สำคัญต่างๆ อาจเป็นด้วยชื่อของไผ่ที่บอกถึงความสุขจึงถูกกำหนดให้เป็นไม้มงคล
ไผ่สีสุกเป็นไผ่ที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ด้วยลักษณะเป็นไม้ไผ่ที่เนื้อหนามีรูเล็กใช้ในการปลูกสร้างที่พักอาศัยได้ดี ไผ่สีสุกมีหนามแหลมคม คนไทยจึงนิยมปลูกรอบบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย ป้องกันขโมย ทุกส่วนของไผ่สีสุกมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งสิ้น
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 นับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนารถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จมาจังหวัดสระแก้วได้ทรงปลูก “ไผ่สีสุก” ไว้ที่โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำคลองช่องกล่ำบน ให้ชาวสระแก้วได้เห็นคุณค่าของไผ่สีสุก เวลาผ่านไป 30 ปี จังหวัดสระแก้วเต็มไปด้วยต้นยูคาลิปตัส แปลกดีนะ

วันอังคาร, กันยายน 15, 2552

เมื่อลูกสาวจะออกเรือน




มีลูกสาวคนเดียวและเป็นลูกคนโตซะด้วย ไม่ต้องสงสัยว่ารักมากแค่ไหน... ก็ลูกสาวคนเดียวไงละ ปีนี้เขามีอายุ 30 ปีแล้ว จะออกเรือนทำอะไรเกี่ยวกับบ้านเกี่ยวกับอาหารดูไม่ค่อยลงตัวซักเท่าใด แต่ความจำเป็นที่เขาต้องทำ ด้วยบุคคลรอบ ๆ ตัวเขากลายเป็น Double พ่อแม่ก็เพิ่มอีกเป็นสอง พี่น้องก็เพิ่มอีกเป็นสอง เพื่อน ๆ ก็เพิ่มอีกเป็นสอง แม้แต่ตัวเขาก็เป็นสอง
เช้าวันหนึ่งเสียงลูกสาวดังมาจากห้องครัวบ้านชั้นล่าง “คุณพ่อมาชิมกับข้าวฝีมือลูกเร็ว...ตั้งชื่อให้ด้วย” เออ...ลูกทำอร่อยดี...ลดเค็มลงอีกเยอะ ๆ หน่อยนะ

วันจันทร์, กันยายน 07, 2552

รักประเทศไทย รักตึกไทยคู่ฟ้า











แปดกันยายนของทุกปีเป็นวันคล้ายวันระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือขององค์การ UNESCO ปีนี้ทำพร้อมกันโดยรัฐบาลเปิดทำเนียบรัฐบาลจัดพร้อมงานโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในวันที่ 6 กันยายนจึงมีโอกาสเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลครั้งแรกตอนอายุ 58 ปี เดินไปตามถนนด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า...ประเทศไทยนี้ดูสวยงามสง่า..ศิลปงดงามนุ่มนวลทุกคนจึงควรภูมิใจ....ช่วยกันรักษาไว้เป็นสมบัติของชนชาติเผ่าไทย

วันพุธ, กันยายน 02, 2552

ผีเสื้อหางติ่งปารีส ฝรั่งเขาเรียก นกยูงปารีส


ผีเสื้อหางติ่งปารีสมีชื่อสามัญว่า Paris Peacock ดูชื่อแล้วน่าจะเกี่ยวข้องกับกรุงปารีส ฝรั่งเศส แต่ตัวนี้ถ่ายภาพมาจากอุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว วิธีถ่ายภาพ เริ่มด้วยเทน้ำปลาร้าลงบนพื้นดิน ที่ใช้น้ำปลาร้าเพราะไม่มีสารกันบูด สารกันบูดอาจมีผลทำให้ไข่ผีเสื้อฝ่อได้ ทิ้งไว้สักพัก ปูเสื่อนอนรอ พอหางติ่งปารีสมากินเกลือแร่ กดชัตเตอร์แช่...แช่...เท่านั้นแหละ มีผีเสื้อทีคล้ายกันในกลุ่มนี้คือ ผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว ทั้งสองชนิดหลัง หายาก โดยเฉพาะผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มือใหม่อย่างเราต้องพยายามสังเกตมากหน่อย

สะสมรูปผีเสื้อหางติ่งนางระเวงเพศเมีย







ผีเสื้อหางติ่งนางระเวงเพศเมีย มี 7 แบบ แบบที่ 1 มีติ่งหางตัวนี้พบที่ถาพรฟาร์ม อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี แบบที่ 2 หางยาวมีแถบสีขาวพบที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

ชานชาลา สถานีรถไฟ เส้นทางแห่งการเรียนรู้


เสียง”หวูด”รถไฟดังมาแต่ไกล ก่อนเข้าเทียบชานชาลาสถานีสระแก้ว เวลา 10.34 น. ปลายทางอำเภออรัญประเทศ ผู้คนบนรถมีประมาณครึ่งหนึ่งของที่นั่ง แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบาลยกเว้นค่าโดยสารให้ผู้เดินทาง รถไฟเริ่มเคลื่อนออกกจากสถานี 10.36 น. รู้สึกตื่นเต้นเพราะนั่งรถไฟครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2518 นานเกินไปแล้ว รถไฟวิ่งผ่านสะพานเหล็กเสียงดังเข้ามาในโบกี้มากกว่าปกติ สองข้างทาง มีป่ายูคาลิปตัส มีทุ่งนา มีบัวหลวงปลูกอยู่ริมทางรถไฟ รถไฟจอดสถานีแรก คือ ท่าเกษม ออกจากสถานีท่าเกษม ธรรมชาติสองข้างทางมีการปลูกพืชไร่ เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ยางพารา รถไฟเทียบชานชาลาที่สอง คือ สถานีห้วยโจด จุดเด่นของห้วยโจดคือ บริเวณหน้าวัดห้วยโจด มีการปลูกดอกดาวเรืองสีเหลืองทอง ประมาณ 10 ไร่ ดูสวยงาม รถไฟเข้าเทียบชานชาลาที่สาม สถานีวัฒนานคร เป็นสถานีใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้าง อาคาร ร้านค้า สถานที่ราชการ สิ่งที่สังเกตพบคือ อาคารส่วนใหญ่หันหน้าเข้าหาสถานีรถไฟ แสดงว่าการขนส่งโดยรถไฟเป็นศูนย์กลางการเดินทางมาแต่ดั่งเดิม แม้ว่าปัจจุบันการเดินทางโดยรถยนต์สะดวกมากขึ้น สถานีที่สี่เป็นสถานีเล็ก ๆ ชื่อสถานีห้วยเดื่อ ไม่มีชานชาลามีศาลาพักผู้โดยสารหลังเล็ก ๆ และสถานีที่ห้า คือสถานีอรัญประเทศ รถไฟเทียบชานชาลา เวลา 11.38 น. อรัญประเทศเป็นสถานีสุดท้ายที่รถไฟจอด แต่ไม่ใช่สถานีสุดท้ายของทางรถไฟสายนี้ เพราะมีต่อไปอีกหนึ่งสถานีคือสถานีคลองลึก เป็นสถานีสุดแดนสยามติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีเรื่องราวมากมายที่อรัญประเทศไว้เขียนในตอนต่อไป
หมายเหตุ แม้รัฐบาลมีนโยบายนั่งรถไฟฟรี แต่พนักงานหนีบตั๋วยังคงทำงาน ขยับเครื่องหนีบตั๋วดัง แก๊ก...แก๊ก มาหนีบตั๋วฟรีของผู้โดยสาร

วันอังคาร, กันยายน 01, 2552

ภาวะการเคลื่อนไหว..ความเร็วและความเลว ..ของลม


ในธรรมชาติอากาศที่เคลื่อนไหวไปมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตเป็นอันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ ด้วยในอากาศมีออกซิเจนที่ช่วยในการหายใจ สิ่งมีชีวิตขาดออกซิเจนสองสามนาทีก็ทำให้เสียชีวิตได้แล้ว จึงนับว่าอากาศสำคัญที่สุด อากาศที่เคลื่อนไหวทำให้สิ่งมีชีวิตมีความเป็นอยู่สบายขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวทำให้อุณหภูมิบริเวณหนึ่งไม่ร้อนจนเกินไป ไม่หนาวจนเกินไป ไม่ชื้นจนเกินไป นอกจากนั้นอากาศยังมีคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประโยชน์ต่อพืชในการนำมาใช้เพื่อการสังเคราะห์แสง สร้างอาหารให้กับพืชได้ใช้ประโยชน์โดยตรงและให้สัตว์ได้ใช้ประโยชน์ทางอ้อม (สัตว์กินพืชรวมทั้งมนุษย์ด้วย) นี่เป็นภาวะการเคลื่อนไหวปกติของอากาศ
เมื่ออากาศเริ่มเคลื่อนไหวผิดปกติ มีความเร็วเข้ามาเกี่ยวข้อง อากาศที่เคยอ่อนโยน เยือกเย็น กลับกลายเป็นอากาศเกรี้ยวกราด ที่เรียกว่า ลม พายุ ใต้ฝุ่นหรือชื่อเรียกอื่น ตามความเร็วที่เกิด อากาศผิดปกตินี้สามารถทำลายโดยการพัดให้พัง โดยการยกลอยพลิกให้เสียหาย โดยการบิดให้ขาด จึงทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชทั้งสัตว์และธรรมชาติรวมถึงสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ความเสียหายที่เกิดมนุษย์ต่างยอมรับกันได้ เพราะเป็นธรรมชาติของลมที่เกิดคู่โลกมายาวนานแล้ว แต่มีลมอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ลมเลว...ลมเหม็น” ลมชนิดนี้มีอำนาจทำลายล้างรุนแรง เป็นลมที่มีต้นกำเนิดจากแหล่งเล็ก ๆ คือเกิดจากปากมนุษย์ ทุศีล พูดชั่ว บิดเบือน ใส่ร้าย ป้ายสี พูดไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม พูดเพื่อเอาผลประโยชน์ด้วย ละโมบ โลภมาก “ลมชนิดนี้นับว่าอันตรายสูงสุดที่ทุกคนพึงระวัง”