วันอังคาร, เมษายน 27, 2553

นกแซงแซวหางปลา








ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นมาทางเหนือของประเทศไทยทั้งหมด แซงแซวหางปลาเป็นนกประจำถิ่นซึ่งหมายถึงการอยู่อาศัยและทำรังวางไข่ ที่ได้ชื่อว่า แซงแซวหางปลา เพราะหางเป็นแฉกเว้าคล้ายหางปลาตะเพียน นกแซงแซวหางปลามีชื่อสามัญว่า Black Drongo ขนจึงมีสีดำเหลือบน้ำเงินเล็กน้อย แซงแซวหางปลามีเสียงร้อง “แซก แซก” แต่ก็สามารถเลียนเสียงสัตว์อื่นได้ เช่น เลียนเสียงแมวหรือเสียงนกชนิดอื่น เมื่อได้ยินอาจทำให้เราสับสนได้เหมือนกัน
บริเวณหน้าบ้าน “ไอดินกลิ่นดาว” ในสวนประดู่ป่าปลูกต้นสะเดาไว้ บนกิ่งที่สูงขึ้นไปประมาณ 2 เมตร นกแซงแซวหางปลา นำเศษหญ้าเส้นยาวมาถักเป็นรูปถ้วยทำรังเลี้ยงลูกน้อย 2 ตัว ลูกแซงแซวหางปลามีขนสีดำเหลือบเหมือนพ่อแม่ แต่บริเวณขอบปากมีสีขาว พ่อแม่ของแซงแซวหางปลาช่วยกันป้อนอาหารเลี้ยงลูก
ที่สวนประดู่ป่า ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง มีสระน้ำ ปลูกต้นไม้ที่เป็นอาหารของนก เช่น ตะขบ หว้า รวมถึงไม้ป่านา ๆ ชนิดให้ความร่มรื่น จึงเหมาะกับการขยายพันธุ์และเป็นที่อยู่อาศัยของนก โดยเฉพาะในเดือนเมษายนมีนกหลายชนิดฟักไข่เลี้ยงลูกในที่แห่งนี้

วันพฤหัสบดี, เมษายน 22, 2553

คนทำรังให้นกอยู่





มีตึกหลายหลังในตัวจังหวัดนราธิวาส ที่ก่อสร้างขึ้นไปสูงประมาณห้าหกชั้น โดยที่ชั้นที่สี่ห้าหกไม่มีหน้าต่างประตูเลย แต่มีรูกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาศ 10 – 15 เซนติเมตร ห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร หนึ่งแถวรอบตัวตึกให้นกเข้าอยู่ ตึกทั้งหลังเป็นรังของนกแอ่นกินรัง(Germain’s Swiftlet) เจ้าของตึกใจดีสร้างตึกให้นกแอ่นกินรังอยู่ แต่เก็บภาษีเป็นรังนกตอบแทน ดูเหมือนว่าเป็นการได้ผลประโยชน์ทั้งคู่ นกแอ่นกินรังสามารถขยายพันธุ์ได้ เจ้าของตึกก็มีรายได้งดงามจากรังนก การสร้างตึกแล้วใช่ว่านกแอ่นกินรังจะตัดสินใจมาอยู่ด้วย เจ้าของตึกยังมีวิธีการเชิญชวนโดยการเปิดซีดี (CD) เสียงนก เรียกให้นกแอ่นกินรังมารวมกันที่ตึกของตนด้วย (ข้อมูลจากการพูดคุยกับพนักงานของโรงแรมต้นหยง)
สรุปส่งท้ายว่า คนมีสตางค์สร้างตึกแล้วเก็บภาษีจากนกด้วยรังนกแอนกินรัง คนชาวประมงซื้อกรงให้นกกรงหัวจุกอยู่ เพื่อฟังเสียงร้องแข่งขันประชันเสียงกัน รับรางวัลบ้างนิดหน่อย ไม่มีรายได้มีเพียงความสุขเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว

คืนหนึ่งที่นราธิวาส








ระเบียงตึกชั้นที่ห้าของโรงแรมตันหยง กลางเมืองนราธิวาส เวลาประมาณตีสี่กว่า ๆ เสียงสวดสรรเสริญพระอัลเลาะห์ของอิสลามมิกชนดังมาจากมัสยิด คนจีนสูงอายุจูงจักรยานออกจากบ้านไปออกกำลังกาย ตึกเก่าหลังคาแปลกๆหน้าโรงแรมสวยมาก เมื่อต้องแสงไฟในยามค่ำคืน โคมไฟริมถนนหยิบเอารูปทรงกรงนกมาตกแต่งได้อย่างลงตัว
หวนคิดถึงเมื่อวานนี้ที่นราธิวาสได้พบเห็นอะไรที่น่าประทับใจบ้าง ด้วยเวลาที่มีอยู่จำกัด คือ หนึ่งวันหนึ่งคืนเท่านั้น เริ่มด้วยความสวยงามของศาลาที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรการแข่งเรือริมแม่น้ำบางนราอาจกล่าวได้ว่า เป็นความสวยงามที่ลงตัวที่สุดของสิ่งปลูกสร้างและธรรมชาติ คือ แม่น้ำบางนราที่กว้างใหญ่น้ำใสสีครามตัดกับขอบฟ้าและภูเขาอยู่ไกล ๆ ที่ปากน้ำบางนรามีชุมชนประมงอยู่สองฝั่ง พบเห็นเรือ กอและ (KORLAE) ที่เขียนลวดลายข้างลำเรือด้วยสีสดใสสวยงามและใช้ได้ในชีวิตประจำวัน จอดรอเวลาการไปทำภารกิจของตน หน้าบ้านของชุมชนชาวเรือมักเห็นกรงนกกรงหัวจุกอยู่เกือบทุกบ้าน เมื่อขอถ่ายภาพกรงนก ชาวมุสลิมยิ้มและพยักหน้าในความหมายอนุญาต
สิ่งหนึ่งของเมืองนราธิวาสที่แปลกไปในช่วงเวลานี้คือ รถจักรยานยนต์เกือบทุกคันที่จอดจะต้องเปิดเบาะตั้งขึ้นเรียงรายนับร้อยคัน มีคำถามลอยไปในฟากฟ้าว่า “เมื่อไรหนอจะปิดเบาะรถจักรยานยนต์ลงได้ซะที”

วันพุธ, เมษายน 21, 2553

รักต้นไม้ไม่เลือกเวลา

ไม่เคยได้เขียนเรื่องราวของเพื่อนคนไหนเป็นพิเศษเลย วันนี้มีเหตุต้องเขียน ที่จริงแล้วชื่นชมในความสามารถของเพื่อนคนนี้ตลอดที่เป็นเพื่อนกันมากว่า 40 ปี เขาเป็นนักชีววิทยา สองมือของเขาอ่อนโยน เมื่อโอบจับลูกไก่ที่ฟักด้วยเครื่อง และอนุบาลรุ่นแล้ว รุ่นเล่า สองมือที่บรรจงเพาะเลี้ยง ปลากัด ปลาจีน ปลาหม้อ ปลากริม ปลาลูกผสม ที่หลากหลายความงามของสีสันปลาเหล่านั้น และสองมือเพื่อนคนนี้ที่เพาะพันธุ์ต้นไม้ ไม่ว่าเพาะยากเพียงไหน เขาเพาะต้นอ่อนได้เสมอ แม้แต่เม็ดมะค่าโมงเพาะยาก ๆ เพื่อนคนนี้ก็เพาะได้ นี่เป็นภาพแห่งความทรงจำที่มีต่อเพื่อนที่ชื่อ นายอัศนีย์ ศรีสุข
แต่สิ่งที่เขียนเป็นเหตุการณ์หนึ่งของเพื่อน หลังจากที่เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ใหญ่โตขึ้นและต้องเดินทางไปประจำอยู่ในจังหวัดทางภาคอีสาน ทิ้งบ้าน ทิ้งต้นไม้ไว้หลายสัปดาห์ เมื่อกลับถึงบ้าน อาบน้ำ กินข้าวกินปลาเสร็จก็มืดค่ำพอดี คิดถึงต้นไม้ที่แตกกิ่งจากพุ่มเดิม จึงหยิบกรรไกรตัดกิ่งไปตกแต่งต้นไม้ ไม่ได้เลือกกาลเวลา เวลาของความรักที่มีต่อต้นไม้ถูกจำกัดด้วยราชการ ผลคืองูเขียวกัดหลังมือ ไปนอนโรงพยาบาล คุณหมอให้นอนดูอาการให้ครบ 24 ชั่วโมง ที่โรงพยาบาล โทรศัพท์คุยกัน เพื่อนพูดว่า “ข้าไม่ได้ตีมันหรอก ข้าอโหสิกรรมให้มันแล้วจะได้ไม่จองเวรซึ่งกันและกันอีก” บอกเพื่อนไปว่า “มันก่อกรรมให้ตัวมันอีกที่มันกัดเองนะ เองรักต้นไม้ผิดเวลาก็อย่างนี้แหละ”

คอนพะเพ็ง




สาดกระเซ็น เป็นสาย ประกายน้ำ

ละอองคราม ขาวฟุ้ง พุ่งกระโดด

ไหลลัดเลาะ เกาะแก่ง ระเริงโลด

ผ่านผาโขด สันทราย สู่สายชล......

เป็นบทกลอนที่เขียนให้ธรรมชาติที่สวยงามเกินกว่าพรรณนาคือ"คอนพะเพ็ง"ประเทศลาวบ้านน้องของไทยเราบันทึกภาพเมื่อวันที่สิบสี่เมษายนสองห้าห้าสาม

ลีลาของธรรมชาติ



เดือนเมษายนกลางฤดูร้อนที่หฤโหด บางวันอุณหภูมิขยับขึ้นไปถึง 43 องศาเซลเซียส ทั่วพื้นดินร้อนระอุ ต้นไม้โสก บางต้นต้องสลัดใบทิ้งจนหมด เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากการคลายน้ำของใบ ความโหดของฤดูร้อนเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เฉกเช่นการยิงกระสุนขึ้นไปบนท้องฟ้า เมื่อขึ้นสูงสุดกลับหล่นลงสู่พื้นดิน ขณะที่ร้อนสุด ๆ เมฆดำปรากฏตัวขึ้นทางทิศใต้ ลมพัดโชย กิ่งไม้ ใบไม้ที่เหลือเริ่มไหวตื่นตัว ฟ้าคะนอง ฝนและลมซัดซาดกระจายไปทั่วพื้นดิน คางคก อึ่งอ่าง ออกจากที่ซ่อนกระโดดไปตามพื้นดิน มุ่งสู่บริเวณที่มีจอมปลวก นกกวัก วิ่งอยู่บนพื้นจับแมงเม่าแย่งกับอึ่งอ่าง คางคก ฝนเบาลงเวลาผ่านไปช้า ๆ ฟ้าลดการคะนอง ฝนตกเกือบหนึ่งชั่วโมง เมื่อฝนหยุดตก ต้นไม้ทุกต้นสงบนิ่งคงอยู่ในภวังค์ของการดูดซับน้ำฝนที่เฝ้ารอด้วยความอดทนมาตลอดฤดูแล้ง
อีกด้านหนึ่งเกิดมหกรรมกินแมลง โดยเฉพาะการกินแมงเม่าอย่างสนุกสนาน ทั้งนกแซงแซว นกกางเขนบ้าน นกจับแมลง นกอีแพรด โฉบกินแมลงเหมือนว่าอาหารไม่มีวันหมดไปได้เลย
นี่คือลีลาธรรมชาติของประเทศไทยในเดือนเมษายน

ปลูกตอไม้ไว้ให้ต้นไม้







ที่ชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้าน อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ช่วงสงกรานต์ กลางเดือนเมษายน นักท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายชัดเจน มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร พาลูกหลานแวะมาเยี่ยมม้าพันธุ์พื้นบ้านที่ชมรม เด็กทุกคนทั้งชายหญิงพกพารอยยิ้มกลับไปหลังจากได้ขี่ม้า ถ่ายรูปสวย ๆ และให้รางวัลม้าตัวโปรด เจ้าอะปาเช่ เจ้าเหลือง เจ้าแซม และอีกหลายตัว ด้วยกล้วยสุกและอาหารเม็ด
ได้พูดคุยกับครูอู๊ด เจ้าของชมรมช่วงพักเหนื่อย ซึ่งยังมีรอยยิ้มของความสุขอยู่ว่า “ช่วงนี้อากาศร้อนมากอุณหภูมิตั้ง 42 – 43 องศาเซลเซียส ยังให้ความรู้และความบันเทิงกับเด็ก ๆ ได้ไหวอยู่รึ ” ครูอู๊ด ตอบว่า “ถ้าเราทำอะไรอย่างมีความสุขไม่ว่าจะลำบากเพียงไหน ทำได้ แต่ที่อากาศมันร้อนมากขนาดนี้ สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากจำนวนป่าไม้ที่ถูกตัดอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ที่เราเห็นเป็นข่าว แม้ในประเทศเราก็มีการแอบตัดในเขตอุทยานแห่งชาติอยู่บ่อย ๆ ไม่ช้าไม่นานทั่วโลกคงเหลือเพียงตอไม้ ในชมรมอนุรักษ์ม้านี้ ผมปลูกตอไม้ไว้ให้ต้นไม้อยู่ เห็นไหมครับ ตอไม้กลุ่มนั้นแหละ ผมจะเอากล้วยไม้มาเกาะให้มันอยู่ อาจลดอุณหภูมิของโลกลงได้บ้างหรือเปล่าไม่แน่ใจ” ครูอู๊ดทิ้งท้าย ผมจะปลูกตอไม้ไว้ให้ต้นไม้นะครับ

วันศุกร์, เมษายน 09, 2553

ปักเอ๋ยปักเป้า


ปักเอ๋ยปักเป้า
ซากเจ้าซัดสาดสู่หาดทราย
ก่อนเก่าผยองเบ่งพองกาย
ทำลายอริมิตรใกล้ชิดตน
จะเก่งกล้าสามารถขนาดไหน
ถึงใหญ่ใครยอไม่ก่อผล
บุญหายพ่ายแพ้แม้ดิ้นรน
ยังสิ้นชนม์ทิ้งซากฝากทรายเอย.

วันพุธ, เมษายน 07, 2553

การสร้างโอกาสควบคู่กับความเมตตา





หลายปีที่ผ่านมา เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของธรรมชาติในสวนประดู่ป่าที่จังหวัดนครนายก โดยเน้นไปที่ต้นไม้และนกเป็นหลัก จากการสังเกตพบว่า การจัดการเกี่ยวกับต้นไม้ เพียงแต่ตัดหญ้าเสมอ ๆ ปล่อยให้หญ้าทับถมกันเป็นปุ๋ย ดิน ดีขึ้นๆ จากที่นาซึ่งเป็นดินเหนียวไม่เหมาะกับการปลูกต้นไม้ เวลาผ่านไปสิบกว่าปีต้นไม้บางชนิดที่เป็นไม้ในถิ่นภาคใต้ก็สามารถเติมโตได้ดี เช่น ต้นเทพธาโร ต้นจันทน์กะพ้อ แม้แต่ต้นสะตอ ต้นมันปลา พืชกินฝักกินใบก็เติมโตได้ เมื่อต้นไม้เริ่มโตมีความเป็นป่ามากขึ้น กอปรกับมีต้นไม้ให้ผลเช่น ต้นหว้า ต้นตะขบ ต้นมะเม่า ทำให้นกมีแหล่งที่อยู่อาศัยขยายพันธุ์ นกเขา นกเอี้ยงสาริกา นกปรอดสวน นกกางเขน นกอีแพรด นกกิ้งโครงคอดำ รวมถึงนกกาเหว่าซึ่งไข่ให้นกกิ้งโครงคอดำฟักและเลี้ยงลูกให้ด้วย เคยนับจำนวนชนิดนกที่พบในสวนประดู่ป่า ปีที่แล้วนับได้ 19 ชนิด ปีนี้นับได้ 25 ชนิด ชนิดเด่นที่เพิ่มขึ้นได้แก่ นกจับแมลงคอแดงซึ่งเป็นนกอพยพ นกบั้งรอกใหญ่หางยาวสวยงามบินในระดับเรือนยอดเหมือนนกกาเหว่า นกกาน้ำเล็กแอบมาลงสระและนกกินปลีอกเหลืองเฝ้าประจำต้นพู่นายพลกินน้ำหวานจากกระเปาะดอก
วัฏจักรหรือวงจรชีวิตของนกส่วนใหญ่สั้น การให้โอกาสโดยการปลูกต้นไม้เป็นที่กำบังต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหาร นกสามารถอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ได้ ทำให้จำนวนชนิดของนกเพิ่มมากขึ้น คนจะได้อาศัยความน่ารักและความงามของนกเพื่อความสุนทรีย์ ทำให้ชีวิตมีความนุ่มนวลและผ่านกาลเวลาที่สับสนวุ่นวายจากภาระหน้าที่ไปได้ในระดับหนึ่ง

วันจันทร์, เมษายน 05, 2553

นกจับแมลงคอแดง นกอพยพ





ต้นเดือนเมษายนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาการย้ายถิ่นกลับไปสู่ทวีปเอเชียตอนกลางและตอนเหนือแถบไซบีเรีย ของนกอพยพทั้งหลาย แต่ที่สวนประดู่ป่าแคมป์ จังหวัดนครนายกนกจับแมลงคอแดงยังเพลิดเพลินกับการหากินแมลงอยู่เลย เฝ้าสังเกตว่าเขาจะอพยพไปในวันไหน บางครั้งยังคาดหวังให้เขาอยู่ตลอดถึงปีถัดไป แต่คงเป็นเช่นนั้นไม่ได้ด้วยใกล้ฤดูผสมพันธุ์แล้ว ซึ่งดูจากการเปลี่ยนขนที่บริเวณใต้คางให้เป็นสีแดงส้มของนกจับแมลงคอแดงตัวผู้ จะอย่างไรเขาคงกลับไปทำรังวางไข่ในถิ่นเกิดของเขา
เหตุปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้นกอพยพไม่กลับไปถิ่นเกิด คือ ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปเช่นปีนี้ (พ.ศ. 2552) เหตุการณ์วิกฤตที่เกิดกับโลก เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว พายุรุนแรง กระแสน้ำเปลี่ยนทิศ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอาจทำให้ฤดูกาลเปลี่ยน นกอพยพอาจเป็นนกประจำถิ่น นกประจำถิ่นอาจกลายเป็นนกอพยพได้เหมือนกันนะ

วันศุกร์, เมษายน 02, 2553

โพรงนกกะเต็นอกขาว

จากการสังเกต พบว่า พฤติกรรมในการทำรังของนกโดยรวมเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนนกหาที่ทำรังหรือทำโพรงในที่ห่างไกลผู้พบเห็น ปัจจุบันนกกลับมาทำรังทำโพรงใกล้ผู้คน สัญชาตญาณของนกคงเปลี่ยน อาจด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น เดิมที่ทำรังทำโพรงห่างไกล เพราะถูกรบกวนจากมนุษย์โดยเฉพาะเด็กซุกซน ปัจจุบันเด็กมีของเล่นใหม่เป็นเกมส์คอมพิวเตอร์จึงไม่ได้ซุกซนกับนก แต่นกกลับถูกรบกวนโดยสัตว์ผู้ล่าเช่น งู กระรอก กระแต นกจึงกลับมาทำรังทำโพรงใกล้คน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่านกอาศัยคนเป็นเครื่องกำบังภัย ดังตัวอย่าง นกกะเต็นอกขาวที่มาทำโพรงทำรังบริเวณฐานดิน ฐานการเรียนรู้ของศูนย์วิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษามาเรียนรู้อยู่เสมอ แต่เจ้ากะเต็นอกขาวก็สามารถขุดโพรงทำรัง วางไข่ถึง 4 ฟอง ไข่สีขาวมีลักษณะกลมรีเล็กน้อยขนาด กว้าง 2 ยาว 3 เซนติเมตร ฟักไข่เป็นตัวและเลี้ยงลูกได้ ความกลมกลืนการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปโดยธรรมชาติ น่าศึกษาเรียนรู้จริง ๆ
ข้อมูลทางวิชาการ โพรงรังกะเต็นอกขาวที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ มีขนาดโพรง กว้าง 6 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร เจาะโพรงห่างจากขอบดินบน 30 เซนติเมตร อยู่สูงจากพื้นดินล่าง 160 เซนติเมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นโพรงที่ตรงเข้าไปอย่างเดียว

วันพฤหัสบดี, เมษายน 01, 2553

นาเกลือกลไกทางเคมีธรรมชาติ





เมื่อประมาณ 40-50 ปี ที่ผ่านมา ใครก็ตามที่มีชีวิตอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทยเช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ย่อมพบเห็นหญิงผู้มีอายุกลางคนขึ้นไปเป็นคอพอก ลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดใหญ่บริเวณลำคอ ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เป็นกันจำนวนไม่น้อยเลย สาธารณสุข สรุปว่าเป็นเพราะเขาขาดธาตุไอโอดิน ซึ่งมีอยู่ในเกลือทะเล ช่วงเวลานั้นการคมนาคมไม่สะดวก การขนส่งเกลือคงเป็นไปลำบาก ไม่ทั่วถึง ความโชคร้ายจึงเกิดขึ้นกับหญิงที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่เป็นคอพอกเพราะขาดธาตุไอโอดิน
ปัจจุบันนี้เราไม่เห็นหญิงที่เป็นคอพอกเลย เพราะการคมนาคมขนส่งเกลือทะเลจากนาเกลือจังหวัดสมุทรสาครกระจายไปทั่วประเทศ ทุกครั้งที่เดินทางผ่านนาเกลือ รู้สึกขอบคุณชาวนาเกลือที่มีความวิริยะ อุตสาหะ ทดน้ำทะเลเข้าสู่นาเกลือ และใช้องค์ความรู้ทางเคมี โดยวิธีการธรรมชาติจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นเกลือที่ขาวสะอาด เป็นกองเกลือ ที่อุดมไปด้วยธาตุไอโอดิน เป็นส่วนประกอบของอาหารรักษาอาการผิดปกติของหญิงผู้ได้ชื่อว่า แม่ ให้ปราศจากการเป็นคอพอกอีกต่อไป

บึงบอระเพ็ด Wetland



ความอลังการตามธรรมชาติของบึงบอระเพ็ด เขตพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ในจังหวัดนครสวรรค์ ที่จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญที่สุดของประเทศเป็นอย่างไร เราสามารถสัมผัสได้เมื่อนั่งเรือไปอยู่กลางบึงที่รายล้อมไปด้วยบัวหลวง บัวสายสีชมพูเข้มเต็มไปทั่วท้องน้ำ นกน้ำ นา ๆ ชนิดจนยากที่จะจดจำได้ ชนิดนี้ก็ไม่รู้จัก ชนิดนั้นเพิ่งพบเห็นครั้งแรก แยกแยะไม่ได้ในเวลาสั้น ๆ เลย คุณค่าของบึงบอระเพ็ด Wetland แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องนกน้ำ ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ ที่มีคุณค่ามหาศาล นกบางชนิดแทบไม่พบเห็นในประเทศ แต่พบเห็นที่บึงบอระเพ็ดเป็นฝูง เช่น นกงูหรือนกอ้ายงั่ว เป็นต้น
เรามาช่วยกัน มาร่วมกัน รักบึงบอระเพ็ด Wetland กันเถอะ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคตจะได้มีแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ดังเดิมเช่นที่ผ่านมา

ต้นเฉาก๊วย


เฉาก๊วย เป็นภาษาจีน เฉา แปลว่า หญ้า ก๊วย แปลว่า ขนม รวมความ เฉาก๊วย จึงแปลว่า ขนมที่ทำจากหญ้า เฉาก๊วยมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยนานแล้ว อาจนานพร้อม ๆ กับคนจีนที่มาสู่ดินแดนแหลมทองนั่นแหละ เฉาก๊วยที่มาจากเมืองจีนเป็นเหมือนหญ้าแห้งเป็นเถาเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1 ฟุต ออกสีดำคล้ำ มัดมาเป็น มัด เป็นลักษณะที่เรารู้จักต้นเฉาก๊วย
สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนร่วมรุ่นวัยชรา (58 – 59 ปี) นัดพบเจอกันที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้ขับรถแวะเข้าไปในปั้มน้ำมันแห่งหนึ่ง มีรถเข็นขายของ ขายเฉาก๊วย “ซากังราว” ยี่ห้อขึ้นชื่อ บนรถเข็นมีกระถางต้นเฉาก๊วย พร้อมป้ายกำกับว่า “ต้นเฉาก๊วยสด” จึงถ่ายภาพเก็บไว้ด้วยความสนใจและดีใจที่ได้เห็นต้นเฉาก๊วยเป็นครั้งแรกตอนอายุ 59 ปี กินเฉาก๊วยมาตั้งแต่จำความได้เพิ่งรู้จักต้น
ข้อมูลทางวิชาการ ต้นเฉาก๊วยเป็นพืชในวงศ์มิ้นท์ วงศ์เดียวกับ สะระแหน่ โหระพา แมงลัก ยี่หร่า ชื่อ วงศ์ Lamiaceae มีสรรพคุณแก้ร้อนในกระหายน้ำ
อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/