วันพฤหัสบดี, เมษายน 28, 2554

โลกธรรม ธรรมะของชาวโลก หลีกลี้หนีไม่พ้น




พระพุทธศาสนา พูดถึง ไตรลักษณ์ ซึ่งหมายถึงทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสามคำมีความหมายแสดง ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนไป ความไม่คงอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกของเรา แม้แต่โลกของเราเองก็อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์นี้ แต่เราเข้าใจรับรู้ ไตร่ตรอง มองความเป็นไปได้เข้าใจสักเพียงใดละ บุคคลผู้จะเข้าใจกฎไตรลักษณ์ย่อมเป็นบุคคลที่จิตมีคุณภาพ จิตหยุด จิตนิ่ง เขาจึงสามารถไตร่ตรองโดยแยบคายได้ เมื่อเข้าใจกฎไตรลักษณ์ก็จะไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมที่ทุกผู้คนแสวงหาและทุกผู้คนหลีกหนี โลกธรรมที่ทุกผู้คนแสวงหาได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โลกธรรมที่ทุกผู้คนหลีกหนีได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ โลกธรรมทั้งแปดทำให้ผู้คนหวั่นไหว ทั้งหัวเราะ ทั้งร้องไห้ เมื่อถูกกระทบ หากเราเข้าใจกฎไตรลักษณ์ เข้าใจโลกธรรม เข้าใจตนเองที่อยู่ในวัฎฏสงสารนี้ จึงเข้าใจคาถาบทที่ว่า “ตถตา เป็นเช่นนั้นเอง”

วันพุธ, เมษายน 27, 2554

ชีวิตสมณะอยู่ได้ด้วยบิณฑบาต














ชีวิตสมณะมีเพียงอัฐบริขาร อัฐ แปลว่า 8 ได้แก่ สังฆาฏิ สบง จีวร ประคดเอว มีดโกน เข็ม กระบอกกรองน้ำ และบาตร บาตรนับเป็นบริขาร เพื่อการรักษาชีวิต (ดิน น้ำ ลม ไฟ ความว่างและวิญญาณธาตุ) พระอาจารย์สอนว่า สมัยพุทธกาลบาตรเป็นสิ่งที่ต้องรักษา (เท่าชีวิต) เพราะบาตรทำจากดินแตกง่าย สกปรกง่าย ปัจจุบันเมื่อเราบวช บาตรยังเป็นอัฐบริขารที่ต้องดูแลรักษาอย่างดีอยู่ เมื่อบาตรรับอาหารมาแล้วและต้องฉันในบาตร พระอาจารย์สอนเราให้ท่องคาถาว่า “เพื่อไม่ให้เป็นหนี้ญาติโยมผู้มีศรัทธา เราจะฉันอาหารให้มีชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรม เพื่อบำบัดทุกขเวทนาจากความหิว และฉันอย่างมีสติ โดยให้กล่าวคำปฏิญาณดังนี้ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ไม่พูดคุยกัน ไม่ฉันเสียงดัง ตะล่อมข้าวเข้ากลาง ตักวางเรียบร้อย น้อมข้าวทุกคำ เป็นดวงธรรมภายใน ” ลาข้าวพระด้วยคำสวด เสสัง มังคลัง ยาจามะ จึงฉันได้

วันอังคาร, เมษายน 26, 2554

ความทรงจำยามค่ำคืน ณ อุทยานแห่งชาติตาพระยา

ประมาณทุ่มกว่า เกษม คงตะเคียน และถาวร สัมพันธ์ ขับรถปิกอัพพร้อมไฟสปอร์ตไลท์ มารับคณะของเราที่บ้านกลางดง 1 เกษมเชิญชวนว่า “อาจารย์ครับผมมารับไปส่องกระทิงกัน” รถปิกอัพมีไม้กระดานพาดกระบะหลังตามขวาง 2 แผ่น พวกเราขึ้นไปนั่ง 5 คน โดยมีถาวร เป็นผู้ส่องไฟสปอร์ตไลท์ เกษม นักสื่อความหมายเป็นพนักงานขับรถผู้ช่ำชองเส้นทางทุกจุดของอุทยานแห่งชาติตาพระยา พาพวกเราลัดเลาะผ่านกิ่งไม้เล็กใหญ่ หนามไผ่ ผ่านต้นไม้บางต้นแมงอีนูนหล่นมาเต็มหัวเต็มตัว พวกเราสนุกตื่นเต้นมาก ผ่านไปซักครึ่งชั่วโมง ไฟสปอร์ตไลท์ก็กระทบตากระทิงสะท้องกลับเป็นสีแดง (สัตว์กินพืชตาสีแดง สัตว์กินเนื้อตาสีเขียว) เป็นกระทิงตัวเมีย เห็นเต้านมขณะหันหลังให้ ตัวขนาดประมาณ 700-800 กิโลกรัม นับเป็นการเจอกระทิงในธรรมชาติครั้งแรกของคณะเรา เมื่อขับปิกอัพไปอีกพักหนึ่งพบกระต่ายป่ากระโดดไปตามทุ่งหญ้า วันนี้เป็นวันที่ 25 เมษายน เป็นวันที่เรามีความสุขกับธรรมชาติของอุทยานแห่งนี้ จากการเป็นกัลยาณมิตรของ หัวหน้าบุญเชิด และน้อง ๆ เจ้าหน้าที่นักสื่อความหมายทุกคน

งานแกะสลักไม้ก้ามปู





















ที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีกลุ่มชุมชนแกะสลักไม้ก้ามปู (ส่วนใหญ่) แกะสลักสินค้าเพื่อการส่งออก ทำกันหลายบ้านจึงเลือกตัวแทนบ้านหลังหนึ่งเพื่อศึกษาคือ “บ้านป้าเพชรแกะสลัก” คนงานบ้านป้าเพชรใช้ไม้ก้ามปูแกะสลัก รองลงไปคือไม้มะม่วง ไม้สักเพียงเล็กน้อย รายการผลิตภัณฑ์ที่ถูกสั่งจากต่างประเทศแถบตะวันออกกลาง และเยอรมัน ได้แก่ไม้แกะสลักรูป ยีราฟ ม้า ช้าง เสือ หัวช้างอาฟริกา เป็นส่วนใหญ่ ช่างแกะสลักเป็นคนงานที่รับจ้างเป็นชิ้นงาน รายได้ขึ้นอยู่กับความชำนาญในการแกะ แกะได้ชิ้นงานมากก็ได้ค่าจ้างมาก โดยเฉลี่ยแล้วประมาณวันละ 300-400 บาท ส่วนเจ้าของร้านเป็นคนเก็บรายละเอียด แต่งสี ย้อมสี การแกะสลักเป็นการแกะจากไม้ดิบซึ่งแกะง่าย หลังแกะเสร็จเบื้องต้นต้องนำไปอบควันร้อน ให้น้ำในเนื้อไม้หนีไป ป้องกันการแตกร้าวก่อนลงสีและเก็บรายละเอียด
กลุ่มชุมชนแกะสลักที่อำเภอแม่ทะได้ต้นก้ามปูและต้นมะม่วง จากจังหวัด ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เป็นวัตถุดิบที่ใช้เพื่อการแกะสลัก

วันพฤหัสบดี, เมษายน 21, 2554

การฝึกสมาธิเมื่อเกิดใหม่ในเพศสมณะ















คำ “สัมมา อะระหัง” เป็นคำภาวนา ซึ่งเป็นคำสอนของ หลวงปู่สด จันทสโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านสอนลูกศิษย์มากว่า 70 ปี แล้วเมื่อเริ่มต้นการฝึกสมาธิ และถูกถ่ายทอดผ่านศิษย์เอกที่เป็นแม่ชีนามแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งต่อมาลูกศิษย์ของท่านสรรเสริญนามท่านว่า “คุณยายมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง” ลูกศิษย์ท่านนั้นคือ หลวงพ่อธัมมชโย พระผู้เมตตา สอนธรรมะ ผ่านดาวเทียม เป็นดาวธรรมครอบคลุมไปทั่วโลก หลวงพ่อผู้สอนสมาธิให้กับเรา
หลักการที่หลวงพ่อสอนคือ “ใจหยุด” “ใจนิ่ง” เป็นแก่นแท้ของสมาธิแต่ความเป็นจริงแล้ว ใจเรามีความไวที่เหนือแสงเสียอีก การจะให้หยุดให้นิ่งนับเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ฉะนั้นการจะให้ใจหยุด ใจนิ่ง ต้องมีขั้นตอน เตรียมตัว เตรียมใจ
เตรียมใจ คือการลดทิฐิให้ใจเบา โดยการฝึกทำสิ่งที่ทำยาก เช่น การนั่งลงขัดล้างโถส้วมอย่างพิถีพิถัน ทำซ้ำๆ สะอาดๆ (คุณยายสอนไว้) ประณีต การทำสิ่งที่ทำยาก ทำทุกส่วนอย่างละเอียด ใจจะเริ่มสงบ เก็บกวาดขยะที่อยู่อาศัย ความจดจ่อ ใจเริ่มไม่ฟุ้งซ่าน การเตรียมใจซึ่งเป็นส่วนสำคัญ
เตรียมตัว เตรียมร่างกายให้สะอาดทุกส่วน อารมณ์สงบพร้อมรับธรรม คำสอน อาสนะที่นั่งสบายตามแต่บุคคล ใครนั่งขัดสมาธิบนอาสนะได้ก็นั่ง ใครมีปัญหาแข้งเข่าจะนั่งเก้าอี้นั่งได้สบาย ๆ เริ่มต้นโดยนั่งสบาย ๆ หลับตาเบาสบาย ๆ แล้วเริ่มทำตามคำสอนหลวงพ่อ คำ “สัมมา อะระหัง” จะภาวนาควบคู่กับการกำหนดบริกรรมนิมิต เป็นดวงแก้วใส ๆ หรือองค์พระใส ๆ บริเวณกลางท้องของเรา จากนั้นปฏิบัติตามคำสอนของหลวงพ่อด้วยความเคารพ การเตรียมใจ เตรียมตัว และบุญแต่ภพชาติปางก่อนของเรา เป็นผังชีวิตที่จะกำหนดสภาวจิตของเราเป็นลำดับขั้นตอน สมาธิเป็นเรื่องบุญของแต่ละคน การพบเจอประสบการณ์ของจิตเป็นเฉพาะตนไป ยากจะบอกได้ บอกได้แต่ความสุขและปีติที่พบได้ในตัวเราเท่านั้น

เตรียมตัวสู่ชีวิต “สมณะ”








การตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ (ชีวิตห่มย้อมฝาดของสมณะ) แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ในวัยย่างเข้า 60 ปี ก่อนเกษียณอายุราชการก็นับว่าไม่ง่ายเลย ด้วยเหตุข้อจำกัดต่างๆ นาๆ อาทิ การเคยอยู่สุขสบายในชีวิต คฤหัสถ์มานาน กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่อนุโลมได้ทั้งนั้น จะกิน จะนอน จะเที่ยว จะเล่นอิสระ อาการเจ็บป่วย เข่า แข้ง นั่งไม่ได้ก็ไม่เป็นไร นั่งเก้าอี้ก็ได้ไม่เป็นปัญหา แต่ชีวิตสมณะไม่ใช่ ทุกอย่างต้องมีความเคารพ ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเชื่อ ความศรัทธา มีวินัย มีกฎ ข้อพึงปฏิบัติที่ไม่ยกเว้นไม่ย่อหย่อน มีศีลเป็นที่ตั้งทำผิดนิดพร่องไป ก็ผิดศีล พร่องศีล ล้วนแล้วแต่เป็นบาปติดตัวทั้งสิ้น
ฉะนั้นจึงต้องเตรียมตัวก่อนเพื่อให้บกพร่องน้อยที่สุด เริ่มต้นด้วย
ข้อที่หนึ่ง ฝึกตนเองที่จะไม่ตำหนิใคร ๆ ทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ ข้อนี้น่าจะเป็นข้อที่ทำยากที่สุดโดยเฉพาะใจที่ไม่ตำหนิ เพราะใจมันไวจริง ๆ ใจมีความไวมากกว่าแสง (186,000 ไมล์ต่อวินาที) ถ้าฝึกได้คือสุดยอด ฝึกตนเองที่จะอดทนต่ออายตนะภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่มากระทบทั้งดีและไม่ดี ข้อนี้ก็ทำยากเพราะกิเลสมันพอกเราหนาอยู่ ฝึกตนมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเหตุและผล ความเป็นไปตามธรรมชาติ ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ
ข้อที่สอง มีเมตตา มีความรัก ต่อ เพื่อน พระสหธรรมิก ทั้ง ภันเต (แก่พรรษา) และอาวุโส (อ่อนพรรษา) สามเณร ญาติโยม
ข้อที่สาม มีความเคารพอย่างจริงใจ เชื่อฟังทั้ง กาย วาจา ใจ ต่อพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง ต้องปฏิบัติให้ได้ พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยงส่วนใหญ่ อายุท่านรุ่นลูก แม้กระนั้นก็ต้องเชื่อฟัง
ข้อที่สี่ ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของหลวงพ่อในการนั่งสมาธิ ศึกษาพระวินัยปาฏิโมกข์ เพื่อรักษาศีล 227 ข้อ โดยไม่เผลอ ไม่พร่อง ไม่ตั้งใจ ไม่รู้ก็ไม่เว้น
ทั้งสี่ข้อที่กล่าวมา ก็เพื่อเป้าหมาย “ยกจิตให้สูงขึ้น และปฏิบัติธรรม เข้าสู่ดวงธรรม ดวงปฐมมรรคเป็นเบื้องต้น”