วันจันทร์, ธันวาคม 31, 2555

การให้โอกาสคือการให้ที่ยิ่งใหญ่




ในความเป็นจริงของเอกภพ จักรวาล ระบบสุริยะ ถึงโลกของเรา คงปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกาะเกี่ยวกัน ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม รวมถึงผลกระทบที่ส่งผลต่อกันทั้งสิ้น หากเรามองเป็นนามธรรม อาจเห็นยากสักหน่อย แต่ถ้าเรามองผ่านธรรมชาติทั้งต้นไม้ สัตว์ และแมลงแล้ว จึงพบว่า ทุกอย่างเกาะเกี่ยวกันอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ต้นไม้บานดอก ผึ้งบินมาหาน้ำหวานไปเลี้ยงตัวอ่อน ต้นไม้นั้นก็ได้ผสมเกสร ออกผลดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ ผลไม้กลับเป็นอาหารให้มนุษย์และสัตว์ได้อีก เมื่อพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกาะเกี่ยวกันเช่นนี้ การให้โอกาส จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ตัวอย่างการให้โอกาสของตัวกินมดยักษ์ ในแอฟริกา ซึ่งเจาะรังจอมปลวก ส่งลิ้นเข้ากินปลวกในรังนั้น แม้จอมปลวกจะมีปลวกมากมาย แต่ตัวกินมดยักษ์ ก็กินปลวกบางส่วนเท่านั้น ย้ายไปกินรังอื่นต่อไป ให้โอกาสปลวกแต่ละรังได้ซ่อมแซมรังและขยายเผ่าพันธุ์ เพื่อการกินครั้งต่อไป การให้โอกาสจึงเป็นความเกื้อกูลที่ต่างอยู่ด้วยกันได้ตลอดไป สิ่งที่เขียนมาเป็นเรื่องราวของธรรมชาติที่มีวิวัฒนาการเป็นล้านปี ในการสร้างสมดุลนั้น

บัดนี้ มนุษย์วิวัฒน์ตนเอง ทรนงในความฉลาดของตน พยายามเอาชนะธรรมชาติทุกรูปแบบ และลืมการให้โอกาสต่อสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมโลก ภาวะสมดุลจึงสูญสลายอย่างยับเยิน หากไม่รีบเปลี่ยนแปลง หันกลับไปให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กับธรรมชาติแล้ว สุดท้ายการสูญพันธุ์ของมนุษย์ก็อยู่แค่เอื้อม

นกขมิ้นท้ายทอยดำ (Black-naped Oriole)




โดยปกติสวนประดู่ป่าที่นครนายกมีนกที่อยู่นิรันดร์ ทั้งเกิด ทั้งทำมาหากิน อยู่ในพื้นที่สิบสี่ไร่คือเจ้าแซงแซวหางปลา และ แซงแซวหางบ่วงเล็ก คอยบินโฉบกินแมลง ใกล้ๆพื้นดิน นกแซงแซวเป็นนกที่ไม่ค่อยกลัวอะไร จึงพบเห็นเป็นภาพคุ้นตา ลักษณะเด่นอีกอย่างของแซงแซวคือ ชอบเลียนเสียงนกอื่น สัตว์อื่นเช่นเสียงแมวเป็นบางครั้ง

เดือนธันวาคมปีนี้ (2555) อากาศหนาวปกคลุมมาถึงนครนายก เช้าวันหนึ่งขณะนั่งจิบกาแฟ ได้ยินเสียงนกร้องมาจากพุ่มต้นมะขามป้อมดัง "แคร่.. แคร่ " ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นเสียงแซงแซวแน่ๆ แต่เมื่อหันไปมองกลับเป็นนกขมิ้นท้ายทอยดำตัวเมีย บินโผมายังต้นพะยูงหน้าบ้าน ตัวผู้สีเหลืองสดบินตามมา เมื่อเห็นนกขมิ้นท้ายทอยดำแล้ว รู้สึกสดชื่น สว่างในจิตใจ ด้วยสีที่เหลืองสดใสนั่นเอง เป็นอีกวาระหนึ่งที่นกขมิ้นท้ายทอยดำอพยพมาเยือนสวนประดู่ป่าในฤดูหนาวของปีนี้

วันจันทร์, ธันวาคม 24, 2555

ทับทิมสเปน






ทับทิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Punica  granatum L. อยู่ในวงศ์ Punicaceae สเปนเรียกทับทิมว่า Granada ผลไม้ที่ชื่อว่าทับทิมมีประวัติความเป็นมายาวนานแล้ว และมีความสำคัญในหลายชาติหลายภาษา ทั้งด้านสมุนไพร ทั้งด้านความเชื่อของผู้คน ทั้งความอร่อยที่เป็นผลไม้ บางประเทศเช่นสเปนให้ความสำคัญถึงกับนำผลทับทิม เม็ดทับทิม กิ่งและใบทับทิม เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องหมายสัญญลักษณ์ของประเทศ
เมื่อวานนี้ลูกสาวและลูกชายนำทับทิมจากสเปนฝากมาให้พ่อกับแม่ เพราะรู้ว่าแม่ชอบกินทับทิม ลูกบอกว่าเพิ่งไปรับจากเพื่อนที่สนามบิน ฝากเพื่อนซื้อจากสเปน ทับทิมผลโต เปลือกเหนียว เม็ดสีแดงเข้ม กรอบหวานหอม อร่อยมาก กินทับทิมแล้วมีความสุขทั้งกระเพาะและจิตใจเลย

วันเสาร์, ธันวาคม 22, 2555

ประถมาภรณ์มงกุฎไทย รางวัลแห่งความฝัน


ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 35 ข หน้า 114  วันที่ 3 ธันวาคม  2555  ลำดับที่  2616  นายปัญญา  วารปรีดี  รางวัลแห่งความฝันของการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ข้าราชการ

วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 20, 2555

วันสิ้นโลก







พรุ่งนี้(21 ธันวาคม 2555 หรือ 21 dec 2012) น่าจะเป็นวันสำคัญของโลกวันหนึ่ง ด้วยศาสตร์สองศาสตร์ของมนุษยชาติเข้าใกล้กันมากที่สุด จนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ศาสตร์ที่ว่านั้นคือ โหราศาสตร์และวิทยาศาสตร์  นักโหราศาสตร์พยายามอ้างคำทำนายของใครต่อใครมากมายที่ทำนายว่า โลกจะสลาย คำทำนายเหล่านั้นมีผลต่อความเชื่อของผู้คน ข่าวสะพัดไปทั่วโลกในยุคความก้าวหน้าของสื่อเทคโนโลยี  คำทำนายเกือบทั้งหมดฟันธงว่า โลกจะแตกสลายในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คือวันพรุ่งนี้  ด้านนักวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาความเป็นไป ความเปลี่ยนแปลงของโลก ในหลายแง่ หลายมุม ว่าโลกจะสลายตามคำทำนายได้หรือไม่อย่างไร โดยศึกษาทั้งปัจจัยภายในโลก ปัจจัยภายนอกโลก ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่นศึกษาการเปลี่ยนขั้วของสนามแม่เหล็กโลก ว่ามีผลต่อโลกอย่างไร ศึกษาพายุสุริยะจากดวงอาทิตย์ว่ามีผลต่อโลกอย่างไร ความจริงทางวิทยาศาสตร์และคำทำนายของโหราศาสตร์ ทำความหวั่นไหวให้กับมนุษย์ไปทั่วโลก  กลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับโลกของเรา ยกเว้นมนุษย์บางกลุ่มที่มีความสุขอยู่กับธรรมชาติ มีความสุขอยู่ในสังคมเล็กๆของตน ไม่รับรู้ข่าวสารข้อมูลใดๆ ชีวิตของพวกเขาเป็นไปตามครรลองที่มันเป็น วันสิ้นโลกหรือวันโลกสดใส มันก็ปกติธรรมดา แล้วแต่จะเป็นไปเถอะ

นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร





นักอนุรักษ์ธรรมชาติพากันตั้งสมญานาม ต้นไทร ที่อยู่ในป่าไว้อย่างคล้องจองว่า " นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร " เหตุที่ได้สมญานามนี้ เป็นเพราะต้นไทรเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่าหลายชนิด ทั้งสัตว์ปีกเช่นนกชนิดต่างๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิง ชะนี กวาง เก้ง กระรอก กระแต อีเห็น ชะมด เป็นต้น ต้นไทรยังมีความพิเศษของเผ่าพันธุ์คือแต่ละต้นผลสุกไม่พร้อมกัน ต้นไทรจึงเป็นแหล่งอาหารที่ทำให้สัตว์มีผลไม้กินตลอดปี ด้วยเหตุนี้แหละนักอนุรักษ์ธรรมชาติจึงให้สมญานามว่า " นักบุญแห่งป่า " ส่วนประโยคที่ว่า " นักฆ่าแห่งพงไพร " เป็นเพราะต้นไทรต้องอาศัยเกาะต้นไม้ใหญ่ต้นอื่นเพื่อหยั่งรากลงสู่ดิน รากของต้นไทรจึงบีปรัดต้นไม้ใหญ่ สุดท้ายต้นไม้ต้นนั้นก็ต้องตายลงในที่สุด ต้นไทรจึงได้ชื่อว่าเป็นนักฆ่าแห่งพงไพร อีกสมญานามหนึ่ง....

วันอังคาร, ธันวาคม 11, 2555

วรรณกรรม"เป็ดแดง"





ยามมืด ยามค่ำคืน
เวลาตื่น นกเป็ดแดง
บินไป ไม่มีแสง
มีเพียง เสียงนำทาง
พาพวกพ้อง บินหาหนองน้ำ
พบแหล่งอาหาร สมานสามัคคี
แบ่งปันพื้นที่ ทำมาหากิน
รุ่งสาง ต่างบินจากไป
หาพุ่มไสว พักกายหลับนอน
มืดค่ำอีกหน ก็ทำเหมือนก่อน
เป็นนกเร่ร่อน หากินค่ำคืน

วันศุกร์, ธันวาคม 07, 2555

ร้านอาหารจีนกวางตุ้ง






วันพ่อปีนี้ลูกสาว ลูกเขย ลูกชาย พาไปทานข้าวร้านอาหารจีนกวางตุ้ง อยู่แถวพระราม 2 วันพ่อลูกทุกคนอยากจะดูแลพ่อ ผลคือร้านอาหารทุกร้านแทบไม่มีที่นั่ง แม้ว่ามีการโทรศัพท์สั่งจองไว้ล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ก็ตาม ช่วงรออาหาร จิบน้ำชาไปพลาง พูดคุยกัน หันไปเห็นทางร้านแขวนเป็ดไว้  เดินไปดูเป็ดพองๆๆ ถามลูกสาวเป็ดทำไมพองๆๆ ลูกบอกว่าเขาสูบลมเข้าไปในตัวเป็ดให้หนังเป็ดเต่ง เมื่อนำไปทำอาหารจะน่ารับประทาน  ดูแล้วก็น่าสงสาร  ถามว่ากินไหม  กินเพราะมันเกิดมาเป็นอาหารมนุษย์ไปซะแล้ว
เมื่อรับประทานอิ่มหนำสำราญ ช่วงเวลาจ่ายเงิน ทั้งลูกสาว ลูกเขย ลูกชาย ไม่ได้จ่ายหรอก  papa จ่ายเอง  papa ถูกหวย (คุณพ่อของลูกเขย)ถูกจริงรึเปล่าก็ไม่รู้ พาไปรับประทานอาหารครั้งใดถูกหวยทุกที

วันอังคาร, ธันวาคม 04, 2555

ชำมะเลียง






ชำมะเลียงเป็นชื่อของไม้ผลถิ่นไทยชนิดหนึ่ง บางคนเรียกชำมะเลียง ว่า พุ่มเรียง ซึ่งมีทั้งพุ่มเรียงบ้าน พุ่มเรียงป่า ในที่นี้ขอเรียกว่าชำมะเลียงก็แล้วกัน เพราะคุ้นกับเพลง " ชำมะเลียงเจ้าเอย..." ชำมะเลียงเป็นไม้สูงชะลูด ใบยาวเสี้ยม ออกดอกสีชมพูอมม่วง เมื่อติดผลมีสีเขียวคล้ายมะไฟเป็นพวงยาว เริ่มแก่ผลเปลี่ยนเป็นสีชมพู แก่จัดผลเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำ รสชาติคล้ายลูกหว้าคือหวานนิดฝาดหน่อย
ภาพชำมะเลียงนี้ถ่ายที่บ้านอาจารย์ วิชิต นิยมพันธุ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ออกผลเป็นพวงสวยงามมาก ผลไม้ไทยรสชาติดีๆหายไปพร้อมป่าที่ลดลงอย่างน่าใจหาย อยากเชิญชวนให้ปลูกไม้ผลโบราณของไทยไว้ให้ลูกหลานได้รู้จัก ก่อนที่ต้นไม้เหล่านั้นจะสูญหายไปจากโลกของเรา

วันจันทร์, ธันวาคม 03, 2555

ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา





ปลายฤดูฝนจัดเต็มทีแล้วสำหรับปีนี้(2555)สิ้นเดือนพฤศจิกายนยังมีฝนอยู่เลย ในสวนประดู่ป่าจึงเห็นผีเสื้อบินตอมดอกไม้ ทั้งดอกพู่นายพล ดอกตีนเป็ดน้ำ ดอกลีลาวดี แม้แต่ดอกสะเดา ผ๊เสื้อชนิดหนึ่งที่จัดว่าสวยงามด้วยเฉดสีสดใส คือผีเสื้อกะทกรกธรรมดา มีชื่อสามัญว่า  Leopard Lacewing พบได้เกือบทั่วประเทศเว้นภาคใต้ตอนล่าง ช่วงเวลาบ่ายเกือบเย็นผีเสื้อกะทกรกธรรมดาเกาะดูดน้ำหวานจากดอกสะเดา บินไปต้นโน้นต้นนี้ บางครั้งพบพร้อมกับผีเสื้อหนอนกาฝากธรรมดาในช่วงเวลาเดียวกัน
เวลาใดเมื่อได้เห็นผีเสื้อ ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ อารมณ์ไหวไปตามลีลาการโบยบินของผีเสื้อตัวน้อยนั้น