วันศุกร์, มกราคม 30, 2552

ใต้เงาพระมหาธาตุเจดีย์ นภเมทนีดล


ปีนี้เป็นปีฉลู พุทธศักราชสองพันห้าร้อยห้าสิบสอง นับเป็นปีที่ปิติสุขปีหนึ่ง เหตุด้วยมีโอกาสเดินทางไปราชการภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และห้วงเวลาสั้นๆได้เดินทางขึ้นไปบนยอดดอย อินทนนท์ที่สูงสุดในสยาม ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,142 เมตร เวลาประมาณสิบหกนาฬิกาสามสิบนาที ของวันที่สิบสี่ เดือนมกราคม อุณหภูมิบนยอดดอยอินทนนท์ บอก 4 องศาเซลเซียส อากาศหนาวเย็น ฟ้าสดใสมาก เสียงนกหลากหลายชนิด ร้องดังสอดประสานกัน ดูสงบ ร่มรื่น เยือกเย็น ออกเดินช้าๆขึ้นไปบนพระมหาธาตุเจดีย์ นภเมทนีดล ซึ่งเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่กองทัพอากาศไทย สร้างถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสที่ทรงพระเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ และทรงพระราชทานนามว่า “ พระมหาเจดีย์นภเมทนีดล” มีความหมายว่า “เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน” เมื่อก้าวเข้าไปในพระมหาธาตุเจดีย์ ความเย็นแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย เป็นความปิติอย่างบอกไม่ถูก กราบพระมหาเจดีย์เสร็จเดินไปรอบๆ เห็นเงาพระมหาธาตุเจดีย์ทอดทับไปบนหมู่ต้นไม้ทั้งเล็กใหญ่ ให้เกิดสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์มีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างถ้วนทั่ว พนมมือตั้งจิตอธิษฐานหากมีบุญวาสนาขอให้เกิดมาเป็นคนไทย เพื่อเป็นข้าผู้รับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดไป

วันพฤหัสบดี, มกราคม 29, 2552

ผลกาแฟ ต้นกาแฟ ที่ดอยปุยจังหวัดเชียงใหม่


มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือระบุว่าเครื่องดื่มที่คนทั่วโลกดื่มกันมากที่สุดคือ “กาแฟ” ลองมาวิเคราะห์ดูว่าทำไมประชากรทั่วโลกจึงชอบดื่มกาแฟ ถ้าเราสังเกตคนดื่มกาแฟ จะพบลักษณะการดื่มดังต่อไปนี้ บางคนชอบดื่มกาแฟแก้วโต ๆ ไม่ใส่ครีมไม่ใส่น้ำตาล บางคนชอบดื่มกาแฟใส่น้ำตาลอย่างเดียว บางคนชอบใส่ครีมเยอะ ๆ น้ำตาลเยอะ ๆ บางคนชอบดื่มกาแฟใส่นม บางคนก็ชอบดื่มกาแฟใส่โสม คนทั่วโลกทุกคนที่ดื่มกาแฟสามารถปรับรสชาติกาแฟตามความต้องการของตน อาจเพราะเหตุนี้แหละจึงทำให้มีคนดื่มเครื่องดื่มกาแฟกันมาก และคนทั่วโลกยังชอบดื่มกาแฟ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์อาราบิก้า (ARABICA) และพันธุ์โรบัสต้า (ROBUSTA) เป็นส่วนใหญ่อีกด้วย
ที่ดอยปุยจังหวัดเชียงใหม่ ชาวเขาปลูกกาแฟไว้ตามเชิงเขาลดหลั่นกันดูสวยงาม เมื่อเข้าไปชมใกล้ ๆ จะเห็นความงามของผลกาแฟซึ่งสุกไม่พร้อมกันเริ่มจากสีเขียว สีเหลืองไปเป็นสีแดง และแดงเข้มอมม่วง ในไร่กาแฟสุกมีนกปรอดหลากหลายชนิดส่งเสียงร้องบินไป บินมา เต็มไปหมด เมื่อถามชาวเขาว่ากาแฟที่ปลูกที่ดอยปุยเป็นพันธุ์อะไร เขาบอกว่าพันธุ์ อาราบิก้า พันธุ์นี้จะมีกลิ่นหอมและชอบเจริญเติบโตในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลจึงปลูกได้ดีทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ส่วนอีกพันธุ์หนึ่งคือ พันธุ์ โรบัสต้า มีความเข้มข้นของกาแฟสูงชอบเจริญเติบโตในพื้นที่ฝนชุก จึงปลูกในแถบจังหวัด สุราษฎร์ธานี ชุมพร เป็นต้น สรุปว่า คอกาแฟไม่ว่าจะปรุงแต่งด้วยส่วนผสมอย่างไร กาแฟต้องขอเป็น อาราบิก้าและโรบัสต้าผสมกัน เพื่อให้ได้ความหอมละมุนและรสชาติเข้มข้นคละเคล้ากันเป็นสุดยอดกาแฟสุนทรีย์ของคนทั่วโลก

นกตีทองและนกโพระดกกับลูกไทรสุกที่ศูนย์วิทย์สระแก้ว


“ไทร” มีลักษณะพิเศษเฉพาะต้นคือไทรแต่ละต้นผลสุกไม่พร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ไทรจึงได้ชื่อว่า “นักบุญแห่งป่า” คือเป็นแหล่งอาหารของสัตว์หลายชนิด เช่น นกต่าง ๆ กระรอก ลิง ชะมด รวมถึง เก้ง กวาง ที่เก็บกินลูกไทรหล่นบนพื้นดิน สัตว์จะรู้ว่าไทร ต้นไหนสุกเมื่อใด เขาจึงกำหนดแหล่งอาหารได้ตลอดปี
ในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว มีต้นไทรต้นหนึ่งเริ่มสุกเมื่อวันกองทัพไทยคือ วันที่ 25 มกราคม และจะสุกต่อไปจนกว่าจะหมดต้น แม้ว่าไทรต้นนี้อยู่ในชุมชน ไทรทั้งต้นยังเต็มไปด้วยนกนา ๆ พันธุ์ เช่น นกตีทอง นกโพระดก นกปรอดสวน นกปรอดโอ่ง นกกาเหว่า นกจาบคาก็มาร่วมด้วย (ที่จริงนกจาบคากินแมลงเป็นอาหาร)
การมีต้นไม้ไว้ในบ้าน ในสวน ในที่ทำงาน นอกจากประโยชน์โดยตรงที่ได้รับจากความร่มรื่น และอากาศที่บริสุทธิ์ ที่เกิดจากการสงเคราะห์แสงแล้ว ประโยชน์ทางอ้อม อาจเป็นเช่นไทรในศูนย์วิทย์ฯ ต้นนี้ คือเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ยังชีวิตไว้เพื่อเป็นเพื่อนร่วมโลกกับเราตลอดไป

วันอังคาร, มกราคม 06, 2552

"แย้"ที่ห้วยขาแข้ง


แย้ เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ตัวขนาดเท่ากิ้งก่า ต่างจากกิ้งก่าที่แย้ชอบอยู่อาศัยและหากินบนพื้นดิน ที่พักพิงของแย้ เรียกว่า “รูแย้” แย้ขุดรูและทำรูหนีภัยไว้ด้วย ในอดีต 20-30 ปี ที่ผ่านมา ในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคตะวันตก เช่น กาญจนบุรี อุทัยธานี เกมส์การล่าและผู้ถูกล่า ระหว่างคนกับแย้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แย้จึงเป็นสัตว์ระวังภัยสูง วิ่งเร็วมาก เมื่อคนไล่แย้ลงรู ถ้าหารูหนีภัยไม่พบ แย้ก็จะหนีไปได้อีก
ปัจจุบัน แย้ เหลือน้อยจึงมีการอนุรักษ์และการนำมาเลี้ยงเป็นฟาร์มบ้าง ทำให้ความปราดเปรียวของแย้ รวมถึงการระวังภัยเปลี่ยนไป หากมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จะพบเห็นแย้รับแขก เดินอุ้ยอ้ายหน้าที่ทำการ ตัวโตอ้วน อวดโฉมเป็นดาราให้ถ่ายภาพ หล่อ ๆ ทุกวัน สรุปว่า “โลกแห่งการท่องเที่ยว มีอิทธิพลต่อสัตว์เลื้อยคลาน เช่น แย้ด้วยเหมือนกันแฮะ"

วันจันทร์, มกราคม 05, 2552

สักกระหม่อม


ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆเกือบทั่วประเทศที่มีชาวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนเรามักพบเห็นธุรกิจชนิดหนึ่งที่ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวอย่างดีคือธุรกิจการสักตามร่างกาย และที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็เป็นเช่นนั้น ภาพที่เห็นชาวต่างชาตินั่งให้สักตามหลังบ้าง โคนแขนบ้าง ต้นคอบ้าง เป็นภาพคุ้นเคย การสักมีรูปแบบและสีสันที่สวยงาม การสักคงเจ็บเพราะเห็นมีเลือดขึ้นเป็นจุดๆแดงเต็มรูปที่สัก ผู้สักมีความอดทนไม่มีใครบ่นเลย อาจเป็นเพราะมองเห็นผลลัพธ์กับภาพที่สวยงามที่จะปรากฏบนเรือนร่างตนจึงทนเอา...ความหมายของการสักในปัจจุบันต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง ปัจจุบันสักเพื่อความสวยงาม ลงสีสันอาจเป็น แดง ดำ น้ำเงิน เขียวหรือสีอื่น ในอดีตการสักใช้สีดำอมเขียวสักเป็น อักขระ ยันต์หรือรูปสัตว์เช่น เสือ พญานาค เพื่อแสดงถึงอำนาจและการอยู่ยงคงกระพัน(ฟัน แทง ไม่เข้า)และการสักอีกแบบหนึ่งไม่มีสีสันเรียกว่า การสักน้ำมันสักด้วยจุดประสงค์เดียวกันคืออยู่ยงคงกระพัน .........ในภาคเหนือของไทย(อดีต)มีการสักเล็กๆที่พ่อแม่พาลูกชายไปให้เจ้าพ่อซึ่งเป็นคนทรงสักน้ำมันให้บนกระหม่อมเพื่อต้องการให้ลูกเรียนเก่งเมื่อเติบใหญ่จะได้รับราชการเพื่อรับใช้แผ่นดิน....เรายังจำได้เมื่ออายุ ๙-๑๐ ขวบแม่พาไปสักกระหม่อม..ด้วยแรงปรารถนาของแม่จึงทำให้เรารับใช้แผ่นดินมาถึงทุกวันนี้