วันอังคาร, ธันวาคม 29, 2552

เป็ดแดงที่หนองแวงอำเภอคอนสวรรค์








หนาวปีนี้ (ธันวาคม 52) มีโอกาสเดินทางไปที่อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ และมีส่วนร่วมในงานที่ชาวอำเภอคอนสวรรค์ เขาภาคภูมิใจซึ่งจัดงานต่อเนื่องมาหลายปีแล้วคืองาน “ประเพณีคอนสวรรค์รับขวัญนกเป็ดน้ำ” ณ บริเวณหนองแวงซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 105 ไร่ เป็นแหล่งรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากลางชุมชน อำเภอคอนสวรรค์ ด้วยมีนกเป็ดน้ำนับหมื่น นับแสนตัว ลงพักผ่อนกลางวัน บริเวณหนองแวงแห่งนี้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวมีนกน้ำอพยพมาอาศัยหากิน ทำให้นักดูนกได้มีโอกาสได้ชื่นชมชีวิตความเป็นอยู่ ลักษณะท่าทาง สีสันความสวยงามของนกอพยพเหล่านั้น
ที่บอกว่ามีส่วนร่วมคือได้รับเชิญจาก กศน.อำเภอคอนสวรรค์ ให้จัดกิจกรรมดูนกยามเช้าให้นักศึกษา กศน. จำนวน 120 คน ทีมงานทุกคนเตรียมรถยนต์เคลื่อนที่ (Mobile) นิทรรศการชุดระบบนิเวศและเรื่องนก รวมถึงชุดกล้องส่องทางไกล(Binoculars)และชุดเทเลสโคป พร้อม บทปฏิบัติการเพื่อทำกิจกรรมในช่วงเวลา 05.30 น. ถึง 08.30 น. ของเช้าวันที่ 25 ธันวาคม ก่อนเริ่มกิจกรรม ในวันที่ 24 ธันวาคม ทีมงานสำรวจสภาพของหนองแวงว่ามีนกน้ำชนิดใดบ้าง ที่อาศัยอยู่ผลการสำรวจพบนกเป็ดแดงมากที่สุดนับหมื่น ๆ ตัว พบนกอพยพ เช่น นกอ้ายงั่ว หรือ บางกลุ่มเรียกนกงู(ภัฑรกิจ ไชยถา ถ่ายภาพ) เป็นนกหายากมาก พบนกอีล้ำ จัดเป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาวลักษณะคล้าย ๆ นกอีโก้ง แต่ตัวสีดำ ปากแดงขอบเหลืองมีแถบสีขาวที่แนวปีกและใต้หาง แม้พบนกอพยพเพียง 2 ชนิด นับว่าคุ้มต่อการมาครั้งนี้ รายละเอียดของนกอพยพที่พบจะเขียนในโอกาสต่อไป

“มอหินขาว” กลุ่มหินทรายแห่งชัยภูมิ

















ห่างออกไปจากตัวจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 30 กิโลเมตร คือเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตน มีน้ำตกตาดโตนที่สวยงามบริเวณน้ำตกเป็นลานหิน แม้ว่าน้ำตกไม่สูงนักแต่มีเสน่ห์ คือมีแมลงปอน้ำตกหลากหลายสายพันธุ์ สีสันล้วนแล้วแต่สวยงามทั้งสิ้นบางพันธุ์สีเขียวมรกต บางพันธุ์สีแดงเพลิง นับเป็นแหล่งเรียนรู้แมลงปอน้ำตกที่มีคุณค่าแห่งหนึ่ง
ก่อนถึงอุทยานแห่งชาติตาดโตน 1 กิโลเมตร มีทางแยกไปซ้ายมือ ป้ายบอกไป “มอหินขาว” 20 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 12 กิโลเมตร จากนั้นเป็นถนนลูกรังอัดแน่น พร้อมลาดยางอีก 8 กิโลเมตร แม้ต้องขับรถผจญฝุ่นบ้าง เมื่อถึงมอหินขาวพบกับความสวยงามของกลุ่มหินทรายที่วางตัวอย่างอัศจรรย์ลืมเรื่องฝุ่นไปเลย ไม่มีงานศิลปะใดจะสวยงามเท่าธรรมชาติสร้างสรรค์
มอหินขาวเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องปฐพี เรื่องหิน เรื่องดินและความสวยงามความเป็นศิลปะ เมื่อถนนสร้างเสร็จเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคงมีข้อมูลให้เด็ก เยาวชนได้ศึกษาความเป็นมาและอายุหิน ของมอหินขาวกลุ่มหินทรายแห่งชัยภูมิแห่งนี้

วันพุธ, ธันวาคม 23, 2552

Tsukuba Science City


Tsukuba เมืองวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น เป็นสถานที่ดูงานแห่งแรกของคณะกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา หลังจากการเดินทางโดยเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินนาริตะ กว่า 7 ชั่วโมง คณะดูงานล้างหน้า แปรงฟันที่ Toilet สนามบินนาริตะ จากนั้นมุ่งหน้าสู่ Tsukuba Science City ผ่านพระมหาราชวังอิมพีเรียล แวะลงไปเยี่ยมชมสวนสาธารณะบริเวณด้านหน้าพระมหาราชวัง ประมาณ 30 นาที มุ่งสู่สถานที่ดูงานเลย
รายละเอียดของสถานที่ดูงานแห่งนี้ รอคณะเพื่อนๆผู้บริหารกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาช่วยกันสรุป ผู้เขียนปรับร่างกายตนเองไม่ได้หน่วยความจำทำงานไม่สมบูรณ์ ไม่มีรายละเอียดที่พอจะเขียนได้
คำสำคัญ Tsukuba Science City
- Tsukuba เป็นสถานที่จัดงาน Expo

วันอังคาร, ธันวาคม 22, 2552

National Museum of Nature and Science





พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NMNS) ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในมหานครโตเกียว มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน พัฒนาและเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้งโดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ.1871 นับถึงปัจจุบัน ค.ศ.2009 เป็นเวลากว่า 138 ปีแล้ว การบริหารจัดการมีบุคลากรปฏิบัติงาน 80 คน อาสาสมัครมากกว่า 300 คน ข้อตกลงการมาร่วมงานของอาสาสมัคร กำหนดวันมาทำงานเป็นวันไหน โดยมีเงื่อนไขว่าหนึ่งปีต้องมาไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง ค่าตอบแทนอาสาสมัครเป็นค่ารถไฟในการเดินทางมาปฏิบัติงาน อาสาสมัครเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เกษียณอายุแล้วเป็นส่วนใหญ่ การจัดทำนิทรรศการถ้างบประมาณไม่มากจะจ้างทำเป็นชิ้นงาน ถ้างบประมาณมากใช้การทำ TOR มีนักวิจัยคอยให้คำปรึกษา ขณะเดียวกันนักวิจัยอาจทำวิจัยได้โดยอิสระ
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดแสดงนิทรรศการไว้ 2 อาคาร อาคารที่หนึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับชีวิตบนผืนโลก เช่น สัตว์ป่า ซากไดโนเสาร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ อาคารที่สอง เป็นเรื่องของคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม ประวัติความเป็นมา โครงสร้างของเกาะญี่ปุ่น ประชาชนคนญี่ปุ่น เทคนิคต่างๆ ที่สังเกตจากธรรมชาติ และสิ่งก่อสร้างที่ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะห้องฉายภาพยนตร์ 360 องศา ซึ่งนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับโลกล้านปี ยุคไดโนเสาร์ เมื่อเข้าไปชมแล้วตื่นเต้นมาก เสมือนอยู่ในบรรยากาศจริง เด็กเล็กเข้าไปชมกับผู้ปกครองร้องไห้ด้วยความกลัว
สรุปว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่นมีความทันสมัยและยอดเยี่ยมเหมาะต่อการศึกษาดูงาน
คำสำคัญ ของ National Museum of Nature and Science
- เป็นพิพิธภัณฑ์เก่าแก่ อายุกว่า 138 ปี
- มีอาสาสมัครที่มีความรู้ช่วยปฏิบัติงาน
- มีห้องฉายภาพยนตร์ 360 องศา
- นำเสนอความเป็นญี่ปุ่นของคนเกาะญี่ปุ่น

วันจันทร์, ธันวาคม 21, 2552

Science museum in Japan





พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น (Science museum in Japan) ตั้งอยู่ในมหานครโตเกียวเริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1964 โดยองค์กรเอกชนซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นร่วมลงทุน เช่น บริษัท HITACHI วัตถุประสงค์คือการปลูกฝังเยาวชนให้มีทักษะทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจเทคโนโลยีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเรียนรู้ผลการวิจัยใหม่ ๆ ที่ค้นคว้าเพิ่มเติมอยู่เสมอ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นจัดแสดงไว้ 5 ชั้น ทุกชั้นมีห้องน้ำของบุคคลธรรมดาและคนพิการ
ชั้นแรก เป็นส่วนการให้ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ช่องเก็บตั๋ว ร้านค้าของที่ระลึก
ชั้นที่สอง เป็นลานแสดงเกี่ยวกับวิวัฒนาการของจักรยาน และเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ต่าง ๆ ที่สุดยอดคือ การแสดงระบบควบคุมการไหลของพลังงานรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานที่สุดในโลกเรียกว่า Hybrid car ที่เห็นเป็นรถยี่ห้อ Lexus และห้องสมุดวิทยาศาสตร์
ชั้นที่สาม เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโลกของเรา ในนิทรรศการมีทั้งส่วนให้เรียนรู้ด้วยตนเองและมีอาสาสมัครนำทดลองเพื่อการเรียนรู้ เช่น เรื่องวัฏจักรชีวิต เรื่องเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เรื่องเสียง แสง ไฟฟ้า
ชั้นที่สี่ นำเสนอสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นให้โลก เช่น เครื่องยนต์ กลไกเครื่องจักรต่าง ๆ หุ่นยนต์ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้นนี้มีห้องฉายภาพยนตร์ที่ต้องใช้แว่นตาสามมิติชม
ชั้นที่ห้า เป็นการทดลองการทำงานของร่างกายมนุษย์ เช่นการเคลื่อนไหว การมองเห็นสี แสง การใช้แรงกับเครื่องผ่อนแรง รวมถึงการทดลองเกี่ยวกับ DNA พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นใช้งบในการบริหารจัดการจากการร่วมทุนของบริษัทปีละประมาณ 200 ล้านบาท มีบุคลากรปฏิบัติงาน 100 คน มีอาสาสมัครร่วมทำงานเป็นครั้งคราว 20 คน ผู้เข้าชมปีละประมาณ 600,000 คน

คำสำคัญของ Science museum in Japan
· องค์กรเอกชนลงทุน
· นำเสนอเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์
· นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ
· ปลูกฝังทักษะทางวิทยาศาสตร์ให้เด็กและเยาวชน

Asahikawa Science Center




ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งเมือง ASAHIKAWA ตั้งอยู่ในเกาะเหนือ คือ เกาะฮอกไกโด ของประเทศญี่ปุ่นช่วงเวลาของเดือนธันวาคมเมือง Asahikawa อากาศหนาวเย็นอุณหภูมิติดลบ (-8 องศาเซลเซียส) หิมะตกพายุหิมะโปรยปรายตลอดเวลา ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งและปรับปรุงจากขนาดเล็กมาสู่ขนาดใหญ่ในปัจจุบัน นำเสนอเรื่องราวทางดาราศาสตร์ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นโดมท้องฟ้าจำลองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เมตร จุผู้ชมได้ 170 ที่นั่ง ส่วนที่สอง เป็นกล้องดูดาวมี 2 ตัว ตัวแรกเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ตัวที่สองเส้นผ่าศูนย์กลาง 65 เซนติเมตร สามารถดูดาวในเวลากลางวันได้ กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและผู้ใหญ่ในสัดส่วน 50:50 โดยทั่วไปผู้ปกครองจะนำบุตรมาเยี่ยมชม ผู้เยี่ยมชมต่อปีประมาณ 280,000 คน ใช้งบประมาณดำเนินงานปีละ 70 ล้านบาท เก็บรายได้ต่อปีประมาณ 7 ล้านบาท งบประมาณที่ใช้ได้จากเมือง Asahikawa ในศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งนี้เน้นนิทรรศการเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์ เช่น เครื่องทดลองการเหวี่ยงจำลองเมื่ออยู่ในอวกาศ ห้องความเย็นจำลองห้องปฏิบัติการที่ขั้วโลกใต้ อุณหภูมิ -30 องศาเซลเซียส นิทรรศการเน้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น ต้องสัมผัส ต้องทดลองเรียนรู้จริง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับองค์การทางวิทยาศาสตร์ภายในประเทศเสมอ ๆ
คำสำคัญ ของ Asahikawa Science Center
- นำเสนอเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์และอวกาศ
- สัดส่วนผู้ใหญ่ต่อเด็ก 50:50 ( ผู้เข้าชม )
- ใช้งบประมาณของเมือง Asahikawa
- มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเสมอ

Miraikan







Miraikan ออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “มิไรกัง” คำว่า mirai แปลว่า อนาคต คำว่า Kan แปลว่าศูนย์ รวมความแล้ว Miraikan แปลว่า ศูนย์แห่งอนาคต แนวคิด ในการจัดทำมาจากแนวคิดและความปรารถนาของนักบินอวกาศญี่ปุ่นที่เดินทางออกไปนอกโลกมองเห็นความสวยงามของโลกเกิดความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมโลก ห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสรรพชีวิต ในการออกแบบนิทรรศการและสิ่งประดิษฐ์มีนักวิจัยเป็นจำนวนมากมีส่วนร่วมในการดำเนินการ มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งของประเทศญี่ปุ่นและของชาติอื่น ๆ สิ่งที่โดดเด่นของ Miraikan คือเรื่อง กิจกรรมการเรียนรู้มีห้อง workshop มีการ Design การทดลองตามความต้องการของกลุ่มที่แจ้งความประสงค์ในการเรียนรู้ไว้ก่อน หรือ Design กิจกรรมใหม่ในการทดลองทุกสัปดาห์ (เปลี่ยนทุกสัปดาห์) สิ่งที่โดดเด่นในส่วนนิทรรศการคือ ห้องโถงใหญ่แสดงการจำลองลูกโลกที่หมุนเคลื่อนไหวที่เรียกว่า Geo – cosmos ซึ่งเป็นสุดยอดของเทคโนโลยีปัจจุบัน การแสดงหุ่นยนต์ การแสดงเรือดำน้ำลึกเพื่อศึกษาท้องทะเล
คำสำคัญของ Miraikan
- ออกแบบจากจินตนาการความห่วงใยโลก
- นักวิจัยมีส่วนร่วมในการออกแบบ
- ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
- มีห้อง Workshop เพื่อ Design กิจกรรม
- ยกย่องนักบินอวกาศเป็นบุคคลสำคัญ

วันศุกร์, ธันวาคม 18, 2552

คนลากรถผู้บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น







วัด “อะซาคูซะ” ในมหานครโตเกียวเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมานับพันปีที่ชาวญี่ปุ่นแต่โบราณเดินทางมากราบไหว้พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม และวัดแห่งนี้มีโคมไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นศิลปะที่สวยงามมีผู้คนเดินท่องเที่ยวบริเวณวัดนับหมื่นนับแสนคน กิจกรรมที่โดดเด่นของบริเวณถนนหน้าวัดแห่งนี้คือ “คนลากรถ” ชาวญี่ปุ่นผู้ชายหนุ่มที่ร่างกายแข็งแรง สง่างาม ทำหน้าที่คนลากรถพานักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นพร้อมทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ให้ความรู้ในสถานที่นั้น ๆไปพร้อมกัน
จากการสังเกต กลุ่มคนนั่งรถถ้าเป็นชาวญี่ปุ่นมักเป็นหญิงสาวนั่งไปเป็นคู่หรือหนุ่มสาวที่มีพิธีแต่งงานโดยมีคนถือโคมไฟญี่ปุ่นวิ่งนำรถลาก 2 คน วิ่งไปบนถนนคล้ายกับบอกว่า “ฉันทั้งสองคนได้สละโสดแล้วนะ” แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติที่เห็น เป็นคู่ชายหญิงสูงอายุเสียมากกว่า เสียดายว่าไม่มีโอกาสได้นั่งและฟังคนลากรถให้ความรู้ สิ่งที่เห็นอาจเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ ที่ลงรายละเอียดไม่ได้เท่าใดนัก
หมายเหตุ ข้อมูลที่เขียนบางส่วนได้ฟังจาก มัคคุเทศก์ ผู้นำศึกษาดูงาน

คนไร้บ้านกับผ้าคลุมสีฟ้า







มหานครโตเกียวมีคนอาศัยอยู่หนาแน่นมาก ในพื้นที่ราบที่ไม่กว้างใหญ่แห่งนี้มีประชากรตามสำมะโนประชากรอยู่ประมาณ 15 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงที่เดินทางจากรอบ ๆ มหานครมาทำงานในโตเกียวมาก ประมาณกันว่ามหานครโตเกียวมีผู้คนเคลื่อนไหวอยู่ถึง 30 ล้านคน เราจึงมองเห็นผู้คนที่เร่งรีบ แต่งตัวทันสมัย บ้านเมืองก็สวยงามเป็นระเบียบ การต่อสู้การแข่งขันเพื่อการดำรงชีวิตเป็นไปอย่างท้าทาย
แน่นอนที่สุดที่ต้องมีกลุ่มคนที่ต่อสู้แข่งขันแล้วอ่อนล้าโรยแรง อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ในการสู้เพื่อการดำรงชีวิต เราอาจพบเห็นเขาเหล่านั้นเป็นคนไร้บ้านอาศัยอยู่ตามสวนสาธารณะที่พักผ่อนริมแหล่งน้ำ เอกลักษณ์ของคนไร้บ้านคือห่อทรัพย์สมบัติที่ใช้หลังจากพักผ่อนนอนหลับแล้ว โดยใช้ผ้าพลาสติกสีฟ้าผูกมัดอย่างเป็นระเบียบทุกวัน หากเราเดินทางในโตเกียวเมื่อเห็นผ้าพลาสติกสีฟ้าคลุมของผูกมัดอยู่แสดงว่าบริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของคนไร้บ้านชีวิตของคนไร้บ้านอาจดูลำเค็ญ แต่เป็นชีวิตคนแก่ที่อยู่อย่างมีวินัย มีความเป็นระเบียบ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่า “แม้เป็นผู้พ่ายแพ้แต่ก็แพ้อย่างมีศักดิ์ศรี”
ข้อมูลเพิ่มเติม ผ้าพลาสติกสีฟ้าที่คนไร้บ้านใช้ มัคคุเทศก์บอกว่าคนไร้บ้านได้มาจากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่นำมารองนั่งในช่วงเวลาชื่นชมกับดอกซากูระบาน

ถังขยะกับอีกาในญี่ปุ่น



นกที่พบเห็นมากที่สุดในญี่ปุ่นคงเป็น “อีกา” อีกาอาศัยอยู่ทั่วไป ในเมืองจึงเห็นอีกาบินอยู่ในสวนสาธารณะ ตามอาคารบ้านเรือน บริเวณตึกสูงๆ ที่สำคัญพบอีกาทนความหนาวเย็นของหิมะได้ แสดงว่าบริเวณที่หิมะตกอีกาก็อยู่ได้ ที่ญี่ปุ่นไม่พบเห็นถังขยะอยู่ข้างถนน ถังขยะต้องมีเจ้าของมีผู้ดูแล ฉะนั้นทุกบ้านจึงต้องมีถังขยะเป็นของตนเอง มีการแยกขยะมีสถานที่ทิ้งขยะของหมู่บ้านเป็นที่ทิ้งขยะรวม โดยรัฐกำหนดให้ประชากรของตนร่วมรับผิดชอบโดยการซื้อถุงขยะจากรัฐเพื่อให้เกิดความตระหนักและเป็นการเสียภาษีสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
ในญี่ปุ่นไม่มีสุนัขจรจัดรื้อถังขยะ สุนัขทุกตัวต้องมีเจ้าของ มีปลอกคอ หากเจ้าหน้าที่พบสุนัขไม่มีเจ้าของ เขาจับไปขังไว้เพื่อรอเจ้าของมารับประมาณ 10 วัน หากพ้นจากนั้นเขาจะทำลายสุนัขเพื่อป้องกันโรคระบาด แม้ว่าไม่มีสุนัขจรจัดรื้อถังขยะที่ญี่ปุ่น มีอีกาผู้ชาญฉลาด ซึ่งมีความสามารถพิเศษคือตาไว แกะรื้อถุงขยะที่มีอาหารได้ อีกาบางตัวแม้แต่ขวดนมยังสามารถเปิดกินได้
สรุปว่า อีกามีพัฒนาการเพื่อให้เผ่าพันธุ์ตนเองอยู่รอดในสังคมเมืองอย่างน่าพิศวง
หมายเหตุ ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากมัคคุเทศก์ประจำคณะศึกษาดูงาน

หิมะแรกที่เมือง ASAHIKAWA











ในช่วงเวลาของการไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-16 ธันวาคม 2552 ความประทับใจที่ได้จากธรรมชาติ นับเป็นของขวัญอันล้ำค่าคือ หิมะแรกที่เมือง ASAHIKAWA ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในเกาะฮอกไกโด หิมะตกหนักมากเพื่อต้อนรับคณะของเรามา 3 วันแล้ว สิ่งที่ตื่นเต้นคือการได้เห็นผลึกหิมะปลิวลงมาเหมือนขนนกเล็ก ๆ เบา ๆ ปลิวลงมาเฉียง ๆ ตามแรงลมแล้วเกาะกองบริเวณพื้นดิน บริเวณกิ่งไม้ บริเวณหลังคา เมื่อตกลงมาเป็นจำนวนมาก บริเวณชายคาฝั่งที่ไม่ถูกลมหิมะปะทะหิมะย้อยลงตามชายคา คล้ายรังผึ้งถ้าหิมะละลายในบริเวณชายคาเป็นเหมือนเข็มน้ำแข็ง เล่มเล็กๆเล่มใหญ่ ๆ พุ่งลงมาจากชายคาเต็มไปทั้งแถบ ในแม่น้ำ น้ำจับตัวเป็นน้ำแข็ง บางบริเวณที่ยังไม่เป็นน้ำแข็งมองเห็นเป็นวุ้น ๆ หากยังเป็นน้ำอยู่นกน้ำได้อาศัยบริเวณว่าง ๆ นั้นเล่นน้ำหาอาหาร ภูมิปัญญาของคนเมืองหนาวในญี่ปุ่นที่คำนึงถึงธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เขาปกป้องต้นไม้จากการถูกหิมะเกาะทับโดยการใช้ไม้ลำตรง ๆ นำไปผูกกับต้นไม้โดยให้ไม้สูงขึ้นไปกว่าต้นไม้อีกประมาณ 2 เมตร จากนั้นใช้เชือกผูกปลายไม้ส่วนที่สูงสุดหลาย ๆ เส้น นำปลายเชือกอีกด้านหนึ่งมาผูกกับกิ่งแต่ละกิ่งเพื่อให้กิ่งไม้ทนกับน้ำหนักหิมะได้ เมื่อหิมะเกาะเชือกจึงดูคล้ายกระโจม ชาวญี่ปุ่นเรียก “เชือกจับหิมะ”
หิมะเมื่อตกหนักการเดินทางลำบากรถยนต์ที่จอดไว้ทุกคันตั้งใบปัดน้ำฝนขึ้นไว้ หิมะเกาะเต็มคันรถ บริเวณหน้าบ้านและถนนประชาชนในบริเวณนั้น ๆ ออกจากบ้านมากวาดหิมะเป็นระยะๆเพื่อไม่ให้หิมะก่อตัวกองสูงเกินไปจนไม่สามารถเปิดประตูบ้านได้หรือไม่สามารถเดินบนถนนได้
ข้อมูลเพิ่มเติม มัคคุเทศก์บอกว่าผลึกของหิมะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกันเลยนับเป็นความมหัศจรรย์ พันผลึกก็พันแบบ

ความสุขของคนญี่ปุ่นกับสุขภัณฑ์


เมื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ความสุขหนึ่งที่ได้รับร่วมกับคนญี่ปุ่นคือการได้นั่งสุขภัณฑ์ที่มีความสะอาด สะดวก สบาย ที่สุดในโลก เครื่องสุขภัณฑ์ญี่ปุ่นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนองความต้องการจริง ๆ เริ่มด้วยหากเป็นฤดูหนาว ฝาครอบสุขภัณฑ์ที่นั่งมีเครื่องทำความอุ่นทำให้เรานั่งสบาย ฝาครอบปิด เปิด มีโชคอัพขึ้นลงช้า ๆ ไม่เกิดเสียงดัง เมื่อปลดทุกข์แล้วมีปุ่มฉีดน้ำล้างพุ่งขึ้นตรงตำแหน่ง เลือกได้ว่าจะใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเย็น เมื่อล้างเสร็จมีปุ่มกดหยุด ความสุขที่ได้รับจากสุขภัณฑ์ของญี่ปุ่นทำให้คิดถึงแม่มาก ๆ ตอนเราเป็นเด็กมีแต่แม่ล้างก้นให้ มาญี่ปุ่นเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง ท่านว่าดีไหมล่ะ ความสุขที่ได้รับจากสุขภัณฑ์ของญี่ปุ่นขอกล่าวว่า “I LOVE JAPAN VERY MUCH”

ความต่างระหว่างญิ่ปุ่นกับไทย



มิได้เขียนว่าญี่ปุ่นดีกว่าไทยอย่างไร แต่เขียนถึงญี่ปุ่นมีบางอย่างที่ไทยเราไม่มี ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจนำมาพิจารณาว่าหากไทยเรามีสิ่งเหล่านี้จะดีหรือไม่ เพราะญี่ปุ่นเขาทำสิ่งเหล่านี้แล้วประเทศชาติเขาเจริญพัฒนาดีขึ้นตลอดเวลา ขอเขียนความต่างเป็นข้อๆดังนี้
ข้อแรก ญี่ปุ่นมีบุคคลรับผิดชอบถังขยะส่วนตัวโดยมีการแยกชนิดของขยะ มีองค์กรบริษัทหรือหน่วยงานทุกแห่งรับผิดชอบขยะโดยแยกประเภทขยะของตน
ข้อที่สอง ประชาชนญี่ปุ่น มีความหนาแน่น คนญี่ปุ่นจึงเข้าคิวเพื่อให้เกิดลำดับก่อนหลังไม่ว่าเพื่อซื้อของ เพื่อใช้บริการห้องน้ำ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมโดยอัตโนมัติ
ข้อที่สาม ความตรงต่อเวลา ทั้งเครื่องบิน และรถไฟเดินทางตรงเวลา หากเวลาต่างกันเพียง 1 นาที รถไฟก็อาจเป็นคนละขบวนกันแล้ว เครื่องบินก็เช่นกัน เครื่องบินขึ้นจากสนามบินต่อเนื่องกันเป็นนาที ความไม่ตรงต่อเวลาอาจทำให้พลาดโอกาส เสียโอกาส สุดท้ายอาจเป็นผู้ด้อยโอกาสไปในที่สุด
ข้อที่สี่ การเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือสังคม อาจพบผู้สูงอายุเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลสังคม เช่นเป็นคนกวาดถนนและกวาดหิมะในสวนสาธารณะ เป็นยามเปิดประตู เป็นผู้บรรยายในพิพิธภัณฑ์
ข้อที่ห้า ญี่ปุ่นคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก ทั้งความเป็นอยู่ อาหารการกิน ความสะอาด การประหยัดพลังงาน การให้ทรัพยากร การดูแลโลกทั้งใบ มีการปลูกฝังให้เด็กเยาวชนเข้าใจถึงความจำเป็นในการดูแลโลก (SAVE EARTH)

เรียนรู้ ดูงาน ทัศนศึกษา ประเทศญิ่ปุ่น 2552





































เรียนรู้/ดูงาน/ทัศนศึกษา/ประเทศญี่ปุ่น
TOKYO ,YOKOHAMA , ASAHIKAWA ,SUPPORO
11-16 ธันวาคม 2552

· ทัศนศึกษา - สวนสาธารณะไม้ดัดบริเวณหน้าพระมหาราชวังอิมพิเรียล
- SEA PARADISE ที่ YOKOHAMA
· ดูงาน - Tsukuba Science City เมืองวิทยาศาสตร์แห่งมหานครโตเกียว
- Miraikan ศูนย์แห่งอนาคตเรื่องของ โลก ดาราศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน แห่งมหานครโตเกียว
- พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ National Museum of Nature and Science แห่งมหานครโตเกียว
- Asahikawa Science Center ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งเมือง ASAHIKAWA เรื่องของท้องฟ้าจำลอง และกล้องดูดาวกลางวัน – กลางคืน
-Science Museum in Japan พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งมหานครโตเกียว
· เรียนรู้วิถีชีวิต และ วัตนธรรม
- คนลากรถ
- คนไร้บ้าน
- หิมะแรกที่ ASAHIKAWA
- สุขภัณฑ์ญี่ปุ่น

วันพุธ, ธันวาคม 02, 2552

ปี 2552 ปีทองของชีวิต


เมื่อวันที่ตัดสินใจรับราชการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำได้วันนั้นคือวันที่ 1 กันยายน 2519 ได้เขียนในสมุดบันทึกว่า “เราจะตั้งใจรับราชการเป็นข้าราชการที่ดีซื่อสัตย์สุจริต ทำเพื่อประชาชนทุกคนไม่เลือกยากดีมีจนไปจนถึงวันเกษียณอายุราชการ” ตลอดเส้นทางการทำงานเริ่มจากตำแหน่ง อาจารย์ 1 อาจารย์ 2 สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นักเรียนระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย สู่เส้นทางการบริหารจากหัวหน้าศูนย์ 1 หัวหน้าศูนย์ 2 ถึงผู้อำนวยการสถานศึกษา ความฝันที่แอบฝันตลอดมาคือ การได้รับการคัดเลือกไปดูงานต่างประเทศสักครั้งหนึ่ง หากโชคดีมีวาสนา ความฝันสุดท้ายคือได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย คือที่สุดของชีวิตการเป็นข้าราชการ
ปีนี้ 2552 เป็นปีทองของชีวิต ด้วยได้รับการคัดเลือกจากท่านเลขาธิการ กศน. (ท่านอภิชาติ จีระวุฒิ) ให้ไปศึกษาดูงานถึง 2 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม ไปดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย นครซิดนีย์ และ นครแคนเบอร่า และในเดือนธันวาคม ไปประเทศญี่ปุ่น นครโตเกียว เมืองโยโกฮามา และเมืองอาซาฮิกาว่า เมืองซับโปโร บนเกาะฮอกไกโด
จึงขอตอบแทนบุญคุณราชการโดยการเขียนหนังสือเพื่อมอบให้ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ของ กศน. ทั่วประเทศ จำนวน 2 เล่ม
· เล่มแรก พิมพ์เดือนสิงหาคม 2552 ชื่อเรื่อง ธรรมชาติกลางฤดูฝน ณ อุทยานแห่งชาติตาพระยา มิถุนายน 2552
· เล่มที่สอง พิมพ์เดือนธันวาคม 2552 ชื่อเรื่อง บันทึกธรรมชาติเล่มแรก

วันอังคาร, ธันวาคม 01, 2552

บ่อน้ำพุร้อนที่ควนแคง


คำว่า “ควน” ในภาษาใต้แปลว่า “เนินเขา” คำว่า “แคง” แปลว่า “เอียง” คำว่า “ควนแคง” จึงหมายถึงเนินเขาเอียง ๆ บ่อน้ำพุร้อนที่ควนแคงเป็นสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเขตอนุรักษ์อยู่ในจังหวัดตรัง สถานที่แห่งนี้มีบ่อน้ำพุร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสในบ่อน้ำพุมีสาหร่ายที่สามารถปรับตัวและเจริญงอกงามได้ในน้ำร้อนถึง 70 องศา เจ้าหน้าที่ ที่ดูแลบ่อน้ำพุร้อนให้บริการนักท่องเที่ยวโดยการทำห้องเล็กเป็นหลัง ๆ เพื่อการแช่น้ำพุร้อนโดยเก็บค่าบริการ คนละ 20 บาท แช่นานเท่าใดตามใจนักท่องเที่ยว ส่วนบริเวณที่ทำการมีนวดแผนโบราณไว้บริการชั่วโมงละ 150 บาท
บ่อน้ำพุร้อนที่ควนแคงนับเป็นแหล่ง “สปา”ธรรมชาติของประเทศซึ่งน่าปรับปรุงพัฒนาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางสู่สากล เพื่อรองรับการท่องเที่ยวการบำบัดของคนไทยและชาวต่างชาติ

การเรียนรู้ผ่านความห่วงใยและความเอื้ออาทร


เมื่อวันวาน อาสาสมัครอาวุโสญี่ปุ่นสามีภรรยาเดินมาเคาะประตูห้องถือซองพลาสติกใส่เงินเยน (เงินตระกูลญี่ปุ่น) มาพบและพูดคุยอธิบายถึงเงินราคาต่าง ๆ กันให้ดูโดยเริ่มตั้งแต่เหรียญ 1 , 5 , 10 , 50 , 500 เยน และแบงค์ 1000 เยน เหมือนบอกให้รู้ว่าเงินเยนมีราคาดังนี้นะ หลังจากฟังอาสาสมัครอธิบายแล้วจึงถามว่า “เงินเยนที่มีราคาสูงสุดคืน 1000 เยนใช่ไหม...เขาบอกว่า 10,000 เยน แต่ไม่ได้นำมา” เมื่ออธิบายเสร็จเขาสื่อสารว่า เงินเยนทั้งหมดยกให้ด้วยรู้ว่าจะไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นในกลางเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
ชาวญี่ปุ่นมีวิธีสอนให้เรียนรู้โดยเฉพาะเรียนรู้เรื่องเงินซึ่งจะต้องนำไปใช้ในเวลาที่ใกล้ถึงนี้ผ่านความห่วงใยและความเอื้ออาทรนับเป็นวิธีการสอนที่สุดยอดจริง ๆ

เรื่องของเมฆ






มนุษย์เราตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มา รู้จักเมฆเฝ้ามองเมฆและปรากฏการณ์ที่เกิดบนท้องฟ้า โดยมองด้วยมุมเงยคือมองจากพื้นดินขึ้นไป แน่นอนที่สุดว่ามุมมองในลักษณะเช่นนี้ ไม่สามารถมองเห็นส่วนที่ซ่อนเร้นของเมฆได้ มาปัจจุบันนี้ มนุษย์มียานพาหนะที่บินขึ้นไปเหนือฟ้าได้มุมมองในการมองเมฆจึงเป็นอีกมุมมองหนึ่ง
วันก่อนมีโอกาสเดินทางโดยเครื่องบินในประเทศจากสนามบินดอนเมืองไปจังหวัดตรัง ขณะที่เครื่องบิน บินในระดับความสูง 10,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ภาพเมฆที่ปรากฏอยู่ด้านล่างเครื่องบินสวยงามมากเป็นเหมือนปุยฝ้ายสีขาวปนเทา เป็นคลื่นเหมือนท้องทะเลที่มีฟองละเอียด เป็นปุยเมฆที่เห็นเป็นผืนใหญ่นี่คือเมฆที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “อัลโตคิวมูลลัส” เครื่องบิน บินเหนือเมฆไปได้ประมาณ 30 นาที นักบินพาเครื่องบิน บินผ่านขอบก้อนเมฆขนาดยักษ์สีขาวปนเทาสูงตระหง่าน เมฆชนิดนี้เป็นเมฆที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก ฟ้าผ่า หิมะตกได้ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส”
เมฆทั้งสองชนิดเกิดขึ้นต่อเนื่องและสัมพันธ์กันภาพทั้งสองภาพถ่ายจากหน้าต่างเครื่องบินฝั่งซ้ายดูแล้วสวยงามน่าประทับใจ

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 26, 2552

โบชิ(boshi)หมวกกระดาษของเด็กชาย



คุณ KAZUMI MANABE ภรรยาของอาสาสมัครอาวุโสจากญี่ปุ่น(คุณ MANABE) เป็นสตรีที่มีความตื่นตัว สดใส สนุกสนาน อารมณ์ดี ห่วงใย และบริการทุกคนที่อยู่ใกล้ตัวด้วยความใส่ใจ ยามว่างเธอหากระดาษมาสอนเด็กๆพับเป็น ของเล่น ของใช้ เป็นนก เป็นหมวก ดังในภาพ คุณ KAZUMI สอนเด็กพับหมวกที่เรียกว่า”โบชิ”เพื่อสวมใส่ “คาบูโตะ”เป็นหมวกของเด็กผู้ชาย เด็กๆที่มาเรียนพับกระดาษได้ความรู้และเพลิดเพลินกับกิจกรรมดีดี ขอขอบคุณ JICA ไว้ ณ โอกาสนี้

วันพุธ, พฤศจิกายน 25, 2552

อาสาสมัครญี่ปุ่นมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร


ตุลาคม 52 - กันยายน 53 นับเป็นเวลาดีดีของชาวศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ที่ได้รับความกรุณาจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ส่งอาสาสมัครอาวุโส คุณ NORIAKI MANABE มาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรศูนย์วิทย์ฯทุกคน และกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่เข้าชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์ในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว

เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน ได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของคุณ MANABE และภรรยา เป็นรูปแบบที่ควรทำและปฏิบัติตาม ดังนี้ การเรียนรู้ทุกเรื่องใช้วิธีพยายาม พูดเป็นคำ จดเป็นคำบันทึกภาพเรื่องที่จด เปิดพจนานุกรม ญี่ปุ่น - อังกฤษ - ไทย ทีละคำ ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเวลา กิน,เที่ยว,หรือเวลางาน ถือว่ากระบวนการเรียนรู้ใช้วิธีบูรณาการทำไปพร้อมๆกับกิจกรรมในวิถีชีวิต นับเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ดี เป็นธรรมชาติและเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว ในเวลาสั้น ๆ คุณ MANABE สามารถเข้าใจภาษาไทยและกิจกรรมต่างๆมากขึ้น ชนชาติที่เจริญแล้วพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ได้ผลเพื่อการเรียนรู้ ฉะนั้นรูปแบบที่พบเห็นน่าจะมีประโยชน์ต่อเยาวชนคนไทยทุกคน

ไก่ฟ้าพญาลอเพศเมียที่ปางสีดา


ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน มีโอกาสพาอาสาสมัครจากญี่ปุ่นไปศึกษาธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดา เย็นวันนั้นเป็นวันอังคาร เป็นวันปลอดนักท่องเที่ยว (เสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวมาก) จึงมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น นกตบยุง นกกะปูด นกแซงแซวสีเทา นกแก๊ก แมวดาว งูเหลือมยาวกว่า 3 เมตร รวมทั้งผีเสื้อจำนวนมากหลากหลายชนิด แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ ได้พบเห็นไก่ฟ้าพญาลอเพศเมีย ยืนรีรออยู่บนถนนที่รถวิ่งช้า ๆ และหยุดเพื่อถ่ายภาพ ได้ถามคุณประเสริฐ เจ้าหน้าที่สื่อความหมายของอุทยาแห่งชาติปางสีดาที่ไปด้วยกันว่า “ทำไมไก่ฟ้าพญาลอดูเชื่องจัง” คุณประเสริฐตอบว่า “ช่วงเวลาฤดูหนาวเป็นฤดูผสมพันธุ์สัตว์หลายชนิดหาคู่นะครับ”
ไก่ฟ้าพญาลอมีชื่อสามัญว่า Siamese Fireback ชื่อวิทยาศาสตร์ Lophura diardi หากดูชื่อสามัญแล้วแน่นอนที่สุดคือ ต้องพบครั้งแรกในประเทศไทยจึงมีชื่อขึ้นต้นด้วย Siamese ส่วนชื่อภาษาไทยว่า ไก่ฟ้าพญาลอ ต้องมีความสวยงามมากจึงตั้งชื่อให้เกี่ยวข้องกับวรรณคดีของไทยเรา รายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้จากคู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล ในภาพเป็นไก่ฟ้าพญาลอเพศเมียถ่ายที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 เวลาประมาณ 17.00 น.

วันจันทร์, พฤศจิกายน 09, 2552

“หมอไม่เหมือนหมอ หมาไม่เหมือนหมา”


คุณตานิรันดร์ อายุ 73 ปีแล้ว มีอาชีพขับรถ ตุ๊ก ตุ๊ก สถานที่รับผู้โดยสารประจำทุกเช้า คือ หน้าโรงแรมตรัง เป็นโรงแรมเก่าที่เปิดบริการมากว่า 40 ปีแล้ว
เช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณตานิรันดร์ ก่อนที่จะไปปฏิบัติภารกิจ คุณตานิรันดร์เล่าให้ฟังว่า “ผมเคยเป็นทหารอากาศไปสงครามเวียดนามไปรบอยู่ที่เมืองดานัง ปัจจุบันสุขภาพทั่วไปผมดีนะ ยกเว้น หู หูตึงไม่ค่อยได้ยิน หลังจากผมออกจากทหาร ผมขับรถบรรทุกมาตลอดกว่า 40 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ผมเจ็บป่วยด้วยโรคหนึ่ง คือ โรคเลือดกำเดาไหล เป็นตลอดมาหลายปี รักษาโรงพยาบาลหลายแห่งจนท้อใจ ผมเคยจดบันทึกการไหลของเลือดกำเดา ผมมานับดูเฉลี่ยแล้วเหมือนกับไหลวันละครั้งนับเป็นปี ๆ ผมพยายามเล่าอาการให้หมอฟัง บางครั้งก็ถูกดุ หาว่าพูดมาก รู้มาก ผมอยากหายเพราะทุกข์ทรมาน ด้วยต้องขับรถส่งของระยะทางไกล ๆ มาวันหนึ่งผมตัดสินใจจะรักษากับหมอคนนี้เป็นคนสุดท้ายแล้ว ท่านชื่อ หมอชาญชัย ผมนำบันทึกที่ทำไว้มาให้คุณหมอ เล่ารายละเอียดให้ฟัง คุณหมอซักถามและฟังด้วยความตั้งใจและจดบันทึก คุณหมอปรึกษาวิธีการรักษาร่วมกับผม ท่านถามว่าผมยอมรับการรักษาด้วยวิธีที่คุณหมอจะทำหรือไม่ สุดท้ายท่านรักษาการไหลของเลือดกำเดาผมโดยการนำเยื่อบาง ๆ ไปปิดแผลในโพรงจมูก หลังจากนั้นผมหายจากโรคเลือดกำเดาไหลตลอดมา” ประโยคสุดท้ายคุณตานิรันดร์ทิ้งคำพูดว่า “ผมว่า หมอไม่เหมือนหมอ หมาไม่เหมือนหมา การรักษาขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่มีและการเป็นผู้ฟังที่ดี ผมโชคดีครับที่เจอหมอที่ดีเช่นหมอชาญชัยคนนี้”

วันพุธ, ตุลาคม 28, 2552

หมวกมรดกจากพ่อ


สิ่งที่เป็นความชอบและเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตั้งแต่เด็กคือ..ชอบหมวก ถ้าเห็นแล้ว อยากได้ มีโอกาสซื้อจะซื้อโดยไม่ลังเล ในชีวิตจึงมีหมวกเสมอมา .....มาตรองดูแล้วว่าทำไมเราถึงชอบหมวก..ก่อนนี้ไม่เคยถามตนเอง หลังจากที่พ่อจากโลกไปแล้ว...จึงรู้ว่าที่ชอบหมวกเป็นเพราะพ่อสวมหมวกตลอดชีวิตของท่าน...หมวกจึงเป็นมรดกจากพ่อส่งผ่านเป็นกรรมพันธุ์สู่เราให้ระลึกถึงท่านตลอดไป

พู่ชมพู หรือ พู่นายพล


พู่ชมพู หรือ พู่นายพล เป็นไม้ประดับยืนต้นที่มีความสูงไม่เกิน 2 เมตร มีดอกเป็นพู่ ที่พบในประเทศไทยมีสี ชมพู แดง ขาว สีขาวและสีแดงค่อนข้างหายาก พู่ชมพูดอกเป็นพู่เหมือนไม่มีน้ำหวานที่จริงแล้วบริเวณแกนกลางดอกมีปล่องน้ำหวานเปิดอยู่ 2-3 ปล่อง เพื่อล่อนกและแมลงมาผสมเกสร...เราอาจพบนกกินปลีหรือนกกาฝากอยู่บริเวณต้นพู่ชมพูตลอดฤดูกาลบานดอก

วันจันทร์, ตุลาคม 26, 2552

ลมขยะ

ทุกปีกาลเวลาผ่านไป พอย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนลมเริ่มเปลี่ยนทิศเปลี่ยนทาง ลมพัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนำพาความหนาวเย็นสู่แผ่นดินไทย ลมหนาวนอกจากพาความเย็นยังพาความแห้งแล้งส่งผ่านสู่ผืนดิน ใบไม้ ต้นไม้ ให้รับรู้ว่าแต่นี้ต่อไปไม่มีฝนแล้ว ลมหนาวจึงเป็นลมที่บ่งบอกแห่งกาลเวลาอย่างแท้จริง..เดือนพฤศจิกายน ของปีนี้ ลมหนาวยังซื่อสัตย์พัดตรงเวลาเช่นเคยเพียงแต่ว่า ปี้นี้ไม่ได้พัดความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเท่านั้น ลมหนาวยังพากลิ่นของขยะมาด้วย มาจากแดนที่ไกลห่างไปกว่าสามสิบกิโลเมตรจากอำเภอวัฒนานคร สู่ตัวจังหวัดสระแก้ว....ลมหนาวที่เคยพาความชุ่มฉ่ำจึงกลายเป็น"ลมขยะที่สระแก้ว"ไปได้ ด้วยน้ำมือมนุษย์เรานี่แหละ

ทำไมต้องปลูกต้นไม้ใหญ่..ปลูกแล้วได้อะไร


มีข้อสังเกตและการค้นพบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้และผลพวงที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งขอนำมาเล่าให้ฟังซักหนึ่งกรณี…
ณ ศูนย์การเรียนรู้รายบุคคล (Individual Learning Center) ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก มีพื้นที่ประมาณ สิบสี่ไร่ จากพื้นที่นาล้วน ๆ ที่มีต้นไม้ใหญ่เพียง 3 -4 ต้น เจ้าของได้จัดการตามทฤษฎีใหม่ของในหลวงโดยขุดบ่อเก็บน้ำส่วนหนึ่ง นำดินมาปรับพื้นที่ ปลูกข้าวทำนา ทำสวนผลไม้บางส่วนเช่น มะม่วง มะยงชิด สะเดา และปลูกป่า เช่น ต้นกัลปพฤกษ์ พะยูง ยาง สัก ตะแบก ประดู่ป่า อินทนิล มะเม่า ไข่เน่า สิ่งที่สำคัญคือเจ้าของไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ในพื้นที่ทั้งหมด
เวลาผ่านไปสิบปี สิ่งสังเกตที่พบเกิดขึ้นที่ต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นไม้ดอกประดับต้นสูงประมาณ 6 – 8 เมตร ออกดอกเป็นช่อสีชมพู ฤดูออกดอกคือฤดูหนาว บานทั้งต้นสวยงามมาก แต่ก่อนถึงฤดูออกดอกบริเวณลำต้นถูกแมลงเจาะเป็นรูมีน้ำหวานและสารเหลวไหลออกมา แมลงหลายชนิดได้กินเป็นอาหาร เช่น ตัวต่อ แมลงกว่าง ฯลฯ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ดูแล้วมีความสุขยิ่งนัก การให้โอกาสกับสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ทำให้เกิดผลพวงตามมาอีกมากมาย อย่างเช่นกรณีนี้ การปลูกต้นไม้ให้เติบโตตามธรรมชาติและไม่ใช้สารเคมี เกิดการต่อสู้ระหว่างต้นไม้กับแมลง ต้นไม้สามารถอยู่ได้ทำให้เกิดโอกาสการขยายพันธุ์ของแมลงบางอย่างซึ่งมีอาหารกิน ความเกี่ยวพันนี้ เหมือนดังคำของกวีซีไรท์ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้กล่าวไว้ว่า
“เพราะสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้อยู่
สิ่งหนึ่งสู่สิ่งหนึ่งถึงทุกสิ่ง
ธรรมชาติแวดล้อมพร้อมพึ่งพิง
สร้างความจริงสร้างชีวิตเป็นนิจมา”