วันจันทร์, สิงหาคม 20, 2550

ไทยพวนอำเภอปากพลี พ.ศ.๒๕๕๐

บันทึกวิถีวัฒนธรรมและการดำรงอยู่ของไทยพวนอำเภอปากพลี พ.ศ.2550
จังหวัดนครนายก
ปัญญา วารปรีดีและคณะ (2550)
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิถีวัฒนธรรมและการดำรงอยู่ของไทยพวนอำเภอปากพลี โดยศึกษาจากการสำรวจ การสังเกต การสัมภาษณ์และศึกษาข้อมูลจากเอกสาร
ผลการศึกษาพบว่า คนไทยพวนที่อำเภอปากพลีเดินทางมาด้วยเส้นทางอันยาวไกล จากดินแดนที่สูง จากระดับน้ำทะเลมากกว่า 1200 เมตร คือ เมืองพวนในแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางมาพร้อมเด็ก ผู้หญิง คนแก่ชรา ชายฉกรรจ์ พระ เณร พระพุทธรูปพร้อมพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมสู่ถิ่นที่อยู่ใหม่คืออำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ในความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 180 เมตร เดินทางด้วยผลแห่งสงคราม หลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่าเดินทางมาเมื่อใดไม่ปรากฏ ที่ปรากฏคือมีหลักฐานชี้ชัดว่าอยู่มานานไม่น้อยกว่า 180 ปี ปัจจุบันมีคนไทยพวนที่อาศัยในอำเภอปากพลี 8189 คน โดยตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่ตลอดสองฝั่งคลองท่าแดง กระจายอยู่ใน 6 ตำบล ตำบลเกาะหวายและตำบลหนองแสงมีประชากรไทยพวนหนาแน่นที่สุด ส่วนตำบลท่าเรือและตำบลเกาะโพธิ์ มีความหนาแน่นรองลงมา และมีไทยพวนไปอาศัยอยู่บางหมู่บ้านที่ตำบลโคกกรวดและตำบลนาหินลาด คนไทยพวนใช้ภาษาพวนพูดสื่อสารระหว่างกลุ่มของตน และมีการก่อตั้งชมรมไทยพวน มีสภาวัฒนธรรมอำเภอปากพลี เป็นรูปแบบในการทำงานอย่างเป็นทางการ คนไทยพวนอำเภอปากพลีมีวิถีวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาในสิบสองเดือนและการปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรมสิบสี่ประการ ทำให้คนไทยพวนมีความผูกพันกับวัด กับพระพุทธศาสนาและมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษซึ่งเห็นได้จากการมี “ศาลปู่ตา” อยู่ในหมู่บ้านทุกหมู่บ้านที่มีไทยพวนอยู่ ส่วนวิถีชีวิตและการดำรงอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงไปตามการเป็นไปของชุมชนและสังคม ปรากฏภาพจิตรกรรมปูนปั้นนูนสูงคือภาพปริศนาธรรมที่ฐานอุโบสถวัดคลองคล้ามีจำนวนทั้งสิ้น 16 ภาพ มี 4 ภาพ ที่มีคำบรรยายประกอบ อีก 12 ภาพไม่มีคำบรรยาย มีจารึกชื่อผู้ปั้นคือ นายผาลี เนื่องจากอวน ปั้นเมื่อปี พ.ศ. 2471 ด้วยความศรัทธาที่จะให้ภาพปริศนาธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมทาน เมื่อมีผู้มาพบอ่านก็ให้ประสพความสุขไปตลอดชาติและภาพปริศนาธรรมเหล่านี้ได้สื่อถึงนิสัยของคนไทยพวนที่มุ่งมั่นในพระพุทธศาสนาประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม นอกจากภาพปริศนาธรรมแล้วพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนวัดฝั่งคลองซึ่งเกิดจากความศรัทธา ความตั้งใจของพระครูวิริยานุโยค (สมบัติ บุญประเสริฐ) ที่มองเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของไทยพวน อันได้แก่ จารีตประเพณี วิถีวัฒนธรรมและการดำรงชีวิต จึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนขึ้น โดยยึดหลักกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน พระครูวิริยานุโยคใช้แนวทางที่เรียกว่า “บวร” ซึ่งหมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน บ้านทำหน้าที่ติดต่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของเครื่องใช้ของไทยพวน วัดคอยรวบรวมสิ่งของจัดเป็นหมวดหมู่ โรงเรียนมายถึงศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอปากพลีและโรงเรียนต่าง ๆ ช่วยจัดทำพิพิธภัณฑ์ การให้บริการพิพิธภัณฑ์ทำต่อเนื่องมานานถึง 9 ปี โดยมีคณะดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม มีการพัฒนาปรับปรุงไปแล้ว 3 ครั้ง หลักการพัฒนาปรับปรุง พระครูวิริยานุโยคได้นำคำติชมในสมุดเยี่ยมพิพิธัณฑ์และข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยมาเป็นข้อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนวัดฝั่งคลองมาโดยตลอด