วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 25, 2554

พิมพ์เขียวศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส








พื้นดินบริเวณป่าพรุใกล้ส่วนราชการกลางเมืองนราธิวาส คือสถานที่ ที่ชาวนราธิวาสช่วยกันวาดฝันให้เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ผู้เขียนมีความภูมิใจที่มีส่วนเล็กน้อยในการสร้างพิมพ์เขียวของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งนี้ร่วมกับเพื่อนๆ ป่าพรุที่จะเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ในอนาคตมีความสำคัญในเชิงนิเวศวิทยาอย่างยิ่ง เพราะป่าพรุของนราธิวาสส่วนใหญ่ถูกส่วนราชการถมจนเกือบหมดสิ้น คงจะมีที่เหลือให้ลูกหลานได้เรียนรู้บริเวณศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งนี้แหละ ในวันที่ไปกำหนดผังเพื่อเขียนแบบ (23 ก.พ. 54) พื้นที่ประมาณ 50 กว่าไร่ มีนกน้ำให้เห็น มีย่านลิเภา มีกระจูด มีต้นเอนอ้า ฯลฯ เพียงยืนอยู่บนถนนเท่านั้นยังไม่ได้ศึกษาสำรวจทั้งหมด หากศึกษาสำรวจและสร้างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ (Trail) จะสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแหล่งเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

“ย่านลิเภา” หน้าตาเป็นเช่นนี้เอง








ทุกคนคุ้นกับคำว่า “ย่านลิเภา” เพราะมักได้ยินได้เห็นผลิตภัณฑ์จากโทรทัศน์ที่พูดถึงผลผลิตที่ทำจากย่านสิเภาของโครงการพระราชดำริในพระบรมราชินีนาถบ่อย ๆ แต่เชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยเห็น เถาหรือต้นของย่านลิเภาว่าเป็นเช่นไร
ย่านลิเภา หรือ เถาลิเภา เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งในสกุล Lygodium เป็นเถาที่เกาะพันกับต้นไม้อื่น ด้วยเป็นเถาขนาดเล็กจึงเกาะพันในระดับใกล้พื้นดินสูงประมาณ 1-2 เมตร เถามีความเหนียวสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เมื่อนำมาถักเป็นผลิตภัณฑ์จึงมีความสวยงาม คงทน และมีราคาสูงตามคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ในภาพเป็นย่านลิเภาชนิดหนึ่งถ่ายจากบริเวณป่าพรุซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส ซึ่งในอนาคตจะเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพรรณ ต้นไม้บริเวณป่าพรุของภาคใต้ที่สำคัญแห่งหนึ่ง
อ้างอิง http://th.wikipedia.org/

กระจูดในป่าพรุที่นราธิวาส





กระจูด เป็น “กก” ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepironia articalata ลำต้นกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร (ขนาดก้านไม้ขีดไฟ) สูงได้ประมาณ 2 เมตร เมื่อดิบมีสีเขียว ตากแห้งเป็นสีเสื่อ โดยทั่วไป สามารถย้อมให้มีสีต่าง ๆ ได้ กระจูดชอบขึ้นอยู่บริเวณป่าพรุที่มีน้ำขัง มีเศษซากพืชทับถมมาเป็นเวลานาน เราสามารถพบกระจูดได้ในภาคใต้ของประเทศไทย เช่นจังหวัด นราธิวาส พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา คนไทยรู้จักนำกกกระจูดมาทำเสื่อใช้นานแล้ว ปัจจุบันการทอกระจูดถูกพัฒนา ลวดลาย สีสันให้ดูสวยงาม นอกจากการทอเสื่อแล้ว ยังสามารถนำกระจูดมาสานเป็น กระเป๋า ทำเชือก และผลิตภัณฑ์อื่นได้ ภาพกระจูดที่เห็นเป็นมัดกระจูดที่ชาวบ้านเก็บมาจากป่าพรุบริเวณก่อสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส ถ่ายเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554
อ้างอิง http://th.wikipedia.org/

ถนนหมายเลข 43 สู่ ปัตตานี หมายเลข 42 ผ่านกรือเซะ






เมื่อเดินทางจากอำเภอหาดใหญ่มุ่งสู่จังหวัดปัตตานี ถึงทางแยกซ้ายมือเขาตัวจังหวัดปัตตานีเลยไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตรซ้ายมือมีสถานที่สำคัญที่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้ สถานที่นั้นคือ มัสยิดกรือเซะ (Krue Sae Mosque) กรือเซะมีความสำคัญที่ควรจดจำสามประการคือ
ประการแรก มัสยิดกรือเซะเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่มีอายุกว่า 200 ปี มีความโดดเด่นตรงรูปทรงของประตูทางเข้าเป็นวงโค้งแหลมแบบ “กอธิค” ของชาวยุโรปชาวตะวันออกกลาง จึงมีความสวยงามเฉพาะ
ประการที่สอง มัสยิดกรือเซะ เป็นแหล่งท่องเทียวทางโบราณสถานที่ชาวไทยและชาวต่างชาติเช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ นิยมมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมกันอย่างต่อเนื่อง
ประการที่สาม มัสยิดกรือเซะ ได้บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของมนุษยชาติไว้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ถึง ความถูก ความผิด ความขัดแย้ง ความปองดองสมานฉันท์และอื่นใด ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งสิ้นถึง 112 คน บาดเจ็บรวมกัน 22 คน เป็นบทเรียนราคาแพง

อ้างอิง http://th.wikipedia.org/

มะกู๊ดแต๋ะ








ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีร้านอาหารขายดีร้านหนึ่งชื่อ “โชคดีแต่เตี้ยม” ร้านนี้เขาขายอาหารต่างชาติสิงคโปร์ เช่น ติ่มซำหลากหลายชนิดร้อน ๆ ทำเป็นคำใส่ไว้ในเข่ง เข่งละ 2 คำ แต่สุดยอดอาหารของร้านนี้ที่ลูกค้าทุกคนตั้งใจมากินคือ “มะกู๊ดแต๋ะ” เป็นหมูตุ๋นเครื่องยาสมุนไพรมีเห็ดเข็มทองเป็นผัก ร้านโชคดีแต่เตี้ยมเขาเลือกหมูคุณภาพเกรด A ของไฮมีท ปรุงเป็นอาหาร ทำให้ผู้รับประทานยิ่งอร่อยในคุณภาพของหมูไปด้วย แถมมีกาแฟโบราณ ชาร้อน ๆ เป็นมื้อเช้าที่เยี่ยมยอดร้านหนึ่ง

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 17, 2554

สัตว์ป่าที่เขาพะเนินทุ่ง





























แปดชั่วโมงตั้งแต่ 8.00 น ถึง 16.00 น ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณตั้งแต่ด่านเขาสามยอดผ่านแคมป์บ้านกร่างไปถึงยอดเขาพะเนินทุ่ง ในวันธรรมดาวันหนึ่ง ได้พบเห็นสัตว์ป่า นก ผีเสื้อ มากมาย ที่สามารถบันทึกภาพได้ด้วยกล้อง Complex ตัวเล็ก ขอแบ่งปันด้วยภาพต่อไปนี้
ค่างแว่นถิ่นใต้ Dusky Langur
กระรอกปลายหางดำ Grey-bellied Squirrel
เก้งหม้อ Fea’s Muntjac
ลิงเสน Stump-tailed Macaque
แลนหรือตะกวด
กิ้งก่า
ผีเสื้อใบไม้เล็ก Autumn leaf
คงเรียกน้ำย่อยคนรักป่าได้บ้างใช่ไหม

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 16, 2554

กล้วยไม้ “สิงโต” ที่เขาพะเนินทุ่ง




ใกล้บริเวณจุดชมวิวที่เขาพะเนินทุ่ง ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ความสูงประมาณ 890 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนต้นไม้ขนาดเล็กที่มี ไลเคนเกาะอยู่เต็ม สูงขึ้นไปประมาณ 4 เมตร พบกล้วยไม้ตระกูลสิงโตชนิดหนึ่ง กำลังบานดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยขนาดเล็กของต้นไม้เกิดความยุ่งยากในการปีนขึ้นไปถ่ายภาพ ภาพที่เห็นจึงดูไม่ชัดเจน แต่พอเทียบเคียงด้วยรูปภาพกล้วยไม้ตระกูลสิงโต ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bulbophyllum frostii จาก website ค้นหาชื่อภาษาไทยไม่พบ ขอตั้งชื่อเล่นว่า “สิงโตปัญญา” ไปพลางก่อนเพราะค้นพบเอง แม้ว่าจะมีน้องคนหนึ่งชื่อ พงศ์พันธ์ พวงทอง ทำงาน AIS อาสาปีนขึ้นไปถ่ายภาพให้แต่ความไม่คุ้นเคยกับกล้องจึงถ่ายภาพได้ไม่ชัดในรายละเอียด
เป็นอันว่าผู้เขียนมีกล้วยไม้เป็นของตนเองแล้ว ชื่อ “สิงโตปัญญา” ก็แล้วกัน ห้ามนำไปอ้างอิงนะเป็นลิขสิทธิ์ส่วนตน

ค่างแว่น ค่างบิน







เวลาประมาณ 8.20 น. บนเส้นทางระหว่างบ้านกร่างแคมป์ สู่เขาพะเนินทุ่ง ที่ระดับความสูงประมาณ 660 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปรากฏค่างแว่นครอบครัวหนึ่ง มี 5 ตัว เดินทางอยู่บนต้นไม้ด้านขวามือ ขณะที่ขับรถขึ้นเขาไปช้า ๆ ค่างแว่นวัยรุ่นได้กระโจนจากต้นไม้ใหญ่ไปสู่ยอดไผ่ฝั่งตรงกันข้าม จึงหยุดรถลงเตรียมกล้องถ่ายภาพ รอประมาณ 1 นาที ค่างแว่นตัวเล็กก็กระโจนตามไป ตัวเล็กอีกตัวกระโจนตามไป เป็นภาพที่สวยงามมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของกล้อง ไม่สามารถที่จะดึงภาพได้ดีกว่าที่เห็นแล้ว ดีใจมากที่ถ่ายภาพลีลาค่างบินได้ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นช่างภาพสารคดีสัตว์ของ National Geographic เท่ห์ไหมละ สัญญากับตัวเองว่าจะพาทีมงานพร้อมกล้องและอุปกรณ์ครบมือมาอีกครั้งในโอกาสเร็วๆนี้

จากด่านเขาสามยอดสู่แคมป์บ้านกร่าง








อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานฯที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศ พื้นที่อุทยานฯ ด้านตะวันตกติดกับประเทศพม่า เป็นเทือกเขาสูงสุดตาสิ่งที่แปลกคือที่ทำการอุทยานฯ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ เช่นอุทยาแห่งชาติเขาใหญ่ แต่อยู่ในชุมชนใกล้เขื่อนดินแก่งกระจาน จึงเหมาะต่อการจัดกิจกรรมค่าย โดยไม่รบกวนสัตว์ป่า จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติต้องเดินทางผ่านชุมชนไปไกลกว่า 20 กิโลเมตร จึงเข้าเขตอุทยานฯบริเวณด่านเขาสามยอด
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 ครั้งแรกที่มีโอกาสเรียนรู้ธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อผ่านด่าน ภาพแรกที่ต้อนรับคือซุ้มต้นไม้สองข้างทางที่โน้มตัวเข้าหาถนน เป็นธรรมชาติที่แปลกตา บนความตื่นเต้นก็พบเรื่องเศร้า “บนถนนเข้าอุทยานกลายเป็นสุสานของสัตว์ป่า” เจ้ากระรอกปลายหางดำ(Grey -bellied Squirrel)ถูกรถชนนอนตายตาถลน ต้องหยุดสวดบท “อนิจจัง วัฏฏสังขาราฯ” ให้กระรอกน้อยสู่สุขคติ และตั้งใจว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นที่มาของเรื่องสั้นซักเรื่องหนึ่งที่ชื่อ “เส้นทางสู่อุทยานคือสุสานของสัตว์ป่า” ในเวลาอันใกล้ ความเงียบเกาะกุมความคิด จนรถเดินทางไปถึงแคมป์บ้านกร่างระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
มีคำถามๆตัวเองว่า “กระรอกที่ตายเพราะกระรอกไม่ระวังตัว หรือคนขับรถในอุทยานเร็วเกินไปเป็นเหตุให้หยุดไม่ทันกันแน่”

เขาพะเนินทุ่งแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติอุทยานฯ แก่งกระจาน








บริเวณที่เป็น Highlight ของเขาพะเนินทุ่ง คงเป็นจุดชมวิวชมทะเลหมอก ที่ความสูง 974 เมตร จากระดับน้ำทะเล เมื่อได้ยืนอยู่บริเวณนี้ความรู้สึกบอกถึงความสดชื่นของอากาศเมื่อกระทบเข้าไปถึงปอดจนลืมหายใจ โอ้...เรามีชีวิตยืนยาวเพิ่มขึ้นแน่ ๆ ที่ได้รับอากาศเช่นนี้ ลมเย็นที่พัดผ่านทะเลหมอกมาจากภูเขาแดนไกลสุดตา พัดพาสารพิษจากขยะซึ่งตกค้างในปอดเราในวันคืนช่วงฤดูหนาวที่จังหวัดสระแก้ว ไปได้เกือบหมด เป็นความสุขที่ได้รับจากธรรมชาติ ที่ให้ทั้งความสวย เงียบ สดชื่น เพลิดเพลินกับชีวิต เพื่อนร่วมโลกน้อยใหญ่ที่พบเห็นเริ่มตั้งแต่ ตะกวดในโพรงต้นสมพง ค่างแว่นลอยตัวไปยังยอดไผ่ เก้งหม้อตัวอ้วน(อาจท้องก็ได้) หันมามองอย่างสงสัย กิ้งก่าสีสันแปลกตา ลิงขนยาวหน้าแดงที่นับได้ไม่หมด ทั้งนก ทั้งผีเสื้อเหลือคณานับ
สัตว์ป่าไม่มีประเทศไม่มีพรมแดน ถิ่นใดมีอาหาร มีความปลอดภัย สัตว์ป่าถือเป็นบ้าน เป็นแหล่งอาศัย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีพื้นที่ติดสองประเทศคือไทยและพม่า เราจึงพบเห็นสัตว์ป่า นก ผีเสื้อได้มากมายหลากหลายสายพันธุ์ มาช่วยกันรักป่า รักษาป่า เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และมนุษย์เราเถอะ

เสียงนกตบยุงก้องถึงเขาหินเทิน








บ้านพัก 103 ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เที่ยงคืนกว่าแล้วเสียงนกตบยุงร้องก้องเชิงเขา “โจ้ง โจ้ง โจ้ง” ร้อง ๆ หยุด ๆ เป็นจังหวะเสียงเรไรดังเบาพอเป็นเสียงพื้น ความสงบ ความเงียบเป็นความสุขอย่างหนึ่งในวัยหกสิบปี
คิดถึงเมื่อวานนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งชื่อ “สำนักสงฆ์เขาหินเทิน” อยู่ใกล้ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ประมาณร้อยกว่าไร่อยู่บนเนินเขาที่มีก้อนหิน คล้ายก้อนหินที่มีแร่แคลไซด์อยู่ในเนื้อหิน วางซ้อนกันในลักษณะแปลกมากมาย ได้พูดคุยกับเจ้าสำนักสงฆ์ชื่อ พระเกษตร ปคุโน ท่านเล่าให้ฟังถึงที่มาของสำนักสงฆ์ว่า ได้นำชาวบ้านต่อสู้กับชาวไต้หวันที่จะมาสัมปทานระเบิดหินแห่งนี้ไว้ได้เป็นเวลากว่า 20 ปี มาแล้ว สำนักสงฆ์แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระธุดงค์เสมอมา
พระเกษตร ปคุโน ท่านอยู่ในวัยเกือบเจ็ดสิบปีแล้วดูสมถะ ท่านสอนว่า “ให้หาเวลาปฏิบัติธรรมบ้าง อย่าให้เวลาของครอบครัวปิดบังเส้นทางสวรรค์เรา ความเป็นจริงเมื่อสูงอายุควรต้องออกกำลังกายไม่เช่นนั้นอาจทำให้เราเจ็บป่วยได้” เป็นคำสอนที่เป็นประโยชน์โดยตรงกับคนในวัยเกษียณนะนี่

วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 04, 2554

ปลูกดอกดาวเรืองให้รายได้งดงาม

















ที่บ้านเจริญผล ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เกษตรกร ใช้พื้นที่ประมาณ 1-2 ไร่ ปลูกดอกดาวเรืองและปลูกพริก สร้างรายได้อย่างงดงาม เวลาประมาณ สิบโมงครึ่งที่แปลงดาวเรืองเพิ่งหยุดสปริงเกอร์ลดน้ำ น้ำที่ใช้ลดดอกไม้มาจากสระที่ขุดเก็บน้ำไว้ เกษตรกรเก็บดอกดาวเรืองบรรจุลงถุงพลาสติก ถุงละประมาณ 100 ดอก แยกขนาดเป็น 3 ไซซ์(SIZE) ดอกเล็กหน่อยเป็นเบอร์หนึ่ง โตอีกหน่อยเป็น บิ๊กไซซ์ ขนาดโตสุดเรียก จัมโบ้ ราคาเบอร์หนึ่งดอกละหกสิบสตางค์ บิ๊กไซซ์แปดสิบสตางค์ จัมโบ้ดอกละหนึ่งบาท ดอกดาวเรืองถูกส่งไปปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร เก็บทุก 2 วัน ทุกคนในครอบครัวมีความสุขจากงานที่ทำที่บ้านและมีรายได้งดงามพอเลี้ยงชีวิตทุกคนในครอบครัว