วันพฤหัสบดี, มีนาคม 10, 2554

เถาวัลย์น้ำ 2











ที่ป่าชุมชน บ้านคลองนางชิง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ป่าประมาณ 20 ไร่ ถูกเก็บไว้สมัยปู่ย่า ตายายของชาวชุมชน ก่อนที่ทางราชการจะมีการออกโฉนด เก็บไว้เพื่อลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ป่าบ้านคลองนางชิงจึงตกมาถึงปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะมีบุคคลที่เห็นแก่ตัวพยายามรุกผืนป่าเพื่อปลูกต้นยูคาลิปตัสไปได้บ้าง แต่ชาวชุมชนบ้านคลองนางชิงสามารถต่อสู้จนปัจจุบันได้เอกสารสิทธิ์เป็นป่าชุมชนแล้ว
สองสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวชุมชนมาเชิญผู้เขียนให้ไปเยี่ยมชม ร่วมเสวนากับชาวชุมชนเพื่อออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในฐานเรียนรู้ต่างๆ แม้มีช่วงเวลาสั้น ๆ พบว่าป่าชุมชนแห่งนี้มีความสมบูรณ์และมีความหลากหลาย มีทั้งต้นไม้ใหญ่ เล็ก พืชอาหาร พืชสมุนไพร เห็ด โดยเฉพาะมีเถาวัลย์น้ำ ให้ศึกษาเรียนรู้ ป่าบ้านคลองนางชิงจึงเหมาะที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องธรรมชาติวิทยาของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ใกล้บ้านได้เป็นอย่างดี

อุทยานแห่งชาติ ภูเก้า-ภูพานคำ







อุทยานแห่งชาติแห่งนี้อยู่ใน อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นมีเขตติดต่อกับจังหวัดหนองบัวลำภู ส่วนหนึ่งของอุทยานอยู่ริมทะเลสาบของเขื่อนอุบลรัตน์ อุทยานจึงมีทั้งแหล่งน้ำและภูเขา คือภูพานคำ เสียดายที่มีเวลาน้อยเก็บภาพมาไว้ดูก่อนเมื่อมีโอกาสคงได้มาศึกษารายละเอียดมากยิ่งขึ้น

วันพุธ, มีนาคม 09, 2554

Team work












องคาพยพของสำนักงาน กศน. มีศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเป็นกลุ่มงานหนึ่ง ซึ่งมีการทำงานเป็นทีมอย่างเหนียวแน่น มีเป้าหมายชัดเจนในการให้การสนับสนุน ส่งเสริม เติมเต็มการศึกษาของชาติในรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัย แม้ว่าทั้งประเทศจะมีเพียง 15 แห่ง แต่ก็แข็งขันจนมีผู้ให้นิยามความเป็นทีมว่า “ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาหนึ่งไม่มีสอง”
ผู้เขียนได้มีโอกาสเยี่ยมชมกิจกรรมการทำงานเป็นทีมในการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์สัญจรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2554 โดยจัดที่สนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กลางเมืองหนองบัวลำภู โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดให้เกียรติมาเป็นประธาน และเยี่ยมชมด้วยความสนใจ ที่ประทับใจคงเป็นภาพของนักศึกษา กศน. ที่มีความสนใจและมีกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีการจดบันทึกเมื่อเข้าเรียนรู้ในแต่ละฐานเรียนรู้ทั้งแปดฐาน รวมทั้งนักเรียนในระบบโรงเรียนจำนวนมากได้ใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ของตน

มาฆา







เมื่อวันมาฆะบูชาที่ผ่านมา แม่ม้าชื่อ “ตาหวาน” ซึ่งเลี้ยงไว้ที่ประดู่ป่าแคมป์เพื่อทดลองบำบัดเด็กพิเศษ ทำท่าจะตกลูกแต่ไม่ตกจนเลยมาอีกเกือบหนึ่งสัปดาห์ จึงตกลูกม้าตัวเมียน่ารักมาก สีน้ำตาลเข้ม คล้ายพ่อม้าที่ชื่อ win win แต่ที่แปลกไปคือลูกม้ามีถุงเท้าสีขาวทั้งสี่ขามาถึงข้อเข่า บริเวณหัวไหล่ขาหน้าซ้ายมีแต้มสีขาวรูปใบโพ ดูแล้วลูกม้ามีลักษณะดี (คิดเอาเองนะ) จึงตั้งชื่อว่า “มาฆา” ทุกคนที่สวนประดู่ป่ารักมาฆา โดยเฉพาะคุณพจมาน คุณยายของเด็ก ๆ ดูอาการจะรักเจ้ามาฆามากกว่าใคร หวังว่าในอนาคตมาฆาจะเป็นม้าที่รักษาอาการผิดปกติของเด็กพิเศษเพื่อสร้างบารมีให้กับมาฆาเอง เป็น “ทานบารมี” ที่ยิ่งใหญ่เพื่อภพชาติที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

วันพุธ, มีนาคม 02, 2554

ตำบลบ่อทองเคยมีเหมืองทองเดี๋ยวนี้มีเพียงต้นทองกวาว












ชื่อตำบลบ่อทอง เคยเป็นเหมืองทองคำอยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ประวัติของเหมืองทองแห่งนี้ เริ่มสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2415 เป็นเหมืองขุดบ่อ แร่ทองคำอยู่ในหินแข็งที่เกิดอยู่ในที่ราบ การทำเหมืองยุติลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ต่อมามีการขุดทำเหมืองอีกครั้ง พ.ศ. 2493-2500 ได้ทองคำไปทั้งสิ้น 55 กิโลกรัม
ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว ตำบลบ่อทองจึงเป็นตำนานเล่าขาน ทิ้งร่องรอยในอดีตกับต้นทองกวาวไว้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์
อ้างอิง แผ่นพับแนะนำพิพิธภัณฑ์บ่อทอง

ปากโพรงนกตีทอง




นกตีทอง เป็นนกตระกูลโพระดกชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กประมาณนกกระจอกบ้าน นกตีทองชอบเจาะโพรงทำรังตามกิ่งไม้ที่ตายแล้ว โดยทั่วไปโพรงสูงจากพื้นดินประมาณ 3-4 เมตร นกตีทองช่วยกันเลี้ยงลูกทั้งพ่อและแม่ นกตีทองอาจใช้โพรงเดิมเลี้ยงลูกหลายครั้ง ในภาพเป็นนกตีทองที่มาเลี้ยงลูกโพรงนี้เป็นครั้งที่สองที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ทดลองถ่ายภาพด้วยเทเลสโคปยังไม่คุ้นมือ

ข้าฯขออุปสมบท


ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2554 ข้าฯขออุปสมบทในบวรพุทธศาสนาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและบิดาผู้ล่วงลับ ต่อไปนี้เป็นคำขออโหสิกรรม "กรรมใดใดทั้ง มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม ที่ข้าฯได้ล่วงเกินท่านทั้งหลาย โปรดอโหสิกรรมให้ข้าฯด้วยเถิด กรรมใดใดทั้งมโนกรรม กายกรรม วจีกรรมที่ท่านทั้งหลายได้ล่วงเกินข้าฯได้อโหสิกรรมให้ท่านแล้ว
ปัญญา วารปรีดี