วันพุธ, มกราคม 11, 2555

ไอ้แก้ว..เพื่อนเก่า




             พ.ศ. 2504 นับเป็นปีสุดท้ายที่เรียนหนังสือจบชั้นสูงสุดของโรงเรียนวัด คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4   สำหรับเด็กแล้วเพื่อนที่รักและถูกใจ  ย่อมเป็นเพื่อนเล่นที่แบ่งปันแลกเปลี่ยนของเล่นกันได้  ผู้เขียนมีเพื่อนรักคนหนึ่งชื่อ “ไอ้แก้ว” ลักษณะเด่นของไอ้แก้วคือยิ้มปากกว้าง  ดวงตามันก็ยิ้มด้วย  ไอ้แก้วชอบจับแมลงกว่าง  แมลงทับมาให้เล่น  ผู้เขียนก็มักนำขนมที่แม่ทำขายไปฝากไอ้แก้วกินเสมอ
            เมื่อเราเรียนจบ  ต่างก็จากกันไม่เคยเจอกันเลย  เดี๋ยวเดียวเวลาผ่านไป 50 ปี  ต่างก็อายุ 60 ปีแล้ว  บ่ายวันหนึ่งที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ  ครากลับไปบ้าน เพื่อเยี่ยมแม่ที่ป่วย  เดินคุยไปกับน้องชายคนเล็ก  เสียงร้องทักว่า “บุญใช่ไหม..จำเสียงได้”  รอยยิ้มกว้างๆ ยิ้มถึงดวงตาเช่นนี้ไม่มีใครหรอกนอกจาก “ไอ้แก้ว” เพื่อนเก่าที่จากกันไปนานมากแล้ว  ต่างจับมือกันนั่งลง  ทบทวนความหลังยืดยาว ไม่น่าเชื่อ  เพื่อนรักได้ยินเพียงเสียงเห็นเพียงรอยยิ้ม  ต่างจำกันได้       ดีใจจังเลย

น้ำตก “แม่แก้”




            เทือกเขาแม่แก้  อยู่ในเขตตำบลบ้านอ้อน  อำเภองาว  จังหวัดลำปาง  ป่าแม่แก้ เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ  น้ำฝนที่ถูกดูดซับไว้ในเทือกเขาแม่แก้ไหลเป็นแม่น้ำลงสู่พื้นล่างสองด้าน  ด้านหนึ่งไหลลงไปอำเภอแจ้ห่ม  อีกด้านหนึ่งไหลลงมาทางอำเภองาว มาเป็นแม่น้ำสายรองคือ น้ำแม่แก้
            บนสายน้ำนี้ปรากฏมีน้ำตกที่สวยงาม ลดหลั่นเป็นชั้น ที่คงความเป็นธรรมชาติอยู่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์  เป็นมรดกทางธรรมชาติที่ชาวเขาใช้ ดื่มกิน  ปลูกพืชพรรณธัญญาหาร ในหมู่บ้านของชาวเขา บนไหล่เขา  ปลูกทั้งข้าวไร่   ข้าวโพด  ลิ้นจี่  ผักกาด  ฝักทอง 
            ชีวิตชาวเขาเป็นชีวิตที่สงบอยู่กับธรรมชาติ  มีบ้าง ขาดบ้าง  แต่สิ่งที่ชาวเขามีมากกว่าชาวเมือง คือ อากาศที่บริสุทธิ์และธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่นเจริญตา

วิธีเลี้ยง “หมูแม้ว”




หมูแม้ว เป็นชื่อหมูที่ชาวเหนือเรียกหมูพันธุ์ที่ชาวเขาเลี้ยงไว้  หมูแม้ว ตัวสีดำ  หลังแอ่น  ท้องห้อยเกือบถึงพื้นดิน   ขนาดปานกลางน้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม  การเลี้ยงหมูแม้ว แม้เวลาผ่านไป  วิถีชีวิตของของชาวเขาเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม  แต่วิธีเลี้ยงหมูแม้วยังเหมือนเดิม คือ ใช้เชือกผูกระหว่างขาหน้ากับไหล่  นำไปผูกไว้บริเวณที่เป็นน้ำซับ  มีหญ้า  มีใบบอนให้หมูกินตามชอบ
            ถามชาวเขาว่า  ปัจจุบันลูกหมูที่หย่านมแล้วขายตัวละเท่าไร  เขาตอบว่า ตัวละ 700 บาทถ้าเลี้ยงไว้ 3 เดือน ”     สรุปว่าวิถีชาวเขาเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญทางวัฒนธรรมแต่วิถีของหมูแม้วเหมือนเดิม

คำทำนายของไม้ซาง





            ไม้ซาง  เป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง เคยมีมากในภาคเหนือตอนบน ลักษณะของไม้ซาง คือ ปล้องยาว  เนื้อบาง  คนภาคเหนือจึงนิยมนำมาสับ เป็นฟากเพื่อปูพื้นบ้าน แปะเป็นฝา  หรือแม้แต่นำมาผ่า เลาะข้อออก  เพื่อนำมามุงเป็นหลังคาบ้านในลักษณะคว่ำหงายสลับกัน ทำได้ทั้งรั้วบ้าน  สะพานขัดแตะข้ามแม่น้ำ
            คนเหนือเคยรู้ถึงคุณค่าของไม้ซาง  ยากจะบรรยายได้หมด  ปัจจุบันคนเหนือลืมคุณค่าของไม้ซางไปแล้ว  ทั้งตัด ทั้งเผาทำลาย  เป็นพื้นที่กว้าง  เผาไม้ซางเพื่อเปลี่ยนป่าไผ่เป็นสวนยางพารา  ไม้ซางจำต้องจากไป   พร้อมทิ้งคำทำนายไว้บนแผ่นดินว่า  “วันใดฝนตกแสนห่า  สูเจ้าจงฝังร่างไว้ใต้ดินโคลนเถอะ  เจ้าทิ้งเราก่อน  เราไม่สามรถช่วยพวกเจ้าได้อีกต่อไป”

ชื่อว่า “ สะพานสามัคคี” สร้างปีละครั้ง



            แม่น้ำงาว เป็นแม่น้ำสายเล็กที่ไหลผ่านตัวอำเภองาว ฝั่งซ้ายเป็นตำบลหลวงเหนือ  ฝั่งขวาเป็นตำบลหลวงใต้  จำความได้ทุกเช้าก่อนสว่างเห็นแม่ค้าและลูกค้า  เดินผ่านหน้าบ้านข้ามแม่น้ำงาว  ทางสะพานไม้ขัดแตะเพื่อไปตลาดเช้า  ซึ่งอยู่ฝั่งตำบลหลวงเหนือ
            สะพานไม้ไผ่ขัดแตะที่ข้ามแม่น้ำงาว เป็นสะพานที่เกิดจากความสามัคคี  ของผู้คนทั้งตำบลหลวงใต้  ที่ลงแขกช่วยกันสร้าง  วัสดุที่ใช้ ได้แก่ เสาไม้สด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว  ตัดจากป่าชายทุ่งเพื่อตอกเป็นแนวข้ามแม่น้ำ  ใช้ไม้ซางพาดเป็นแนวยาวและผ่าเป็นซี่  ชาวเหนือเรียกไม้ “สลาบ” เพื่อขัดแตะรองพื้นสะพาน  สะพานสามัคคีก็สร้างเสร็จ
            สะพานสามัคคี  เป็นสะพานที่เกิดจากการลงแรง ลงแขก  สร้างทุกปีหลังน้ำลด  ใช้ไปได้ถึงฤดูน้ำหลากปีต่อไป   สะพานก็หมดอายุและถูกพัดพาไปพร้อมสายน้ำ  ผู้เขียนรักและผูกพันกับสะพานสามัคคีเสมอมา    อยากให้วัฒนธรรมเช่นนี้อยู่คู่กับผู้คนในถิ่นตลอดไป

วันพุธ, มกราคม 04, 2555

วันแห่งความทรงจำ



จริงๆ แล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของทุกคนล้วนแล้วแต่น่าจดจำ  เพราะทุกเรื่องต่างก็เป็นประสบการณ์ทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี   เรื่องไหนไม่ดีก็ไม่ควรให้เกิดขึ้นได้อีก  ส่วนเรื่องที่ดีก็ควรทำ  เพราะวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เพื่อสร้างความดีอยู่แล้ว


            วันสำคัญวันหนึ่ง  ที่น่าจดจำของชีวิตคือวันที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์  ทำไมน่าจดจำอาจมีคำสรุปที่น่าสนใจ ดังนี้  หนึ่ง เป็นวันที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ก้าวสู่วัยชราอย่างแท้จริง  สอง เป็นวันที่ต้องขอบคุณตัวเองที่พาชีวิตมาถึงวันนี้ได้  และใครก็ตามหากได้รับโอกาสเช่นผู้เขียน ที่มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างใกล้ชิด ในวันที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์  นับว่าเป็นสิริมงคลต่อชีวิตอย่างยิ่ง  วันนี้จึงเป็น “วันแห่งความทรงจำ”ของชีวิต  บันทึก  การรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี และพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม  2554   ระหว่างเวลา 12.07 น. ถึง 12.45 น.

ครั้งหนึ่งที่วิทยาลัยในวัง



วิทยาลัยในวัง มีชื่อเต็มว่า ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)เป็นสถานศึกษาขึ้นตรง สำนักงาน กศน. ในคราเกิดมหาอุทกภัย (ตุลาคม-ธันวาคม 2554) วิทยาลัยในวังซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่อำเภอพุทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม  ถูกน้ำท่วมขังนับเดือน  เมื่อน้ำลด  สำนักงาน กศน. มีโครงการฟื้นฟู เยียวยา ซ่อมสร้าง ล้างให้ ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายภารกิจกู้วิทยาลัยในวัง ให้กับกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 15 แห่งโดยปฏิบัติระหว่างวันที่ 6 ถึง 25 ธันวาคม 2554 ผู้บริหารกลุ่มศูนย์วิทย์ฯ ทุกแห่งต่างวนเวียนกันมาดูแลน้องคณะช่างทั้ง ช่างสี ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างไม้ ช่างสารพัด  ล้วนแล้วแต่มีฝีมือเยี่ยมในการทำงานทุกคน
            ผู้เขียนมีโอกาสมาให้กำลังใจช่าง ระหว่างวันที่ 18-23 ธันวาคม ได้เห็นความสามารถ  ความมีน้ำใจ  ความตั้งใจของช่างทุกคน ขอชื่นชมไว้ในดวงใจ  จากนโยบาย จากจิตสำนึกของทีมงาน  จากความร่วมมือความสามัคคี  บัดนี้วิทยาลัยในวังถูกกู้กลับสภาพและดีกว่าเดิมอย่างอัศจรรย์