วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 15, 2554

เห็นเหมือนกัน คิดไม่เหมือนกัน




เดือนธันวาคม ปีนี้ (2554) อากาศค่อนข้างหนาว  ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาก็เช่นกัน  ยิ่งเป็นช่วงบ่ายอากาศหนาวป่าสงบใบไม้ไม่ไหวติงเลย  รถคณะเราสองคันขับช้าๆ ขึ้นไปบนจุดชมวิวของอุทยานแห่งชาติปางสีดาระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร  สัตว์ที่พบเห็นระหว่างทางเริ่มจาก ไก่ป่าเพศผู้เป็นชนิดพันธุ์ตุ้มหูขาว  นกกะปูด  นกเขาเขียว  นกแซงแซวสีเทา  กะเล็น (กระแตตัวเล็ก) ในหนัง “แอนนิเมชั่น” เรียกตัว “ชิบมั้ง” วิ่งผ่านถนนน่ารักมาก  ทุกคนที่อยู่ในรถคันแรก ต่างพูดคุยถึงสัตว์ป่าอย่างสนุกสนาน  ทั้งจริงบ้างพูดเล่นบ้าง  ช่วงหนึ่งไก่ป่าเพศผู้วิ่งผ่านหน้ารถกระชั้นชิด  ผู้เขียนเบรกรถ ไก่ป่าวิ่งกึ่งบินผ่านไปได้  จึงอุทานว่า “ดีนะที่เบรกทันเลยรอดไปได้”  คณะศึกษาธรรมชาติอยู่ในช่วงอารมณ์สนุก  อุทานบ้าง “ พี่ไม่น่าเบรกนะ  ไม่งั้นเราคงได้กินไก่ป่าเป็นอาหารมื้อเย็นแล้ว ”   เอาแล้วไงกัน เหตุการณ์เดียวกัน  เห็นเหมือนกัน คิดไม่เหมือนกันเสียได้  พวกเองนี่...เสียงหัวเราะดังขึ้นทั้งรถ
            เมื่อขึ้นไปถึงจุดชมวิว รถคันที่สองตามมา  หน้าตาตื่น  พูดเสียงเครือ  เจองูจงอางอยู่ข้างทาง ห่างรถแค่สองเมตรตัวดำมะเมื่อม  ขนาดแขนได้  ยาวต้อง 2 เมตรกว่า น่ากลัวมากๆ (ดูจากรูปนะบันทึกภาพโดยภัทรกิจ ไชยถา)  โชคดีที่รถคันแรกไม่เจอจงอาง นึกแล้วเสียว  

วันพุธ, ธันวาคม 07, 2554

เส้นทางแสนยาวไกล เริ่มที่ชายแดนจบที่ชายแดน





            วันที่ตัดสินใจ เป็นข้าราชการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในวันนั้น (1 กันยายน 2519)  เป็นการเริ่มต้นด้วย อุดมการณ์  เป้าหมาย ที่ชัดเจนว่า จะเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ  ด้วยความรัก ให้กับศิษย์ที่ยากลำบาก  ห่างไกล  ขาดแคลนปัจจัยสี่  ที่เด็กไทยพึงมีพึงได้ ชีวิตข้าราชการจึงเริ่มที่อำเภอกาบเชิง  จังหวัดสุรินทร์  จังหวัดชายแดน อาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชา  นับแต่นั้นมา  ชีวิตมีทั้งทุกข์  ทั้งสุข  ทั้งผิดหวัง  ทั้งสมหวัง  คละเคล้าเป็นชีวิตที่ปุถุชนพึงพบ  เวลาผ่านจาก วันเป็นเดือน เป็นปี  และหลายปี จากกันยายน 2519 ถึงกันยายน 2555 นับเวลาได้ 36 ปี   แล้ววันนั้นก็มาถึง วันหมดเวลาวันพระอาทิตย์ตกดิน  ที่จังหวัดสระแก้ว   จังหวัดชายแดนประเทศกัมพูชาเหมือนเริ่มต้น  ข้าฯได้รับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่ข้าฯรักยิ่งด้วยความสง่างามแล้ว

วันศุกร์, ธันวาคม 02, 2554

โศกนาฏกรรม หลังน้ำลด





            อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่  น้ำท่วมขังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่เป็นเดือน  หลังน้ำลดบริเวณหน้าอาคารคณะศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย วันนั้น ( 1 ธันวาคม ) เป็นวันจัดกิจกรรมที่เรียกว่า Big Cleaning Day มีการนัดหมายมารวมกันทำความสะอาดครั้งใหญ่  เพื่อเก็บกวาดขยะและซากต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมตาย  ขณะที่เก็บกวาดบริเวณลานทราย  ซึ่งเป็นที่ก่อสร้างอาคารที่เพิ่งเริ่มก่อสร้าง  พบว่าลานทรายเป็นหลุมคล้ายหลุมอุกกาบาต  สังเกตเกือบทุกหลุมมีซากปลาตัวเล็กตายรวมกัน  ทุกชีวิตคงดิ้นรนจนสุดความสามารถแล้ว  สุดท้ายมันคือโศกนาฏกรรมปลาตายหมู่หลังน้ำลด
สงสัยว่า หลุมทรายมากมายเกิดจากอะไรกันแน่  ขณะที่ถ่ายรูปและยืนวิเคราะห์อยู่นั้น  ได้ยินเสียงสมาชิกทำความสะอาดท่านหนึ่ง พูดขึ้นมาว่า หลุมทั้งหมดเกิดจากปลามีเกล็ดเช่นปลานิล  ปลาไน  ใช้หางและครีบโบกพื้นทรายให้เป็นหลุมเพื่อแสดงอาณาเขตของตน  เมื่อน้ำลดหลุมจึงเป็นที่อยู่ของปลาตัวเล็กที่ไม่สามารถออกไปหาแหล่งน้ำอื่นได้  เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมตายหมู่หลังน้ำลดนั้นแหละ   น่าสงสารจังเลย

วันพุธ, พฤศจิกายน 30, 2554

ต่อหัวเสือกับควาย





ทุกๆ ปี แขกผู้มาเยือนสวนประดู่ป่า นอกจากนกอพยพขาประจำ  เช่น นกแซงแซวสีเทา  นกจับแมลงคอแดง  นกอีเสือ  นกเป็ดน้ำ  ยังมีตัวต่อ เป็นต่อหัวเสือ มาทำรังเลี้ยงลูกอยู่ที่สวนประดู่ป่า  ที่จำได้มาแล้วถึง 3 ครั้ง  ทุกครั้งอยู่เกือบปีแล้วก็จากไป  ส่วนใหญ่จากไปราวเดือนตุลาคม   เมื่อต่อหัวเสือมาทำรังทุกคนต่างกังวลถึงความปลอดภัย  และกลัวอันตรายจากเหล็กในของต่อหัวเสือ  ซึ่งอาจหมายถึงชีวิตได้เมื่อถูกต่อย 3-4 ตัว   จึงคอยระวัง ห้ามปรามเด็ก อย่ามาใกล้และอย่ารังแกรังต่อหัวเสือโดยเด็ดขาด
            ต่อหัวเสือเป็นสัตว์ที่รักความสงบ  ที่มาทำรังอยู่ด้วยถึง 3 ครั้งไม่เคยต่อยใครเลย  แม้ทำรังอยู่บนต้นไม้ใกล้บ้าน  เขาอาจหวังให้มนุษย์คุ้มครองรังที่พวกเขาเลี้ยงลูก  เวลาหากิน ต่อหัวเสือบินไปหากินไกลๆ  เพื่อหาหนอน แมลงมาเก็บไว้ในแคปซูลให้ตัวอ่อน
            เมื่อเดือนตุลาคมปีนี้  ต่อหัวเสือที่ทำรังได้บินจากไป  ตัวต่อบางส่วนยังเหลืออยู่ในรัง  พอฝนตก รังต่อหัวเสือตกลงมาที่พื้นดิน  มีตัวต่ออยู่ในรังสิบยี่สิบตัว  อยู่อีก 1-2 วัน  ทุกตัวก็บินจากไป  ซากรังดูเป็นดินที่น่าจะเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ได้ดี  ด้วยความอยากรู้จึงนำรังต่อหัวเสือมาใส่ใต้ต้นรำแพนไม้น้ำที่ปลูกไว้ในกระถาง  เมื่อรังต่อแช่น้ำ สิ่งที่ปรากฏคือน้ำในอ่างกลายเป็นน้ำขี้ควาย  กลิ่นคละคลุ้งอยู่ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ ต้นรำแพนก็มีอันต้องจากไปเสียแล้ว
            จากสิ่งที่พบโดยไม่ตั้งใจ  กลับเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่า  ทำไมต่อหัวเสือจึงมาทำรังอยู่บริเวณสวนประดู่ป่า  เพราะที่ใกล้ๆ นี้ชาวบ้านเลี้ยงควายไว้ประมาณ 20-30 ตัว  และตากขี้ควาย  ขายเป็นปุ๋ยอินทรีย์  ตัวต่อหัวเสืออาศัยขี้ควายมาเป็นส่วนผสมในการทำรังนั้นเอง  ในทางกลับกัน  ถ้าไม่มีขี้ควายต่อหัวเสือก็ไม่ไปทำรังอยู่ด้วย  ใช่หรือไม่   ช่วยกันหาคำตอบดูนะแล้วจะรู้ว่าธรรมชาติล้วนพึ่งพาซึ่งกันและกัน

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 24, 2554

เรามาจากไหน มนุษย์มาจากไหน



ในทางวิทยาศาสตร์  เพื่อหาคำตอบว่ามนุษย์มาจากไหน  นักฟิสิกส์พยายามศึกษาค้นคว้า  ยอมลงทุนอย่างมากมายมหาศาล  เพื่อยิงอะตอม (Atom) ให้แตกเล็กลงไป  โดยการเร่งความเร็วให้เร็วกว่าแสง  เพื่อดูว่าหลังจากอะตอมแตกแล้วยังมีอะไรอีก(เกิดคำใหม่ คือ ปฏิสสาร และสสารมืด เพิ่มขึ้น) ซึ่งจะหาคำตอบว่าชีวิตมาจากไหน  ช่างเถอะความอยากรู้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว  ขอเพียงแต่ใช้ความรู้ที่ได้รับเพื่อสันติสุขของโลกเท่านั้นพอ
            ในทางพระพุทธศาสนา  กล่าวว่า  มนุษย์เกิดจากการ รวมหมู่  รวมส่วน ที่ เรียกว่า    “ ขันธ์” มี 5 อย่าง ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และได้อธิบายต่อไว้ว่า รูป ได้แก่ส่วนที่ผสมด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ  เป็นเนื้อ หนัง กระดูก โลหิตของเรา  ส่วน เวทนา เป็นระบบรับ รู้สึก  ที่มากระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งก็คือ อายตนะภายนอก ภายในนั้นเอง  ส่วนสัญญา เป็นเสมือนหน่วยความจำที่เก็บการรับและรู้สึกไว้ เพื่อส่งให้ สังขาร  ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์  สังเคราะห์  สิ่งที่รับและรู้สึก  สำหรับป้อนให้ส่วนสุดท้าย คือ วิญญาณ รับและรู้สึกสิ่งนั้นไว้  อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เกิดจากรูปธรรมและนามธรรม  นี่แหละที่มาของมนุษย์ในทางพระพุทธศาสนา
อ้างอิง  เรียบเรียงจากหนังสือ คำวัด เขียนโดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี  สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัณฑิต)

วันอังคาร, พฤศจิกายน 22, 2554

“แพทย์แผนไทย” การรักษาแบบบูรณาการ





ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี  เป็นโรงพยาบาลของรัฐที่รักษาผู้ป่วยสองทางเลือก  ทางแรก คือการรักษาแผนปัจจุบัน  รักษาด้วยวิธีการสมัยใหม่ตามแบบสากลทั่วไป  ทางที่สองเป็นการรักษาแบบแผนไทย โดยใช้ตำหรับยา “ หมอหลวง ” ในอดีต  รวมทั้งการบำบัดโดยการ นวดคลายเส้นเอ็น
            เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  พาแม่ผู้สูงอายุ (88 ปี)  มาพบแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทยได้ซักถาม สัมภาษณ์  พูดคุย  แพทย์หลายคนช่วยกัน ซักถาม  จดอาการ  ตรวจร่างกาย  ดูผื่นคัน  ดูผิวหนัง  จากนั้นก็เปิดคู่มือสั่งยาสมุนไพร  เห็นผู้ปรุงยา ชั่งน้ำหนักสมุนไพรแต่ละชนิดนับ 10 ขนาน ใส่ในผ้าขาวบาง  ถามไปว่า “ ทำไมหลายชนิดจังเลย ”  ผู้ปรุงยาบอกว่า “ มีทั้งยาหลัก  ยารอง และยาเสริมจึงมีหลายชนิด ”
            เมื่อชั่งครบแล้วก็ผูกผ้าขาวบาง  และสั่งว่าไม่ให้แกะผ้าห่อยา นำไปต้มโดยให้น้ำท่วมห่อยา  ต้มให้เดือด เมื่อเดือดแล้วให้จับเวลาต่อไปอีก 15 นาทีจึงยกลง ให้ดื่มครั้งละแก้วกาแฟ ก่อนอาหาร เช้า เที่ยง เย็น   ทุกวันเติมน้ำให้ท่วมยาแล้วต้มตามขั้นตอนเดิม  กินยาไปให้ครบสองสัปดาห์
            สรุปผลการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป  1 สัปดาห์ แม่นอนหลับสบาย  อาการคันก็ดีขึ้น จิตใจแจ่มใส คลายกังวลจากปัญหาน้ำท่วม  แพทย์แผนไทยดีเหมือนกัน  รักษาแบบบูรณาการ  ทุกอาการรักษาจากยาเพียงหม้อเดียวได้

วันจันทร์, พฤศจิกายน 21, 2554

จังหวัดเคลื่อนที่อำเภอตาพระยา




            เดือนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว จัดจังหวัดเคลื่อนที่ไปตำบลทัพไทย อำเภอตาพระยา ลงช่วยเหลือประชาชน  ช่วงบรรยายสรุปของนายอำเภอตาพระยา  สรุปสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของอำเภอตาพระยาว่า  “ พื้นที่ในอำเภอตาพระยาเป็นเขตเงาฝนของเทือกเขาบรรทัดที่กั้นระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย  เทือกเขาบรรทัดฝั่งกัมพูชาลาดเอียงลงไป  ส่วนฝั่งอำเภอตาพระยาค่อนข้างชัน  ฤดูมรสุมฝนจึงตกในกัมพูชาไม่ค่อยผ่านเข้ามาในไทยได้  ผืนดินเกือบทั้งหมดเป็นดินละลุ ที่มีกรวดทรายปนดินเหนียวที่จับตัวกันไม่แน่น  เมื่อฝนตกจึงเกิดการกัดเซาะเก็บน้ำไม่อยู่  ในประวัติศาสตร์เป็นแหล่งหินตัด ที่ขอมนำไปสร้างปราสาท เช่น ปราสาทสด๊กก๊อกธม  ปีนี้ชาวนาของอำเภอตาพระยาประสบปัญหา  แรงงานกัมพูชาที่เคยมารับจ้างเกี่ยวข้าวยังไม่มา  เพราะยังเกี่ยวข้าวของเขาไม่แล้วเสร็จ  ข้าวของอำเภอตาพระยาสุกแล้วรถเกี่ยวก็ไม่พอ  ผลิตผลอาจเสียหายได้ ”  มีผู้นำในอำเภอตาพระยาท่านหนึ่ง  ให้ข้อมูลว่า “แรงงานกัมพูชาปัจจุบันเป็นประชาชนเลือดผสมระหว่างเขมรกับญวน  ผิวพรรณจึงออกขาวบ้าง  คล้ายคนไทยที่ผสมกับชาวจีนนั่นแหละ ”   ฟังดูแล้วอีก 3-4 ปี เขตนี้จะเป็นชุมชนอาเซียนแล้ว  ก็เหมาะดีนะ  เพราะประชาชนเป็นเลือดผสมไปหมดแล้ว

หินหล่น ฝนกัดเซาะ



            ปีนี้นับเป็นปีมหาอุทกภัยของไทย  ภัยจากน้ำหลากที่พรากชีวิตผู้คนไปกว่า 500 ชีวิต  แม้ว่าอุทกภัยไม่ได้สร้างความรุนแรง  แต่ก็บีบครั้นจิตใจผู้คน ด้วยน้ำท่วมนานนับแรมเดือนความกดดันที่กระทบต่อจิตใจมีมากมายนัก  ไหนจะเสียทรัพย์  ไหนจะว่างงาน ขาดรายได้  เจ็บไข้ได้ป่วย  ความกังวลห่วงใยบุคคลในครอบครัว  บางคนเกิดอาการซึมเศร้าไปก็มาก


            หลายชาติต่างมองประเทศไทยและสรุปเป็นบทเรียนว่า “เหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย  เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน  ประเทศไทยจึงเป็นบทเรียนโลกร้อน ที่พึงตระหนัก ”  ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุเดียวกัน ทั้งหินหล่น ฝนกัดเซาะ

วันพุธ, พฤศจิกายน 16, 2554

ความพยายามคืน “เป็ดก่า” สู่ธรรมชาติ






ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2554 ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาจัดงานเทศกาลผีเสื้อ  มีเจ้าหน้าที่จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน  อำเภอวัฒนานคร  จังหวัดสระแก้ว  ได้นำเป็ดก่าที่ทดลองเพาะเลี้ยงไว้ที่สถานี จำนวน 10 คู่  เป็นเป็ดก่าวัยเจริญพันธุ์  มาปล่อยบริเวณแหล่งน้ำ  ซึ่งเป็นห้วยธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติปางสีดา  เพื่อศึกษาดูว่าเป็ดก่าจะมีชีวิตอยู่ได้ตามธรรมชาติหรือไม่  เวลาผ่านไป 3-4 เดือนเจ้าหน้าที่สถานีกลับมานำเป็ดก่าเพศผู้กลับไป 1 ตัว จึงเหลือเป็ดก่า จำนวน 19 ตัว
            นับถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นเวลากว่า 5 เดือนที่เป็ดก่าอยู่ในธรรมชาติ  จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเป็ดก่าบ้าง   ณ วันนี้ เหลือเป็ดก่าเพศเมียเพียงหนึ่งตัวเท่านั้น  เจ้าหน้าที่บอกว่า เมื่อเป็ดก่าเพศผู้เพศเมียจับคู่กันได้  ก็พากันบินจากไปทีละคู่  บินไปไหนก็ไม่รู้  เหลือตัวเมียที่ไม่มีคู่อยู่เพียงตัวเดียว  ที่อาจารย์มองเห็น  มันเดินมาให้อาจารย์ถ่ายรูปนั่นแหละครับ
            พวกเรานักอนุรักษ์ทุกคนต่างหวังว่า เป็ดก่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ทั้ง 9 คู่ที่บินจากไป  จะมีชีวิตใหม่ที่ขยายพันธุ์ มีลูกหลานเกิดขึ้นมากมายในธรรมชาติ ตามเจตนารมณ์ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชดำริก่อตั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน

วันอังคาร, พฤศจิกายน 15, 2554

“เข่ง” ใส่ปลาทู








            ปลาทู เป็นปลาทะเลที่เป็นอาหารคนไทยมาช้านาน นานจนอาจกล่าวได้ว่าคนไทยทุกคนต้องเคยกินปลาทู เช่น ปลาทูทอด  ปลาทูนึ่ง  ต้มปลาทูสายบัว  น้ำพริกปลาทู หรือปลาทูรูปแบบอื่น  และคนไทยก็รู้ว่าปลาทูเป็นปลาทะเล  ซึ่งย่อมมีธาตุไอโอดีนที่ป้องกันโรคคอพอกอยู่ในปลาทูด้วยเช่นกัน  แต่คนไทยส่วนใหญ่  ไม่รู้ว่าเข่งที่ใส่ปลาทูทำที่ไหน  ทำอย่างไร  ทำมาจากอะไร  ราคาต้นทุนเท่าใด
            วันนี้ผู้เขียน  มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มแม่บ้าน  ที่คุ้มเนินไทร  ตำบลบ้านแก้ง  อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว คือ คุณจิรภา  เกตศิริ  คุณสุพัตตรา  บุตรสุริย์  และคุณกรรณิการ์ สิมมา  พูดคุยกันไปสานเข่งปลาทูไปด้วย  จับความได้ดังนี้ 
            -      เข่งปลาทูสานด้วยไม้ไผ่สีสุก  ขอบเข่งสานด้วยไม้ไผ่ตง  ขนาดเข่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง  4 นิ้วครึ่ง , 5 นิ้ว , 6 นิ้ว  ราคาขายเข่งละ หนึ่งบาท  หนึ่งบาทสิบสตางค์  และหนึ่งบาทยี่สิบสตางค์ ตามลำดับ
-           อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียง มีด , เลื่อย , กบไสไม้ไผ่ ที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ 
-          วัสดุ ได้แก่ ไม้ไผ่สีสุก ที่ใช้กบไสเป็นซี่เพื่อสานเป็นตะแกลง  และไม้ไผ่ตงที่จักเป็นชิ้นบางๆ เพื่อม้วนกลม  เป็นขอบเข่ง ราคาไม้ไผ่ตง ขนาดใหญ่มี 5 ข้อ ท่อนละ 180 บาท  ซื้อจากจันทบุรีและนครนายก  ราคาไม้ไผ่สีสุก ขนาดทั่วไปซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่น ลำละ 30-40 บาท
-          ความสามารถในการสานเข่ง  แตกต่างกัน คนในหมู่บ้านสานเข่งกันมา 20-30 ปีแล้วบางคนสานได้วันละ 300  เข่ง  บางคน 200  เข่ง  อย่างน้อย  100 เข่งทุกคนสานได้
สรุปว่าทำงานอยู่กับบ้าน  แม้ได้เงินไม่มาก  แต่ก็สุขใจที่อยู่ใกล้ครอบครัว

วันจันทร์, พฤศจิกายน 14, 2554

บริบาลผู้พักพิงประสบภัยน้ำท่วม



ประดู่ป่าแคมป์  เป็นสถานที่ ที่ถูกปวารณาให้เป็น “อู่ทะเลบุญ” ใครมาอยู่ มาพัก มาเรียนรู้ จึงมีความสุข  อบอุ่น ปลอดกังวล  หลายเดือนผ่านมาประดู่ป่าแคมป์ เป็นที่บำบัดเด็กพิเศษ กล้ามเนื้ออ่อนแรง  โดยใช้ม้าพันธุ์พื้นบ้านของไทยชื่อ เจ้าตาหวานและขุนพันบำบัด ที่เรียกว่า “อาชาบำบัด” เด็กๆ ก็มีพัฒนาการดีขึ้น  ลูกหวาย (ลูกสาว) มีความมุ่งมั่นทำโดยไม่หวังผลตอบแทน  เพียงเพราะรักเด็ก และอยากรู้ว่า เป็นไปได้ไหม ที่จะทำกิจกรรมแบบนี้
            เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สองพันห้าร้อยห้าสิบสี่  มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพจากอุทกภัยมาจากปทุมธานี และ กทม.มาอาศัยที่ประดู่ป่าแคมป์  มีทั้งญาติ ทั้งคนรู้จัก  ไม่รู้จัก  ทั้งสภาพปกติและพิการ รวมถึงสุนัขเลี้ยงด้วย  แน่นอนรูปแบบการดูแลยิ่งหลากหลาย ที่เป็นญาติจัดให้ทั้งบริบาลร่างกาย  มีทั้งพัฒนาจิตใจ  พาไปพักผ่อนหย่อนใจควบคู่กัน

            โดนเฉพาะแม่ที่ชรามากแล้ว  ปาลิโอเขาใหญ่   เป็นสถานที่หนึ่ง ที่พาแม่ไปเที่ยวพักผ่อนให้ท่านสดชื่น โดยมีหลานคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

วันพุธ, พฤศจิกายน 09, 2554

กว่าจะเป็นป่า แสนยากหนักหนา





            เมื่อปี พ.ศ. 2535  ฯพณฯ อนันท์  ปันยารชุน  นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น  ได้ประกาศปิดสนามกอล์ฟบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  ให้เลิกใช้โดยสิ้นเชิง  นับตั้งแต่บัดนั้นถึงปัจจุบัน  สนามกอล์ฟเขาใหญ่ปิดมาถึง 20 ปีบริบูรณ์แล้ว  อะไรเกิดขึ้นในสนามกอล์ฟ ลองอ่านดูนะ
            มีกลุ่มคนเล็ก ๆ ชื่อ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่  เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของสนามกอล์ฟ         ปีแล้ว ปีเล่า  โดยชวนเพื่อน ชวนสมาชิกใหม่ตัวเล็ก   เฝ้าศึกษาเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง        บนพื้นที่แห่งนี้  สิ่งที่กลุ่มรักษ์เขาใหญ่พบในยี่สิบปีผ่านมาเป็นดังนี้
            ต้นไม้ที่รุกไปในสนามกอล์ฟอันดับแรกสุด คือ หญ้าคา  ตั้งแต่ปีแรก ๆ  เลยที่ปิดสนาม
            ต้นไม้ชนิดที่สอง คือ  หญ้าสาปเสือ กลิ่นฉุน ๆ  ออกดอกสีขาวปนคราม  คนในภาคเหนือเรียก หญ้ามังวาย  ที่รุกตามหญ้าคาเข้าไปในสนามกอล์ฟ
            ต้นไม้ชนิดที่สาม คือ  ต้นเอนอ้า  หรืออ้าหลวง ดอกสีม่วง สูงประมาณ 1-3 ฟุต ที่รุกเข้าไปในสนามกอล์ฟต่อจากสาปเสือและหญ้าคา
            การต่อสู้ช่วงชิงระหว่างป่ากับสนามหญ้าเดิมเกิดขึ้นตามจำนวนฝนของแต่ละปี  บางปีป่ารุกมาก บางปีป่ารุกน้อย
            ต้นไม้ชนิดที่สี่  ประเภทไม้จริงที่จะเป็นต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงากับต้นไม้อื่น  เพิ่งมาปรากฏเมื่อเวลาผ่านไปเกือบยี่สิบปี
            ปีนี้ (2554)  มีไม้จริงปรากฏให้เห็นในสนามกอล์ฟ สูงประมาณหนึ่งศอก  หากไม่มีไฟป่าเผาทำลาย  ป่าไม้เริ่มปรากฏแล้ว
            “กว่าจะเป็นป่า  แสนยากหนักหนา”  จริงเอย

สัญญาณจากธรรมชาติ






            ต้นเดือนพฤศจิกายน  มีราชการต้องเดินทางไปภาคอีสาน  เส้นทางต้องผ่าน           อุทยานแห่งชาติตาพระยาพอดี  จึงแวะเข้าไปเยี่ยมเยือนเพื่อนที่แสนดีและซื่อสัตย์ต่อเราเสมอ (ธรรมชาติไงละ)  เมื่อไปถึงอุทยานสัมผัสของร่างกายบอกว่า  เข้าฤดูหนาวแล้วนะ ลมพัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมหนาว  ความชื้นเริ่มจางหายไป  มองเห็นนกกระเบื้องผาตัวเมียบินโฉบอยู่บนหลังคาบ้านพัก แซงแซวสีเทาคู่หนึ่ง นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกจับแมลงคอแดงก็มา  นกทั้งสี่ชนิดล้วนแล้วแต่เป็นนกอพยพที่มาเยือนประเทศไทยในฤดูหนาวทั้งสิ้น

            มนุษย์ทุกผู้คนหากเป็นคนรักธรรมชาติ เป็นนักสังเกต ย่อมพบเห็นสัญญาณจากธรรมชาติบอกเหตุการณ์หรือพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าให้มนุษย์ได้  ขอเพียงแต่ใช้ปัญญาอยู่กับความจริง ตอบตนเองให้ได้ทั้งเริ่มต้น  ท่ามกลางและลงท้าย ว่าเป็นอย่างไร...ถูกต้องหรือไม่

“ไม้พะยูง” ทองคำมีชีวิตที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา






            อุทยานแห่งชาติตาพระยา  เป็นเขตอุทยานที่มีพื้นที่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 200 - 500 เมตร  เดิมเคยถูกบุกรุก ป่าจึงเป็นป่าโปร่ง ป่าแพะเป็นป่าที่เพิ่งฟื้นตัว ถึงแม้จะไม่มี   ไม้ใหญ่แต่อุทยานแห่งชาติตาพระยาก็เป็นแหล่งซ่อนทองคำไว้  ทองคำที่ว่าคือไม้พะยูง         เป็นทองคำที่มีชีวิต  ไม้พะยูงชอบป่าแบบตาพระยา  ฉะนั้น บริเวณอุทยานแห่งชาติตาพระยา   จึงเป็นแหล่งที่มีไม้พะยูง  ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งลักลอบตัดไม้พะยูงมากที่สุดในประเทศไทย  ด้วยอำเภอตาพระยาติดต่อกับประเทศกัมพูชา  ไม้พะยูงจึงมีสองสัญชาติ  เจ้าหน้าที่อุทยาน       จับผู้ลักลอบตัดไม้พะยูง  จับได้ทั้งไม้ ทั้งรถบรรทุกไม้  ทั้งคน ช่วงเดือนพฤศจิกายนอุทยานได้รับผลกระทบจากพายุและฝน  ทำให้ถนนขาดหลายช่วง  ไม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปปฏิบัติภาระในพื้นที่ได้  นับเป็นการเสี่ยงต่อการลักลอบตัดไม้  และล่าสัตว์เพิ่มขึ้น

            เจ้าหน้าที่อุทยานก็ไม่ย่อท้อ  ยังคงนำรถจักรยานยนต์ลงทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  ด้วยสำนึกและความรับผิดชอบในหน้าที่ของเขา

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 03, 2554

ทำไม มหานครในอดีตจึงร้างล่มสลาย




            ปี พ.ศ. 2554 ช่วงเวลาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน เดือนตุลาคมทั้งเดือน  และคงผ่านไปถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน   เกิดวิกฤตน้ำท่วมประเทศไทย ท่วมแบบขยายวงกว้างที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  อาจกล่าวได้ว่าในช่วงชีวิต 60 ปี ครั้งนี้น้ำท่วมมากที่สุด  ผู้คนเดือดร้อนที่สุด  น้ำท่วมตั้งแต่จังหวัดในภาคเหนือ  ภาคอีสาน  ลงมาภาคกลาง  นครสวรรค์  ลพบุรี  พระนครศรีอยุธยา  ปทุมธานี  นนทบุรี  กรุงเทพมหานคร  ความเสียหายประเมินได้นับล้านล้านบาท  ถ้าจะถามว่าเรื่องนี้เกิดได้อย่างไร  ก็มีคำตอบมากมายที่ตอบแล้วน่าเชื่อถือ...ถ้าจะถามว่าเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ไหม ...ก็มีข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถืออีกมากมาย  ที่นำมาคิดแล้วว่าเป็นไปได้ที่จะไม่ให้เกิดขึ้น
            แต่ความจริงคือน้ำท่วมแล้วท่วมอยู่นานเป็นเดือน  สองเดือน  สามเดือน  ความเสียหายทั้งบ้านเรือน  ทรัพย์สินและจิตใจของผู้คน  เกิดขึ้นในวงกว้างและยากที่จะเยียวยารักษาให้กลับเหมือนเดิม  ผู้คนเริ่มคิดหาทางที่จะต้องจากแหล่งที่เกิดเหตุเภทภัยไป  หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกเพียงครั้งเดียว  นครที่เคยรุ่งเรืองก็จะกลายเป็นเมืองร้างที่ล่มสลาย  เช่น  มหานครในอดีต
            สรุปในเบื้องต้น เหตุของมหานครที่ร้าง น่าจะมาจากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้  น้ำท่วมซ้ำซาก  ไฟไหม้  โรคระบาด  แผ่นดินไหวภูเขาไฟระเบิด  พายุ  สงคราม  การปกครองที่ขาดคุณธรรม  หรือกล่าวง่ายๆ มาจากสองเหตุใหญ่ คือ ภัยธรรมชาติ  และภัยจากมนุษยชาตินั่นเอง

วันอังคาร, พฤศจิกายน 01, 2554

ดูนก PENGUIN แคระที่ Phillip Island





            จากนคร Melbourne เดินทางลงไปทางใต้ มุ่งสู่มหาสมุทรใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ถึงเกาะ Phillip Island ซึ่งเป็นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัยของนก PENGUIN ชนิดพันธุ์ที่ตัวเล็กที่สุดในโลก   เมื่อนกเดินต้วมเตี้ยม มีความสูงประมาณ 1 คืบเท่านั้น
            เย็นวันที่ 25 ตุลาคม 2554  เวลา 5 โมง  เริ่มออกเดินทางไปถึง Phillip Island ประมาณ 1 ทุ่ม  พระอาทิตย์ยังส่องแสงจ้า  ที่ Melbourne  ช่วงเดือนตุลาคม พระอาทิตย์ตกดินเวลาประมาณ 2 ทุ่ม  บริเวณชายมหาสมุทร ลมแรง คลื่นสูง  หินชายหาดมีสีดำ  อาจเป็นเพราะแมวน้ำขึ้นมาพักผ่อนนับเป็นหมื่นเป็นแสนปีมาแล้ว หรือว่าเป็นหินภูเขาไปจึงมีสีดำ  ยังไม่ได้สืบค้นหาความจริง  อุณหภูมิประมาณ   8-9   องศาเซลเซียส
            ที่เกาะ Phillip Island สัตว์ที่พบบนเกาะ  ได้แก่ นกหลายชนิด โดยเฉพาะนกนางนวล  จิงโจ้แคระ (Wallaby)  และนกเพนกวินแคระเดินขบวน (PENGUIN  PARADE)  ขณะรอดูนกผู้บรรยายประกาศว่า  นกเพนกวินจะขึ้นฝั่งเวลาประมาณ 2 ทุ่ม   เวลา 2 ทุ่มขบวนนกเพนกวินก็ขึ้นฝั่งจริงๆ ขึ้นมาเป็นกลุ่ม  ประมาณ 200 – 300 ตัว  บริเวณที่มีก้อนหินสีดำริมทะเล  จากนั้น เริ่มเดินขบวนเข้าหาฝั่ง  ซึ่งห่างจากทะเลประมาณ 300 เมตร  ต่างเดินแยกย้ายไปตามพุ่มต้นไม้เตี้ย  สูงประมาณ 1 เมตร  เข้าใจว่าในพุ่มไม้มีโพรงดินที่เป็นรังเป็นที่อยู่อาศัยทั้งเลี้ยงลูกน้อยไปพร้อมกัน  เพนกวินกลับลงไปทะเลอีกครั้งก่อนพระอาทิตย์ขึ้น (เจ้าหน้าที่ดูแลให้ข้อมูล)  ผู้คนมาดู  PENGUIN  PARADE  วันนั้นประมาณ 500 – 600 คน  เป็นคนไทยประมาณ 50 คน  เมื่อฟังเสียงพูดคุยกัน  การชมกิจกรรม  PENGUIN  PARADE  ตั้งแต่ไปถึงและกลับขึ้นรถห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด  กลับออกจาก Phillip Island เวลาประมาณ สามทุ่มครึ่ง  นี่เป็นบันทึกแห่งความทรงจำ

เมื่อต้องสวมชุดนักฟุตบอล เบอร์ 68




            ชีวิตบางครั้งก็มีอะไรแปลกๆดีเหมือนกัน  สำหรับตัวเองแล้วไม่เคยคิดว่าจะต้องใส่ชุดนักฟุตบอลเพื่อลงสนามเลย  เพราะตั้งแต่เด็กจนแก่ อายุเกือบ 60 ปี ไม่เคยเล่นฟุตบอล  ด้วยนิสัยไม่ชอบเล่นกีฬาที่ต้องปะทะจึงเลือกเล่นกีฬาประเภทอยู่คนละฝั่งเช่น วอลเล่ย์บอล  เซปัคตะกร้อ  กรีฑา  กระโดดสูง  กระโดดไกล  เขย่งก้าวกระโดด ทำนองนั้น
            ปีนี้ (ค.ศ. 2011) สำนักงาน กศน. จัดแข่งขันกีฬา กศน.เกมส์ (เลขาธิการ กศน.) กำหนดให้ผู้บริหารระดับจังหวัดและสถานศึกษาขึ้นตรง  ลงเล่นฟุตบอลเป็นคู่ปิดสนามกับทีม UNESCO ณ สนามกีฬา 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่  ทุกคนดูตื่นเต้น  พกพุงลงสนามไป 60-70 คน  UNESCO ลงสนาม 11 คน เป็นหญิง 2 คน  กองเชียร์ กศน.เต็มสนาม 700 ปีกว่าหมื่นคน  ทุกคนคลาดว่า ผู้บริหาร กศน. 60-70 คน คงถล่ม UNESCO ยับเยินแน่ ผลปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า  นักฟุตบอลหญิงของ UNESCO ยิงคนละ 2 ประตู ที่เหลือผู้ชายยิงอีก 3 ประตู UNESCO ชนะแบบไม่ปราณี   7:0   ฮาเลยพี่...
            เบื้องหลังตอนแต่งตัวเตรียมลงสนาม  ผอ.สุชาติ   บอกเสนอว่า “ พี่ใส่ชุดฟุตบอลเบอร์ 68 ดูทะมัดทะแมงดี ผมขอถ่ายรูปให้นะ ” ทั้งที่ตัวเองยังนุงผ้าขาวม้าอยู่เลย  นั่งยองๆ ถ่ายรูป  ลูกเบสบอลสองลูกพร้อมไม้เบสบอลออกกองกับพื้น.....  ฮาลั่นกว่าสิบนาที  ผอ.สุชาติ ทำหน้าตาย ออกนอกเรื่อง พูดว่า “พี่ไม่ต้องหัวเราะเยาะผม ถึงผมจะได้เบอร์ 75 ผมก็เป็นตัวจริงนะ