วันพุธ, มีนาคม 21, 2555

ริมสระมะรุมล้อมรัก



                เวลาเกือบเที่ยงแล้ว  ที่โต๊ะอาหารในศาลาริมสระมะรุมล้อมรัก  อาหารที่สั่งยังไม่มา  มีเพียงกาแฟเย็น “ควายเผือก”  และแก้วน้ำดอกอัญชันสีม่วงอมฟ้าที่ดื่มแล้วชื่นใจตั้งอยู่  เมื่ออาหารยังไม่มา  ตาก็มองไปสุดขอบสระฝั่งโน้น  สิ่งที่เห็นเป็นบ้านดิน มีท่าน้ำยื่นออกมาจากริมฝั่ง  ท่าน้ำนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ท่านเสด็จหลายครั้ง  มองไปคล้ายเห็นท่านยืนอยู่ตรงนั้นผิวน้ำเกิดระลอกคลื่นเล็กๆ วิ่งกระจายไปทั่วตามแรงลม  ปลาสวาย  ปลาดุก  ปลาตะเพียนหางแดง  ปรากฏตัวให้เห็น  โดยไม่กลัวอันตรายใดๆ
            เสียงทอดถอนหายใจของตัวเองดังขึ้น  เรานั่งอยู่คนเดียวนี่..เหงาละซิ.....  คิดถึงเวลาที่ใกล้จะหมด  ต้องจากสระมะรุมล้อมรักไปแล้ว..ก่อนที่ความคิดจะเตลิดไปไกลกว่านี้...เจ้าปล้อง ถือถาดอาหารมีผัดพริกอ่อน  หมู  ไข่ดาวราดข้าวเดินมาหาและพูดยิ้มๆ ว่า “แขกเยอะครับ อาหารเลยช้าหน่อย” คิดในใจว่า “  ถ้าอาหารมาไว  ใจและความคิดคงไม่เตลิดไปไกลถึงไหนได้หรอก ”

อาเซียนของคน กับ อาเซียนของนก



อาเซียนของ “คน” เอเชียทั้งหมด  ต้องพูดคุยกันอีกหลายระยะกว่าที่จะลงตัวในทางปฏิบัติ  หัวใจของการพูดคุย คือ  “ การได้ผลประโยชน์และการเสียผลประโยชน์ ” ใครจะยอมใครกันละนี่แหละคือเหตุที่ต้องพูดคุยกันนาน
อาเซียนของ “นก”ดูจะง่ายกว่า  นกไม่มีประเทศ ไม่มีแผนที่แบ่งเขตแดน มีเพียงถิ่นเกิด  เกิดที่ไหนก็เป็นนกประจำถิ่นนั้น  นกเดินทางไปจากถิ่นเกิดก็ต่อเมื่อต้องการอาหาร  หรือเมื่อขาดแคลนอาหาร  ไปกินอาหารที่นกเจ้าของถิ่นนั้นไม่กิน หรืออาหารมีอยู่มากเกิน  เมื่อกินอิ่มก็กลับถิ่น  ไม่ทะเลาะกัน   แบ่งกันกินไม่สะสม  ไม่ละโมบ  ไม่เอาเปรียบ ไม่มีผลประโยชน์  มีแต่สันติสุขบนอาเซียนของนก   อยากให้อาเซียนของคนเหมือนอาเซียนของนกจังเลย

วันอังคาร, มีนาคม 13, 2555

กาเหว่า หรือ ดุเหว่า เป็นชื่อนก



ช่วงปลายฤดูหนาว  ใครอาศัยอยู่ชานชนบท เวลาตั้งแต่ตีสี่ไปถึงสว่างย่อมได้ยินเสียงนกชนิดหนึ่ง  ร้องเสียงดังมาก ดังว่า “ กา-เว้า กา-เว้า ” หรือ “ ดุ เว้า  ดุ เว้า ”   แล้วแต่ว่าใครได้ยินอย่างไร  เสียงนกชนิดนั้น คือ กาเหว่านั่นเอง  เสียงกาเหว่าปลุกทั้งพระและญาติโยมไปพร้อมกัน  พระท่านก็เตรียมตัวออกบิณฑบาต  ญาติโยมก็ตื่นมาเตรียมอาหารตักบาตรยามเช้า
กาเหว่า คือ นกที่เป็นสื่อสืบทอดวัฒนธรรมของชาวพุทธมาช้านานแล้ว นี่เป็นด้านความดีนะ  กาเหว่ายังมีด้านมืดอยู่บ้าง  เผ่าพันธุ์กาเหว่ามีวิวัฒนาการ  การขยายพันธุ์ที่แปลก คือ ไม่สามารถฝักไข่ของตัวเองได้  ต้องแอบไปไข่ในรังของนกชนิดอื่นๆ เช่น รังของอีกา  รังของนกเอี้ยง   รังของนกกิ้งโครง   ไม่เว้นแม้แต่รังนกตัวที่เล็กกว่า  และเขี่ยไข่ของเจ้าของรังทิ้ง  ดูโหดนะ   แต่นกกาเหว่าทั้งตัวพ่อ ตัวแม่    คอยดูนกตัวอื่นเลี้ยงลูกของตนอยู่ห่างๆ เมื่อโตพอเริ่มบินตัวพ่อ ตัวแม่ก็กลับมารับลูกไป  เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริงในสวนประดู่ป่า  ซึ่งผู้เขียนเคยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเจ้ากาเหว่า  นกเสียงดังชนิดนี้

วันจันทร์, มีนาคม 12, 2555

รางจืดพืชสมุนไพร




            ทุกสรรพสิ่งย่อมตกอยู่ภายใต้  กฎไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง  ความเปลี่ยนแปลง  ความไม่คงอยู่ (อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา) ทั้งโลกและโรคก็เช่นกัน
            ความเจ็บป่วยและการดูแลรักษาตัวเองทำให้ผู้คนแสวงหาทางเลือก  แพทย์แผนปัจจุบันเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เลือก  แต่ก็มีผู้คนไม่น้อยให้ความสนใจที่จะดูแลชีวิตตัวเองด้วยสมุนไพรกระแสสมุนไพรและแพทย์ทางเลือกจึงมาแรง  พืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ชื่อ “รางจืด” ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางด้วยเป็นสมุนไพรที่ชะล้างพิษจากยาฆ่าแมลงสารพิษต่างๆ   ข้อตระหนักและข้อควรระวัง คือ ใครก็ตามที่จะใช้สมุนไพรต้องรู้จักสมุนไพรชนิดนั้น อย่างแท้จริงและมีข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้
            สรุปว่า ควรใช้สมุนไพรที่ได้รับการยืนยันด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต  โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี  จัดเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการผลิต  รางจืดมีประโยชน์อย่างไร  ถ้าอยากรู้เข้าไปดูใน Website  http:// abhaiherb.net

วันพฤหัสบดี, มีนาคม 01, 2555

ชันโรง ผึ้งตัวเล็กที่ไม่มีเหล็กใน





โลกของเรามีสิ่งน่าเรียนรู้อีกมากมาย ขอให้เราเป็นนักสังเกตย่อมพบเห็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ได้  ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นพืช เป็นพื้นดิน  พื้นน้ำ  อากาศ  ดวงดาว แม้แต่ตัวเราเอง
          ที่ข้างจอมปลวกโคนต้นไม้  มีผึ้งตัวเล็กที่ไม่มีเหล็กในทำรังอยู่ในโพรงดิน  ผึ้งชนิดนี้มีชื่อหลายชื่อ  คนไทยภาคกลางเรียกชันโรง  ภาคเหนือเรียกแมลงขี้ตังนี  ภาคใต้เรียกแมลงโลม  ภาคอีสานเรียกแมลงขี้สูด   โดยทำรังจากยางไม้ที่เก็บมาจากหลายแหล่ง  ซึ่งมีประโยชน์นำมาใช้ได้กับเครื่องดนตรีหลายชนิด เช่น แคน  ระนาดเอก  โปงลาง เป็นต้น
          ชันโรงทำรังอยู่ในโพรงดินอย่างไร ลองอ่านประสบการณ์ของ คุณหมาน  แอ๊งเจิ้ล ซึ่งเขียนไว้ใน website ความว่า “เมื่อสองปีก่อนผมได้มีโอกาสไปหาชันโรงในป่ากับอาจารย์ของผม  ชันโรงเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก เพราะชันโรงอยู่ลึกลงไปใต้ดิน เป็นรังของแมลงชนิดหนึ่ง  รังที่แมลงชนิดนี้อาศัยอยู่จะคล้ายๆ กับจอมปลวก  แต่รังจริงนั้นจะอยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณหนึ่งเมตร  และดินแถวนั้นจะแข็งมากคล้ายๆ กับดินจอมปลวก  วันนั้นไปกันประมาณหกคนช่วยกันขุดตั้งแต่ห้าโมงเช้าถึงประมาณบ่ายโมงถึงเจอ  รังของแมลงชนิดนี้จะโตประมาณเท่ากำปั้นและมีน้ำหวานมาก  น้ำหวานจะมีรสหวานออกเปรี้ยว มีสีออกน้ำตาลเข้มและเหนียวเหนอะมือมาก ในรังจะมีตัวอ่อนอยู่มากคล้ายกับผึ้งแต่จะเล็กกว่าผึ้ง  ผมไม่เคยลืมวันนั้นเหนื่อยมากเลยและทางที่ไปทุระกันดานมากๆ ”  ชันโรง คือ เพื่อนร่วมโลกที่น่ารักและเป็นมิตรกับเราตลอดมา