วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 26, 2553

โพรงนกโพรงดิน












ธรรมชาติการทำรังของนกในบ้านเรา อาจแยกได้เป็นสองประเภท ประเภทแรก นกทำรังบนต้นไม้ซึ่งมีสองแบบคือสร้างรังบนกิ่งไม้สูงบ้าง ต่ำบ้าง ตามอัธยาศัยของนกแต่ละชนิด เช่นนกเขาชอบทำรังต่ำใกล้พื้นดิน ส่วนเหยี่ยวชอบทำรังสูง ๆ บนยอดไม้ อีกกลุ่มคือทำรังในโพรงต้นไม้ อาจเป็นโพรงไม้ตามธรรมชาติ เช่นนกเงือก หรือสร้างโพรงขึ้นมาใหม่ เช่น นกตีทอง นกโพระดก ใช้ปากเจาะต้นไม้เป็นโพรงเพื่อทำรัง ประเภทที่สองคือนกที่ทำรังบนดิน มีทั้งที่ใช้พื้นดินเป็นรังเลยไม่ตกแต่งใด ๆ เช่น นกกระแตแต้แว้ด นกบางชนิดก็หาเศษหญ้าใบไม้มาทำเป็นรังบนพื้นดิน แต่มีนกบางชนิดเช่น นกจาบคา นกกะเต็น ทำรังโดยการขุดโพรงดิน มีโพรงหลอก โพรงจริง โพรงดินที่นกทั้งสองชนิดนี้ทำรังต้องเป็นบริเวณที่พื้นผิวดินมีความชันถึง 90 องศา นกทั้งสองชนิดนี้ชอบมาก เพราะรังจะมีความปลอดภัยจากศัตรูของมัน
ที่ฐานเรียนรู้ “ฐานดินเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ขุดหลุมดินเพื่อให้นักศึกษา ศึกษาชั้นของดิน เวลาผ่านไป เจ้านกกะเต็นอกขาวยึดทรัพย์เสียแล้ว มาขุดบริเวณขอบของหลุมดินเพื่อทำรังวางไข่ไว้จำนวน 4 ฟอง ฐานดินเลยผนวกเป็นฐานนกกะเต็นอกขาวไปพร้อม ดีเหมือนกันเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นวิธีการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 22, 2553

น้ำตกปางสีดา เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2553























อุทยานแห่งชาติปางสีดา ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว จุดเด่นของอุทยานแห่งชาติแห่งนี้คือแหล่งดูและศึกษาผีเสื้อ ถือว่าเป็นอุทยานที่มีผีเสื้อชุกชุมรองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเท่านั้น





























































































































































































































































วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 19, 2553

ค่ายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม







“กิจกรรมค่าย” เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเข้มข้น กระชับ ในช่วงเวลาที่จำกัดทีมงานที่จัดกิจกรรมค่ายได้มีประสิทธิภาพเป็นกลุ่มคนที่มีการวางแผนการดำเนินกิจกรรมอย่างดียิ่ง อาจกล่าวได้ว่ามีการวางแผนทุกช่วงเวลา เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นหนึ่งวัน เป็นสองวันเป็นสามวันสองคืน ทุกช่วงเวลาไม่มีช่องว่าง รอยโหว่ให้ผู้เข้าค่ายได้เฉื่อยชา ทุกอย่างดำเนินไปจนหมดเวลาของกิจกรรมค่าย ผลลัพธ์ของกิจกรรมค่ายตอบสนองออกมาจากสายตาของทุกคนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความภาคภูมิใจในองค์ความรู้ที่ได้รับ กล้าคิด กล้าแสดงออก การแสดงภาวะผู้นำ ภาวะผู้ตามที่ดี การมีมนุษย์สัมพันธ์ ความเอื้ออาทร สุดท้ายเป็นรอยยิ้มของมิตรภาพเมื่อต้องจากกัน เพื่อไปทำหน้าที่ของตน นี่แหละคุณค่าของ “กิจกรรมค่าย”

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 18, 2553

ทางตัน





ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนคือปัจจัยสี่ ซึ่งประกอบด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค รวมถึงปัจจัยเสริม คือความสนุกสนานทางอารมณ์ เช่น การแสดง การร้องรำทำเพลง กีฬาและการแข่งขัน อนุสรณ์ที่ยืนยันว่ามนุษย์ชอบการแสดงและการกีฬาคือโคลิเซียม เป็นสนามกีฬาที่จุผู้คนได้หลายหมื่นคนเพื่อชมการต่อสู้ระหว่างนักรบที่เรียกว่ากลาดิเอเตอร์ หรือระหว่างนักรบกับสัตว์ดุร้ายเป็นอนุสรณ์อยู่ที่กรุงโรมประเทศอิตาลีมาหลายพันปีแล้ว
ปัจจุบันมนุษย์เกือบทั่วโลกมีสนามกีฬาชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างใหญ่โตอะไร แต่เป็นสนามกีฬาที่ใช้พื้นที่มากนับเป็นพันไร่ต่อหนึ่งสนาม และสนามกีฬาประเภทนี้สอดแทรกอยู่ในป่าในธรรมชาติที่สวยงาม สนามกีฬาชนิดนั้นคือ “สนามกอล์ฟ” สนามกอล์ฟเป็นสนามกีฬาที่ใช้น้ำมาก ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงและวัชพืชมาก สนามกอล์ฟจึงเป็นปฏิปักษ์กับนักอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตลอดมา
การต่อสู้ระหว่างนักอนุรักษ์ธรรมชาติและกิจการสนามกอล์ฟไม่มีวันจบ ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้ ประการแรกความสนุกทางการกีฬาเป็นความต้องการของมนุษย์ ประการที่สองมีบุคคลที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับสนามกอล์ฟมาก เช่นเจ้าของสนาม เจ้าของผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องเล่น ผู้เล่น แคดดี้ สื่อประชาสัมพันธ์รายการโทรทัศน์
สรุปว่า ให้รอต่อไปเมื่อขาดน้ำสนามกอล์ฟจะกลับคืนเป็นทุ่งหญ้าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ยังดีที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างให้รื้อถอน

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 17, 2553

การนั่งห้างส่องสัตว์ครั้งแรก








วันนี้ทั้งวัน (15 กุมภาพันธ์) อุณหภูมิที่อุทยานแห่งชาติตาพระยาสูงเป็นพิเศษ อากาศอบอ้าว พอใกล้ค่ำอากาศเย็นลง เจ้าหน้าที่อุทยานมาชวนว่า “อาจารย์ครับไปส่องกระทิงกันไหม เผื่อว่าอาจารย์อาจได้ถ่ายภาพกระทิงสวยๆ” ไปที่ไหนล่ะ ที่ห้างส่องสัตว์บริเวณรอบ ๆ ห้างส่องสัตว์มีหญ้าระบัด(งอกใหม่) ซึ่งเกิดจากการชิงเผาของเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อเป็นอาหารของสัตว์กินพืช งอกเต็มพื้นที่
คณะเรานำรถไปจอดไว้ห่างจากห้างและเดินขึ้นไปอยู่บนห้างส่องสัตว์สูงประมาณ 15 เมตร เวลาเกือบมืด ไปกันเพียงสี่คนเท่านั้น เพราะต้องการความเงียบ บนห้างส่องสัตว์มองกว้างเป็นพาโนรามาทั้งสามด้านเห็นได้ไกลกว่าสี่ร้อยเมตร พวกเราจดจ่อจ่องไปคนละด้านทุกคนเงียบชนิดได้ยินเสียงหายใจของตัวเอง ใกล้มืดเสียงไก่ป่าขันแต่ไกล ด้านโน้น ด้านนี้ นกหัวขวานเจาะกิ่งไม้ดังระรัว โพระดกร้อง “กลัวตก กลัวตก” ก้องป่า กะปูด กาเหว่า กระแตแต้แว้ด เจ้าขุนทอง ส่งเสียงสดใสอยู่ไกล ๆ เริ่มโพล้เพล้ ขณะที่ทุกอย่างใกล้ความจริง เสียงหนึ่งก็ดังคำรามกึกก้อง เสียงฟ้าร้องเสียงฝนดังต่อเนื่อง ฝนโปรยปรายไปทั่วทุ่งหญ้าระบัด เจ้าหน้าที่อุทยานหันมายิ้มแล้วพูดว่า” อาจารย์ไม่ต้องเสียใจนะครับที่ไม่เจอกระทิง อาจารย์เป็นผู้นำฝนมาให้อุทยานแห่งชาติตาพระยาซึ่งแห้งแล้งมาเป็นเดือนแล้วครับ”.... โอ เค เป็นวิธีให้กำลังใจพอใช้ได้

เถาวัลย์น้ำ




ถาวัลย์เป็นพรรณไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเกาะเกี่ยวพันกับต้นไม้ทั่วไป ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในป่าโดยเฉพาะป่าดิบ ไม่ว่าจะเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ถ้าไปพบในป่าภาคเหนือ คนเหนือ เรียกเถาวัลย์ว่า เครือเขา ถ้าเป็นเถาวัลย์น้ำก็เรียกเครือเขาน้ำ
เถาวัลย์น้ำเป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเถากลมอ่อนอวบน้ำ มีรูพรุนอยู่ในเถา เก็บน้ำอยู่ข้างใน พบทั่วไปในป่า เถาวัลย์น้ำมีประโยชน์สำหรับนักเดินป่าที่หลงป่าและขาดน้ำ วิธีรักษาชีวิตต้องอาศัยเถาวัลย์น้ำปะทังความกระหาย วิธีการดื่มน้ำจากเถาวัลย์น้ำ เจ้าหน้าที่อุทยานได้สาธิตดังนี้ ตัดเถาวัลย์น้ำยาวประมาณหนึ่งเมตรตัดให้เป็นปากฉลามทั้งโคนและปลาย ชูด้านปลายให้สูงไว้น้ำจะค่อย ๆ ไหล มาตามปากฉลามส่วนโคน หากน้ำหยุดไหลก็ตัดปากฉลามด้านบนให้สั้นลงมาอีก ทำเช่นนี้จนกว่าน้ำจะหมด เถาวัลย์น้ำยาวหนึ่งเมตรอาจได้น้ำประมาณหนึ่งในสามของแก้วกาแฟ พอปะทังชีวิตของนักผจญภัยที่มีหัวใจรักป่าได้
ขอขอบคุณ คุณเกษม คงตะเคียน,คุณพนม เวชการ,คุณประวิทย์ แก้วประโคน ผู้สาธิตเรื่องเถาวัลย์น้ำ

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 16, 2553

การปรับตัวเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์





เมื่อเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นกลางฤดูฝนของปีที่แล้ว ได้มาศึกษาธรรมชาติความเป็นไปของอุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ได้บันทึกสิ่งที่พบเห็นไว้ เรื่องหนึ่งคือ “บัวบา” บัวบาเป็นบัวชนิดหนึ่ง ใบกลมขนาดเท่าจานรองแก้ว ดอกมีสีขาวเกสรเหลือง ขนาดประมาณเหรียญห้าบาท.....ปีนี้ย้อนกลับเข้าไปศึกษาอุทยานแห่งชาติตาพระยาอีกครั้ง แต่เป็นช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศกลางวันร้อนอบอ้าว อุณหภูมิวัดได้ประมาณ 34 องศาเซลเซียส น้ำในบึงบัวบาแห่งเดิมแห้งเกือบหมด บัวบายังมีชีวิตอยู่ออกดอกเหมือนเดิมเพียงแต่ว่าดอกสีขาวเกสรเหลืองของบัวบามีขนาดเล็กลงเท่ากับเหรียญยี่สิบห้าสตางค์ และใบมีขนาดเหรียญห้าบาทเท่านั้น ช่างน่าชื่นชมบัวบาที่สามารถปรับตัวเปลี่ยนขนาดได้ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งฝนเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ มนุษย์เราคงไม่มีความสามารถเช่นบัวบาหากเกิดวิกฤตปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียไปแบบฉับพลัน มนุษย์ทุกผู้คนต้องจากโลกนี้ไปพร้อมกัน ไม่เหลือเผ่าพันธุ์ไว้อีกเลย เราควรตระหนักถึงสมดุลธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไว้ตั้งแต่ ณ บัดนี้เถิด

เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติตาพระยา







วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ ณ อุทยานแห่งชาติตาพระยาอากาศค่อนข้างร้อน คณะศึกษาสำรวจธรรมชาติอุทยานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อุทยานจำนวน 3 คน เป็นคณะนำทาง บุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจำนวน 4 คน อาสาสมัครอาวุโสสองสามีภรรยาจากประเทศญี่ปุ่นร่วมศึกษาสำรวจ การสำรวจคือการเดินป่าศึกษาสิ่งที่พบเห็น ผลของการศึกษาสำรวจพบสัตว์ป่าไม่มาก นกที่พบเป็นเหยี่ยวรุ้ง เหยี่ยวนกเขา พบกระรอกขาวที่ถูกเหยี่ยวจิกกินเหลือซากส่วนหัวและกระเพาะอาหารทิ้งไว้ ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบชะมดข้างลาย และรอยกระทิงเป็นรอยเก่า รอยที่พบใหม่ ๆ เป็นรอยหมูป่าลงไปกินน้ำบริเวณน้ำซับ
สำหรับกิ้งกือกระสุนพระอินทร์และแมงมุมที่เคยพบอยู่เป็นจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนของปีที่แล้วไม่พบเลย
สรุปว่าทุกช่วงเวลาในรอบปี ธรรมชาติมีการปรับเปลี่ยนทั้งพืชและสัตว์ปรับตัว ตามอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝนซึ่งมีผลต่อห่วงโซ่อาหารในการดำรงชีวิต

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 11, 2553

สัญชาตญาณไก่ป่า




วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ อากาศที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาในยามเย็นไม่เย็นเท่าใด หากเป็นวันทำงานปกติอุทยานค่อนข้างเงียบ อาจพบเจอสัตว์ได้ง่าย เช่นเย็นวันนี้ พอใกล้มืด พบไก่ป่าขันก้องกังวาน บินขึ้นไปนอนบนต้นไม้ โดยบินขยับสูงขึ้นเป็นระยะ พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป ยามค่ำคืนความเงียบปกคลุม เสียงหริ่งเรไรดังแทรกความเงียบเป็นระยะๆทั้งคืน เวลาตีสี่ครึ่งผู้เขียนและเพื่อนตื่นมารับอากาศบริสุทธิ์ พอเราตื่นไก่ป่าที่พบในตอนเย็นขันเสียงดังทันที และมีเสียงไก่ป่าในที่ห่างไกลขันตอบอีก 2-3 ตัวในทิศทางที่ต่างกัน เพื่อนที่มาด้วยเป็นนักชีววิทยาที่ชอบเลี้ยงไก่เป็นชีวิตจิตใจ เล่าว่า “ที่บ้านข้าเลี้ยงไก่ป่าตุ้มหูขาวพันธุ์อุทยานแห่งชาติเขาสอยดาวไว้ตัวหนึ่ง กลางคืนพอข้าตื่นจะเข้าห้องน้ำเพียงขยับตัวมันขันเสียงก้องทุกครั้ง แปลกดีว่ะ ข้าว่ามันเป็นสัญชาตญาณระวังไพรของไก่ป่านะ เมื่อเกิดความผิดปกติที่ไก่ป่ารับรู้ได้ มันก็ขันเลย” สัญชาตญาณระวังไพรเป็นสิ่งที่ดี ที่จริงแล้วสัญชาตญาณชนิดนี้เคยมีอยู่ในมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ ปัจจุบันมนุษย์ขาดการระวังภัยต่อเหตุการณ์ที่มากระทบกับตน จึงทำให้มนุษย์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเสมอๆ

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 10, 2553

ริ้วรอยชีวิตของพ่อ แม่



การเดินทางไปราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนครั้งนี้ ตลอดเส้นทางที่คดโค้งสูงต่ำอยู่บนสันเขาอยู่บนภูเขา คนขับรถก็ทำหน้าที่ของเขาไป ผู้เขียนอยู่ในภวังค์ความคิดย้อนไป 50 ปี ที่ผ่านมา เส้นทางที่กำลังเดินทางเส้นนี้ เป็นหยาดเหงื่อแรงกายของพ่อซึ่งเป็นหน่วยบุกเบิกการสร้างทางของกรมทางหลวงแผ่นดิน พ่อทำงานอยู่ในป่าเขานับเป็น 10 ปี เพื่อแลกเงินเดือนรายได้ประจำส่งให้ลูก ๆ ทั้งหกคนได้รับการศึกษา บัดนี้พ่อจากพวกเราไปแล้ว เส้นทางที่พ่อสร้างทำให้ผู้คนนับแสน นับล้านได้ใช้เดินทางคงเป็นบุญส่งให้พ่อสู่สรวงสวรรค์ เมื่อเสร็จภารกิจแวะไปเยี่ยมแม่ที่จังหวัดลำปาง หญิงเหล็กที่เลี้ยงลูกทั้งหก แม่ค้าขายเป็นรายได้อีกทางช่วยพ่อ ลูกได้เรียน ได้กินอิ่ม แม่ส่งให้ลูกเรียนจนจบโดยไม่เป็นหนี้สิน แม่ในวัย 80 กว่าปี ยังมีรอยยิ้ม และริ้วรอยชีวิตปรากฏในดวงตาของท่านอยากบอกว่า “รักแม่คิดถึงพ่อจังเลย”

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 09, 2553

สายน้ำกับความคิด











ตีสี่ ของเช้าวันที่ 30 มกราคม ริมน้ำแม่แจ่ม ณ อุทยานแห่งชาติออบหลวง ยังไม่สว่าง แต่รอบบริเวณ สว่างด้วยแสงจันทร์ พระจันทร์กำลังจะลับเหลี่ยมเขา เมื่อคืนนอนฟังเสียงน้ำไหลจนหลับไป น้ำไหลไปไหนหนอ พัดพาอะไรไป สิ่งที่พัดพาไปล้วนแล้วแต่ปฏิกูลทั้งสิ้นใช่ไหม น้ำไม่เคยไหลย้อนกลับ สิ่งที่ไหลไปกับน้ำจึงสะสมรวมกันอยู่ที่ที่หนึ่ง ที่ตรงนั้นคงไม่ใช่ที่ที่พึงปรารถนา ถ้าเปรียบสิ่งที่ไหลไปกับน้ำเป็นความชั่ว อาจกล่าวได้ว่าความชั่วทำง่ายเกิดง่าย ไม่ต้องฝืนอะไรอยู่เฉยๆ ความชั่วก็มักมาหาและพาเราไป ความชั่วทวีขึ้น เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และความดีละ ความดีเหมือนกับสิ่งที่พยายามทวนกระแสน้ำใช่ไหม ต้องออกแรง ต้องอดทน ต้องพยายาม และมีเป้าหมาย ดังเช่นคนที่พายเรือทวนน้ำเพื่อไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ ฉะนั้น สรุปว่า ทำความดีต้องอดทน ต้องออกแรงกระทำ มีความเพียร มีเป้าหมาย ความชั่วไม่ต้องทำก็ยังมีสิ่งมาเกาะเกี่ยวพัดพาไปดังปฏิกูลที่ไปตามสายน้ำ ฉันนั้น

อุทยานแห่งชาติออบหลวง















“ออบหลวง” ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 68 ของประเทศ ออบหลวงเป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ ออบ แปลว่า แคบ หลวง แปลว่า ใหญ่ ฉะนั้น ออบหลวงจึงแปลว่า ช่องแคบใหญ่ ช่องแคบทั่ว ๆ ไปมักมีน้ำไหลผ่าน ที่ออบหลวงก็เช่นกัน ช่องหน้าผาสูงชันกว่า 30 เมตร มีน้ำแม่แจ่มไหลผ่านกลางส่วนที่แคบที่สุดห่างกันเพียง 2 เมตรเท่านั้น เมื่อทำสะพานข้ามช่องแคบนี้จึงดูแล้วท้าทายตื่นเต้นและสวยงามไปพร้อมในตัวของมัน อุทยานแห่งชาติออบหลวงอยู่ห่างจากอำเภอฮอดประมาณ 15 กิโลเมตร บนเส้นทางหมายเลข 106 เส้นทางจากอำเภอฮอดไปอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อุทยานแห่งชาติออบหลวงอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 360 เมตร
ช่วงกลางฤดูหนาวปลายเดือนมกราคมน้ำแม่แจ่มยังไหลส่งเสียงดัง เจ้าหน้าที่อุทยานยังคงปักป้ายห้ามลงเล่นน้ำ แต่สามารถกางเต็นท์นอนริมน้ำแม่แจ่มได้อย่างปลอดภัย
ถ้าถามว่าความโดดเด่นของอุทยานแห่งชาติออบหลวงคืออะไร อาจสรุปเป็นวลีสั้น ๆ ว่า เดินทางบนเส้นทางคดโค้ง ป่าโปร่งผลัดใบ ฟังเสียงน้ำไหลกึกก้อง ท้องฟ้าใสสีคราม ข้ามเหวตื่นตา เดินป่าสบายๆมีไผ่ให้เรียนรู้
ข้อสังเกต เมื่อยืนอยู่ริมน้ำแม่แจ่มที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงซ้ายมือ เรียกปากออบ ถ้าจะดูออบหลวงต้องเดินไปทางขวามือประมาณ 150 เมตร ซึ่งมีขนาดสูงกว่า สวยกว่าปากออบด้วย

ใบตองตึง











ต้นตองตึง เป็นไม้ป่ายืนต้นใบลักษณะคล้ายต้นสักหรือต้นชาดในภาคอีสาน แต่ใบตองตึงไม่มีขน ใบที่ยังไม่แก่คนในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน นิยมเก็บมาห่อของเช่นห่อข้าวห่อ ห่อของจิปาถะคล้าย ๆ ใบตอง หรือใบบัวในภาคกลางนั่นแหละ ใบตองตึงเมื่อแก่และหล่นจากต้นเก็บมาจำนวนมาก ๆ นำมาทำเป็นตับมุงหลังคากระท่อมคล้ายจากหรือแฝก มีความทนทานได้ 4-5 ปี คุณสมบัติกระท่อมที่มุงด้วยใบตองตึง อยู่สบายไม่ร้อนที่บ้านรักไทยชาวไทยเชื้อสายจีนยูนาน ทำบ้านด้วยดินเหนียวมุงหลังคาด้วยใบตองตึงอยู่สบายกลมกลืนกับธรรมชาติเมื่อผุพังก็ย่อยสลายดูดีมีศิลปะน่าชมไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

เหมืองส่งน้ำเพื่อการเกษตรแบบขั้นบันได











เมื่อเดินทางมาจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากเดินทางโดยรถยนต์สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการขับรถคดโค้งสูงๆ ต่ำๆ ไปบนภูเขา อาจขึ้นไปสูงถึง 1400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ผ่านหมู่บ้าน ชุมชนซึ่งเป็นที่ราบลุ่มกลางขุนเขาเป็นเช่นนี้ตลอด ที่ตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 250 เมตรเท่านั้น จากวิถีชุมชนที่อยู่ในหุบเขานี้เองทำให้การเกษตรกรรมของแม่ฮ่องสอนมีลักษณะทำเป็นขั้นบันใด ทำเป็นแปลงคันนาขนาดเล็กลดหลั่นกัน คันนาบริเวณหุบเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอาหาร ระบบให้น้ำ ใช้วิธีการของภูมิปัญญาบรรพบุรุษคือการกักน้ำด้วยฝายแม้วจากที่สูงส่งน้ำมาตามเหมืองเล็ก ๆ ขนาดของเหมืองกว้างประมาณ 1 ฟุต แยกลงไปในนาลดหลั่นกัน ไม่ต้องใช้แรงงาน หรือพลังงานเครื่องจักร ใช้วิธีธรรมชาติของเหลวย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเพื่อใช้ประโยชน์ในการผ่อนแรง

บ้านรักไทย



























“บ้านรักไทย” เป็นชื่อชุมชนชาวจีนยูนานที่อพยพมาอยู่บนภูเขาในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,150 เมตร การอพยพของคนไทยเชื้อสายจีนกลุ่มนี้ (ได้บัตรประชาชนแล้ว) เข้ามาสมัยปฏิวัติในจีน มาพร้อมกับกองพล 93 สิ่งที่ชาวยูนานนำติดตัวมาด้วยคือพันธุ์ชาที่ชื่ออู่หลง เมื่อชงแล้วมีกลิ่นหอมเฉพาะ รสชาติกลมกล่อมชุ่มคอ ผู้เขียนไม่ค่อยถนัดดื่มชายังรู้สึกชอบชาที่หมู่บ้านรักไทยแห่งนี้.... เดินชมร้านชาที่มีหลายร้านตกแต่งบรรยากาศเหมือนเมืองจีนเกือบทุกแห่ง ทุกร้านผนังทำด้วยดินเหนียวหลังคามุงด้วยใบตองตึงเป็นส่วนใหญ่ เดินชิมชาไป 2-3 ร้านไปหยุดนั่งคุยกับลูกชายของร้านชาปิงปิง ชื่อ อาฉั่ง อายุประมาณ 16-17 ปี อาฉั่ง หรือ ชาญวิทย์ จบชั้นมัธยมต้นแล้ว อาฉั่งช่วยแม่ทำร้านชาต้อนรับนักท่องเที่ยว ร้านชาปิงปิงมี Guest house.อยู่ 6-7 หลัง อาฉั่งมีอัธยาศัยดีมากหลังจากไปสั่งให้แม่ทำอาหารยูนานชื่อหมูพันปีและผัดยอดถั่วลันเตาให้ผู้เขียน อาฉั่งกลับมาบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง ทั้งความเป็นมาของหมู่บ้าน จำนวนครอบครัว อาฉั่งเล่าว่ารวมกันประมาณ 300 กว่าครอบครัว มีผู้คนอยู่ประมาณ 1,500 คน อาชีพส่วนใหญ่ทำไร่ชาบนภูเขา โดยเฉพาะชาพันธุ์อู่หลง งานหนักทั้งหมดผู้ชายทำ งานบ้าน งานเก็บใบชาผู้หญิงทำ
อาฉั่งตั้งข้อสังเกตว่า 2-3 ปี ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมบ้านรักไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ทุกคนมีรายได้ แต่สิ่งที่พบคืออ่างเก็บน้ำของหมู่บ้านมีสีดำคล้ำกว่าเดิม เกรงว่าน้ำจะเสีย บางปีถ้าน้ำมากล้นผ่านฝายไปก็ดี ถ้าน้ำไม่มากน้ำมีสีดำเช่นปีนี้
นี่เป็นสำนึกหนึ่งของเด็กหนุ่มที่เฝ้ามองชุมชนของตน ผู้นำหมู่บ้านจะคิดบ้างหรือเปล่าไม่แน่ใจ
ขอขอบคุณ ผู้แนะนำสถานที่บ้านรักไทย ท่าน ผอ.ถนิต แท่งทองคำ กศน.แม่ฮ่องสอน

บ้านรวมไทย(ปางอุ๋ง)


















บ้านรวมไทยหรือคนเหนือเรียกบ้านปางอุ๋ง ชุมชนบ้านรวมไทยไม่ใช่ชาวจีนยูนานเหมือนบ้านรักไทย แต่เป็นชาวไทยใหญ่ เป็นส่วนใหญ่ การเดินทางขึ้นไปบ้านปางอุ๋ง ทางแคบกว่า ชันกว่า และสูงกว่า บ้านรักไทย ข้อแนะนำหากจะเดินทางต้องตรวจสภาพรถให้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ คนขับมีประสบการณ์ มีความคุ้นกับรถที่ตนขับ เพื่อความปลอดภัย สภาพทั่วไปของปางอุ๋งเป็นหมู่บ้านที่รองรับนักท่องเที่ยว เพื่อมาพักค้างแรม จึงปรากฏมี Home stays อยู่มาก พบวัยรุ่นชาวไทยใหญ่กลางเต็นท์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าอยู่บริเวณริมอ่างเก็บน้ำปางอุ๋ง บรรยากาศเป็นสวนสนภูเขาอยู่ริมอ่างน้ำ ธรรมชาติสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง อาจเหมาะกับ หนุ่มสาวที่ชอบการผจญภัยชอบบรรยากาศธรรมชาติที่คล้ายประเทศในแถบยุโรป

ถนนคนเดินที่อำเภอปาย















แม้ว่าคืนวันนี้เป็นคืนวันอาทิตย์ ถนนคนเดินที่อำเภอปาย ก็ไม่ได้ซบเซาเท่าใด ร้านค้าบนถนนยังเหมือนเดิม ชาวต่างชาติทั้งผิวขาว ผิวดำ เดินท่องเที่ยวดูมีความสุข สิ่งที่ดูต่างไปจากปีที่แล้วคือมีร้านอาหารมุสลิม ชื่อร้านอาหรับราตรีเพิ่มขึ้น ลูกค้ามีทั้งฝรั่งและแขก มีคลินิกคุณหมอรักษาเด็ก พ่อแม่อุ้มลูกนั่งรอล้นออกมาถึงริมถนน วณิพกเล่นดนตรีมีเพิ่มขึ้นที่นับได้กว่า 7 จุด ที่น่ารักเห็นจะเป็นตำรวจจราจรสวมชุดตำรวจเป็นวณิพกเล่นดนตรีรับบริจาคเงินช่วยเด็กชาวเขา ผู้คนบริจาคมากเหมือนกัน ถนนคนเดินเป็นสถานที่กระจายรายได้จากผู้มีเงิน นักท่องเที่ยวทั่วประเทศ ทั่วโลก สู่ชุมชนสังคมชนบทที่มีธรรมชาติเป็นทรัพย์สมบัติเป็นจุดขาย
ข้อควรคำนึง สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจคือการจัดสรรงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภค โดยเฉพาะถนนหนทาง แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่ง เพื่อความปลอดภัยต่อนักเดินทางที่นำเงินไปกระจายรายได้ นับเป็นการพัฒนาประเทศในองค์รวมวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง

นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่











เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ตั้งอยู่ก่อนถึงอำเภอปายประมาณ 12 กิโลเมตร เดินทางมาจากแม่ฮ่องสอนแต่เช้า เวลาบ่าย 3 โมงกว่าถึงเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เหนื่อยจากการเดินทางมาเกือบทั้งวัน ตัดสินใจพักค้างคืนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ หลังจากอาบน้ำอุ่นกระตุ้นความสดชื่นให้ร่างกาย ชงกาแฟดำ (ไม่ใสครีม ไม่ใส่น้ำตาล) ถือติดมือ คล้องกล้องส่องทางไกลตัวเดิม Olympus เดินไปรอบที่พัก สำรวจดูว่ามีนกอะไรให้ดูบ้าง ประมาณชั่วโมงกว่าพบนกเจ็ดชนิด เริ่มจากบริเวณชายป่าเห็นขณะที่นกบินขึ้น คิดเข้าข้างตัวเองว่า เป็นเจ้าแต้วแล้วสีน้ำเงินเพศผู้เพราะเห็นสีน้ำเงิน ด้านหลังชัดเจน (ถ้าผิดก็ขออภัยนะ) ตัวที่สองที่พบคือนกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่พบสามตัว ไต่ขึ้น ไต่ลงรอบกิ่งไม้ มีตัวหนึ่งที่จับหนอนได้และจัดการเรียบร้อย ตัวที่สาม ตัวทีสี่ ตัวที่ห้า ได้แก่กาฝากก้นเหลือง เขียวคราม เหลืองก้านตองปีกสีฟ้า ตัวที่หกเจ้าแซงเซวสีเทาพบเย็นมาก ๆ แล้ว และปิดท้ายด้วยนกกระเบื้องผา ส่วนใหญ่นกที่พบเป็นเพศผู้เกือบทั้งหมด
เพิ่มความตื่นเต้นอีกนิดขณะเดินทาง รถวิ่งมาจากอำเภอปาย ประมาณ 36 กิโลเมตร งูจงอางยาวกว่า 2 เมตร จะข้ามถนนแต่หันกลับนับเป็นความตื่นเต้นครั้งที่สองที่พบงูจงอางในธรรมชาติ

อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้











ระหว่างเส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปจังหวัดพะเยา ระยะทางประมาณร้อยกว่ากิโลเมตร ผ่านอำเภอเวียงป่าเป้า เส้นทางสวยงามวิ่งผ่านอุทยานแห่งชาติหลายแห่งรวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้วย แวะพักรถที่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ เมื่อเดินศึกษาพบว่าอุทยานแห่งนี้ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นอุทยานแห่งชาติที่ปกป้องธรรมชาติทางน้ำ คือน้ำแม่ตะไคร้ ในเดือนมกราคมน้ำแม่ตะไคร้ใสมองเห็นก้อนหินใต้น้ำ เห็นฝูงปลาชื่อปลาจาดเป็นปลาเกล็ดคล้าย ๆ ปลากระบอกตัวโตกว่าปลาทูนิดหน่อยและยาวกว่าปลาทู 2 นิ้ว นับหมื่น ๆ ตัว ดูแล้วเพลิดเพลินปลาจาดเป็นปลาคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า บริเวณสะพานไม้มีที่นั่งชมนก ชมปลา นกที่พบมากที่สุด คือ ปรอดหัวโขน ถือเป็นแหล่งศึกษานกปรอดหัวโขนได้ บนต้นไม้ใหญ่ของอุทยานแห่งนี้ นกปรอดหัวโขนหยอกล้อ ปล่อยตัวตกลงจากกิ่งไม้สูง ดูแปลกและน่ารัก
สรุปว่า อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้เป็นแหล่งศึกษาปลาจาดและนกปรอดหัวโขนได้

ไม้กลายเป็นหินอยู่ใต้ดินที่จังหวัดตาก
















เมื่อเดินทางจากจังหวัดลำปางไปกรุงเทพมหานคร ก่อนถึงจังหวัดตากประมาณ 30 กิโลเมตร มีป้ายแยกซ้ายมือบอกว่า “วนอุทยานไม้กลายเป็นหิน ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร” ถนนปูนเรียบลัดเลาะผ่านป่าโปร่งสองข้างทางไม่มีบ้านผู้คน บริเวณพื้นดินมีก้อนหินก้อนกลม ๆ ขนาดมะพร้าวน้ำหอมที่ปอกเปลือกแล้วเต็มไปหมด สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นท้องน้ำมาก่อนในอดีต ปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว เมื่อไปถึงบริเวณที่ขุดพบต้นไม้กลายเป็นหินพบความอลังการของต้นไม้ในโลกดึกดำบรรพ์ลำต้นเปลาตรง เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1.80 เมตรวัดได้ยาวกว่า 72 เมตร นอนสงบนิ่งมากว่าล้านปี มีคำถามตามมาต้นไม้กลายเป็นหินได้อย่างไร คำตอบอธิบายว่าไม้กลายเป็นหินเกิดจาก...เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อธิบายคงยาวมากให้ไปศึกษาและสืบค้นจากแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ดู นอกจากการศึกษาต้นไม้กลายเป็นหินแล้ว บริเวณแหล่งเรียนรู้นี้ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเกือบจิ๋ว คือตัวเล็นหรือกระเล็นเป็นกระรอกพันธุ์เล็กชนิดขนปลายหูสั้นวิ่งอยู่ทั่วไปให้เราได้ศึกษาเรียนรู้