หลายปีที่ผ่านมา เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของธรรมชาติในสวนประดู่ป่าที่จังหวัดนครนายก โดยเน้นไปที่ต้นไม้และนกเป็นหลัก จากการสังเกตพบว่า การจัดการเกี่ยวกับต้นไม้ เพียงแต่ตัดหญ้าเสมอ ๆ ปล่อยให้หญ้าทับถมกันเป็นปุ๋ย ดิน ดีขึ้นๆ จากที่นาซึ่งเป็นดินเหนียวไม่เหมาะกับการปลูกต้นไม้ เวลาผ่านไปสิบกว่าปีต้นไม้บางชนิดที่เป็นไม้ในถิ่นภาคใต้ก็สามารถเติมโตได้ดี เช่น ต้นเทพธาโร ต้นจันทน์กะพ้อ แม้แต่ต้นสะตอ ต้นมันปลา พืชกินฝักกินใบก็เติมโตได้ เมื่อต้นไม้เริ่มโตมีความเป็นป่ามากขึ้น กอปรกับมีต้นไม้ให้ผลเช่น ต้นหว้า ต้นตะขบ ต้นมะเม่า ทำให้นกมีแหล่งที่อยู่อาศัยขยายพันธุ์ นกเขา นกเอี้ยงสาริกา นกปรอดสวน นกกางเขน นกอีแพรด นกกิ้งโครงคอดำ รวมถึงนกกาเหว่าซึ่งไข่ให้นกกิ้งโครงคอดำฟักและเลี้ยงลูกให้ด้วย เคยนับจำนวนชนิดนกที่พบในสวนประดู่ป่า ปีที่แล้วนับได้ 19 ชนิด ปีนี้นับได้ 25 ชนิด ชนิดเด่นที่เพิ่มขึ้นได้แก่ นกจับแมลงคอแดงซึ่งเป็นนกอพยพ นกบั้งรอกใหญ่หางยาวสวยงามบินในระดับเรือนยอดเหมือนนกกาเหว่า นกกาน้ำเล็กแอบมาลงสระและนกกินปลีอกเหลืองเฝ้าประจำต้นพู่นายพลกินน้ำหวานจากกระเปาะดอก
วัฏจักรหรือวงจรชีวิตของนกส่วนใหญ่สั้น การให้โอกาสโดยการปลูกต้นไม้เป็นที่กำบังต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหาร นกสามารถอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ได้ ทำให้จำนวนชนิดของนกเพิ่มมากขึ้น คนจะได้อาศัยความน่ารักและความงามของนกเพื่อความสุนทรีย์ ทำให้ชีวิตมีความนุ่มนวลและผ่านกาลเวลาที่สับสนวุ่นวายจากภาระหน้าที่ไปได้ในระดับหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น