วันจันทร์, พฤศจิกายน 01, 2553

โคมลอย



“โคมลอย” คำนี้หากกล่าวกับคนในภาคเหนือ ทุกคนเข้าใจเป็นอย่างดี ถึงความหมาย ถึงรูปแบบของกิจกรรมว่าเป็นอย่างไร แต่สำหรับคนไทยในภาคอื่นแล้ว อาจต้องขยายความถึงกิจกรรมและความเชื่อ ซึ่งเป็นที่มาของ “โคมลอย”
ในอดีต (50 ปีที่ผ่านมา) คนในภาคเหนือมองเห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งบนท้องฟ้ายามบ่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะช่วงเวลาใกล้วันเพ็ญเดือนสิบสอง วันลอยกระทง ปรากฏการณ์นั้นคือโคมลอยหลากสีลูกใหญ่ ๆ คำว่าใหญ่คือขนาดประมาณ กว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 2 เมตร ลอยอยู่บนท้องฟ้าซึ่งถูกปล่อยจากวัดเกือบทุกวัด โคมลอยสมัยนั้นเป็นโคมลอยที่บรรจุอากาศร้อนเข้าไปในโคมกระดาษที่ทำจากกระดาษทำว่าว โดยการเผาหญ้าหรือฟางดิบให้เกิดควันสีขาว เมื่อควันเข้าไปในโคมกระดาษมากพอ ควันร้อน สีขาวซึ่งมีมวลเบาก็จะพาโคมกระดาษลอยขึ้นไปในอากาศเป็นโคมลอย ลอยได้สูงและไปไกลสุดตาโคมลอยชนิดนี้ไม่มีอันตรายใด ๆ
ความเชื่อในเรื่องการลอยโคมลอยเป็นความเชื่อในทางพุทธศาสนาของคนล้านนา ถึงการบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณี (มวยผม) ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพิธี “จุดประทีปโคมลอยคืนยี่เปง”
ปัจจุบันคนในภาคเหนือนำเอาทั้งประทีปและโคมลอยมาไว้ด้วยกันและลอยโคมในเวลากลางคืน โคมลอยจึงมีไฟจุดอยู่ด้านล่าง บางครั้งอุบัติเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นจากประทีปด้านล่างของโคมลอยดับไม่ทันความเสียหายเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: