วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 18, 2553

ทุ่งรวงทองปลอดสารพิษที่สวนประดู่ป่า



เราตั้งใจที่จะทำให้ประดู่ป่าแคมป์เป็นสถานที่ปลอดภัยกับทุกชีวิตในสถานที่แห่งนี้ เราไม่ใช้สารเคมี ใส้เดือนและแมลงเล็กๆในดินอยู่ได้เป็นเพื่อนกัน เราใช้ปุ๋ยชีวภาพ นกกาอาศัยจะได้มีความสุข จับหนอนจับตัวเบียนในนาข้าวกินเป็นอาหารให้เรา......ทุกชีวิตล้วนมีสุข

วันอังคาร, พฤศจิกายน 02, 2553

รอยสักศิลปะบนเรือนร่าง








สัญชาตญาณหนึ่งมีติดมากับยีน(Gene)โคโมโซมของมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์ คือ สัญชาตญาณการพรางตัวมนุษย์พรางตัวให้กลมกลืนกับสถานที่ เพื่อการล่าหรือเพื่อการหลบหลีก อาจใช้สีจากดิน หิน โคลน มาทาใบหน้าและร่างกายในยุคแรก ๆ ต่อมามีการพัฒนารูปแบบการพรางตัวเป็นรอยสักบนเรือนร่าง การสักก็มีพัฒนาการ วัตถุประสงค์ของการสักตามยุคตามสมัย ดังเช่น การสักบนเรือนร่างเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีย้อนไป วัตถุประสงค์ของการสักเพื่อให้ร่างกายอยู่ยงคงกะพัน (หนังเหนียว) แทงฟันไม่เข้า เพราะยุคสมัยนั้นสู้รบกันด้วยอาวุธมีคม ในระยะประชิดตัว เพื่อรักษาชีวิตจึงต้องหาทางป้องกันร่างกายโดยการหาสารจากพืช เช่นจากต้นสบู่เลือดมาเป็นส่วนผสมกับสีของต้นคราม ลักลงไปบนผิวหนัง โดยเชื่อว่าผิวหนังจะอยู่ยงคงกะพัน และเพื่ออำพรางร่างกายได้ การสักยังบอกชั้นของบุคคลในสังคมนั้น เช่นหากชายใดสักเป็นรูปกางเกงขาสั้นตั้งแต่เอวลงไปต้นขา สักบริเวณอวัยวะเพศด้วย เมื่อลงอาบน้ำในแม่น้ำ เขาได้รับสิทธิ์การอาบน้ำเหนือน้ำทุกคนยอมรับ(จากความทรงจำในอดีตของผู้เขียน)
ปัจจุบันการสักพัฒนาไปไกลมาก มีการใช้สีสันหลากสีมาร่วมประกอบการสัก ใช้เครื่องมือช่วยสักที่ไม่สร้างความเจ็บปวดมากนัก การสักจึงเพื่อความสวยงามเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็เพื่อความเชื่อเรื่องเมตตามหานิยม สักแล้วทำให้คนรัก คนชม การสักเพื่อให้อยู่ยงคงกะพันนั้นเบาบางจากหายไป
หมายเหตุ ภาพที่เห็นเป็นรอยสักของชาวมอญ ชื่อเผือก สักโดยเพื่อนที่ซื้อเครื่องสักมาจากประเทศมาเลเซียราคาประมาณหนึ่งพันบาท ผู้สักดูภาพเป็นแบบแล้วสักตามจินตนาการโดยไม่เคยสักมาก่อนเลย

วันจันทร์, พฤศจิกายน 01, 2553

โคมลอย



“โคมลอย” คำนี้หากกล่าวกับคนในภาคเหนือ ทุกคนเข้าใจเป็นอย่างดี ถึงความหมาย ถึงรูปแบบของกิจกรรมว่าเป็นอย่างไร แต่สำหรับคนไทยในภาคอื่นแล้ว อาจต้องขยายความถึงกิจกรรมและความเชื่อ ซึ่งเป็นที่มาของ “โคมลอย”
ในอดีต (50 ปีที่ผ่านมา) คนในภาคเหนือมองเห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งบนท้องฟ้ายามบ่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะช่วงเวลาใกล้วันเพ็ญเดือนสิบสอง วันลอยกระทง ปรากฏการณ์นั้นคือโคมลอยหลากสีลูกใหญ่ ๆ คำว่าใหญ่คือขนาดประมาณ กว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 2 เมตร ลอยอยู่บนท้องฟ้าซึ่งถูกปล่อยจากวัดเกือบทุกวัด โคมลอยสมัยนั้นเป็นโคมลอยที่บรรจุอากาศร้อนเข้าไปในโคมกระดาษที่ทำจากกระดาษทำว่าว โดยการเผาหญ้าหรือฟางดิบให้เกิดควันสีขาว เมื่อควันเข้าไปในโคมกระดาษมากพอ ควันร้อน สีขาวซึ่งมีมวลเบาก็จะพาโคมกระดาษลอยขึ้นไปในอากาศเป็นโคมลอย ลอยได้สูงและไปไกลสุดตาโคมลอยชนิดนี้ไม่มีอันตรายใด ๆ
ความเชื่อในเรื่องการลอยโคมลอยเป็นความเชื่อในทางพุทธศาสนาของคนล้านนา ถึงการบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณี (มวยผม) ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพิธี “จุดประทีปโคมลอยคืนยี่เปง”
ปัจจุบันคนในภาคเหนือนำเอาทั้งประทีปและโคมลอยมาไว้ด้วยกันและลอยโคมในเวลากลางคืน โคมลอยจึงมีไฟจุดอยู่ด้านล่าง บางครั้งอุบัติเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นจากประทีปด้านล่างของโคมลอยดับไม่ทันความเสียหายเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเหมือนกัน