วันจันทร์, มิถุนายน 23, 2551

กฎหมายภูมิปัญญา

ตอนสมัยเป็นนักเรียนมัธยม คุณครูสอนเรื่องกฎหมายที่มีอยู่ในแต่ละประเทศจะมีสองประเภท หนึ่งเป็นกฎหมายที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อีกประเภทหนึ่งไม่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ของประเทศอังกฤษ ตอนนั้นคำถามที่ก้องอยู่ในหัวเราคือ “ไม่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วมันจะรู้ได้อย่างไรนะ” ฟังคุณครูอธิบายต่อ “กฎหมายที่ไม่มีการบันทึกมันเป็นประเพณี” ดูเหมือนว่าจะเข้าใจขึ้นอีกหน่อย แล้วเรื่องนี้ก็ลืมเลือนหายไป....

วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสได้ไปเที่ยวสวนยาง ไปดูการทำกิจกรรมในสวนยาง พบว่า สวนยางนับเป็นพันพันไร่ซึ่งมีหลายเจ้าของ มีทางรถยนต์สายเดียวตัดเข้าไปในสวนยางใช่ร่วมกัน สวนยางแต่ละแปลงเขามีหลักเขตแบ่งกันอย่างไรจึงไม่มีปัญหาเรื่องอาณาเขตที่ดิน ได้พูดคุยซักถามว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสวนไหนเป็นของใคร ดูต้นยางพาราเต็มไปหมด” ได้รับคำอธิบายว่า สวนยาง แต่ละสวนนั้นเขาจะปลูกต้นยางพาราเป็นแถวแต่ละแถวไม่ตรงกันกับของเพื่อนบ้านในแปลงใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นด้านใดของสวน ปัญหาเรื่องความขัดแย้งจึงไม่มี แต่ละคนก็จะรู้อาณาเขตของตนตามแถวของตนยางที่ปลูกไว้ไม่ตรงกัน.....

ใช่เลยวิธีการนี้แหละ เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษซึ่งคิดและใช้มาช้านาน ถ้าเป็นกฎหมายก็เป็นกฎหมายที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายของการปฏิบัติจริงที่สืบทอดกันมาเป็น “กฎหมายภูมิปัญญา”

ไม่มีความคิดเห็น: