วันพุธ, มิถุนายน 25, 2551

“จะพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องและคงทนได้อย่างไร”

ในวันประชุมปฏิบัติการ การวางแผนการดำเนินงานการศึกษาตามอัธยาศัย ได้พบปะนักวิชาการ นักคิดหลายท่านในวงการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จากการพูดคุยได้รับโจทย์ใหญ่ว่า "นายเคยเป็นผู้บริหารสถานศึกษามาหลายแห่ง ดูเหมือนว่าทุกแห่งที่นายทำ องค์กรมีการพัฒนามีผลงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี "แต่อยากถามนายว่า "ควรจะทำอย่างไรให้การพัฒนาเกิดขึ้นมีความต่อเนื่องและคงทนแม้ว่าจะต้องเปลี่ยนผู้บริหารไปก็ตาม" หลังจากได้รับโจทย์คิดอยู่เป็นเดือนว่าจะตอบคำว่า "การพัฒนาที่ต่อเนื่องและคงทนได้อย่างไร" นับว่ายากยิ่ง อย่างไรก็ตาม ลองตอบตามแนวทางที่ตนเคยปฏิบัติซึ่งทุกประเด็น มีคำตอบซ่อนไว้ในตัวมันเองเมื่อเราได้ปฏิบัติมันไปแล้ว

ประเด็นที่ 1 ผู้บริหารต้องรู้พื้นที่ ลงพื้นที่ การลงพื้นที่ร่วมกับทีมงานเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งใจที่จะรับรู้ เข้าใจถึงความต้องการ ปัญหาอุปสรรคของกลุ่มเป้าหมายและจะพบเห็นศักยภาพของชุมชนเพื่อการนำไปออกแบบกิจกรรมและการวางแผนได้ ทั้งยังได้ความรู้สึกที่ดีจากผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งมองว่า ผู้บริหารรับรู้ความทุกข์ยากของเขา ทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการทำงาน ตัวอย่างการลงพื้นที่ที่ดียิ่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ท่านปฏิบัติให้พสกนิกรดูเป็นแบบอย่างมาโดยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

ประเด็นที่ 2 การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรมีทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ ผู้บริหารจำเป็นต้องนำทำร่วมกับทีมเป็นการสอนงาน ภายใต้ความพร้อมของบริบทนั้น ๆ ว่าเหมาะสมเพียงใด มีปัจจัยอะไรบ้างที่เกื้อหนุนให้กิจกรรมนั้นสำเร็จ หรือมีปัจจัยอะไรที่เป็นอุปสรรค เพื่อหาทางปิดช่องว่างร่วมกันระหว่างผู้บริหารและทีม การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ผู้บริหารอาจนำทำในช่วงแรกเริ่ม เมื่อเวลาผ่านไปทีมงานจะสามารถเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมได้ ภายใต้หลักการที่ได้นำทำไว้

ประเด็นที่ 3 การวางแผนอย่างมีส่วนร่วม ที่จริงแล้วการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมมักจะเกิดขึ้นในช่วงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว เพราะมีการพูดคุยเสวนากันทั้งผู้บริหารและทีมงานเพื่อหาความเหมาะสม มีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรค และใช้ศักยภาพที่เกื้อหนุนให้เกิดความสำเร็จ การวางแผนจึงเป็นแผนในจินตนาการ เป็นแผนที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร ถ้าต้องการให้เป็นหลักการก็กำหนดเป็นแผนงานที่แต่ละคนกำหนดการปฏิบัติให้ตนเองภายใต้ช่วงเวลาที่ทุกคนต้องการความสำเร็จร่วมกันได้

ประเด็นที่ 4 การปฏิบัติจริง งานจะสำเร็จได้ต้องมีการปฏิบัติจริง ในช่วงเวลาปฏิบัติทีมงานอาจประสบปัญหาอุปสรรค ผู้บริหารต้องมีความละเอียดอ่อนในการแก้ไขและตัดสินใจ ใช้ความนุ่มนวลใช้กัลยาณมิตรในการทำงานทั้งกับทีมงานและเครือข่าย โดยมีความสำเร็จเป็นเป้าหมายปลายทาง ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกันอาจถือคติ “ได้ใจ ได้งาน” ทุกคนก็จะมีความสุขในการทำงาน

ประเด็นที่ 5 การทบทวนการปฏิบัติงานเพื่อการพัฒนา (AAR = After Action Review) ผู้บริหารควรกระทำทุกครั้งหลังปฏิบัติภารกิจใด ๆ อาจทำทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกครั้งที่กิจกรรมกำลังดำเนินไป เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาให้ทันต่อเหตุการณ์ การทำ AAR ผู้บริหารต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังทุกคนในทีมแล้วจึงแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมต่อเหตุการณ์ร่วมกัน

ประเด็นที่ 6 รางวัล คำชื่นชม การเยี่ยมเยือน ของผู้บริหารถือเป็นรางวัลและของขวัญที่ดีต่อทีมงาน มนุษย์ทุกผู้คนที่ทำความดี ทำงานหนัก ทำงานสำเร็จ เขาต้องการให้ผู้อื่นทำตามให้ช่วยกันทำความดี หากผู้บริหารได้ชื่นชมเยี่ยมเยือนเขา เขาเหล่านั้นคาดหวังว่าผู้บริหารที่ดีจะนำความดีที่เขาทำไปกล่าวถึงในที่ต่าง ๆ เพียงนี้ก็ถือว่าเป็นรางวัลแห่งความดีได้

ทั้งหกประเด็นสรุปอีกครั้ง การลงรับรู้ข้อมูลของพื้นที่ การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การวางแผนอย่างมีส่วนร่วม การปฏิบัติจริง การทำ After Action Review และการให้รางวัลคำชมการเยี่ยมเยือน เป็นประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้รับจากการทำงานให้ประสบความก้าวหน้า รวมถึงการสร้างและพัฒนาทีมงานสู่ความยั่งยืนได้ในระดับหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: