วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 26, 2551

ยางยอดฉัตร

ย่างเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ภาคใต้ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝน วันนี้มีจังหวัดเคลื่อนที่ ผู้ว่าราชการ
จังหวัดมอบหมายให้ทุกหน่วยงานของจังหวัดลงพื้นที่ไปบริการประชาชน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา นำนิทรรศการและข้อมูลเกี่ยวกับไบโอดีเซลไปให้ความรู้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่สนใจ
ช่วงระยะเวลาที่เดินทาง มองออกไปเห็นต้นไม้เขียวชอุ่มขึ้นอยู่ทั่วไป ดูแล้วช่างสดชื่นคิดอยากให้ต้นไม้เขียว ๆ เช่นนี้มีไปทั่วโลก โลกทั้งโลกจะได้เป็นโลกสีเขียว อุณหภูมิของโลกจะได้ลดลง ผู้คนจะได้ใจเย็นลง
รถวิ่งผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง กลับพบต้นยางนาต้นหนึ่ง อยู่ริมถนนสูงตระง่าน เป็นรูปฉัตร ลำต้นตรง สวยงามมาก อายุประมาณ 50 ปี นึกจินตนาการถ้าเวลาผ่านไปอีก 50 ปี ยางยอดฉัตรต้นนี้จะยังคงความเขียวชอุ่มให้โลกอยู่ไหมหนอ คงมีคนอ้างความจำเป็นที่ต้องตัดยางยอดฉัตรต้นนี้แน่แน่

วันพุธ, มิถุนายน 25, 2551

“จะพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องและคงทนได้อย่างไร”

ในวันประชุมปฏิบัติการ การวางแผนการดำเนินงานการศึกษาตามอัธยาศัย ได้พบปะนักวิชาการ นักคิดหลายท่านในวงการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จากการพูดคุยได้รับโจทย์ใหญ่ว่า "นายเคยเป็นผู้บริหารสถานศึกษามาหลายแห่ง ดูเหมือนว่าทุกแห่งที่นายทำ องค์กรมีการพัฒนามีผลงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี "แต่อยากถามนายว่า "ควรจะทำอย่างไรให้การพัฒนาเกิดขึ้นมีความต่อเนื่องและคงทนแม้ว่าจะต้องเปลี่ยนผู้บริหารไปก็ตาม" หลังจากได้รับโจทย์คิดอยู่เป็นเดือนว่าจะตอบคำว่า "การพัฒนาที่ต่อเนื่องและคงทนได้อย่างไร" นับว่ายากยิ่ง อย่างไรก็ตาม ลองตอบตามแนวทางที่ตนเคยปฏิบัติซึ่งทุกประเด็น มีคำตอบซ่อนไว้ในตัวมันเองเมื่อเราได้ปฏิบัติมันไปแล้ว

ประเด็นที่ 1 ผู้บริหารต้องรู้พื้นที่ ลงพื้นที่ การลงพื้นที่ร่วมกับทีมงานเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งใจที่จะรับรู้ เข้าใจถึงความต้องการ ปัญหาอุปสรรคของกลุ่มเป้าหมายและจะพบเห็นศักยภาพของชุมชนเพื่อการนำไปออกแบบกิจกรรมและการวางแผนได้ ทั้งยังได้ความรู้สึกที่ดีจากผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งมองว่า ผู้บริหารรับรู้ความทุกข์ยากของเขา ทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการทำงาน ตัวอย่างการลงพื้นที่ที่ดียิ่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ท่านปฏิบัติให้พสกนิกรดูเป็นแบบอย่างมาโดยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

ประเด็นที่ 2 การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรมีทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ ผู้บริหารจำเป็นต้องนำทำร่วมกับทีมเป็นการสอนงาน ภายใต้ความพร้อมของบริบทนั้น ๆ ว่าเหมาะสมเพียงใด มีปัจจัยอะไรบ้างที่เกื้อหนุนให้กิจกรรมนั้นสำเร็จ หรือมีปัจจัยอะไรที่เป็นอุปสรรค เพื่อหาทางปิดช่องว่างร่วมกันระหว่างผู้บริหารและทีม การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ผู้บริหารอาจนำทำในช่วงแรกเริ่ม เมื่อเวลาผ่านไปทีมงานจะสามารถเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมได้ ภายใต้หลักการที่ได้นำทำไว้

ประเด็นที่ 3 การวางแผนอย่างมีส่วนร่วม ที่จริงแล้วการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมมักจะเกิดขึ้นในช่วงการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว เพราะมีการพูดคุยเสวนากันทั้งผู้บริหารและทีมงานเพื่อหาความเหมาะสม มีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรค และใช้ศักยภาพที่เกื้อหนุนให้เกิดความสำเร็จ การวางแผนจึงเป็นแผนในจินตนาการ เป็นแผนที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร ถ้าต้องการให้เป็นหลักการก็กำหนดเป็นแผนงานที่แต่ละคนกำหนดการปฏิบัติให้ตนเองภายใต้ช่วงเวลาที่ทุกคนต้องการความสำเร็จร่วมกันได้

ประเด็นที่ 4 การปฏิบัติจริง งานจะสำเร็จได้ต้องมีการปฏิบัติจริง ในช่วงเวลาปฏิบัติทีมงานอาจประสบปัญหาอุปสรรค ผู้บริหารต้องมีความละเอียดอ่อนในการแก้ไขและตัดสินใจ ใช้ความนุ่มนวลใช้กัลยาณมิตรในการทำงานทั้งกับทีมงานและเครือข่าย โดยมีความสำเร็จเป็นเป้าหมายปลายทาง ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกันอาจถือคติ “ได้ใจ ได้งาน” ทุกคนก็จะมีความสุขในการทำงาน

ประเด็นที่ 5 การทบทวนการปฏิบัติงานเพื่อการพัฒนา (AAR = After Action Review) ผู้บริหารควรกระทำทุกครั้งหลังปฏิบัติภารกิจใด ๆ อาจทำทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกครั้งที่กิจกรรมกำลังดำเนินไป เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาให้ทันต่อเหตุการณ์ การทำ AAR ผู้บริหารต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังทุกคนในทีมแล้วจึงแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมต่อเหตุการณ์ร่วมกัน

ประเด็นที่ 6 รางวัล คำชื่นชม การเยี่ยมเยือน ของผู้บริหารถือเป็นรางวัลและของขวัญที่ดีต่อทีมงาน มนุษย์ทุกผู้คนที่ทำความดี ทำงานหนัก ทำงานสำเร็จ เขาต้องการให้ผู้อื่นทำตามให้ช่วยกันทำความดี หากผู้บริหารได้ชื่นชมเยี่ยมเยือนเขา เขาเหล่านั้นคาดหวังว่าผู้บริหารที่ดีจะนำความดีที่เขาทำไปกล่าวถึงในที่ต่าง ๆ เพียงนี้ก็ถือว่าเป็นรางวัลแห่งความดีได้

ทั้งหกประเด็นสรุปอีกครั้ง การลงรับรู้ข้อมูลของพื้นที่ การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การวางแผนอย่างมีส่วนร่วม การปฏิบัติจริง การทำ After Action Review และการให้รางวัลคำชมการเยี่ยมเยือน เป็นประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้รับจากการทำงานให้ประสบความก้าวหน้า รวมถึงการสร้างและพัฒนาทีมงานสู่ความยั่งยืนได้ในระดับหนึ่ง

วันจันทร์, มิถุนายน 23, 2551

กฎหมายภูมิปัญญา

ตอนสมัยเป็นนักเรียนมัธยม คุณครูสอนเรื่องกฎหมายที่มีอยู่ในแต่ละประเทศจะมีสองประเภท หนึ่งเป็นกฎหมายที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อีกประเภทหนึ่งไม่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ของประเทศอังกฤษ ตอนนั้นคำถามที่ก้องอยู่ในหัวเราคือ “ไม่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วมันจะรู้ได้อย่างไรนะ” ฟังคุณครูอธิบายต่อ “กฎหมายที่ไม่มีการบันทึกมันเป็นประเพณี” ดูเหมือนว่าจะเข้าใจขึ้นอีกหน่อย แล้วเรื่องนี้ก็ลืมเลือนหายไป....

วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสได้ไปเที่ยวสวนยาง ไปดูการทำกิจกรรมในสวนยาง พบว่า สวนยางนับเป็นพันพันไร่ซึ่งมีหลายเจ้าของ มีทางรถยนต์สายเดียวตัดเข้าไปในสวนยางใช่ร่วมกัน สวนยางแต่ละแปลงเขามีหลักเขตแบ่งกันอย่างไรจึงไม่มีปัญหาเรื่องอาณาเขตที่ดิน ได้พูดคุยซักถามว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสวนไหนเป็นของใคร ดูต้นยางพาราเต็มไปหมด” ได้รับคำอธิบายว่า สวนยาง แต่ละสวนนั้นเขาจะปลูกต้นยางพาราเป็นแถวแต่ละแถวไม่ตรงกันกับของเพื่อนบ้านในแปลงใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นด้านใดของสวน ปัญหาเรื่องความขัดแย้งจึงไม่มี แต่ละคนก็จะรู้อาณาเขตของตนตามแถวของตนยางที่ปลูกไว้ไม่ตรงกัน.....

ใช่เลยวิธีการนี้แหละ เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษซึ่งคิดและใช้มาช้านาน ถ้าเป็นกฎหมายก็เป็นกฎหมายที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายของการปฏิบัติจริงที่สืบทอดกันมาเป็น “กฎหมายภูมิปัญญา”

ยางยอดด้วน

ดินฟ้าอากาศของจังหวัดตรัง อาจกล่าวได้ว่า ตรัง มีฤดูกาลเดียวคือ ฤดูฝน เพราะทุกเดือนในรอบปีไม่มีเดือนไหนที่ฝนไม่ตก ด้วยเหตุนี้จังหวัดตรังจึงอุดมสมบูรณ์ปลูกต้นไม้อะไรก็จะงอกงาม มีโครงการปลูกต้นยางนารินถนน ต้นยางนาเติบโตและสวยงามมาก แต่จะพบว่ายางนาเกือบทุกต้น เป็นยางยอดด้วน จากการถูกตัดยอดความสูงของต้นยางนาอาจเป็นอันตรายเมื่อใกล้สายไฟแรงสูงนับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ทำให้หวลคิดถึง การดำเนินชีวิต หากไม่คิดว่างแผนในลักษณะมองตลอดมองทะลุในระยะยาวแล้ว อาจเป็นเหมือนเหตุการณ์นี้ไม่ว่าการปลูกต้นยางจะเกิดก่อนเสาไฟฟ้าแรงสูง หรือเกิดขึ้นหลังจากมีเสาไฟฟ้าแรงสูงแล้วก็ตามแต่ผลพวงต่อเนื่องนั้นอาจเป็นเหตุให้ “การดำเนินชีวิตเป็นเช่นยางยอดด้วนได้”

วัวหนึ่งพี่เลี้ยงสิบ วัวสิบพี่เลี้ยงหนึ่ง

ในชนบทของภาคใต้ ภาพที่คุ้นตา เป็นเหมือนภาพธรรมดาธรรมดาคือ ภาพรถปิคอัพบรรทุก วัวชนโดยมีไม้ไผ่สองลำ บังคับหน้าวัวชนให้มองตรงไปด้านหน้าและมีเด็กชายวัยรุ่นประมาณสิบคน ยืนขนาบข้างวัวไปในรถด้วย วัวชนเขาแหลมเฟียวจะทำหน้าดุดุ หายใจดังดัง ฟืดฟืด ฟาดฟาด ดูหน้าเกรงขามมีอำนาจ นี่คือภาพเหตุการณ์ “วัวชนหนึ่งพี่เลี้ยงสิบ” พี่เลี้ยงจะคอยเอาใจหาหญ้าดีดีให้กิน พาออกกำลังกาย อาบน้ำทำความสะอาด ดูแลอย่างดีก่อนการแข่งขัน หากชนแล้วชนะพี่เลี้ยงวัยรุ่นก็จะได้คนละ 200-300 บาท

อีกภาพหนึ่งในท้องนา เป็นภาพวัวกับเด็กวัยรุ่นเหมือนกัน ต่างกันที่มีวัยรุ่นเพียงคนเดียว ต้อนวัวสิบ ยี่สิบตัวไปตามทุ่งนาเพื่อหาหญ้ากิน วัวเดินไปเป็นฝูง ดูธรรมดาธรรมดา ไม่น่าเกรงขามอะไร เย็นลงก็เดินกับคอกหลับนอนเป็นวิถีชีวิต สรุปว่า “ต่างเหตุการณ์ ต่างอารมณ์ สังคมก็เป็นเช่นนี้เอง”

วันจันทร์, มิถุนายน 16, 2551

ข้าวต้มถวายในหลวง

ต้มข้าวใส่ข้าวแต่น้อยแต่พอเพียง ใส่น้ำเย็นเป็นน้ำใจ ใช้พายอันเดียวคอยเคี่ยวคน
เคี่ยวช้าช้าให้ข้าววนข้าวต้มปนด้วยสามัคคี ใส่ฟืนทีละท่อนไฟจะร้อนแต่พอดี
รักและสามัคคีทำความดีเพื่อพ่อเรา
พัดไฟไปใจครุ่นคิด ใครถูกผิดอย่าใส่ใจ เป้าหมายข้าวต้มไง เราตั้งใจถวายเสวย
วันนี้ท่านเหนื่อยล้ารอเวลาข้าวต้มสุก เฝ้ามองดูลูกลูกจะเคี่ยวสุกถึงเมื่อใด
มาเถิดเลือดบรรพบุรุษ มาหยุดแบ่งแยกความคิด พาชาติพ้นวิกฤตเป็นนิมิตแห่งคนดี
มีคนอีกหมู่มากที่ทุกข์ยาก รอบารมีเมตตา พระผู้ดั่งเทพเทวา รอปวงประชาถวายความรัก

วันเสาร์, มิถุนายน 14, 2551

โลกเปลี่ยนแปลงเมื่อมุมมองเปลี่ยนไป


วันที่อากาศสดใสเมื่อเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้า จะเห็นเมฆเกาะเกี่ยวกันเป็นกลุ่มก้อน แสงแดดที่สาดส่องเกิดเป็นมิติสวยงามเป็นธรรมชาติที่ดูแล้วไม่เบื่อ...
แต่ความรู้สึกหนึ่งบอกว่าเราเป็นเพียงธุลีที่ถูกครอบคลุมและกดทับด้วยหมู่เมฆ ความเป็นตัวตนดูเบาบางขาดความมั่นคง
บ่ายวันนี้อากาศสดใสเราเดินทางกลับสู่จังหวัดตรัง โดยเครื่องบินนั่งริมหน้าต่างมองออกไปเห็นกลุ่มเมฆอยู่ต่ำกว่าสายตา เมื่อแสงแดดกระทบเมฆ
เกิดภาพที่สวยงามเหนือจินตนาการ เหนือคำบรรยายกว่าเมื่อเรามองเมฆอยู่บนพื้นดินทำให้รู้สึกพองโตมีพลังในตัวตนอย่างบอกไม่ถูก
ภาพที่ปรากฏก่อให้คิดไปว่า "นี่หรือที่เรียกว่ามุมมองเปลี่ยน ทำให้ความรู้สึกและสิ่งที่เห็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง" ทำให้อดคิดถึงเหตุการณ์ในสามจังหวัด
ชายแดนใต้ของประเทศไทยว่า "หากว่าเรามาเปลี่ยนมุมมองใหม่เป็นมุมมองที่เห็นความสวยงามของกันและกัน โลกแห่งสันติสุขก็น่าจะเป็นของทุกชีวิต โลกจะมีแต่รอยยิ้มมิใช่คราบน้ำตา"

วันอังคาร, มิถุนายน 03, 2551

อาณาจักรทับซ้อน กระเต็นอกขาว/กินปลีอกเหลือง

บริเวณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรัง ในพื้นที่กว้างกว่า 30 ไร่ จึงเต็มไปด้วย กลุ่มไม้ใหญ่ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เช่น เฟื่องฟ้า เข็ม ดาหลา บานบุรี ธูปจีน ซึ่งมีดอกรูปทรงกระบอกมีน้ำหวานอยู่ภายใน มีสระน้ำขนาดใหญ่ สองสระพร้อมเกาะกลางน้ำ ศูนย์วิทย์จึงมีนกอาศัยอยู่หลากหลายชนิด เช่น นกกินปลีอกเหลือง ครอบครองอาณาจักรเพียงต้นเฟื่องฟ้า บานบุรี และธูปจีน บินไป บินมา หากินน้ำหวานอยู่เพียง 3 ต้น เท่านั้นแหละ หากว่ามีนกกินปลีตัวอื่น ร่วงล้ำก็ขับไล่พอเป็นพิธีบอกให้รู้ว่า บริเวณนี้เป็นของฉันนะ ส่วนเจ้านกกระเต็นอกขาว คู่หนึ่ง ทำรังอยู่ในโพรงดินที่เกาะกลางสระ ขยันตื่นแต่เช้า ฟ้ายังไม่สาง กระเต็นอกขาวคู่นี้ตื่น เตรียมออกหาอาหาร ก่อนเดินทางร้องเสียงดัง... แก๊ก...แก๊ก...แก๊ก หากินที่สระโน้น...สระนี้ อาณาจักรของกระเต็นอกขาวครอบคลุม บริเวณศูนย์วิทย์ฯ ตรัง ทั้งหมด ทั้งกินปลีอกเหลือง และกระเต็นอกขาว อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กินปลีอกเหลืองกินน้ำหวานจากดอกไม้ กระเต็นอกขาว กินปลาเล็กจากในสระ กินพออิ่มกินอย่างพอเพียง
มืดค่ำก็พักผ่อนอยู่ในรังที่อบอุ่นแต่พอตัว นกทั้งสองชนิดไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อาณาจักรของตนเองทับซ้อนกัน ทับซ้อนกับเจ้าของบ้านที่เรียกตัวเองว่าศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรัง ผู้ยิ่งใหญ่
กินปลีอกเหลืองและกระเต็นอกขาวรู้แต่เพียงว่า “โลกนี้เป็นของทุกสรรพชีวิตเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสันติสุข” หากมนุษย์เข้าใจธรรมชาติเหมือนนกโลกคงจะสงบสุขปราศจากการรบฆ่า ฟัน กันนะ

ภาพประกอบ “แปง” ถ่ายจากสถานที่จริง ศว.ตรัง ช่วงเวลาเดือน พฤษภาคม 2551

แต้วแล้วธรรมดา

ในเดือนพฤษภาคม บริเวณป่าชุมชน ป่าพรุ ป่าลุมพี หรือสวนยางของจังหวัดในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตั้งแต่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ มาถึงตรัง เราจะได้ยินเสียงนกชนิดหนึ่งร้องก้องกังวาน ฟังว่า “ แต้วแล้ว...แต้วแล้ว ” หรือ “กอหลอ...กอหลอ” คือเจ้าแต้วแล้วธรรมดา เป็นนกอพยพทำรังวางไข่ ที่มีสีสันสวยงามมากเริ่มจาก หัวสีดำ คิ้วน้ำตาลแกมส้ม คอขาว ลำตัวด้านบนเขียวไหล่และตะโพกสีฟ้าสด ลำตัวด้านล่างสีเหลืองไพล กลางท้องถึงก้นสีแดง ปลายปีกขาวขณะบินเห็นชัดเจน เมื่อเกาะกิ่งไม้ลำตัวจะตั้งชันดูสง่างาม
ฟังดูแล้วน่าหลงใหลเจ้าแต้วแล้วธรรมดาเสียแล้วซิ หากสนใจเพียงมี Binoculars (กล้องส่องทางไกล) คล้องคอ หมวกอีกหนึ่งใบ ไปหาความสุขให้ชีวิตจากธรรมชาติ ที่ให้ความจริง ความสงบ ณ ชายฟ้าทะเลอันดามัน ภาคใต้ของประเทศไทยเรา

เรื่องเก่าเล่าขานตำนานวัดเขาขุนพนม

ความเชื่อของชาวพุทธตั้งแต่พุทธกาลถึงปัจจุบัน ในเรื่อง พญานาค ไม่เคยเสื่อมคลาย เราจึงมักเห็นพญานาคตามจินตนาการของศิลปินผู้ศรัทธาปั้นไว้ในที่ต่างๆ แต่ที่ดูมีพลัง สวยงามคงจะเป็นบริเวณบันไดนาคที่ทอดขึ้นสู่ยอดเขาที่มี เจดีย์ วัด ถ้ำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรม ของผู้ทรงศีลในอดีต
ที่วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช มีบันไดนาคที่สวยงามและแปลกกว่าสถานที่อื่น บันไดที่ทอดยาวขึ้นสู่ถ้ำ จำนวน 245 ขั้น ด้านซ้ายปั้น “นาคา” มีเศียรเจ็ดเศียรต่ำลงมาจากเศียรจะมีอักษร(ฯ) “นะโม” ทั้งเจ็ดเศียร บริเวณเศียรทั้งเจ็ดมารวมกันเป็นตัว “นาคา” จะปั้นพระปิดตาไว้ ด้านขวามือเป็น “นาคี” เราสามารถแยก “นาคา” “นาคี” จากเคราใต้คางของพญานาคด้านซ้ายมือ
พญานาคแห่งเขาขุนพนม สวยงามมากทั้งสง่างาม มีความหมายมีพลังซ่อนอยู่ น่ากลัว น่าเกรงขาม ขณะเดียวกัน ก็ดูมีเมตตา น่าศรัทธา ดูลึกลับ ซ่อนเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างในอดีตไว้ ดั่งคำเล่าลือของชุมชนเกี่ยวกับ “การเสด็จมาทรงผนวชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ที่แห่งนี้” ซึ่งเป็นอดีตกาลที่ผ่านมากว่า 180 ปีแล้ว