วันจันทร์, พฤษภาคม 30, 2554

เมื่อชาวเลตกปลาอินทรีให้ชาวเมืองกิน













อาทิตย์ หาญทะเล เป็นชาวเลที่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะ เกาะหนึ่งของจังหวัดสตูลฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงฤดูมรสุม อาทิตย์ เข็นเรือหาปลาขนาด 21 ตัวกง (ตัวกงคือส่วนโค้งคล้ายกระดูกงู) ของเถ้าแก่ขึ้นชายหาดเพื่อซ่อมแซม หลังฤดูมรสุมต้องนำเรือลงตกปลาอินทรีอีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับอาทิตย์ขณะซ่อมแซมเรือ อาทิตย์เล่าให้ฟังว่า “การตกปลาอินทรีมีเรือไปด้วยกันประมาณ 10 ลำ ลำละหนึ่งคน ไปห่างฝั่งประมาณ 1-2 กิโลเมตร ออกไปไกลก็ไม่มีปลา ออกไปตั้งแต่ตีสี่และกลับประมาณสี่โมงเย็น ปลาอินทรีกินเบ็ดช่วงเวลาประมาณหกโมงเช้าและเวลาประมาณบ่ายสองโมง การตกใช้เบ็ดเบอร์ 70 สายเบ็ดขนาด 40 ปอนด์ ตกโดยเกี่ยวเหยื่อลงในระดับความลึกประมาณสิบเมตร ตกเบ็ดเส้นเดียวเหยื่อเป็นปลาทูเป็นๆ ซึ่งตกได้จากทะเล ปลาอินทรีไม่กินปลาตาย ฉะนั้นก่อนตกอินทรี ต้องตกปลาทูก่อน วันหนึ่งตกปลาอินทรีได้ 1-2 ตัว ตัวขนาด 5-10 กิโลกรัม เมื่อตกได้ ส่งผู้รับซื้อกิโลกรัมละ 50 บาท รายได้แบ่งกับเจ้าของเรือ 50:50 การตกปลาอินทรีเป็นอาชีพ พออยู่ได้ครับ”ได้กล่าวชื่นชมอาทิตย์ว่า “ เป็นเด็กหนุ่มที่ใส่ใจดูแลเรือละเอียดลออดีนะ” อาทิตย์เล่าต่อว่า “ ผมซ่อมเล็กน้อยครับ ถ้าเป็นมากบอกเถ้าแก่เขาจะส่งช่างชำนาญมาซ่อมแซม เถ้าแก่มีเรือประมาณ 20 ลำ แต่ละลำทำด้วยไม้ต่างกันครับ อย่างของผมเป็นเรือขนาด 21 ตัวกง ตัวกงทำด้วยไม้วา ส่วนข้างทั้งหมดเป็นไม้สัก บางลำเป็นไม้พะยอม ไม้ทั้งสองชนิดนำมาทำเรือปนกันไม่ได้ เพราะผุไม่พร้อมกันครับ” แม้ช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาที ที่ได้พูดคุยกับ อาทิตย์ หาญทะเล นับว่าได้ความรู้ตรง ๆ ที่มีคุณค่าแก่การเผยแพร่เพราะเป็นความรู้ของผู้ปฎิบัติจริง ป.ล.เคล็ดลับการเกี่ยวเหยื่อของอาทิตย์ เกี่ยวที่หลังปลาทูนิดเดียว เกี่ยวลึกปลาทูตาย อินทรีไม่กินเหยื่อ ชาวเลไม่มีรายได้ ชาวเมืองอดกินปลาที่เนื้ออร่อยติดอันดับต้น ๆปลาทะเลไทย

เกาะหลีเป๊ะมัลดีฟของเมืองไทย













เกาะหลีเป๊ะ เป็นเกาะที่มีรูปร่างคล้ายบูมเมอแรง โดยส่วนเว้าของเกาะหันไปทางทิศตะวันตก เกาะจึงมีหาดทรายเว้าคล้ายหาดพัทยา หาดทรายนี้มีชื่อว่า บันดาหยา ฝรั่งต่างชาติออกเสียงยาก หาดทรายจึงถูกเปลี่ยนชื่อจากบันดาหยาเป็นหาดพัทยาไปด้วยประการ ฉะนี้
เกาะหลีเป๊ะ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากเมื่อคราวเกิด สึนามิภาคใต้ พ.ศ.2547 เกาะหลีเป๊ะไม่ได้รับผลกระทบ ด้วยมีเกาะหลายเกาะล้อมรอบรับคลื่นก่อนมาถึงหลีเป๊ะ เสน่ห์ของหลีเป๊ะน่าจะเป็นความใสของน้ำทะเล แนวปะการัง หาดทรายสะอาด ความสงบสวยงามตามธรรมชาติ หลีเป๊ะจึงถูกเรียกชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “เกาะมัลดีฟเมืองไทย”
ในอนาคตหากการจัดการเรื่องขยะไม่ดี เกาะหลีเป๊ะอาจกลายเป็นเกาะหลีเละ ไปอย่างน่าเสียดายเราทุกคนที่มีโอกาสมาที่เกาะหลีเป๊ะจึงต้องตระหนักถึงความยั่งยืน เพื่อส่งต่อความงามไปให้ลูกหลานของเราในอนาคต

จากท่าเรือปากบารา สู่เกาะหลีเป๊ะ













สปีด โบ๊ท (Speed Boat) สี่เครื่องยนต์ Honda 225 ซีซี ขุมกำลังของเครื่องยนต์เรือสี่จังหวะ ทำความเร็วได้กว่า 20 นอตต่อชั่วโมง(1นอตเท่ากับ 1.85 กิโลเมตร)ขณะที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวน 85 คน ลูกเรืออีก 5 คน พาคณะเราออกจากท่าเรือปากบารา มุ่งสู่เกาะหลีเป๊ะ (koh ripe) ทางฝั่งทะเลอันดามัน ความตื่นเต้นระคนความสุข แผ่ออกมาจากสายตาของคณะเดินทางทุกคน สปีด โบ๊ท วิ่งฝ่าคลื่นเล็ก ๆ ของวันที่อากาศดีดี มาได้ประมาณ 40 นาที เข้าเทียบท่าอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตาดินแดนที่เคยเป็นเกาะกักกันนักโทษทางการเมืองในอดีตของไทย ผู้นำทางให้เราได้พักเพื่อปรับตัวกับการเดินทางโดยเรือ และรับประทานอาหารเที่ยงที่ตะรุเตา ถ่ายภาพ ชมความใสของน้ำและปลาสวยงามที่ปรากฏตัวแบบอาย ๆ อยู่ใต้สะพานเรือ เมื่อทุกคนสบายขึ้น สปีด โบ๊ท เดินทางต่ออีกประมาณ 25 นาที เป้าหมายคือ เกาะไข่ เป็นเกาะที่มีภูเขาหินทะลุอยู่ริมทะเล หาดทรายขาวละเอียด แม้ตากแดดทั้งวันหาดทรายไม่ได้อมความร้อนเลย ถอดรองเท้าเดินเล่นสบาย สบาย ซ้ายมือของเกาะไข่ มองไปไกล ไกล คนนำทางบอกเราว่านั้นคือ เกาะลังกาวีของมาเลเซียถ้าเรานั่ง สปีด โบ๊ทไป จะใช้เวลาประมาณ 45 นาที การขึ้นเกาะลังกาวี ต้องใช้ passport เดินทางออกจากเกาะไข่เป็นช่วงสุดท้ายสู่เกาะหลีเป๊ะ เป้าหมายปลายทางเป็นที่พักสำหรับพวกเราทุกคนคือ บันดาหยารีสอร์ท (Bundhaya Resort) คอยติดตามเรื่องราวตอนต่อไป คือ เกาะหลีเป๊ะมัลดีฟของเมืองไทย

วันศุกร์, พฤษภาคม 20, 2554

ต่อหัวเสือ แตนลาม ผึ้งหลวง













สัตว์ทั้งสามชนิด ได้แก่ ต่อหัวเสือ แตนลาม และผึ้งหลวง มีความคล้ายกัน คือ เป็นแมลงมีพิษที่เหล็กใน (เป็นเดือยแหลมอยู่ที่ก้น) เมื่อทำร้ายศัตรูจะให้ก้นฝั่งเหล็กในและปล่อยพิษลงบริเวณที่ต่อย ความต่างกันที่น่าสนใจคือการเก็บอาหารไว้ให้ตัวอ่อน ต่อหัวเสือทำรังคล้ายหัวเสือมีทางเข้าออก ขนาดแล้วแต่จำนวนสมาชิก โดยทั่วไปประมาณลูกบาสเกตบอลหรือใหญ่กว่า ต่อหัวเสือเก็บหนอน แมลง เนื้อสัตว์ เป็นชิ้นมาเป็นอาหารให้ตัวอ่อนในรัง ส่วนแตนลามทำรังเป็นช่องหกเหลี่ยมและขยายช่องตัวอ่อนไปตามรูปร่างของกิ่งไม้ บ้างครั้งลามไปยาวเป็นคืบ แตนลามต่อยหนอนให้เป็นอัมพาตแล้วนำมาใส่ในช่องหกเหลี่ยม ซึ่งแตนลามไข่ไว้ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะกินหนอนเป็นอาหาร ผึ้งหลวงทำรังเป็นช่องหกเหลี่ยมเหมือนกันกับแตนลาม แต่มีจำนวนช่องมากกว่าแตนลามจนเปรียบเทียบกันไม่ได้ ที่สำคัญผึ้งหลวงเก็บอาหารให้ตัวอ่อนเป็นน้ำหวานและเกสรดอกไม้ จึงจัดให้ผึ้งหลวงเป็นแมลงที่รักษาศีล ไม่ฆ่าสัตว์ ส่วนต่อหัวเสือและแตนลามเป็นแมลงที่ฆ่าสัตว์อื่น บางครั้งเคยเห็นต่อหัวเสือขโมยหนอนจากรังแตนลาม โดยแตนลามไม่สามารถป้องกันได้เลย แตนลามจึงกลายเป็นแตนร้าง (ทิ้งรัง) ไปเลย

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 19, 2554

เช้าถึงค่ำความทรงจำที่พะเนินทุ่ง




























































รังมดที่ประณีตสวยงามเป็นสถาปัตยกรรมทางธรรมชาติ ผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์มารวมกันด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือเกลือแร่และแบ่งกันกิน เฟิร์นชูกิ่งก้านเขียวขจี แสงและเงาให้ความสว่างและบดบังความงามของหมู่ไม้น้อยใหญ่ สายหมอกฝนอ้อยอิ่งหอบความหนาวและความเยือกเย็นในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นความทรงจำที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

กล้วยไม้ป่าที่พะเนินทุ่ง 2













กลางเดือนพฤษภาคมปีนี้ ทั้งฝนและมรสุมค่อนข้างแรง กิ่งไม้แห้งถูกแรงลมพัดหักลงสู่พื้น ที่พะเนินทุ่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็เช่นกัน หลายกิ่งที่หักลงมามักมีกล้วยไม้ป่าติดลงมาด้วย เอื้องปากส้อม (Cleisostoma Blume) ที่เห็นในภาพเป็นกล้วยไม้ป่าชนิดหนึ่งที่ล่วงสู่พื้นดิน ดอกใกล้จะโรยแล้วอาจมองไม่ชัดนัก แต่ที่อยู่บนกิ่งไม้ก็อยู่สูงเกินที่จะบันทึกภาพได้ชัดเจน เอาพอเห็นความงามของกล้วยไม้ป่าในธรรมชาติชนิดหนึ่งก็แล้วกันนะ

ความทรงจำเสี้ยวหนึ่ง ที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวงนครศรีธรรมราช

























ตัวตนของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง เริ่มต้นด้วยความชันของทางเดินขึ้นน่าจะ 45-60 องศา เสียงหอบหายใจตัวเองไม่สามารถปิดบังเพื่อนร่วมทางได้เลย ต้นไม้สูงกว่า 20 เมตร ส่งยอดขึ้นแย่งชิงรับแสงแดด เถาวัลย์เกาะเกี่ยวพันต้นโน้น ต้นนี้ ดึงรั้งซึ่งกันและกันไว้เมื่อมีมรสุมลมแรง ต้นไม้สูงแต่ละต้นมีไม้เล็ก ๆ เกาะอาศัยพึ่งพาเป็นแหล่งหาอาหารจากส่วนเกินโดยไม่เบียดเบียนต้นที่ตนอาศัย บนพื้นดินเปราะแผ่ใบบาน ดอกสีขาวอมม่วงอ่อน ๆ เจ้าหน้าที่สื่อความหมายของอุทยานให้ความรู้ว่า เปราะมีหัวคล้ายกระชายนำมาเป็นสมุนไพรปกกระหม่อมเด็กได้ เสียงน้ำตกกะโรม เสียงเรไร ลมพัดใบไม้ไหวแกว่ง อากาศเย็นฉ่ำสดชื่นหายใจเต็มอิ่ม เสียงนกดังแว่ว ๆ มาแต่ไกล ผีเสื้อบินช้า ๆ ผ่านแสงแดดที่สาดส่องทะลุใบไม้ลงกระทบมอสกำมะหยี่สีเขียว ไรเคนสีขาวปนเทา เกาะก้อนหินเกาะต้นไม้มองเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่า เห็นความเกื้อกูลของเห็ดผู้ย่อยสลาย เกาะกิ่งไม้ที่ผุพังย่อยเพื่อคืนความสมบูรณ์ให้กับพื้นดิน

เอนอ้าไม้เบิกนำ









นักอนุรักษ์ที่มีความชื่นชอบการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ต้องรู้จักไม้ชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ บ้างเรียกเอนอ้า บางคนเรียกอ้าหลวง บางคนเรียกโคลงเคลง บางคนเรียกต้นข้าวต้ม หรือมีชื่ออื่นอีก ลักษณะเป็นต้นไม้เล็กมีดอกสีม่วง ผลมีขน เมื่อสุกกินได้รสหวาน ลิ้นจะเป็นสีม่วง ตนไม้ชนิดนี้เราพบบริเวณป่าโปร่ง ป่าเพิ่งฟื้นตัว พบเห็นอยู่ร่วมกับหญ้าคา สาบเสือ นักสื่อความหมายเรื่องป่า ให้ความรู้กับเยาวชนหรือประชาชนที่มาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับต้นเอนอ้าว่าเป็น “ไม้เบิกนำ” หมายความว่าเป็นไม้กลุ่มแรก ๆ ที่ขึ้น เริ่มต้นให้ป่าได้ฟื้นตัว หลังจากเคยเป็นป่าและถูกมนุษย์ถางทำลายไป เช่น บริเวณสนามกอล์ฟ บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อถูกยกเลิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 นับถึงเวลานี้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว สนามกอล์ฟเริ่มฟื้นคืนสู่ป่าด้วยไม้เบิกนำ คือหญ้าคา สาบเสือ และเอนอ้านี่แหละ

วันอังคาร, พฤษภาคม 03, 2554

หนึ่ง ..สอง..สาม ..มหัศจรรย์ยารักษาโรค








ผู้เขียนได้พบยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่เคยพบมา ที่สำคัญไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่มีอาการข้างเคียง(side effect)ไม่มีอาการตกค้าง มีแต่คุณเพียงอย่างเดียว ทุกท่านคงอยากรู้แล้วใช่ไหมละว่า ยาอะไรจะมีคุณภาพถึงเพียงนี้..มีด้วยหรือ
แม้ยารักษาโรคชนิดนี้จะมีคุณสักเพียงใดแต่กินยาก จึงต้องมีขั้นตอนการกินยา...โดยเฉพาะสามวันแรก..หลังจากนั้นไม่ยากแล้ว...ขอบอกวิธีกินยามหัศจรรย์นี้เลยนะ...วันแรกหลังตื่นนอนยังไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้นกินยาเลย หนึ่งแก้วเต็มๆและกินให้หมดทันที วันที่สองหลังตื่นนอนยังไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้นกินยาเลย สองแก้วเต็มๆและกินให้หมดทันทีนะ วันที่สามหลังตื่นนอนยังไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้นกินยาเลย สามแก้วเต็มๆและกินให้หมดทันทีเช่นเคย วันต่อๆไปกินยาวันละสามแก้ว...หากกินยาเช่นนี้ตลอดไป โรคที่เป็นอยู่จะทุเลาลง โรคใหม่ก็จะไม่ปรากฏ อายุขัยจะยืนยาว ยาชนิดนั้นคือ “น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม” นั่นเอง

วันจันทร์, พฤษภาคม 02, 2554

หวายแดง









บ่ายวันหนึ่งกลางเดือนเมษายน เสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น เมื่อรับสาย เสียงพูดมาว่า “อาจารย์ครับผมปีร์ จากอุทยานแห่งชาติปางสีดา ผมพบกล้วยไม้ป่าชนิดหนึ่งที่ผาตะเคียน กำลังบานดอก ผมถ่ายรูปมาหลายรูป อาจารย์ว่างไหม ผมยากให้ดู” “ปีร์ ตอนนี้พี่มาราชการอยู่ที่นราธิวาส ปีร์ส่ง mail ให้พี่เลยนะ กลับไปจะค้นหาให้ พี่มีหนังสือกล้วยไม้ป่าของ สลิล สิทธิสัจจธรรมอยู่” เป็นข้อความที่คุยกันหลังจากนั้นได้ตรวจสอบกล้วยไม้ชนิดที่ปีร์พบ ไม่มีในหนังสือเล่มดังกล่าว จึงนำรูปที่ปีร์ถ่ายได้ ส่งเข้าไปใน webblog เรื่องกล้วยไม้ webblog ชื่อ http://tjorchid.com/ ถามผู้รู้ รออยู่ 2 วัน เมื่อเปิด webblog ดูมีผู้รู้ตอบว่า กล้วยไม้ชนิดนั้นชื่อ”หวายแดง” และเมื่อสืบค้นใน website อื่น พบภาพกล้วยไม้หวายแดงถ่ายไกล ๆ ที่ผากล้วยไม้บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขึ้นเป็นดงซึ่งบานดอกเดือนเมษายน ผู้เขียนขึ้นไปบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นับร้อยครั้งผากล้วยไม้ก็เคยไป กลับไม่เคยพบหวายแดงบานดอกเลย เมื่อทบทวนดูแล้ว ตนเองชอบขึ้นไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เดือนเมษายนฤดูร้อนไปทะเลเสียส่วนใหญ่ เลยไม่รู้จัก “หวายแดง”
สรุปว่า ความสวยงามความเร้นลับมีทุกช่วงจังหวะเวลา ทุกสถานแห่งหนสังเกตดูเถอะนะ