วันอังคาร, ธันวาคม 28, 2553

จุดชมวิวที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา







อีกสองสามวันจะขึ้นปีใหม่ 2554 แล้ว มีเวลา 2-3 ชั่วโมง ตัดสินใจไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของป่าในอุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว ด้วยช่วงเวลาที่เดินทางเป็นเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. สัตว์ที่พบเห็นจึงมี ไก่ป่า นกเขาเขียว และนกอีกหลายชนิดซ่อนตัวอยู่ในเงาไม้ พบซากนกตบยุงถูกรถชนอยู่บนถนน ยามค่ำคืนนกตบยุงชอบนอนบนถนนไม่ยอมหลบแสงไฟ คนขับรถคิดว่านกน่าจะบิน นกตบยุงกลับไม่บิน สุดท้ายชีวิตนกตบยุงจบลงด้วยความคิดที่ไม่สอดคล้องกัน
ดอกไม้หลากสีบานในช่วงฤดูหนาว เจ้าหน้าที่อุทยานปรับปรุงภูมิทัศน์ ณ จุดชมวิว เพื่อรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว จัดว่าปรับปรุงได้สวยงามสอดรับกับธรรมชาติ ถนนลูกรังระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากบริเวณน้ำตกปางสีดาถึงจุดชมวิว อาจทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายบ้างก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าทำให้เวลาช้าลงโดยการขับรถช้า ฝุ่นก็น้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน
ความประทับใจของการมาครั้งนี้ อยู่ที่โป่งเกลือแร่ พบผีเสื้อถุงทองป่าสูงบินปะปนกับผีเสื้อชนิดอื่น ๆ ถุงทองป่าสูงสวยมาก ๆ ถุงทองป่าสูงบินไม่หยุดจึงไม่สามารถถ่ายภาพได้เลย

วันจันทร์, ธันวาคม 27, 2553

ความต่างระหว่างผีเสื้อถุงทองธรรมดากับถุงทองป่าสูง






ผีเสื้อถุงทองจัดเป็นผีเสื้อที่สวยที่สุด สวยขนาดที่มีผู้ขนานนามว่าเป็น “ราชินีผีเสื้อแห่งสยาม” ด้วยความโดดเด่นของสีปีกที่มีสีดำตัดกับสีเหลืองทอง จึงมองเห็นแต่ไกล ด้วยนิสัยที่บินสูงจับต้องยากผู้คนจึงอยากได้ไว้ในครอบครอง สุดท้ายต้องกำหนดให้ผีเสื้อถุงทองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมีการซื้อขายและมีไว้ในครอบครอง กฎหมายช่วยยืดเวลาสูญพันธุ์ของผีเสื้อถุงทองมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
ผีเสื้อถุงทองในภาพเป็นผีเสื้อถุงทองธรรมดาที่ถ่ายได้ตอนเช้าในฤดูหนาว ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ผีเสื้อถุงทองธรรมดาดูดน้ำหวานจากดอกเข็มริมสระน้ำ ให้สังเกตปีกคู่หลังของผีเสื้อถุงทองธรรมดาจะเห็นมีสีดำแต้มปนอยู่กับสีเหลืองทอง ส่วนผีเสื้อถุงทองป่าสูง ซึ่งถ่ายจากผีเสื้อที่สต๊าฟไว้ของโครงการพระราชดำริเขาหินซ้อน พบว่าปีกคู่หลังของผีเสื้อถุงทองป่าสูงเป็นสีเหลืองทองเกือบทั้งหมดมีเส้นดำเล็กๆเท่านั้น
จุดนี้คือความต่างเบื้องต้นที่ใช้สังเกตจำแนกผีเสื้อถุงทองทั้งสองชนิด
ข้อมูลเพิ่มเติมจากการสืบค้นภาพโปสเตอร์ผีเสื้อคุ้มครองโดยได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่โครงการ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 53ภาพดังปรากฏ

วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2553

กระรอกขาวกับคนขายส้มตำ



บริเวณก้นอ่าวปลายหาดแม่รำพึง เกือบถึงอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-เสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เป็นบริเวณที่เว้าโค้งของหาดทรายคล้ายอ่าวมะนาวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชายหาดสวย มีทิวสนกั้นระหว่างหาดทรายกับถนน เป็นระยะทางนับสิบกิโลเมตร เมื่อมีต้นไม้แม้จะเป็นเพียงสน นก กา กระรอก ก็พออาศัยและปรับตัวให้อยู่รอดในบริเวณนี้
กระรอกหลากสีบริเวณก้นอ่าวมีมิตรเป็นแม่ค้าที่ขายของให้นักท่องเที่ยวบริเวณชายหาด แม่ค้านำตะกร้าผูกไว้บริเวณต้นสน นำผลไม้ กล้วย มาใส่ไว้ให้กระรอกกิน กระรอกบริเวณก้นอ่าวไม่ได้กินอาหารทุกอย่างที่แม่ค้านำมาให้ แต่จะเลือกกินผลไม้ที่ชอบ เช่น องุ่น กล้วยก็ไม่ค่อยกิน
ผู้เขียนสังเกตเห็นแม่ค้าส้มตำถืออาหารบางอย่างไว้ในมือ เดินไปที่ต้นสน กระรอกวิ่งลงมาโคนต้นสนหลายตัว ลงมากินอาหารในมือแม่ค้าส้มตำ แม่ค้าส้มตำบอกว่า “กระรอกที่ก้นอ่าวชอบถั่วทอดเป็นอันดับหนึ่ง ทอดไหม้ก็ไม่กิน เลือกซะด้วย” พูดยิ้ม ๆ ไม่รู้ว่าคิดอะไร สำหรับผู้เขียนคิดในใจว่า “แม้แต่กระรอกยังเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองเลย แล้วเราละ...เออ..”

วันอังคาร, ธันวาคม 07, 2553

ต้นยางนา “สวนป่าไตรตรึงษ์”




ต้นยางนา เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ให้ประโยชน์โดยเฉพาะคุณค่าของเนื้อไม้ ใช้ในการปลูกสร้างบ้านเรือน การจะตัดต้นยางนา ต้องได้รับอนุญาตก่อนเพราะมีกฎหมายบังคับไว้ แต่ทุกคนสามารถปลูกต้นยางนาเป็นมรดกสวนป่าเพื่อให้ลูกหลานใช้ประโยชน์ได้
รินถนนพหลโยธินขาขึ้นเหนือ ใกล้ถึงจังหวัดตาก มีสวนป่าต้นยางนาที่สวยงามมาก พื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ชื่อสวนป่าไตรตรึงษ์ ปลูกโดยป่าไม้จังหวัดนครสวรรค์ ปลูกเมื่อ พ.ศ. 2505 นับถึงปีนี้ป่าสวนยางนาปลูกมาแล้วสี่สิบแปดปี ต้นยางนาสูงใหญ่โดยทั่วไปมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 50 เซนติเมตร ป่าต้นยางนาดูร่วมรื่น อากาศบริเวณนั้นสดชื่นในยามเที่ยงวัน
คุณค่าของสวนป่าต้นยางไตรตรึงษ์ เป็นคุณค่าของแหล่งเรียนรู้ที่บอกเล่าการเจริญเติบโตของต้นไม้ คือต้นยางนาให้กับผู้สนใจอยากศึกษารายละเอียด เรามาร่วมกันปลูกต้นไม้ รักและดูแลต้นไม้ แม้คนละต้น ถ้าปลูกกันทั้งประเทศ ต้นไม้จะเพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านต้นเชียวแหละ