วันจันทร์, ธันวาคม 15, 2551

กะเต็นปักหลัก(Pied Kingfisher)


วันนี้ (๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑) เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง ขณะที่ทีมงานสำรวจแหล่งน้ำฝายน้ำล้นท่ามะตูมคลองพระปรง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เพื่อทำกิจกรรมนักสืบสายน้ำในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ที่จะถึง ณ บริเวณกระแสน้ำที่ตกจากฝายเป็นฝอยกระจายภาพที่พบคือเจ้ากะเต็นปักหลักสีดำขาวกำลังบินหยุดนิ่ง และดิ่งตัวลงไปในกระแสน้ำ เพื่อจับปลา เป็นภาพที่สวยงามและยากที่จะได้พบเห็น เจ้ากะเต็นปักหลักตัวนี้ดิ่งลงจับปลาอยู่ 3 ครั้ง เป็นภาพที่ประทับใจยิ่งนัก
เคยมีข้อมูลจากนักดูนกว่า พบกะเต็นปักหลักที่คลองพระปรง จังหวัดสระแก้ว วันนี้ปรากฏเจ้ากะเต็นปักหลักจริง ๆ ดูทั้งปราดเปรียว สง่าสวยงามเหมือนเครื่องบินรบที่พุ่งจู่โจมข้าศึก
กะเต็นปักหลักเป็นนกกินปลาอยู่ในตระกูล Kingfisher แล้วเราคงได้พบกันอีกเพื่อบันทึกภาพให้ได้ วันนี้ดูภาพสถานที่พบก่อนก็แล้วกันนะ

สะพานไม้แห่งการเรียนรู้ป่าชายเลน


พื้นที่บริเวณด้านหลังองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี มีการจัดสร้างสะพานไม้เป็นทางเดิน เพื่อเข้าไปศึกษาเรียนรู้ป่าชายเลน สะพานไม้ที่เดินศึกษามีความยาว ประมาณ 2 กิโลเมตร จากการสังเกตป่าชายเลน แห่งนี้มีต้นแสมขาวอยู่ประมาณเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของป่ามีการปลูกป่าเพิ่มเติมเป็นป่าโกงกางบ้าง เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปครบรอบมีข้อคิดเห็นในใจหลายเรื่อง เช่น ป่าชายเลนแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งศึกษาต้นแสมขาวโดยเฉพาะได้อย่างลึกซึ้ง พบสัตว์หลายชนิดได้แก่ กุ้งขัน ปลาตีน งู นกยางโทน นกกินเปี้ยว นกกาเหว่า โดยเฉพาะนกกินเปี้ยวถือว่าพบหนาแน่นเป็นแหล่งศึกษาได้ สัตว์ทุกชนิดไม่มีข้อมูลศึกษาเลยนับเป็นสิ่งน่าเสียดาย มีประชาชนบางคนได้ใช้สะพานไม้เป็นที่ออกกำลังกายโดยการวิ่ง ความแข็งแรงของสะพานไม้อาจลดลง ประเด็นที่สำคัญและมองข้ามไม่ได้คือ การมีประตูน้ำเปิดผ่านป่าชายเลนทำให้เกิดร่องน้ำ ผลคือต้นแสมขาวสองฝั่งล้มลงเป็นจำนวนหลายต้น เหตุของการล้มเพราะป่าเกิดช่องว่างต้นไม้ไม่สามารถเกาะเกี่ยวผูกพันกัน

สรุปว่าป่าชายเลนรากตื้นเป็นป่าอยู่ได้เพราะการเกาะเกี่ยวผูกผันทั้งรากและลำต้น เหมือนคนในชุมชนอยู่ได้ด้วยความสามัคคีทั้งความคิดจิตใจ และการกระทำ

"พูพอน"ต้นพระเจ้าห้าพระองค์ที่เขาสอยดาว


“พูพอน” เป็นวิวัฒนาการของรากต้นไม้ที่ปรับตัว โดยปกติแล้วต้นไม้ใหญ่ต้องหยั่งรากให้ลึกลงไปในดินเพื่อการยึดลำต้น แต่ในภูมิประเทศบางแห่งมีชั้นของดินตื้นใต้ดินเป็นขั้นของหินต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถหยั่งรากลงลึกได้ ต้นไม้จึงต้องแผ่รากให้เป็นปีกสูงๆอยู่บนดินเพื่อยึดลำต้น อาการเช่นนี้นักพฤกษศาสตร์เรียกว่า “พูพอน”

หากเราเดินป่า ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เส้นทางดงติ้ว – มอสิงโตจะพบพูพอนขนาดใหญ่อาจถึงสิบคนโอบ แต่เป็น“พูพอนของต้นสมพง” เมื่อเคาะพูพอนจะเกิดเสียงดังกังวานไปไกล คนเดินป่าสมัยก่อนใช้การเคาะพูพอนเพื่อการสื่อสารถึงกลุ่มพวกเมื่อเกิดหลงป่า แต่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี กลับพบ“พูพอนของต้นพระเจ้าห้าพระองค์”ขนาดใหญ่สวยงามดูเป็นปีกที่บางกว่าต้นสมพง ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลป่าให้ข้อมูลว่า ถ้าเดินขึ้นไปบนเขาสอยดาวที่สูงขึ้นอีกจะพบพูพอนของต้นพระเจ้าห้าพระองค์ที่มีขนาดใหญ่มากอาจถึงยี่สิบคนโอบ

ในโอกาสต่อไปถ้ามีเวลาคงได้มาเยือน พูพอนยักษ์ของต้นพระเจ้าห้าพระองค์ที่เขาสอยดาวอีกครั้ง

บรรพบุรุษของต้นแสมขาว


ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระแบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งอยู่ในโครงการพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ให้ประชาชนได้ศึกษา เรื่องป่าลายเลน โดยจัดเป็นทางเดินไม้เข้าไปในบริเวณป่าชายเลนระยะทาง 1600 เมตร ในป่ามีทั้งต้นแสม ต้นโกงกาง ต้นลำพู ที่ โดดเด่นคงเป็นต้นแสมขาวที่มีอายุยืนยาวที่สุดในบริเวณนี้ โดยเชื่อว่ามีอายุยืนกว่า 200 ปี ต้นแสมขาวต้นนี้จึงถูกขนานนามว่า “ ปู่แสมขาว” เมื่อได้เห็นต้นไม้ต้นโตๆ มีอายุมากๆ รู้สึกมีความสุข ดูเหมือนโลกนี้ยังมีความหวังอยู่ โลกนี้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ในขณะเดียวกันก็แอบคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่า “ ถ้าต้นไม้พูดได้น่าจะดีนะ โดยเฉพาะต้นปู่แสมขาวต้นนี้ จะได้ถามท่านถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ครั้ง พ.ศ. 2310 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ท่านกอบกู้เอกราชเช่นไร จึงทำให้ประเทศเป็นเอกราชเช่นทุกวันนี้”

เจ้างาขาว


“ เจ้างาขาว” ไม่ได้เป็นชื่อของช้าง แต่ เป็นชื่อของวัวตัวหนึ่ง ซึ่งเจ้าของเขาตั้งให้เนื่องจากความผิดปกติของเขาสีขาวที่ยาวมากๆ เจ้างาขาวเป็นวัวหนุ่มสีแดงเพลิงทั้งตัวรูปร่างสง่าสวยงาม

จากการพูดคุยกับเจ้าของบ้านบันเทิงรีสอร์ท ที่อยู่ใกล้ๆอ่าวคุ้งกระเบนอำเภอท่าใหม่
จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเลี้ยงเจ้างาขาวไว้บอกว่าเจ้างาขาวเป็นของน้องชายซื้อมาจากทางภาคอีสาน ในราคาห้าแสนบาท น่าจะเป็นวัวลูกผสมแต่ไม่รู้ว่าลูกผสมพันธุ์อะไร บ้างครั้งก็ดุเหมือนกันถ้าขังนานๆ เลี้ยงไว้กับฝูงวัวตัวเมียมีการผสมพันธุ์บ้าง แต่ลูกที่ได้ก็ไม่เหมือนเจ้างาขาวเลย

มีข้อมูลน้อยแต่แปลกดีนะ คิดเอาเองว่าน่าจะเป็นลูกผสมวัวแดง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าเพราะดูแข็งแรง สง่างาม

วันอังคาร, ธันวาคม 09, 2551

บ่อเกลือโบราณ




ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านมีบ่อเกลือสินเธาว์หรือบ่อเกลือภูเขา ซึ่งชาวอำเภอบ่อเกลือมีความภาคภูมิใจและเชื่อว่าบ่อเกลือของเขาเป็นบ่อเกลือสินเธาว์ภูเขาแห่งเดียวในโลก
บ่อเกลือแห่งนี้มีความเป็นมาที่ยาวนานเนื่องจากเกลือมีความสำคัญต่อมนุษย์ อย่างยิ่ง ในอดีตเกลือเคยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อเหตุแห่งการแย่งชิง (เอกสารแผ่นพับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ่อเกลือ) ปัจจุบันบ่อเกลือกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดน่าน หากได้ไปเยี่ยมชมการทำเกลือสินเธาว์ที่อำเภอบ่อเกลือ จะพบกับมัคคุเทศก์น้อย ๆ คอยแนะนำการทำเกลือว่ามีขั้นตอนอย่างไร เราจะได้ยินคำเชิญชวนจากมัคคุเทศก์น้อยเหล่านี้ว่า “ชิมเกลือของเราหน่อยเกลือของเราหวานนะ” แล้วตักเกลือจากขอบกระทะที่ต้มมาให้ชิม
ความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ผนวกกับความน่ารักของเด็ก ๆ ทำให้หายเหนื่อยจากการเดินทางที่คดโค้งไปบนยอดดอยได้เหมือนกัน

ช่างเงิน..เม็ดเงิน..ทำเครื่องประดับเงิน


คุณ นำชัย จารุศิลากุล เป็นช่างเงินที่ทำเครื่องประดับด้วยเงิน อยู่ที่บ้าน ป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ กำไร ต่างหู ทุกชิ้นสวยงามมีศิลปะในการออกแบบอย่างน่าทึ่ง จากการได้พูดคุยกับคุณนำชัย ทำให้ทราบว่าที่บ้านป่ากลางมีการรวมกลุ่มกันทำเครื่องเงินทุกขั้นตอน โดยเริ่มแปรรูปจากเม็ดเงินเล็กๆ ขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ นำมาทำเป็นแผ่นบ้าง เป็นเส้นเพื่อถักเป็นสร้อยบ้าง ทำทุกขั้นตอนจนเป็นเครื่องประดับที่สวยงามเพื่อจำหน่ายที่บ้านป่ากลาง และส่งไปจำหน่ายตามใบสั่งของลูกค้าทั่วประเทศ
ก่อนจากกันได้ถามคุณนำชัยด้วยความสงสัยว่า “ ชาวบ้านป่ากลางดูธรรมดาๆ แต่ทำไมทำเครื่องเงินได้สวยงามและทันสมัยจริงๆ” คุณนำชัยยิ้มแล้วตอบว่า “พวกเราได้รับการฝึกฝนจากศูนย์ศิลปชีพในสมเด็จพระราชินีนาถส่วนหนึ่ง ผนวกกับทุนความรู้ดั่งเดิมที่เคยทำเครื่องเงินจากบรรพบุรุษมา จึงทำให้เป็นวันนี้ครับ”

หลวงพ่อกับต้นดิกเดียม


คำว่า “ดิกเดียม” เป็นภาษาของคนในภาคเหนือโดยเฉพาะชาวจังหวัดน่าน ซึ่งแปลว่า “จักจี้” ฉะนั้น ต้นดิกเดียมที่จะเขียนจึงหมายถึงต้นจักจี้ ต้นจักจี้เป็นเช่นไร ต้นจักจี้อยู่ที่ไหน

ต้นดิกเดียม ต้นนี้อยู่ที่วัดปรางค์ อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อต้นดิกเดียมอยู่ในวัดแน่นอนที่สุดบุคคลที่จะให้ข้อมูลได้ดีก็ต้องเป็นหลวงพ่อนั้นแหละ วันนั้นคณะของพวกเราได้ยืนฟังหลวงพ่อบรรยายถึงต้นดิกเดียม พร้อมทั้งสาธิตการลูบไปตามต้นดิกเดียม ผลปรากฏคือต้นดิกเดียมสั่นสะท้านจนใบไหว นับเป็นเรื่องที่แปลกมากถึงปฏิกิริยาของต้นไม้ที่มีต่อการลูบเบาๆของหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อสาธิตให้ดูแล้ว พวกเราทุกคนต่างทดลองลูบต้นดิกเดียมดูบ้าง ผลปรากฏการสั่นสะท้านของต้นดิกเดียมที่ทุกคนลูบแตกต่างกัน บางคนสั่นมาก บางคนสั่นน้อย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นยังคงต้องพิสูจน์ทดลองอีกต่อไป

สิ่งที่ได้พบเห็นเรื่องนี้น่าศึกษาวิจัยเป็นอย่างยิ่งทั้งด้านวิทยาศาสตร์และด้านศาสนา

วันจันทร์, ธันวาคม 08, 2551

ท่องเที่ยวพันภู...ดูเมืองน่าน


นักท่องเที่ยวมักกล่าวว่า “จังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยในเรื่องการท่องเที่ยวแล้วมีจุดเด่นของแต่ละจังหวัด เช่น ถ้าเป็นเมืองกาญจนบุรีก็ต้องเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแคว ถ้าเป็นพระนครศรีอยุธยาก็ต้องเป็นกรุงเก่าร่องรอยประวัติศาสตร์ ถ้าต้องขับรถถึง 1,864 โค้ง ก็ต้องเป็นแม่ฮ่องสอน แต่ถ้าอยากดูภูเขาสลับซับซ้อนนับพันภูก็ต้องไปดูที่เมืองน่าน”
จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 13 ของประเทศขณะที่ความหนาแน่นของประชากรเพียง 42 คน ต่อ 1 ตร.กม. พื้นที่จังหวัดน่านจึงเต็มไปด้วยขุนเขา ภูเขาที่สูงที่สุดคือดอยภูคาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 1,980 เมตร ในเดือนธันวาคมอุณหภูมิบนดอยภูคาต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบาย ความงามของขุนเขาสลับซับซ้อนสุดตาเหนือจินตนาการ ดอยภูคานับเป็นขุนเขาแห่งความสงบเขียวขจี ส่วนดอยภูแวเป็นขุนเขาแห่งพลังสีสนิมเหล็ก น่านคือพลังที่แข็งแกร่งและสงบร่มเย็น
สำหรับผู้คนที่รักภูเขาเป็นชีวิตจิตใจแล้ว อยากให้หาโอกาสให้ตนเองได้ “ท่องเที่ยวพันภูดูเขาที่เมืองน่าน” เพื่อเป็นรางวัลให้ชีวิต

ฝายแม้วที่น้ำแม่ว้า


น้ำแม่ว้า เป็นแม่น้ำสายรองไหลไปรวมกับแม่น้ำน่าน ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ช่วงต้นเดือนธันวาคม ยังมีน้ำไหลอยู่ไม่มากนัก ด้วยพื้นที่ต้นน้ำถูกตัดต้นไม้บนภูเขาเกือบโล้นทำให้ไม่มีพื้นที่ซับน้ำ ประชาชนที่อยู่ริมน้ำแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกผักและกระเทียม บริเวณริมแม่น้ำ โดยการช่วยกันทำฝายแม้วชะลอน้ำให้ไหลช้าลงเพื่อยืดระยะเวลาการนำน้ำไปใช้

ที่จริงแล้วฝายแม้ว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในชุมชนภาคเหนือของประเทศไทยมายาวนาน บรรพบุรุษได้สั่งสม องค์ความรู้ไว้ให้อนุชนได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการบูรณาการ(ทำไปพร้อมกัน) ภูมิปัญญากับความรู้สมัยใหม่ในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน เพื่อคนรุ่นต่อๆไป

ฝายแม้วชะลอน้ำให้ไหลช้าเพื่อการนำไปใช้ ฉันใด การลดการบริโภคที่เกินความจำเป็นช่วยชะลอธรรมชาติสิ่งแวดล้อมถูกทำลายได้ ฉันนั้น

วันอังคาร, ธันวาคม 02, 2551

เมื่อฟากฟ้าปรากฏ"ดาวเคียงเดือน"


1 ธันวาคม 2551 ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 1 ปีชวด เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ทิศตะวันตกเฉียงใต้บนฝากฟ้าเมื่อดาวและเดือนโคจรมาอยู่ใกล้กันในลักษณะตา 2 ข้าง และปากที่ยิ้ม ตาข้างขวาเป็นดาวศุกร์สว่างกว่า ตาข้างซ้ายเป็นดาวพฤหัส ดวงจันทร์ยิ้มอยู่ด้านล่าง คนไทยทั้งประเทศต่างคนต่างมอง ต่างคนต่างคิด คิดทั้งด้านบวก คิดทั้งด้านลบ บ้างก็บอก ธรรมชาติยิ้มเยาะมนุษย์ บ้างก็บอกสิ่งดีดีกำลังจะปรากฏให้มนุษย์ได้เห็น
ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้แปลกเป็นธรรมชาติการโคจรของดวงดาวเพียงแต่ว่า เกิดยากที่ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส และดวงจันทร์จะโคจรแล้วปรากฏเป็นรูปเช่นวันนี้ เป็นปรากฏการณ์ให้เห็นเพียงวันเดียว มีผู้ให้ข้อมูลว่าหากต้องการดูอีกครั้งต้องรอไปถึง 44 ปี สมมุติว่าวันนี้เราอายุ 57 ปี ต้องดูแลสุขภาพอย่างดีเพื่อให้มีอายุถึง 101 ปี จึงจะได้ดูอีกครั้ง..ดูดีไหมเอ่ย

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 27, 2551

กาสรกสิวิทย์โรงเรียนกระบือแห่งแรกของโลก


ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 33 ถนนสุวรรณศร ที่ผ่านจังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี เข้าสู่จังหวัดสระแก้ว ก่อนถึงตัวจังหวัดสระแก้วประมาณ 5 กิโลเมตร ขวามือเป็นที่ตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์โรงเรียนสอนกระบือแห่งแรกของโลก ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ณ ห้วงเวลานี้เป็นระยะเวลาเริ่มต้นการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงบริเวณสถานที่
จากการได้เข้าเยี่ยมชมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ดูเป็นคนเก่งมีความคล่องตัวสูงทำให้ทราบว่าโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนกระบือให้สามารถกลับมาไถนาได้อีกครั้ง ซึ่งเขาเคยทำหน้าที่นี้หลายร้อยปีมาแล้ว แต่คนทอดทิ้งกิจกรรมเช่นนั้นไปเสีย และอีกวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อสอนคนให้รู้จักพากระบือไปไถนาได้ เหตุเพราะผู้คนปัจจุบันลืมวิธีใช้กระบือไถนาไปแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบอกกล่าวอีกว่าในพื้นที่ของโรงเรียนกาสรกสิวิทย์แบ่งเป็นสามส่วน
ส่วนแรกเป็นส่วนการต้อนรับผู้มาเยือนทั้งการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูล ส่วนที่สองเป็นส่วนการสอนและการเรียนรู้ของกระบือและคน ส่วนที่สามเป็นส่วนแสดงองค์ความรู้ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ในเบื้องต้นได้กำหนดหลักสูตรคร่าว ๆ ไว้ 3 หลักสูตร หลักสูตรสอนกระบือให้ไถนา 3 วัน หลักสูตรสอนคนให้พากระบือไถนา 10 วัน และหลักสูตรที่สอนทั้งกระบือและ คนทำนา 15 วัน
ในเวลาอันใกล้นี้เราอาจได้เห็นวิถีไทยวิถีเกษตรอย่างยั่งยืน ที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันแลกเปลี่ยน การลงแขกลงแรงและรอยยิ้มหนึ่งเดียวในโลกอีกครั้งหนึ่ง

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 23, 2551

กะเหรี่ยงคอยาวที่แม่ฮองสอน



“กะเหรี่ยงคอยาว” เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่มีประเพณี วัฒนธรรมไม่เหมือนกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นกล่าวคือ วัฒนธรรมการนำปลอกทองเหลืองสวมไว้รอบคอและเพิ่มจำนวนขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุ บางคนสวมมากกว่า 25 ปลอก จึงทำให้คอดูยาวกว่าปกติ (คอยาวกว่าปกติจริงๆ) การสวมปลอกคอทองเหลืองนั้นนิยมทำเฉพาะผู้หญิงโดยเริ่มสวมตั้งแต่เด็ก เป็นความสมัครใจของผู้สวมเองที่จะรักษาวัฒนธรรมนี้ ไม่มีการบังคับ แต่เมื่อตัดสินใจสวมปลอกทองเหลืองแล้วต้องสวมไปตลอดชีวิต
จากการได้สัมภาษณ์พูดคุยกับกะหรี่ยงคอยาวที่หมู่บ้านห้วยปูแกง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้เข้าใจวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงคอยาวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แม้ว่าผู้หญิงที่สวมปลอกทองเหลืองจำนวนหลายปลอกก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีชีวิตคู่ มีครอบครัวและมีบุตรแต่อย่างใด ปลอกทองเหลืองที่สวมใส่นั้นกะเหรี่ยงคอยาวถือว่าเป็นเครื่องประดับ เขาจึงทำความสะอาดทุกวันให้สวยงาม จึงดูเหมือนว่าปลอกทองเหลืองสุกใสเหมือนทองคำแท้ กะเหรี่ยงคอยาวมีนิสัยรักสงบ เอื้ออารี ยิ้มแย้ม เป็นมิตร สุภาพ
แม้ว่าผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วโลกเพื่อเยี่ยมเยือนกะเหรี่ยงคอยาว อาจนำพาวัฒนธรรมต่างๆ มาเพื่อให้เขาได้พบได้เห็น แต่กะเหรี่ยงคอยาวยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ด้วยความเชื่อมั่นในตัวตนที่ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ปฏิเสธความเจริญ รู้จักใช้ Internet เพื่อการศึกษาสืบค้น ใช้ Solar Cells เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
สรุปว่า มนุษย์ทุกผู้คนที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ อาจเข้าใจดีว่าความเจริญสักเท่าใด สุดท้ายย่อมกลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม

วันเสาร์, พฤศจิกายน 22, 2551

ทุ่งดอกบัวตอง




“บัวตอง” เป็นภาษาเหนือ หมายถึง “บัวทอง” ดอกบัวตองหรือดอกทานตะวันป่า เป็นดอกไม้ที่ชอบขึ้นในบริเวณพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่สนสองใบ สนสามใบขึ้นอยู่ด้วย ฉะนั้นเมื่อเราพบเห็นทุ่งดอกบัวตองก็พบเห็นต้นสนเช่นกัน
เดือนพฤศจิกายนของทุกปีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปชมความงามของ ทุ่งบัวตองในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นความงามทางธรรมชาติ แม้ว่าการเดินทาง แสนหฤโหดต้องขับรถ เลี้ยวลดคดไปคดมาตามไหล่เขามากกว่า 1,800 โค้ง ไปถึงดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นดอยแห่งดอกบัวตอง เมื่อไปถึงได้พบเห็นดอกบัวตองบานสะพรั่ง สะพรึบ ซับซ้อนบนเขาหลาย ๆ ลูกสุดสายตา ความงามที่พบเห็น ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยหายไปโดยสิ้น ธรรมชาติได้มอบของขวัญล้ำค่าให้มวลมนุษย์อาจเป็นขุนเขาที่ห่างไกล หรือแม้แต่ในใต้ทะเลลึก แต่ธรรมชาติไม่ได้บอกว่ารักษาสมบัติล้ำค่านั้นอย่างไร มนุษย์ต้องเรียนรู้การดูแลรักษาหากมนุษย์ไม่ใส่ใจ ธรรมชาติเพียงแต่ขอของขวัญล้ำค่านั้นกลับคืน
เรามาช่วยกันรักษาทุ่งดอกบัวตอง ให้คงความสวยงามไว้ตลอดไปเพื่อคนรุ่งหลังที่ยังไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสได้มาชื่นชมในวันข้างหน้านะ

วันจันทร์, พฤศจิกายน 03, 2551

กองเกลือนาเกลือที่สมุทรสาคร


ใกล้ฤดูหนาวปีนี้ ได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาครนับว่าเป็นโชคจริง ๆ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน คณะอาจารย์ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสมุทรสาคร ให้ความกรุณาพาไปศึกษาเรื่องราวการทำนาเกลือจากคุณตาทองเจือ แสงจันทร์ ท่านอายุ 78 ปี แล้ว อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 3 ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ในการพูดคุยสนทนา สัมภาษณ์การทำนาเกลือจากท่าน คาดหวังว่าจะได้รายละเอียดเพื่อให้เข้าใจวิธีการทำนาเกลืออย่างแท้จริง แต่ผลการสัมภาษณ์กับพบว่า การทำนาเกลือนั้น เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ (เคมี) เป็นทั้งศิลปะ เป็นทั้งคุณธรรม เป็นทั้งความสามัคคี มีคำพูดที่เฉียบคมของคุณตามากมายที่อยากบอกเล่าให้เรารู้ ตัวอย่างเช่น
“ทำนาเกลือนี้พื้นที่ 40 ไร่ ทำคนเดียวได้ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องจ้างคนงาน”
“การทำนาเกลือไม่มีหลักสูตรอะไรที่ตายตัว ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในการเดินน้ำ”
“ทำนาเกลืออย่างไรก็อยู่ได้ ถ้าไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย”
“ทำนาเกลือใช้พื้นที่มาก พี่น้องที่มีที่ดินร่วมกันต้องสามัคคีกัน ทำร่วมกัน”
ถ้าอยากรู้จริงต้องมาเรียนรู้กับตา ปีนี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงเดือน มกราคม แล้วจะเห็นขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงเม็ดเกลือ
สงสัยว่าต้องมาฝังตัวอยู่กับคุณตาทองเจือ แสงจันทร์ซัก 2-3 เดือนซะแล้วจะได้ รู้จริงเสียทีว่า “ความเค็มของเกลือนั้นได้มาอย่างไร”

ดูเหยี่ยวอพยพที่ชุมพร


ช่วงเวลาเดือนตุลาคม ของทุกปี มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติวิทยาอย่างหนึ่งคือคาราวานเหยี่ยวและนกอินทรีอพยพ ปรากฏโฉมให้เห็นบนท้องฟ้าตามเส้นทางจากทิศเหนือไปทิศใต้ โดยผ่านแนวด้ามขวานของประเทศไทยนับหมื่นนับแสนตัวตลอดทั้งเดือน
จุดบริเวณที่นักดูเหยี่ยวอพยพ ยึดเป็นแหล่งมารวมกัน เพื่อเฝ้าดูจุดหนึ่งคือลานดูเหยี่ยวอพยพริมทุ่งนา บ้านอู่ตะเภา ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร วันนั้น (30 ตุลาคม) เวลาประมาณแปดนาฬิกาสามสิบนาที ที่ลานดูเหยี่ยวไม่มีนักดูเหยี่ยวมีเพียงเก้าอี้ประมาณ 20 ตัว อยู่ในเต็นท์ที่ว่างเปล่า เนื่องจากเทศกาลดูเหยี่ยวผ่านพ้นไปแล้ว เราดึงเก้าอี้มานั่งพิงเสาเต็นท์มองขึ้นไปบนท้องฟ้าเห็นจุดดำแต่ไกล ๆ ฝูงเหยี่ยวนับร้อย ๆ เริ่มบินใกล้เข้ามา กล้อง Binoculars Olympus EXWP1 8 x 42 มองเห็นได้ชัดเจน แม้ว่าสิ้นเดือนตุลาคมแล้วฝูงเหยี่ยวยังอพยพอยู่ คิดว่าเขาคงหนีหนาวมาจากไซบีเรีย และไปหากินแถบบริเวณเกาะต่างๆในอินโดนีเซียกระมัง
หัวใจเต้นแรงเมื่อปรากฏเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลงต่ำบินวนมองเห็นชัดในกล้องส่องทางไกลเต็มตัว สวยงามมากหางกางแผ่ออกปลายปีกคลี่กระจาย เจ้าเหยี่ยวที่แสนสวยตัวนี้ ชื่อ “เหยี่ยวทะเลทราย” บางครั้งชีวิตเราก็มีเรื่องอะไรดีดี ผ่านเข้ามาได้เหมือนกันนะ

วันอังคาร, ตุลาคม 28, 2551

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู


วันนี้ (27 ตุลาคม 2551) ได้ไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่จัดว่ามีความสำคัญอันดับหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว เนื่องจากเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นพุทธสถานที่เก่าแก่ที่สุด มีจารึกการก่อสร้างตรงกับปีพุทธศักราช 1180 พุทธสถานนั้นคือ “ปราสาทเขาน้อยสีชมพู” ตั้งอยู่บนยอดเขาที่ไม่สูงนัก ณ ตำบลคลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ในคราวที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสระแก้ว ณ วันที่ 1ธันวาคม 2536 นั้น ชาวจังหวัดสระแก้ว ได้นำเอาภาพพุทธสถานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสระแก้ว ในด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของพุทธสถานแห่งนี้มองได้หลายมุม ถ้ามองลักษณะภูมิประเทศพื้นที่โดยรอบมีป่าไม้ ร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ที่สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ บันไดที่ทอดขึ้นสู่ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นขั้นกว้างให้ก้าวเดินได้ 2-3 ก้าว และก้าวขึ้นไปขั้นต่อไปเตี้ยๆ ทำให้เดินแล้วไม่รู้สึกเหนื่อย เด็กหรือผู้สูงอายุเดินได้สบายๆ เมื่อขึ้นไปถึงมองเห็นตัวปราสาทรูปทรงคล้ายพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี แต่ที่ปราสาทเขาน้อยสีชมพูเหลือเพียงปราสาทองค์กลางเท่านั้นปราสาทองค์ซ้ายและขวาชำรุด ปรากฏเพียงฐานและร่องรอยที่เป็นทับหลังหินทรายตกอยู่ องค์ปราสาทถูกสร้างด้วยอิฐสีชมพู หากสังเกตอย่างละเอียดแล้วจะเห็นความประณีตของการวางอิฐที่ต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ในการซ้อนอิฐให้เกิดการถ่ายเทน้ำหนักอย่างสมดุลซึ่งคนโบราณสร้างให้อยู่เพื่อลูกหลานได้เห็น ถ้านับเวลาถึงปัจจุบันปราสาทเขาน้อยสีชมพูมีอายุกว่า 1371 ปีแล้ว

สรุปว่า ปราสาทเขาน้อยสีชมพูนับเป็นมรดกทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าเพื่อการศึกษาเรียนรู้ของมนุษย์ชาติทุกคน

วันจันทร์, ตุลาคม 13, 2551

หล่อหลวงปู่ทองคำ สด จนฺทสโร


ความศรัทธาที่มหาชนมีต่อหลวงปู่วัดปากน้ำ (สด จนฺทสโร) พระมงคลเทพมุนีผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายนั้นเห็นได้จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นวันซึ่งลูกศิษย์ หลานศิษย์ ร่วมใจกันหล่อรูปเหมือนหลวงปู่วัดปากน้ำ ด้วยทองคำบริสุทธิ์ ขนาดเท่าครึ่งขององค์จริง มหาชนหลั่งไหลไปร่วมพิธี ณ วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จากทั่วประเทศ รวมทั้งจากต่างประเทศทั่วโลกประมาณกันว่าในวันนั้นมีผู้ศรัทธามาร่วมบุญเกือบหนึ่งล้านคน
หากถามว่า...เพราะเหตุใดผู้คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างอาชีพ ต่างฐานะ ต่างการศึกษา จึงมารวมกันได้ด้วยแรงศรัทธามากถึงขนาดนั้น คำตอบที่ได้รับคือ...ทุกผู้คนที่ศรัทธาต่างก็ได้รับความสุขที่แท้จริงจากการได้อยู่ในบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตรของผู้คน ความมีระเบียบ เรียบร้อย ความสะอาด การต้อนรับที่เต็มด้วยไมตรี เหนืออื่นใดทั้งสิ้น คือ ความสุขจากการได้ปฏิบัติธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระเดชพระคุณ หลวงพ่อ ธัมมชโย (พระราชภาวนาวิสุทธิ์) หลานศิษย์ของหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านเมตตาสอนตามแนวทางวิชชาธรรมกายมาโดยตลอดกว่า 40 ปี ทุกคนจึงรักหลวงพ่อที่ท่านมีแต่เมตตาเป็นผู้ให้ เมื่อหลวงพ่อตั้งความปรารถนาจะหล่อหลวงปู่วัดปากน้ำด้วยความกตัญญู ศิษย์ทุกคนจึงทุ่มเทด้วยชีวิตดังภาพที่ปรากฏเป็นอัศจรรย์ในวันนั้น

น้ำไหลใต้รางที่ปางสีดา


หลายปีที่ผ่านมา รางน้ำที่ทำด้วยปูนซีเมนต์ ข้างถนนลาดยางซึ่งทอดขึ้นไปยังน้ำตกปางสีดาเคยเป็นทางไหลของน้ำใสสะอาดจากต้นน้ำตกลงไปหล่อเลี้ยงพืชผลในส่วนล่างของอุทยานตลอดมา ฤดูฝนปีนี้เกิดความผิดปกติน้ำที่เคยไหลบนรางกลับไหลอยู่ใต้รางเสียงดังก้อง... ผลที่ตามมาคือบนรางปูนซีเมนต์ไม่มีน้ำใสอย่างเคยแม้แต่หยด ใต้รางปูนซีเมนต์ถูกกัดเซาะเป็นโพรง ระยะทางยาวกว่าสี่ห้าร้อยเมตร บางช่วงรางปูนซีเมนต์ถูกน้ำดันยกขึ้นพังเสียหาย ซึ่งความจริงแล้วการสูญเสียเกิดขึ้นกับรางน้ำทั้งหมด

ถามว่า อะไรเกิดขึ้นกับรางน้ำ... หากคำตอบ ตอบว่า หญ้าข้างรางน้ำยาวเกินไป ทำให้มองไม่เห็นการกัดเซาะของน้ำที่ไหลมาจากเชิงเขารอดผ่านลงไปใต้ราง จากร่องเล็กแล้วขยายขนาดเพิ่มขึ้น เมื่อไม่ได้ดูแลซ่อมแซมจึงเป็นเหตุให้เกิดน้ำไหลใต้รางใช่หรือไม่...

หากเป็นเช่นนี้จริง อุทาหรณ์ น้ำไหลใต้รางในครั้งนี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภารกิจการงานขององค์กร หากว่าบุคลากรต่างทำงานไปคนละทิศ คนละทาง ผู้บริหารขาดการสอดส่องดูแล ผลที่ตามมานอกจากผลลัพธ์
ที่ควรได้กลับไม่ได้แล้ว อาจเป็นความเสียหายอย่างมหาศาลดังเหตุการณ์ “น้ำไหลใต้รางที่ปางสีดา” ในครั้งนี้

เขาคือใคร


ยามเจ้าวัยเยาว์เจ้าจะคืบเจ้าจะคลานไปแห่งหนตำบลไหนใครต่อใครเขาเห็นเจ้า เขาก็เกลียดเขาก็กลัวทำท่าขยะแขยงหลีกลี้หนี้ห่างต่างร้องบอกต่อๆกันว่า “หนอน หนอน หนอน” เขาช่างเกลียดช่างกลัวเรากะไรเช่นนี้ น้ำตาซึมพาตัวไปซุกไปซ่อนกำบังกายถักทอเส้นใยเป็นเกราะห่อหุ้มตัว ทั้งกลัวภัย ทั้งอับอาย… ไม่มีใครเขาเมตตา
นอนนิ่งคิดนึกน้อยเนื้อต่ำใจ จะทำเช่นไรในชีวิต จะซ่อนตัวอับอายเช่นนี้หรือจะออกไปสู่โลกกว้างสู้ความจริง แม่เคยบอกเราว่า “แท้ที่จริงแล้วเราทั้งสวยทั้งสง่างาม ร่าเริงสดใสเมื่อเราโผผินบินไปในท้องนภา” แต่เราไม่รู้ว่าที่แม่พูดนั้นเป็นความจริงหรือไม่
แล้ววันหนึ่งเรารู้สึกตัวว่าเกราะที่อบอุ่นของเราคับแคบและอึดอัด หรือว่าเราตัวโตขึ้น… เมื่อดันเกราะที่เคยห่อหุ้มให้หลุดพ้นไป ร่างกายเราปรากฏเป็นดั่งที่แม่เคยบอกไว้… เราทั้งสวยทั้งสง่างามเราบินได้ด้วย มีผู้คนมากมายยิ้มแย้มแจ่มใสเมื่อพบเห็นเราโผผินบินไปในโลกกว้าง เขาเหล่านั้นต่างก็พูดว่า “สวยจังเลยผีเสื้อตัวนี้”

คำสอนแม่ฉัน

พอจำความได้ก็รู้ว่าตนเองมีหน้าที่ ที่แม่แบ่งให้ทำตามกำลัง น้องตัวเล็กก็จะกวาดบ้านถูบ้าน น้องโตขึ้นมาหน่อยก็ทำกับข้าวหุงข้าวนึ่งข้าว ส่วนตัวเราพี่คนโตรับภาระทุกอย่างจากแม่ แม่มีวิธีสอนลูก แม่จะพาทำงานและสอนงานไป มือก็ทำปากก็พูด ไม่เพียงแต่สอนงานที่ทำด้วยแรงกายเท่านั้น แม่ยังมีวิธีกระตุ้นแรงความคิดให้มุ่งมั่น ฝ่าฟันอุปสรรค แม่จะพูดว่า “แม่เป็น ผู้พลาดโอกาส สมัยแม่เป็นเด็กแม่เรียนหนังสือเก่งไม่เคยสอบได้ที่สองเลยต้องเป็นที่หนึ่งทุกครั้ง แต่แม่ไม่สามารถเรียนต่อได้เพราะครอบครัวยากจน ประกอบกับเกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ตากับยายไม่ให้แม่เรียนแม่ร้องไห้อยู่หลายวัน… ขอให้ลูกทุกคนตั้งใจเรียนให้สูงที่สุดช่วยสานฝันของแม่ให้เป็นจริง…”
ลูกทุกคนนอนห้าทุ่มตื่นตีสามช่วยแม่ค้าขาย เป็นอีกช่องทางรายได้ช่วยรายได้ประจำของพ่อ ซึ่งต้องไปทำงานในที่ห่างไกล คำสอนและความตั้งใจของแม่เป็นแรงบันดาลใจให้เราฟันฝ่าอุปสรรคมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถือว่า “ความสำเร็จในชีวิตมาจากคำสอนของแม่ฉัน”

วันอังคาร, กันยายน 30, 2551

ประวัติศาสตร์การเกิด"วงแหวนสุริยะ"ที่ควรจดจำ

วันที่สิบแปดสิงหาคมสองพันสี่ร้อยสิบเอ็ดถ้านับถึงปีนี้ก็นับได้ถึง 140 ปีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปีว่า“จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอจังหวัดประจวบคีรีขันธ์” และเหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นจริง ความสวยงามที่ถูกบันทึกไว้ด้วยภาพถ่ายคือภาพวงแหวนสีทองมีหัวเป็นเพชรขนาดใหญ่สว่างไสวอยู่บนฟากฟ้าภาพถ่ายนี้จึงเป็นตราสัญลักษณ์ของ “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ” มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนจังหวัดสระแก้ว มีการบันทึกข้อมูลไว้ว่าเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ณ อำเภอตาพระยาเมื่อวันที่ยี่สิบสี่ตุลาคม สองพันห้าร้อยสามสิบแปด เวลาสิบนาฬิกาห้าสิบห้านาที สามสิบสองวินาที ภาพที่ปรากฏเป็น“วงแหวนสุริยะ” ที่สวยงามผู้บันทึกภาพได้มอบภาพถ่ายให้ “ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว” ไว้เป็นที่ระลึก ณ ตึกอำนวยการให้ทุกคนได้ชม

ในวันที่หนึ่งตุลาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( 1 ตุลาคม 2411 )ชาวศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจากทั่วประเทศวางพวงมาลาสักการะ

วันจันทร์, กันยายน 29, 2551

"บ้านดิน"ศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติ

ในอำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว มีแหล่งการเรียนรู้แห่งหนึ่งที่จัดว่าสำคัญยิ่งเพราะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีเอกลักษณ์ซึ่งสามารถบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ แหล่งการเรียนรู้ที่กล่าวถึงนั้นคือ “บ้านดินศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติ”

ความเป็นมาของบ้านดินศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติเริ่มต้นจาก ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดสระแก้วโดยมี คุณสมิตร เย็นสบาย เจ้าของที่ดินแห่งนี้เป็นแกนนำก่อตัวให้ใช้ที่แห่งนี้เป็นฐานเรียนรู้อบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจากการพูดคุยกับวิทยากรประจำศูนย์ คุณสุเวช คำเดชะ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวว่า หลักสูตรการอบรมของบ้านดินศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติต้องเป็นระยะเวลา 4 คืน 5 วัน เพราะมีฐานการเรียนรู้ทั้งสิ้น 9 ฐานเรียนรู้ รุ่นหนึ่งๆรับได้ 70-80 คน ฐานการเรียนรู้แต่ละฐานมีความสำคัญยิ่ง เช่น ฐานบ้านดินเป็นการเรียนรู้การนำดินเหนียวมาทำบ้านให้ผู้เข้าอบรมได้อยู่อาศัย เป็นต้น นอกจากฐานบ้านดินแล้ว ยังมีฐานต่างๆดังนี้ ฐานวิถีชาวนา ฐานคนรักแม่พระธรณี ฐานหมูหลุม ฐานคนเอาถ่าน ฐานคนมีน้ำยา ฐานสมุนไพรใกล้บ้าน ฐาน Bio-gas ฐาน Bio –diesel เมื่อซักถาม คุณสุเวช คำเดชะ ว่าองค์ความรู้ที่ให้กับเกษตรกรผู้มาอบรมนั้นได้กล่าวถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ คุณสุเวช คำเดชะ ตอบว่า “ ยังครับอยากให้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษามามีส่วนร่วมในกิจกรรมแห่งนี้ด้วยครับ”

สรุปว่า แหล่งการเรียนรู้บ้านดินศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติแห่งนี้ควรเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่บูรณาการภูมิรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชนผู้มาเรียนรู้

My son go inter....

มีลูกชายคนเดียวบุคลิกเขาสุขุมเยือกเย็นอารมณ์ขันนิดๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยานใช้จ่ายระมัดระวังจะซื้อของอะไรเลือกมากต้องเป็นของดีของแพงแต่ซื้อให้ได้ในราคาถูก สมบัติจึงมีไม่มากมีกางเกงยีนส์เก่าๆ 2 ตัว แจ๊กเก็ตเท่ห์ๆ หนึ่งตัว รองเท้าไอ้เข้ (จระเข้) หนึ่งคู่ เสื้อยืดยี่ห้อที่คิดไม่ถึงซักห้าหกตัว กางเกงขาสั้นตัวโปรดจากจตุจักร รองเท้าแตะนิ้วคีบสีดำๆ เป้และกล้อง canon 450 D พร้อมอุปกรณ์ครบครัน นาฬิกาก็ไม่ใช้ เขาบอกว่าดูเวลาจากโทรศัพท์เอา ชอบงานศิลปตั้งแต่เล็กๆ เคยไปดูช่างปั้นดินที่ด่านเกวียนนครราชสีมา เคยปั้นช้างจากดินน้ำมันตัวเท่าหัวไม้ขีดไฟมาให้พ่อดู....ไม่เคยคิดจะไปต่างประเทศ...อยู่เมืองไทยนี่แหละดีละพ่อทำงานบริษัทฝรั่งออกแบบ Website ใช้เงินดอลล่าร์ อยู่ 5-6 เดือน ฝรั่งบอก “you go inter....” เมื่อวานนี้ลูกโทรศัพท์มาจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย “Hallo daddy” อ้าว My son go inter.... ซะแล้ว ถามไปว่า “ How are you” ลูกชายบอกว่าโคตร Advance เลยพ่อ

วันจันทร์, กันยายน 22, 2551

Solar cell ที่คลองช่องกล่ำ




จะมีใครรู้บ้างไหมว่าจังหวัดสระแก้ว มีแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ เรื่อง การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่รู้จักในภาษาทับศัพท์ว่า “โซลาเซลล์ (solar cell )” ตั้งอยู่ที่ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้วสถานที่แห่งนี้เป็นโครงการทดลองเป็นโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้คนไทยทั้งประเทศได้ศึกษาทั้งในส่วนแก่นแท้ทางวิทยาศาสตร์และความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของชุมชน

จากการสอบถามสัมภาษณ์ นายสมพงษ์ ทิพย์โอสถ หัวหน้าสถานีพลังงานแสงอาทิตย์คลองช่องกล่ำ
กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เป็นพื้นที่ทดลอง เรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์เพราะพื้นที่แห่งนี้ “ ดวงอาทิตย์มีองศาตกกระทบกับแผ่นดินเบี่ยงเบนน้อยที่สุด” หมายความว่าพื้นดินจะรับพลังงานแสงอาทิตย์เข้มตรงเต็มๆ สอดคล้องกับความเป็นไปของพื้นที่ ในส่วนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โครงการได้ทดลองแผงโซลาเซลล์หลายแบบเพื่อดูว่าแบบใด ทนทาน ราคาถูก เหมาะสมที่จะนำมาใช้งานกับประเทศไทยเรา

นอกจากแหล่งเรียนรู้แห่งนี้จะเป็นสถานที่ทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วยังเป็นสถานที่ทดลองต้นแบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากแหล่งเก็บน้ำคลองช่องกล่ำบน ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับการเรียนรู้ของคนไทยทุกคน

วันศุกร์, กันยายน 19, 2551

เป็ดก่า(White -Winged Duck)


นกเป็ดน้ำที่เราสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทย คงจะเป็น “เป็ดแดง” (Lesser Whistling-Duck) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่นกเป็ดน้ำที่หายากมาก และใกล้สูญพันธุ์ คือ “เป็ดก่า” (White-Winged Duck)
วันนี้ (15 ก.ย. 51) มีโอกาสไปศึกษาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ได้เห็นเป็ดก่าที่มีชีวิตอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า รู้สึกดีใจ สุขใจ และหวังว่าในอนาคตจำนวนเป็ดก่าอาจเพิ่มขึ้นได้ในธรรมชาติ เมื่อการเพาะเลี้ยงและการวิจัยประสบความสำเร็จ จากการได้เห็นเป็ดก่าในกรง พบว่า สีสันและความมันวาวของขน ความสดใสและสุขภาพของเป็ดก่าดูดีมาก ลักษณะเด่นของเป็ดก่า คือ หัวและคอสีขาวมีจุดดำกระจาย ปากเหลืองหรือส้ม ลำตัวมองโดยรวมมีสีดำน้ำตาลเข้ม ด้านหลังมีสีเขียวน้ำเงิน ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ถิ่นที่พบคือลำธารและแหล่งน้ำในป่า สถานภาพปัจจุบันเป็นนกหายากและใกล้สูญพันธุ์
หนึ่งชีวิตที่สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ คือ ดัชนีชี้วัดการขาดสมดุลธรรมชาติ โปรดระลึกเสมอว่า “วันหนึ่งจะเป็นมนุษย์ หากยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของการสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้”

วันพฤหัสบดี, กันยายน 18, 2551

ละลุ(LALU)


คำว่า “ละลุ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ทะลุ” ชาวเขมรเรียกแผ่นดินที่ถูกน้ำกัดเซาะเป็นรูว่า “ละลุ” ในที่นี้ละลุเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองผักแว่น ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกี่ยวกับพื้นดินที่ทับถมกันอย่างรวดเร็วเมื่อหลายหมื่นปี ทำให้ดินบางส่วนจับตัวกันไม่แน่น เมื่อเวลาผ่านไปฝนตกน้ำซึมลงไปในส่วนล่าง ทำให้ดินที่ไม่แน่นไหลออกไปสู่ที่ต่ำ ส่วนดินที่แข็งก็ จับตัวเป็นแท่งลดหลั่นกันมองดูสวยงามน่าศึกษาเรียนรู้ ปรากฏการณ์ที่เกิด “ละลุ” เป็นไปอย่างช้า ๆ จากการพูดคุยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้นำชมเล่าว่าเขามองการเปลี่ยนแปลงของ “ละลุ” มาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา “ละลุ” ขยายพื้นที่ได้ไม่เกินหนึ่งเมตร เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี แสดงว่าปรากฏการณ์นี้เป็นไปอย่างช้า ๆ ผู้ที่รักการศึกษา หาความรู้ควรไปศึกษาธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกใบนี้ของเรา

วันพุธ, กันยายน 17, 2551

ต้นน้ำตก"ปางสีดา"


วันแรกของการเริ่มงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งใหม่ ขอเริ่มต้นการเรียนรู้ จากการเรียนรู้พื้นที่ลักษณะภูมิประเทศและธรรมชาติในพื้นที่รับผิดชอบก่อน เป้าหมายคือ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อ.เมืองสระแก้ว อุทยานแห่งนี้ มีชื่อเสียงที่มีผีเสื้อสวยงามเป็นจำนวนมากหลากหลายมีกลุ่มเยาวชนก่อตั้งเป็นกลุ่ม “รักผีเสื้อปางสีดา” ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เรื่องผีเสื้อเก็บไว้เขียนเมื่อเก็บข้อมูลได้มากกว่านี้ วันนี้ขอเขียนเรื่อง “ต้นน้ำตก” นะ เพราะไปพบ “ต้นน้ำตก” ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาแล้วรู้สึกกระทบใจตอนที่เป็นเด็ก คุณครูสอนว่า “แม่น้ำทุกสายที่พวกเราเห็นนั้นกว่าจะเป็นแม่น้ำได้จะต้องมีต้นน้ำหลาย ๆ ต้นน้ำไหลมารวมกัน ตอนเด็กสงสัยมากต้นน้ำมันเป็นอย่างไรไม่เคยเห็นซักที วันนี้พบแล้ว ต้นน้ำจริงๆ เป็นต้นน้ำตกปางสีดา ลักษณะขออธิบายประกอบภาพ องค์ประกอบของต้นน้ำคือมีป่าไม้ขึ้นอยู่บนภูเขาขนาดลดหลั่นกันไป ที่ชายเขามีตาน้ำผุดขึ้นจากดินขนาดเล็ก ๆ แล้วค่อยไหลลงสู่ที่ต่ำ ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นหลาย ๆ แห่งก็เรียกว่าต้นน้ำหลาย ๆ ต้นน้ำไหลรวมกันกลายมาเป็นต้นน้ำตก “ปางสีดา” ให้เราชื่นชมความสวยงาม ความชุ่มฉ่ำในอุทยานแห่งชาติแห่งนี้
นอกจากต้นน้ำแล้วในธรรมชาติยังมีสิ่งที่เราควรค้นหาอีกมากมายเราไปเรียนรู้ด้วยกันนะ

วันอังคาร, กันยายน 16, 2551

เส้นทางเสด็จสมเด็จของปวงชน

นับเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่เส้นทางสายเรียบคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี ผ่านอำเภอองค์รักษ์ อำเภอบ้านนา สู่บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หรือ อีกชื่อหนึ่งที่ประชาชนเรียกชื่อเดียวกันคือ “โรงเรียนนายร้อย จปร.” เป็นเส้นทางเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระอาจารย์ของนักเรียนนายร้อยทุกคน ถ้านับจำนวนครั้งที่พระองค์เสด็จมาสอนคงมากกว่าหนึ่งพันครั้ง พระองค์เป็นทั้งครูผู้สอนสั่งเป็นทั้งแบบอย่างวิธีการเรียนรู้ พระองค์ซักถามจดบันทึกนำไปเขียนหนังสืออันทรงคุณค่ามากมายให้ชาวไทยได้อ่าน พระองค์นำทำถึงฤดูฝนดำนาปลูกข้าว ฤดูหนาว พระองค์เสด็จมาเก็บเกี่ยวทรงพระกรุณานำพาลูกศิษย์เรียนรู้วีถีชีวิตของชุมชน ภูมิรู้ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในอนาคตทหารของชาติย่อมจะรักและเข้าใจประชาชนอย่างแท้จริง
ชาวนครนายกทุกคนนับเป็นผู้มีบุญที่ได้รับพระเมตตาจากพระองค์ท่าน ครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสถวายรายงาน เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมและการดำรงอยู่ของไทยพวนอำเภอปากพลีแด่พระองค์ท่านก็นับเป็นความภูมิใจสำหรับตนเองและวงค์ตระกูลไปตลอดชีวิตแล้ว

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 28, 2551

สิบแปดสิงหาคมสองห้าห้าหนึ่งที่ทุ่งค่าย



ดร. ชัยรัตน์ - ดร. วีระนุช นิลนนท์
วรางคณา เถาธรรมพิทักษ์



สัมภาษ์ ETV



บันทึกเทป ETV





ต้อนรับท่านเลขาธิการ กศน. นายอภิชาติ จีระวุฒิ






ดำเนินการเสวนาเรื่อง "นกและธรรมชาติ"






ฉันเอง








คลายเหนื่อย

วันอังคาร, สิงหาคม 26, 2551

นกน้ำที่ทะเลน้อย











ลูกเป็ดแดง










Water Buffalo











สุรวุฒิ ขันธ์คง



















นับเวลาถอยหลังที่จะได้อยู่และทำงานในภาคใต้แล้ว ช่วงบ่ายวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ที่ห้องทำงาน “วุฒิ” ทะเลน้อยอยู่ไกลจากตรังกี่กิโลเมตร พี่ไม่มีข้อมูลของทะเลน้อยเลย วุฒิหันมาบอก “ผอ ผมพาไปตอนนี้เลย” นั่งรถไปประมาณชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว จากตรังไปอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ด้วยเหตุฉะนี้ทำให้เห็นทะเลน้อย จริง ๆ ไม่ได้จินตนาการนึกคิดเอาเอง

ชื่อทะเลน้อยแต่ความจริงแล้วเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่กินพื้นที่ติดต่อถึง 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ในเดือนสิงหาคมความลึกของน้ำเฉลี่ยประมาณ 120 เซนติเมตร ความลึกของโคลนประมาณ 60 เซนติเมตร พืชที่มีปรากฏอยู่โดยรอบคือ ต้นเสม็ดขาวเป็นต้น ไม้ที่มีขนาดกลางสูงประมาณ 5 เมตร มีเปลือกหนาคล้ายกระดาษซ้อน ๆ กันเป็นสิบชั้นชอบขึ้นอยู่บริเวณป่าพรุ โดยทั่วไปในกลางทะเลน้อยมีไม้น้ำได้แก่ ต้นกง (คล้ายพลับพลึง) กระจูดหนู บัวหลวง บัวสาย ส่วนใหญ่เป็นสีแดง ผักกะเฉด พง และพวกสาหร่ายใต้น้ำ ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ถามคนขับเรือบ้าง คุยกับน้อง ๆ ที่ไปด้วยกันบ้าง เกือบลืมไปค่าจ้างเรือเขาคิด 400 บาท ถ้าไม่บอกให้หยุดลุงแกก็ขับไปเรื่อย ๆ ตามเส้นทางของแก ขับออกนอกเส้นทางไม่ได้ เรือจะดับเพราะสาหร่ายใต้น้ำพันใบพัดเรือ แต่เข้าใจเอาเองว่า ถ้าเรือออกนอกเส้นทางอาจไปตัดตาข่ายดักปลาของชาวประมงในทะเลน้อยมากกว่า พูดถึงลักษณะทั่ว ๆ ไปให้เห็นภาพก่อน ต่อไปนี้จะเข้าถึงเรื่อง “นกน้ำที่ทะเลน้อยละ”

ทะเลน้อยเป็นป่าชุ่มน้ำระดับโลก เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกชนิดต่าง ๆ ที่หากินกับน้ำ เริ่มจากที่เห็น ทะเลน้อยอาจกล่าวได้ว่าเป็นอาณาจักรของนก “อีโก้ง” ก็ว่าได้ เราจะเห็นนกอีโก้ง อยู่ เกาะหากินในกลุ่มต้นกงเต็มไปหมด นกเป็ดน้ำ ลูกนกเป็ดแดงเป็นฝูง เป็ดผี นกนางแอ่น กะปูด จาบคา กา เหยี่ยวแดง และอีกหลายชนิดที่จำได้ไม่หมด

ที่สำคัญได้เห็นความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างคน (ชาวประมงและคนขับเรือ พ่อค้า แม่ค้า) นก ไม้และน้ำ อยู่ร่วมอย่างเกาะเกี่ยวผูกพันกันก่อนนี้มาและน่าจะตลอดไป หกโมงสี่สิบนาทีเราจากทะเลน้อยที่ยิ่งใหญ่ของสรรพชีวิต......ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรจะได้มาอีก

วันเสาร์, สิงหาคม 16, 2551

จากฝั่งอันดามันสู่อรัญประเทศ

15 สิงหาคม 2551 เวลา 16.13 น มี fax มาถึงศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรังเป็น fax คำสั่งย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 1023/2551 สั่ง ณ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2551 ลำดับที่ 9 นายปัญญา วารปรีดี ผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาตรัง ให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว เลขที่ตำแหน่งใหม่คือ 2491 โดยโอนอัตราเงินเดือนตามตัวสับเปลี่ยนไปตั้งจ่ายในตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง........เมื่อรู้ว่าต้องไปจากตรัง...เกิดอาการวังเวง....เหงา....ทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่ดีมากทั้งเพื่อนร่วมงาน อากาศธรรมชาติ อาหาร ผู้คนมีน้ำใจ โดยเฉพาะงานพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความสามัคคีความตั้งใจใส่ใจงานของบุคลากร...แต่ต้องจากไปด้วยเหตุผลของครอบครัว.....ทุกอย่างประทับไว้ในความทรงจำ....เมื่อหกโมงเช้าวันนี้..แต้วแล้วธรรมดาตัวหนึ่ง(ปกติร้องปลุกทุกเช้า)มาร้อง...มาหา...มาลา...ที่เกาะกลางสระน้ำอยู่ 2-3 นาที แล้วเราก็จากกัน...

วันศุกร์, สิงหาคม 15, 2551

นามสกุลพระราชทาน

วันหนึ่งขณะที่สืบค้นข้อมูลใน http:/www.google.co.th key คำว่า"วารปรีดี"เข้าไปมี website ปรากฏมากพอสมควร นั่งอ่านไปเรื่อยๆ สะดุดที่ website หนึ่งคือ http://www.amed.go.th/ พูดถึงนามสกุลพระราชทาน ในข้อมูลบอกว่า"วารปรีดี"เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 5193 พระราชทานเมื่อ 14/6/19 โดยเขียนเป็นภาษาโรมันไว้ด้วย Va^ rapriti หลังตัว a ที่ว่างไว้มีสัญลักษณ์หมวกอยู่ พระราชทานให้ร้อยตำรวจโทขุนกำจรกิตติคุณ(ทุ้ย) สมุหบาญชีมณทลพิศนุโลก ปู่ชื่อ วา บิดาชื่อขุนภรณ์(ปลื้ม)......พ่อเล่าเรื่องราวในชีวิตท่านให้เราฟังน้อยมาก...บัดนี้พ่อจากไปแล้ว เรารักพ่อ เราจะทำดีที่สุดเพื่อรับใช้พระเจ้าแผ่นดิน...ตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน

วันจันทร์, สิงหาคม 11, 2551

ความทรงจำที่สอง

เก็บสิ่งดีๆไว้ในความทรงจำของชีวิต








ปลูกต้นพิกุลและต้นศรีตรัง



ร่วมพิธีปลูกต้นศรีตรังกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรังนายอานนท์ มนัสวานิช


























เก็บภาพถ่ายไว้ในความทรงจำ










เกาะลิบงจังหวัดตรังมองเห็นแต่ไกล.... ถ่ายจากหาดยาว










ปลายหาดเกาะลิบง...ทะเลด้านหลังบางครั้งเห็นฝูงโลมา










ร้านอาหารหาดยาวซีฟู๊ด...ข้าวผัดปลาเค็มอร่อย











หน้าศาลหลักเมืองจังหวัดตรัง





















ใส่สูทไปทำงานซักวัน










ปิดบังความหล่อไว้นานแล้ว