วันจันทร์, ตุลาคม 28, 2556

ผีเสื้อหนอนกาฝากธรรมดา

ไม่ได้เขียนถึงผีเสื้อนานแล้ว จริงๆแล้วก็เดินดูผีเสื้อชนิดต่างๆอยู่ในสวนเป็นประจำ ถ่ายภาพบ้างช่วงเวลาที่เขาเชื่องๆ เช่นผีเสื้อ หนอนใบรักลายเสือ กะทกรกธรรมดา หนอนกาฝากธรรมดา โดยเฉพาะหนอนกาฝากธรรมดาปีนี้ชอบคลอเคลียอยู่กับดอกพู่นายพล สีสันของดอกไม้และผีเสื้อต่างขับกันดูสวยงามมากๆ การได้เฝ้ามองธรรมชาติ เห็นการเป็นไป การเปลี่ยนแปลง มักไตร่ตรองสัจจธรรมของชีวิตได้เข้าใจถ่องแท้ยิ่งขึ้น มนุษย์เราเกิดโดยธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ สุดท้ายยังกลับสู่ธรรมชาติ รักธรรมชาติเถอะนะ

วันอังคาร, ตุลาคม 22, 2556

ควายไทย ความทรงจำในวัยเด็ก

ความทรงจำที่ยากลืมเลือนเกี่ยวกับควาย เพียงครั้งเดียวในชีวิตที่ได้ขี่ควาย ตอนนั้นเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมปีที่สาม เพื่อนชวนให้ขี่ควายไปทุ่งด้วยกัน ควายหนุ่มตัวผู้เขาโง้งใหญ่มาก พอเดินไปถึงทุ่งช่วงนั้นเป็นฤดูฝน พื้นนาเริ่มนุ่มแล้วแต่ชาวนายังไม่ได้ไถ เจ้าควายหนุ่มที่พาเรานั่งเพลินๆมันเห็นควายเผือกตัวผู้อยู่ไกลๆ มันพุงออกไปทั้งเพื่อนและผู้เขียนหล่นก้นกระแทกพื้นนาเป็นหลุม เพื่อนวิ่งตามไปห้ามควายมันไม่ยอมเชื่อฟัง ขวิดควายเผือกจนนอนข้างคันนาร้องโอ๊กๆๆๆ นั่นคือความทรงจำที่ยากลืมเลือนจากนั้นมาไม่กล้าขี่ควายอีกเลย  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไปงานพบเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันที่ลพบุรี เห็นควายฝูง นึกถึงความหลังบันทึกภาพไว้ พอนำกลับมาดูแปลกใจ


ทำไม.. ควายในปัจจุบันนี้เขามันเล็กๆสั้นๆหรือว่ามันไม่ใช่ควายไทยแล้ว..

กว่าง ในสวนประดู่ป่า

ใกล้จะเข้าฤดูหนาว เป็นฤดูของแมลงชนิดหนึ่งซึ่งโตเต็มวัยเตรียมขยายพันธุ์ แมลงชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือตัวผู้ต้องต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย การต่อสู้โดยใช้เขา ทั้งหนีบ ทั้งงัด ทั้งดีด ให้อีกตัวหนึ่งแพ้ เป็นเหตุให้มนุษย์ชอบเกมการต่อสู้นี้ จึงนำแมลงชนิดนี้มาเลี้ยงและฝึกการต่อสู้ นำมาแข่งขัน เพื่อความบันเทิงและเพื่อการพนันบ้าง แมลงชนิดนั้นคือ แมลงกว่าง แมลงกว่างเคยมีมากในภาคเหนือของประเทศไทย การเล่นแมลงกว่างก็เล่นกันมากในภาคเหนือ ปัจจุบันนี้แมลงกว่างในภาคเหนือมีน้อย จึงมีการนำแมลงกว่างจากภาคอีสานไปเลี้ยง ไปเล่น ในภาคเหนือแทน วงจรชีวิตของกว่างในช่วงโตเต็มวัยประมาณสามเดือน ฉะนั้นมนุษย์จึงสนุกกับการเล่นกว่างในช่วงเวลา


ประมาณเดือน พฤศจิกายน ถึงต้น กุมภาพันธ์ เท่านั้น (ในภาพ กว่างแซมกำลังผสมพันธุ์บนต้นกาฬพฤกษ์ ในสวนประดู่ป่า นครนายก)

วันจันทร์, ตุลาคม 21, 2556

ฝรั่งขี้นก

ปลูกฝรั่งขี้นกไว้ต้นหนึ่ง ที่จริงว่าปลูกเลยก็อาจไม่ถูกนัก เพราะฝรั่งขี้นกต้นนี้มันขึ้นเองอยู่ในกระถางดอกชวนชม ต้นก็สูงประมาณศอกอยู่อย่างนั้นห้าหกปี นึกสงสารย้ายลงดินค่อยโตขึ้นเวลาผ่านไปอีกห้าหกปี ฝรั่งขี้นกออกผลแล้ว เห็นนกกาเหว่าและกระรอกเข้าๆออกๆอยู่ที่ต้นฝรั่ง คนสวนก็ชอบเดินไปเดินมาอยู่บริเวณต้นฝรั่งขี้นก จึงแวะไปดูเห็นฝรั่งออกลูกเต็มต้น ลองเก็บมาหนึ่งลูกกัดไปครึ่งลูกทั้งกรอบทั้งหวานหน่อยๆ อร่อยมากเมล็ดกรอบไม่แข็งด้วย ไม่แปลกใจที่คนสวน นก กระรอก วนเวียนอยู่ใกล้ต้นเพราะอร่อยอย่างนี้นี่เอง....จึงเลือกลูกสุกมาสิบกว่าลูกขยี้ในน้ำ


กรองเอาเมล็ดส่งไปให้เพื่อนนักชีววิทยา(อัศนีย์ ศรีสุข) เพาะเพื่อแบ่งปันขยายพันธุ์ต่อไป

ฝังเข็ม คือศาสตร์แห่งการปรับสมดุลของร่างกาย

เชื่อว่าคนทุกคนคงเคยฉีดยา ความเจ็บจากเข็มฉีดยามีความเจ็บมากกว่าการฝังเข็มสักสี่เท่า เพราะเข็มที่ใช้ฝังมีขนาดเล็กเท่าๆเส้นผม เวลาฝังเข็มหมอใช้วิธีปั่นเข้าทางรูขุมขน(เข้าใจอย่างนั้น)จึงเจ็บนิดหน่อย เข็มที่ใช้มีขนาดเดียว แต่มีความยาว 30 มิลลิเมตร และ 40 มิลลิเมตร เข็มที่ยาวกว่าใช้กับบริเวณที่มีกล้ามเนื้อ การฝังเข็มเป็นศาสตร์เก่าแก่ของชาวจีนที่ใช้รักษาการเจ็บป่วยมากว่าสองสามพันปีแล้ว สำหรับแพทย์แผนปัจจุบันทั่วโลก ยอมรับการฝั่งเข็มกับอาการ การปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และใช้การฝังเข็มเพื่อการปรับสมดุลของร่างกายเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก สำหรับผู้เขียนแล้วถือว่าการฝังเข็มเป็นการรักษาการเจ็บป่วยที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งเพราะได้ทดลองรักษากับตนเองมาแล้ว




วันอังคาร, มีนาคม 26, 2556

นกปรอดสวน




จำนวนนกปรอดที่พบในประเทศไทยมี 36 ชนิด นกปรอดสวน พบได้ทุกภูมิภาคของประเทศ และถือว่านกปรอดสวนเป็นนกที่อยู่ใกล้คน อยู่ในสวน อยู่ตามต้นไม้ใกล้บ้าน ชอบทำรังเลี้ยงลูกอยู่ใกล้คน เข้าใจว่าคงอาศัยคนเป็นเกราะป้องกันภัยให้ลูกน้อยกระมัง
ช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ มีนกปรอดสวนคู่หนึ่งมาทำรังวางไข่อยู่บนโคมไฟของบ้าน สมถะ ของผู้เขียน เราพบปะเจอกันเกือบทุกวัน ได้พบเห็นแม่นก พ่อนก ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกทั้งสองตัว ได้ถ่ายภาพพัฒนาการของลูกนกเป็นระยะ ถึงปลายเดือนลูกนกขนขึ้นเต็มตัวแล้ว อีกไม่กี่วันลูกนกปรอดสวนทั้งสองคงออกบินสู่โลกที่กว้างใหญ่และยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้..ลูกนกทั้งสองถูกผู้เขียนตั้งชื่อให้ว่า เจ้าลม กับ เจ้าฝน




วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 15, 2556

เตาเผาถ่านแบบพอเพียง







ปัจจุบันความจำเป็นในการใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิงลดลง อาจมีสาเหตุมาจากถ่านไม้หายาก หรือไม่ก็เชื้อเพลิงอื่นๆเช่น แก๊ส

หุงต้มหรือไฟฟ้ามีความสะดวกสบายใช้ได้รวดเร็วกว่า ถึงอย่างนั้นถ่านไม้ก็ยังเป็นเชื้อเพลิงของคนกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิตอยู่กับ

ธรรมชาติ มีชีวิตอยู่กับภาคเกษตรกรรมหรือชอบดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมองเห็นคุณค่าของเศษไม้ ที่ช่วงเวลา

หนึ่งต้องตัดเพื่อตกแต่งกิ่งไม้หลังฤดูเก็บผลแล้ว จะทิ้งก็เสียดาย จะเผาก็สูญเปล่า
บุคคลกลุ่มดังกล่าว จึงนำเศษไม้มาเผาเป็นถ่าน โดยการเผาในถังขนาด 200 ลิตร ซึ่งออกแบบและพัฒนาถังสำหรับเผาให้

เผาไม้สุกเป็นถ่านในเวลาประมาณ  3  ชั่วโมง หลักการของถังเผา คือ เผาในที่มีอากาศน้อย เมื่อได้ที่มีฝาปิดอากาศ การเผา

วิธีนี้ขนาดของไม้ต้องใกล้เคียงกัน ไม้ที่จะเผาต้องทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นไม้สดติดไฟยาก เผานานมักไม่ได้ผล
วิธีการเผาแบบนี้ทำให้ได้ถ่านไว้เป็เชื้อเพลิงสำหรับทำอาหารได้อร่อย เหมือนครั้ง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทำอาหารเลี้ยงเรามา

เพราะความร้อนจากถ่านให้พลังงานพอเหมาะในการปรุงอาหารนั่นเอง

วันพุธ, มกราคม 30, 2556

วัดพระธาตุม่อนทรายนอน








ตอนเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมสาม อายุน่าจะประมาณเก้าหรือสิบขวบ ยังจำภาพหนึ่งและบันทึกเรื่องราวครั้งนั้นไว้ในสมองตราบถึงวันนี้  ยายบอกว่ายายจะพาไปวัด วัดนี้อยู่บนภูเขาไกลจากบ้านต้องเดินไปหลายชั่วโมง คือ วัดดอย รู้สึกดีใจมาก อยากไป ไม่เคยไป เวลาประมาณตีสามยายพาเดิน มีชาวบ้านเดินไปตามถนนเห็นแสงตะเกียงโมงโมง สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า ทุกคนต่างมุ่งหน้าสู่วัดดอย และต้องไปให้ถึงก่อนสว่าง ชื่อวัดดอย แปลว่าวัดนั้นอยู่บนภูเขา ที่เชิงเขามีบ่อน้ำที่มีน้ำไหลรินออกมาจากภูเขาไม่เคยหยุด " ชั่วนาตาปี " มีรูปปั้นเนื้อทรายนอนอยู่บนทางที่น้ำไหลออกมา
เมื่อทุกคนมาถึงต้องนำน้ำที่บ่อเชิงเขาล้างหน้าตบศีรษะก่อนเดินขึ้นภูเขาไปวัดดอย ขึ้นไปถึงวิหารซึ่งเปิดโล่งทั้งสามด้าน มีพระอาจารย์ท่านนั่งอยู่ด้านหน้า แถวหน้ามีคนแก่ผู้ชายนั่ง จากนั้นเป็นคนแก่ผู้หญิง เด็กๆอยู่โคนเสาด้านหลังตัวผู้เขียนนั่งโคนเสาหลังสุด ทุกคนนั่งหลับตาเงียบฟังพระอาจารย์สอนให้ทำสมาธิ....นั่นเป็นภาพแห่งความทรงจำ การนั่งสมาธิครั้งแรกที่วัดดอย หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ วัดพระธาตุม่อนทรายนอน อำเภองาว จังหวัดลำปาง

วันอังคาร, มกราคม 29, 2556

วัดปงคก







วัดปงคกเป็นวัดเล็กๆประจำตำบลหลวงใต้ เจ้าอาวาสมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบล  ที่บอกว่าวัดเล็กเพราะบริเวณวัดมีพื้นที่จำกัดด้วยตั้งอยู่บนคุ้งแม่น้ำงาว ในอดีตแม่น้ำงาวฤดูน้ำหลากน้ำไหลเชี่ยว พัดพาทั้งซุง ต้นไม้ เศษไม้ ครั้งหนึ่งเคยพัดพาครกไม้ ครกตำข้าวมาหมุนวนอยู่ที่คุ้งน้ำ จากนั้นครกไม้ใบใหญ่จมหายไปอย่างไร้ร่องรอย จึงเป็นที่มาของชื่อวัด " ปงคก " ปง แปลว่า ที่ลุ่ม คก หมายถึง ครก ภาษาเหนือไม่มีคำควบกล้ำ
ด้วยความจำกัดของพื้นที่ วัดจึงมีเพียง วิหาร ศาลาการเปรียญ โบสถ์ และมีอาคารอื่นอีกหลังสองหลัง แต่สิ่งสุดยอดไม่ใช่ขนาดกลับเป็นความสวยงาม สิ่งปลูกสร้างทุกหลังล้วนแล้วแต่ประณีต ละเอียด มีศิลปแห่งล้านนาทุกตารางนิ้ว  ทำให้วัดปงคกจัดเป็นวัดที่สวยงามมากวัดหนึ่งของจังหวัดลำปาง

ตลาดมืด






ทุกครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสกลับไปบ้านที่จังหวัดลำปาง สิ่งที่ทำไม่เคยขาดคือตื่นแต่เช้าประมาณตีห้า ล้างหน้าแต่งตัวสวมหมวกไอ้โม่งเสื้อกันหนาว เดินข้ามแม่น้ำงาวทางสะพานไม้ขัดแตะไปตลาดสดตอนเช้า คนเหนือเรียกตลาดเช้าว่า " กาดมั่ว " กาดมั่วเริ่มซื้อขายก่อนสว่างไปจนถึงประมาณแปดโมงเช้า จากนั้นทั้งคนซื้อและคนขายต่างเสร็จภารกิจของตน
หากถามว่าทำไหมชอบไปตลาดเช้า คำตอบคือ เป็นการทบทวนความเป็นไปและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ในช่วงเวลาสั้นๆเรามองเห็น สินค้าเปลี่ยนไปอย่างไร ราคาเปลี่ยนไปอย่างไร ภาษาเปลี่ยนไปอย่างไร สุขภาพผู้คนเปลี่ยนไปอย่างไร อื่นๆอีก
เช้าวันนี้หกโมงแล้วยังไม่สว่าง แม่ค้าต่างจุดเทียนไขตั้งไว้บนกระบุงที่หาบสินค้ามาขาย จึงถามแม่ค้าว่าเกิดอะไรขึ้นจึงจุดเทียนเกือบทั่วตลาด แม่ค้าตอบว่า " สองสามวันมานี่ กาดมั่ว บ้านเฮาเป็น กาดมืด ไฟฟ้ามันดับ " ได้ยินแม่ค้าพูดถึงตลาดมืดคือตลาดที่ไม่มีแสงสว่างหรือแสงสว่างไปไม่ถึง เลยแวะไปกินกาแฟโบราณ ไข่ลวกสองฟอง น้ำชาร้อนๆ รอให้กาดมืดมันเปลี่ยนเป็นกาดมั่วก่อน จะได้ซื้อของไม่ผิดกฎหมาย ก่อนออกจากร้านแม่ค้าคิดสตางค์ยี่สิบห้าบาท กาแฟ ไข่ลวกแพงขึ้นเล็กน้อยปีนี้