วันอังคาร, มิถุนายน 29, 2553

การบวชต้นสักที่ค่ายประตูผา







ไม้สักเคยเป็นสินค้าส่งออกของประเทศในอดีตติดอันดับหนึ่งในสาม ได้แก่ ข้าว ยางพาราและไม้สัก เวลาผ่านไปสี่ห้าสิบปีไม้สักเกือบหมดประเทศ แม้ปลูกทดแทนอย่างไรก็ไม่ทันใช้ สำหรับคนที่รักป่าเห็นคุณค่าและประโยชน์ของต้นไม้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่คงอยู่ เพราะต้นไม้ใหญ่เก็บน้ำไว้มากให้ความชุ่มชื้นและความร่มเย็น ทำให้แม่น้ำลำธารต่าง ๆ มีน้ำไหลตลอดปี คนไทยกว่าร้อยละเก้าสิบเจ็ดนับถือศาสนาพุทธ การบวชถือว่าเป็นการสร้างบุญกุศลสูงสุด คนรักป่าจึงนำกุศโลบายนี้มาใช้กับต้นไม้ เป็นการบวชต้นไม้ป่าเพื่อรักษาต้นไม้ ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร
ริมถนนพหลโยธินถนนหมายเลขหนึ่งของประเทศจากจังหวัดลำปาง ไปอำเภองาว บริเวณค่ายฝึกรบศูนย์สงครามพิเศษประตูผา มีกิจกรรมบวชต้นสักเป็นจำนวนมาก การบวชต้นสักเป็นกิจกรรมที่รวมใจของผู้คนหลายฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการรักษาต้นสัก ให้พ้นจากการถูกบุกรุกทำลายด้วยพิธีกรรมการบวชต้นไม้

อุทยานแห่งชาติตาดโตน










ในช่วงเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมา มีโอกาสไปพัก เยี่ยมเยือนอุทยานแห่งชาติหลายแห่งเกือบทุกภาคของประเทศไทย ได้พบเห็นศักยภาพและจุดเด่นของอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง มีอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง ที่มีการจัดการในเรื่องการรักษาความสะอาดของบริเวณสถานที่ของอุทยานได้ดีเยี่ยม อุทยาแห่งชาติแห่งนั้นคือ “อุทยานแห่งชาติตาดโตน”
อุทยานแห่งชาติตาดโตน มีอาณาเขตพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ จุดเด่นของอุทยานแห่งนี้คือ น้ำตกตาดโตนที่สวยงามแม้ว่าน้ำตกจะไม่สูงนักแต่บ่งบอกเอกลักษณ์ของน้ำตกในภาคอีสานคือมีลานหินกว้างใหญ่ มีแมลงปอน้ำตกหลากหลายสายพันธุ์ ความร่มรื่นของป่าไม้นานาพันธุ์ มีบ้านพักที่สงบเงียบ มีการรักษาความสะอาดอย่างดีเยี่ยม
สรุปว่าอุทยานแห่งชาติตาดโตน เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนและศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติในเรื่องแมลงปอน้ำตกและต้นไม้พรรณไม้ได้ดีแห่งหนึ่ง

ผีเสื้อหางติ่งชะอ้อนที่ช่องสะงำ







ช่องสะงำเป็นด่านชายแดนระหว่างไทย - กัมพูชา อยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ ช่องสะงำเป็นด่านเล็กๆ เส้นทางเป็นถนนลาดยางที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขาเทือกเขาพนมดงรักซึ่งอยู่ในสภาพชำรุด รถไม่สามารถวิ่งได้เร็ว จึงทำให้สามารถสังเกตธรรมชาติข้างทางได้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่พบคือป่าบริเวณนี้เป็นป่าที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่มากนัก ต้นไม้ที่รู้จักได้แก่ ต้นพะยูงที่ยังมีขนาดเล็ก ต้นตะแบกป่าใบเล็กขนาดเล็กบานดอกสีชมพูปนม่วงกระจายอยู่ทั่วไปในเดือนมิถุนายน อีกสิ่งที่น่าจดจำคือ การได้พบผีเสื้อหางติ่งแววมยุราซึ่งจัดว่าเป็นผีเสื้อหายาก บินอยู่ทั่วไป ผีเสื้อแววมยุรา ขณะบินมองเห็นปีกเป็นสีดำมีแต้มสีเขียวอมฟ้าอยู่ปีกบน มองคล้ายนกยูงรำแพนสวยงามมาก ผีเสื้อแววมยุราบินไปมาไม่ย่อมเกาะ ส่วนผีเสื้อที่เกาะดูดกินเกลือแร่บนพื้นดิน ได้แก่ ผีเสื้อหางติ่งชะอ้อน ผีเสื้อหางติ่งชะอ้อนเป็นผีเสื้อที่พบเห็นได้ง่ายทั่วประเทศ จัดว่าเป็นผีเสื้อขนาดใหญ่บินช้าชอบเกาะกินเกลือแร่ ทำให้ถ่ายภาพได้ง่ายและถ่ายภาพได้สวย
สรุปว่า ช่องสะงำ เป็นบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา จังหวัดศรีสะเกษที่สามารถศึกษาเรียนรู้เรื่องผีเสื้อได้ดีอีกแห่งหนึ่ง

คนเลี้ยงช้าง ช้างเลี้ยงคน








บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่เขียนบอกสถานที่เต็มยศ เพราะที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น “หมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก” คนที่อาศัยอยู่ที่บ้านตากลางเรียกตัวเองว่า “กวย” แต่คนทั่วไปในจังหวัดสุรินทร์เรียกชาวกวยว่า “ส่วย” ในอดีตชาวกวยมีอาชีพคล้องช้างป่ามาฝึกใช้งานและเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงประจำครอบครัว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิถีชีวิตของชาวกวยและช้างแยกกันไม่ได้มาแต่อดีตถึงปัจจุบัน ชาวกวยกินข้าวเหนียวในฤดูทำนาอาจเห็นต้นข้าวเหนียวดำในแปลงนาลักษณะคล้ายต้นข้าวตายนึ่งต้นสีดำๆ ที่บ้านตากลางมีศูนย์คชศึกษาให้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวกวยกับช้าง อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนบ้านตากลางเป็นชุมชนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน ผ่านสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ชื่อว่า “ช้าง” ซึ่งใกล้สูญพันธุ์เต็มที่แล้ว

วันอังคาร, มิถุนายน 22, 2553

วงจรชีวิตผีเสื้อหางติ่งหนอนมะนาวที่ปางสีดา













ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ชุกชุมไปด้วยผีเสื้อ มีการสำรวจชนิดใหม่ ๆเพิ่มขึ้นเสมอ มีรายงานการพบมากกว่า 400 ชนิด ทั้งผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) ผีเสื้อกลางคืน (Moth) ผีเสื้อกลางวันพบทุกวงศ์ ได้แก่ วงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ วงศ์ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ วงศ์ผีเสื้อสีน้ำเงิน วงศ์ผีเสื้อบินเร็ว และวงศ์ผีเสื้อหางติ่ง ผีเสื้อหนอนมะนาวเป็นผีเสื้อหางติ่งชนิดหนึ่ง เจ้าหน้าที่สื่อความหมายของอุทยานแห่งชาติปางสีดาชื่อ ปีย์ ได้เฝ้าศึกษาผีเสื้อหางติ่งหนอนมะนาวที่อยู่ในธรรมชาติ พบว่าวงจรชีวิตของผีเสื้อหางติ่งหนอนมะนาวมี 4 ระยะ ระยะที่หนึ่ง ไข่ แม่ผีเสื้อไข่ 1 ฟอง ไว้ใต้ใบไม้ ใบพืชตระกูลส้ม เช่น มะสังข์ เทพโร ระยะที่สอง เป็นหนอน หนอนเปลี่ยนรูป 3 – 4 ครั้ง โดยทั่วไปเปลี่ยน 4 ครั้ง ขนาดจะโตขึ้นตามจำนวนครั้งที่เปลี่ยน ระยะที่สาม ดักแด้ หนอนที่เปลี่ยนรูปครั้งที่ 4 เข้าดักแด้ ระยะนี้ไม่มีการกินอาหารแล้วดักแด้มีสีน้ำตาล ระยะที่สี ผีเสื้อ เป็นระยะผสมพันธุ์ วางไข่ อาหารผีเสื้อหนอนมะนาวได้แก่ น้ำหวานเกสรดอกหญ้าบางชนิด
สรุปว่า ผีเสื้อหนอนมะนาวกว่าจะเป็นผีเสื้อที่แสนสวย ได้ผ่านกาลเวลาที่ผู้คนรังเกียจในระยะที่เป็นหนอน ความสวยอาจซ่อนไว้ในความขี้เหล่ก็เป็นได้นะ

ต้นตะแบกป่า







ตะแบกป่า เป็นต้นไม้ยืนต้นที่มีลักษณะพิเศษกว่าต้นไม้ทั่วไป อยู่สามสี่อย่าง อย่างแรกตะแบกป่าเป็นต้นไม้ยืนต้นที่มีเปลือกบางมีสีขาวครีม ถึงน้ำตาลอ่อนแม้มีเปลือกบางกลับพบว่าไม่มีแมลงหนอนเจาะเปลือกต้นตะแบกป่าเลย เราจึงพบเห็นตะแบกป่าล่อนเปลือกขยายลำต้นทุกปีโดยไม่พบแผลเป็น เมื่อเปลี่ยนเปลือกใหม่ผิวลำต้นสีขาวครีมดูสวยงาม
อย่างที่สอง ใบตะแบกป่ามีหลายลักษณะมาก บางต้นมีใบเล็กแหลม บางต้นใบแหลมรูปหอก บางต้นใบมน ยากต่อการสืบค้นข้อมูลเพื่อแยกชนิดย่อย คงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ ถ้าใช้การสังเกตและศึกษาธรรมดาคงไม่สมบูรณ์แน่
อย่างที่สาม ตะแบกป่าบานดอกสวยงามมาก อาจบานดอกจากสีขาวไปเป็นสีชมพูอ่อน ชมพูเข้ม บ้างครั้งไปถึงสีม่วงก็มี เช่น ต้นตะแบกป่าชนิดใบเล็กแหลม
ความสวยงามของตะแบกป่า ทั้งลำต้น ทั้งใบที่แตกต่างและดอกที่บานให้เฉดสีตั้งแต่ขาวถึงม่วงอย่างนุ่มนวล ทำให้ผู้พบเห็นหลงใหลในความงามของต้นไม้ชนิดนี้