วันศุกร์, กรกฎาคม 29, 2554
อัญชลี – วันทา – อภิวาท
การกราบพระเพื่อระลึกถึงคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีคุณสูงสุดต่อการดำเนินชีวิตที่ไม่ประมาทของเรา คือการกราบซึ่งประกอบด้วยองค์ 5 ได้แก่ หัวเข่า 2 ฝ่ามือ 2 และหน้าผาก 1 จรดลงบนพื้น ที่เรียกว่า “เบญจางคประดิษฐ์” โดยเริ่มต้น ด้วยการนั่งคุกเข่า ยกมือขึ้นประนมระหว่างอก ที่เรียกว่า “อัญชลี” จากนั้นยกมือประนมขึ้นจรดหน้าผากหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว ที่เรียกว่า “วันทา” มอบกราบลงให้หน้าผากจรดพื้นวางฝ่ามือแบราบห่างกันหนึ่งฝ่ามือ ก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างฝ่ามือทั้งสองข้าง ที่เรียกว่า “อภิวาท” เมื่อครบองค์ประกอบ 5 คือ เข่า 2 ฝ่ามือ 2 หน้าผาก 1 จึงเป็นการกราบเพื่อระลึกถึงคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสูงสุด คือการกราบแบบ “เบญจางคประดิษฐ์” นั่นเอง.
อ้างอิง เรียบเรียงจาก หนังสือสวดมนต์ ฉบับพุทธบริษัท 4 วัดพระธรรมกาย
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 28, 2554
ไม่รักไม่โศก
พุทธพจน์ จากพระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ ขุทฺทกนิกาย อุทาน เล่มที่ 25 ข้อที่ 176 หน้า 225-226 ตอนหนึ่งความว่า “ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ อันมากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ เหล่านั้นย่อมไม่มี ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ใดปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลีแล้ว ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารใดในโลกไหนๆ ให้เป็นที่รักเลย” ไม่รัก ไม่โศก เป็นดั่งพุทธพจน์เช่นนั้นแล. จากมงคลชีวิตที่ 36 จิตไม่โศก (ฐานวุฑฺโฒ ภิกฺขุ)
วันอังคาร, กรกฎาคม 26, 2554
ชัยกิจ น้องรัก.....ผู้จากไปชั่วนิรันดร์
เช้าวันที่ยี่สิบสี่กรกฎาคม ได้ยินเสียงแจ้งจากโทรศัพท์บอกกล่าวข่าวร้าย เหมือนมีไม้ฟาดลงบนกกหู อื้ออึง ไม่น่าใช่เรื่องจริง อาการคลื่นไส้ หายใจติดขัดเกิดขึ้นต่อเนื่อง เป็นไปได้อย่างไร น้องเราที่กำลังมีอนาคตสดใส เป็นความหวังของเพื่อนชาวศูนย์วิทยาศาสตร์ ของชาวสำนักงาน กศน. มาด่วนจากไปด้วยอายุเพียง 46 ปี เพิ่งผ่านวันเกิดไปได้ไม่กี่วันเลย
วันเวลาแห่งการทุ่มเทให้กับการทำงาน ความเป็นนักวิชาการที่เก่งกาจ การประสานงานเครือข่ายระดับสุดยอด ทั้งสองเรื่องหาผู้บริหารที่มีฝีมือเสมอได้ยาก ยืนยันด้วยคำพูดจากการสนทนาพูดคุยกัน ก่อนเสียชีวิต 2 วันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยคำพูดที่มีคุณค่าสุดท้ายว่า “พี่การทำงานกับเครือข่าย ผมทำทุ่มเทร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำภารกิจของเขาเหมือนของเรา เพราะเราอยากให้เครือข่ายให้เราร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องให้เขาร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อน ด้วยความคิดนี้แหละที่ทำให้ผมได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายอย่างดียิ่งตลอดมา” เป็นคำพูดของน้องที่ก้องอยู่ในหู ถึงเทคนิคการทำงานร่วมกับเครือข่าย ยังบอกน้องไปว่า “ชัยกิจ เจ้ามีประสบการณ์การทำงานกับเครือข่ายระดับเซียน เขียนหนังสือซิจะได้เป็นบทเรียนให้เพื่อน ๆพี่ๆน้องๆเราได้ศึกษาเพื่อย่นเวลาในการค้นหาของเขาเหล่านั้น ” “ครับพี่ ผมเตรียมจะเขียนแล้วผมมีข้อมูลที่ค้นพบหลายประเด็นมากเลยครับ”
โอ้...น้องรัก เจ้าจากไปเร็วเกินไป แม้การจากไปของน้องไม่ทำให้น้องเจ็บปวด จากไปขณะนอนหลับด้วยความอ่อนล้า จากไปด้วยอุบัติเหตุโดยไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำไป แต่เราทุกคนไม่ปรารถนาให้น้องจากไปเลย “ชัยกิจ อนันตนิรัติศัย” เราชาวศูนย์วิทยาศาสตร์ทุกคนรักและตราตรึง ภาพของความเป็นนักวิชาการและนักบริหารของน้องตลอดไป .................ไปสู่สุคติเถอะน้องรัก.
วันอาทิตย์, กรกฎาคม 24, 2554
ความสวยงามของวัดหน้าพระเมรุฯ
วัดหน้าพระเมรุฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่หันหน้าเข้าหาพระมหาราชวังเดิม จึงดูแปลกเพราะโบสถ์และวิหารหันหน้าไปทางทิศใต้ โดยทั่วไปโบสถ์วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ความสวยงาม ความอลังการไม่ต้องพูดเลยละ โดยเฉพาะพระประธานในวิหารทั้งสองหลังมีความสวยงามมาก องค์ใหญ่ในวิหารหลังใหญ่ เป็นทองสัมฤทธิ์ประดับอัญมณีฝีมือการปั้น การหล่อประณีตมาก ส่วนอีกองค์ในวิหารเล็กเป็นพระประธานหินหยกอายุกว่า 1500 ปี สวยมาก ใครอ่านบทความนี้ต้องรีบไปดูนะถ้ามีโอกาส หากยังไม่มีโอกาสดูรูปไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน
ป้อมเพชร
เดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2554 แม่น้ำเจ้าพระยามีสีขุ่นคงเหมือนอดีตที่ผ่านมา และก็ไหลไปออกทะเลทิศทางเดิม แม่น้ำป่าสักก็สีขุ่นเหมือนกันยังคงไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดพนัญเชิง บริเวณสามเหลี่ยมที่แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบกัน มีป้อมปืนโบราณที่เหลือซากให้เห็นอยู่ คือ ป้อมเพชร
ป้อมเพชรมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาราชธานีในอดีตมาก เพราะเป็นป้อมปืนที่ตั้งปืนใหญ่ได้ถึง 8 กระบอก ป้องกันศัตรูที่มารุกรานทางน้ำ ไม่ว่ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำป่าสัก กาลเวลาผ่านมากว่า 400 ปีแล้ว รากเง้าทางประวัติศาสตร์ทำให้เรามองเห็นความจริงที่ยังซ่อนเร้นอยู่ที่ป้อมเพชร คือ ป้อมเพชรถูกสร้างถึง 2 ครั้งซ้อนกัน ครั้งแรกสร้างเป็นรูปกลมแบบโปรตุเกส ครั้งที่สองสร้างทับเป็นรูปหกเหลี่ยมแบบฝรั่งเศส แสดงถึงความสัมพันธ์ของกรุงศรีอยุธยาที่มีต่อชาวโปรตุเกสก่อนฝรั่งเศส ไม่มีการสร้างป้อมปืนแบบไทยเลยเพราะคนไทยใช้ดาบในการต่อสู้แบบประชิดตัวจึงไม่สร้างป้อมปืน
การผสมกลมกลืน
พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว วิถีชีวิตผู้คนบริเวณวัดพนัญเชิง เริ่มเคลื่อนไหวให้เห็นในหลายรูปแบบทั้งทางน้ำและบนบก เสียงหวูดเรือลากโยงเรือบรรทุกทรายหลายลำผ่านหน้าวัดเป็นสายยาว เรือหางยาวรับส่งผู้คนข้ามฝากจากแม่น้ำเจ้าพระยามาแม่น้ำป่าสักบริเวณท่าเรือหน้าวัด
คนหลายชาติหลายศาสนา มาท่องเที่ยวมาไหว้พระไหว้ศาลเจ้าที่วัดพนัญเชิง ดูขวักไขว่ ครูพาเด็กนักเรียนมาเรียนรู้บริเวณท่าน้ำ บริเวณศาลเจ้าและวิหารหลวงพ่อโต จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ยังคงผสมกลมกลืนของผู้คนหลายชาติหลายศาสนาหลากหลายวัฒนธรรม จึงพบเห็นวัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า อยู่ร่วมกัน ผู้คนก็อยู่ร่วมกันเกี่ยวดองสัมพันธ์กันไป
ความแตกต่างเป็นเพียงความรู้สึกของผู้พบเห็น วิถีชีวิตจริงของคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือการผสมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นภาพที่ปรากฏอยู่ที่วัดพนัญเชิง มีทั้งโบสถ์และศาลเจ้าอยู่คู่กันมาช้านาน
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 14, 2554
นี่คือคนไทย
ปรัชญาของคนไทย คือ หัวใจพระพุทธศาสนา อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยคนไทยแต่บรรพกาลเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ แม้ปัจจุบันคนไทยกว่าร้อยละ 97 ยังนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ จากปรัชญาหัวใจพระพุทธศาสนานี้เอง ที่ทำให้คนไทยแสดงอัตลักษณ์ตัวตน เป็นคนมีเมตตา อารี ช่วยเหลือและให้อภัย จากอัตลักษณ์ดังกล่าว ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมแสดงออกโดยการ ยิ้มแย้มแจ่มใส คนไทยสามารถยิ้มได้ทุกความรู้สึกจนได้ชื่อว่า ยิ้มสยาม อีกพฤติกรรมหนึ่งของคนไทยคือ ชอบลืม การชอบลืม มาจากอัตลักษณ์การเป็นผู้ให้อภัย บนความเชื่อถ้าอยากให้อภัยก็ลืมมันเสีย พฤติกรรมชอบลืมนี้เอง ที่ส่งผลให้คนไทยแต่บรรพกาลไม่ชอบบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา เพราะเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มี ทั้งดี ทั้งเลว ทั้งเจ็บปวด ทั้งทุกข์ ถ้าอยากจะลืมก็ไม่ต้องเขียนมันไว้ ที่เขียนไว้ก็คลุมเครือ เป็นตำนาน พงศาวดาร นิทาน เสียส่วนใหญ่ เรื่องผิดพลาดก็ไม่อยากเขียนไม่อยากจำ ก็เป็นเช่นนี้แหละ “ยิ้มและให้อภัยแล้วลืมมันเสีย เริ่มต้นใหม่” นี่แหละคือคนไทยคือตัวฉันนั่นเอง
วันพุธ, กรกฎาคม 13, 2554
ป่าหลังฝนบนอุทยานแห่งชาติปางสีดา
คนรักป่า ย่อมรู้คุณค่าของป่า รู้ธรรมชาติของป่า รู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของป่า รู้เหมือนรู้จักคนรักว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไรฉันนั้น
หลังฝนตกผ่านไปไม่นาน มาดูกันว่าป่าบนอุทยานแห่งชาติ บอกอะไรเราบ้าง ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เวลายามบ่าย เมื่อขับรถผ่านเข้าเขตป่า หอมกลิ่นดินกรุ่นไปทั่ว ป่าทั้งป่าสงบนิ่งดูดซับน้ำฝน ไก่ป่าเพศเมียออกมาแสดงตัวบนถนนเต็มไปหมด ทำไมต้องเป็นตัวเมีย นอกจากไก่ป่าแล้วไก่ฟ้าพญาลอก็เป็นเพศเมีย ดูเถอะเหมือนจะรู้ว่าประเทศไทยกำลังจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงอย่างนั้นแหละ ( คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) อากาศสดชื่นมาก หมอกฤดูฝนแผ่กระจายไปทั่วป่า การตรวจการด้วยกล้องส่องทางไกลทำไม่ได้เลย
สรุปได้ว่า ป่าหลังฝนบนอุทยานแห่งชาติปางสีดา เต็มไปด้วยทะเลหมอกที่แสนสดชื่น
วันอังคาร, กรกฎาคม 12, 2554
“มะพูด” ผลไม้แปลก
มหากวีเอกของโลก ท่านสุนทรภู่แต่งบทกวีที่ไพเราะไว้มากมาย มีอยู่บทหนึ่งที่ท่านแต่งไว้ใน นิราศภูเขาทอง ความว่า “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ” ที่บางพูดในนิราศภูเขาทอง น่าจะมีต้นมะพูดเยอะในสมัยที่สุนทรภู่เดินทางและพายเรือผ่านบางพูด
ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว มีต้นมะพูดอยู่ต้นหนึ่ง ท่านผู้อำนวยการ สมนึก โทณผลิน ปลูกไว้สมัยที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิทย์ฯ ขณะนี้ต้นสูงประมาณ 3 เมตร ออกผลแล้ว มะพูดเป็นผลไม้ รสชาติเปรี้ยวนำหวานน้อย เนื้อนิ่มคล้ายลูกจัน เมื่อสุกผิวบางสีเหลือง มักมีเกสรเพศเมียติดอยู่ ขยายพันธุ์โดยเมล็ด น้ำผลมะพูดคั้นใช้ดื่มแก้ไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ
มะพูด ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia dulcis (Roxb.)Kurz
อ้างอิง หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่า : มูลนิธิโครงการหลวง
การเชื่อมต่ออายตนะ
เมื่อเปิดดูพจนานุกรม คำว่า “อายตนะ”แปลว่า เครื่องติดต่อ,เครื่องเนื่อง, ในพระพุทธศาสนา หมายถึง จักษุ,โสต,ฆาน,ชิวหา,กาย,ใจ เรียกว่า อายตนะภายใน เป็นเครื่องต่อกับอายนะภายนอก คือ รูป,เสียง,กลิ่น,รส โผฏฐัพพะ,ธรรม
เมื่อวานนี้ได้พบหลวงพี่ พระอาจารย์ที่เคยสอนสมาธิ ตอนบวชช่วงเดือน มีนาคม เมษายน ที่ผ่านมา หลวงพี่ทักว่า “โยมพี่หลุดหรือเปล่า มัวแต่ทำงานทางโลก ” ตอบพระอาจารย์ไปว่า “งานเยอะมากครับได้นั่งสมาธิน้อย เมื่อนั่งกว่าจะต่อติดต้องใช้เวลานาน” หลวงพี่สอนด้วยความห่วงใยว่า “โยมพี่งานก็ทำไป แม้เวลางานเพียงแค่โยมพี่ต่ออายตนะเชื่อมกันทั้งอายตนะภายนอกและภายในให้ตรงกัน โยมพี่ก็จะรู้ รับรู้ อะไรจะแทรกโยมพี่ไม่ได้ บาปกับบุญช่วงชิงกันทุกวินาที เราไม่รู้ว่าจะละสังขารในวินาทีไหน” เมื่อได้ฟังคำสอนสั้นๆ ของหลวงพี่ ทำให้นิ่งไปพักหนึ่ง ตรองตามคำพูดของหลวงพี่ ใช่เลยเราไม่ได้เชื่อมต่ออายตนะ ความฟุ้ง ยังเกาะกุมอยู่ตลอดเวลา นี่โชคดีนะที่มีหลวงพี่เป็นกัลยาณมิตร ด้วยคำพูดเพียงประโยคเดียว ทำให้ใจสงบได้เหมือนน้ำนิ่งๆ สาธุ สาธุ สาธุ
วันศุกร์, กรกฎาคม 08, 2554
พระพุทธเจ้าท่านรู้เห็นอะไรจึงเป็นศาสดาได้
พระพุทธองค์ทรงรู้ความจริงของชีวิต 4 ประการ ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอน ที่เป็นมาและจะต้องเป็นไปอีกตราบที่ชีวิตยังมีอยู่ ซึ่งความจริงนั้นเรียกว่า อริยสัจจ์
ความจริงเรื่องที่หนึ่ง พระองค์ทรงเห็น ความทุกข์ ความทุกข์ประจำของชีวิต ความทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย แถมพระองค์ทรงเห็น ความทุกข์ที่จรผ่านมาในชีวิต อันได้แก่ ความโศก ความคร่ำครวญ ความเจ็บไข้ ความน้อยใจ ความอาลัยอาวรณ์ ความตรอมใจ ความพลัดพราก ความไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
ความจริงเรื่องที่สอง พระองค์ทรงเห็น สาเหตุแห่งทุกข์ ว่าทุกข์ทั้งหลายล้วนแล้วมีเหตุมาจากความอยากได้ใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ ความอยากเป็น เช่นอยากเป็นใหญ่เป็นโต รวมถึงความไม่อยากเป็น เช่นไม่อยากเป็นคนจน คนแก่ ทั้งความอยากและความไม่อยากนี่เองเป็นสาเหตุแห่งทุกข์
ความจริงเรื่องที่สาม พระองค์ทรงรู้ว่า ดับกิเลส ดับตัณหา หมดทุกข์โดยสิ้นเชิงที่เรียกว่า นิพพาน
ความจริงเรื่องที่สี่ พระองค์ทรงเห็น หนทางดับทุกข์ ว่ามีแปดหนทาง ถ้าขยายแปดหนทางจะกลายเป็น 84,000 พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อลงจะเหลือเพียงสาม ที่เรียกว่า หัวใจพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
หนทางแห่งศีล มีเจรจาชอบ ทำงานชอบและเลี้ยงชีพชอบ
หนทางแห่งสมาธิ มีความเพียรชอบ ความระลึกชอบและใจตั้งมั่นชอบ
หนทางแห่งปัญญา มีความเห็นชอบ ความคิดชอบ
ความจริงที่พระพุทธองค์ทรงรู้ทรงเห็นและนำมาสอนโปรดสัตว์ทั้งหลายคือความจริงทั้งสี่ประการดังกล่าว เรียกว่า อริยสัจจ์ 4 มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ด้วยประการฉะนี้
เรียบเรียงจากมงคลชีวิตที่ 33 เห็นอริยสัจจ์ (ฐานวุฑฺโฒ ภิกฺขุ)
ความจริงเรื่องที่หนึ่ง พระองค์ทรงเห็น ความทุกข์ ความทุกข์ประจำของชีวิต ความทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย แถมพระองค์ทรงเห็น ความทุกข์ที่จรผ่านมาในชีวิต อันได้แก่ ความโศก ความคร่ำครวญ ความเจ็บไข้ ความน้อยใจ ความอาลัยอาวรณ์ ความตรอมใจ ความพลัดพราก ความไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
ความจริงเรื่องที่สอง พระองค์ทรงเห็น สาเหตุแห่งทุกข์ ว่าทุกข์ทั้งหลายล้วนแล้วมีเหตุมาจากความอยากได้ใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ ความอยากเป็น เช่นอยากเป็นใหญ่เป็นโต รวมถึงความไม่อยากเป็น เช่นไม่อยากเป็นคนจน คนแก่ ทั้งความอยากและความไม่อยากนี่เองเป็นสาเหตุแห่งทุกข์
ความจริงเรื่องที่สาม พระองค์ทรงรู้ว่า ดับกิเลส ดับตัณหา หมดทุกข์โดยสิ้นเชิงที่เรียกว่า นิพพาน
ความจริงเรื่องที่สี่ พระองค์ทรงเห็น หนทางดับทุกข์ ว่ามีแปดหนทาง ถ้าขยายแปดหนทางจะกลายเป็น 84,000 พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อลงจะเหลือเพียงสาม ที่เรียกว่า หัวใจพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
หนทางแห่งศีล มีเจรจาชอบ ทำงานชอบและเลี้ยงชีพชอบ
หนทางแห่งสมาธิ มีความเพียรชอบ ความระลึกชอบและใจตั้งมั่นชอบ
หนทางแห่งปัญญา มีความเห็นชอบ ความคิดชอบ
ความจริงที่พระพุทธองค์ทรงรู้ทรงเห็นและนำมาสอนโปรดสัตว์ทั้งหลายคือความจริงทั้งสี่ประการดังกล่าว เรียกว่า อริยสัจจ์ 4 มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ด้วยประการฉะนี้
เรียบเรียงจากมงคลชีวิตที่ 33 เห็นอริยสัจจ์ (ฐานวุฑฺโฒ ภิกฺขุ)
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 07, 2554
กิเลสสามตระกูลในระดับธุลี
สำหรับผู้แสวงหาสัทธรรม การพูดถึงกิเลสย่อมเข้าใจได้ง่ายว่าสิ่งใดเป็นกิเลสควรละ เพื่อยกจิตใจให้สูงขึ้นขอเจาะลึกไปถึงกิเลสชั้นธุลี เพื่อการจดจำ เพื่อการปฏิบัติละเสีย กิเลสระดับธุลีมีสามตระกูล
ตระกูลแรก กิเลส ราคะ ที่จัดเป็นธุลีกิเลส คือ ความพอใจในกาม ความติดใจในรูปฌาน ความติดใจในอรูปฌาน
ตระกูลที่สอง กิเลส โทสะ ที่จัดเป็นธุลีกิเลส คือ ความขัดใจ
ตระกูลที่สาม กิเลส โมหะ ที่จัดเป็นธุลีกิเลส คือ ความเห็นว่าเป็นตัวตน ลังเล เชื่องมงาย ถือตัว ฟุ้งซ่าน ไม่รู้พระสัทธรรม
กิเลสธุลีทั้งสามตระกูล พระพุทธองค์ เรียกว่า สังโยชน์ 10 โดยเรียงลำดับดังนี้
1. สักกายทิฏฐิ เห็นเป็นตัวตน
2. วิจิกิจฉา ลังเล
3. สีลัพพตปรามาส งมงาย
4. กามราคะ พอใจในกาม
5. ปฏิฆะ ความขัดใจ
6. รูปราคะ ติดรูปฌาน
7. อรูปราคะ ติดอรูปฌาน
8. มานะ ถือตัว
9. อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา ไม่รู้พระสัทธรรม
พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ละสังโยชน์ ได้ในระดับที่ต่างกัน ส่วนพระอรหันต์ละได้ทั้งหมด
เรียบเรียงจาก มงคลชีวิตที่ 37 จิตปราศจากธุลี (ฐานวุฆฺโฒ ภิกฺขุ)
ตระกูลแรก กิเลส ราคะ ที่จัดเป็นธุลีกิเลส คือ ความพอใจในกาม ความติดใจในรูปฌาน ความติดใจในอรูปฌาน
ตระกูลที่สอง กิเลส โทสะ ที่จัดเป็นธุลีกิเลส คือ ความขัดใจ
ตระกูลที่สาม กิเลส โมหะ ที่จัดเป็นธุลีกิเลส คือ ความเห็นว่าเป็นตัวตน ลังเล เชื่องมงาย ถือตัว ฟุ้งซ่าน ไม่รู้พระสัทธรรม
กิเลสธุลีทั้งสามตระกูล พระพุทธองค์ เรียกว่า สังโยชน์ 10 โดยเรียงลำดับดังนี้
1. สักกายทิฏฐิ เห็นเป็นตัวตน
2. วิจิกิจฉา ลังเล
3. สีลัพพตปรามาส งมงาย
4. กามราคะ พอใจในกาม
5. ปฏิฆะ ความขัดใจ
6. รูปราคะ ติดรูปฌาน
7. อรูปราคะ ติดอรูปฌาน
8. มานะ ถือตัว
9. อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา ไม่รู้พระสัทธรรม
พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ละสังโยชน์ ได้ในระดับที่ต่างกัน ส่วนพระอรหันต์ละได้ทั้งหมด
เรียบเรียงจาก มงคลชีวิตที่ 37 จิตปราศจากธุลี (ฐานวุฆฺโฒ ภิกฺขุ)
วันอังคาร, กรกฎาคม 05, 2554
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)