วันพฤหัสบดี, เมษายน 30, 2552

นกปีกลายสก๊อตในกรงทอง


ครูอู๊ดที่บ้านหนองชาด เล่าว่า “บ่ายวันหนึ่งหลังจากทั้งฝนทั้งลมที่พัดแรงผ่านไป กิ่งตันชาดหักลงมากองกับพื้นดิน มองเห็นรังนกและลูกนกปีกลายสก๊อต จำนวน 2 ตัวตกอยู่ ไม่เห็นแม่นกในบริเวณนั้น จึงได้นำลูกนกปีกลายสก๊อตทั้งสองตัวมาเลี้ยงโดยไปซื้ออาหารสำเร็จสำหรับนกขุนทองมาละลายน้ำแล้วป้อนให้ ลูกนกตัวหนึ่งไม่สามารถรอดชีวิตได้เพราะขาสองข้างผิดปกติอาจเป็นเพราะตกมากระแทกกับพื้นก็เป็นได้ อีกตัวหนึ่งรอดจึงเลี้ยงมาเรื่อย ๆ โดยหวังว่าถ้าโตแข็งแรง บินได้จะปล่อยไป ยิ่งเลี้ยงยิ่งน่ารักหัวโตกว่าตัว เลยตั้งชื่อว่า “ไอ้หัวโต” ไอ้หัวโตไม่ยอมบินปีกก็ไม่งอก หางก็ไม่งอก ได้แต่กระโดดไปมา นำออกมาจากกรงได้แต่กระโดดร้อง “แกก...แกก”แม้เวลาผ่านไปปีกว่าแล้ว คืนหนึ่งดึกแล้วไอ้หัวโตร้องเสียงดังลั่นขอความช่วยเหลือ จึงลงไปดูที่กรง ไอ้หัวโตเกือบตายขนกระจาย งูเขียวกำลังจะจัดการถ้าไม่ลงมาช่วยคงต้องเลี้ยงงูเขียวแทนไอ้หัวโตแล้ว”
สรุปว่าไอ้หัวโตปีกลายสก๊อตที่เห็นในภาพปรารถนาจะเป็นนกน้อยในกรงทองของครูอู๊ดจึงไม่ยอมงอกปีกงอกหาง ไม่คิดจะไปไหน อยู่ในกรงครูอู๊ดนี่แหละดีแล้ว

นกหัวขวานด่างอกลายจุด


“นกหัวขวานด่างอกลายจุด” Fulvous – breasted Woodpecker Dendrocopos macei

นกหัวขวานด่างอกลายจุด เพศผู้สังเกตที่ หัว ก้นสีแดงส้ม ขนาด 17-18 เซนติเมตร พบที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาขอนแก่น อำเภอบ้านไผ่ เวลา 9.10 น. วันที่ 27 เมษายน 2552 ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 195 เมตร หากินเดี่ยว พฤติกรรมเกาะแนบกิ่งด้านล่างแนบทั้งตัวและหาง ใช้ปากเจาะบริเวณกิ่งต้นแดงตามแนวท่อลำเลียงอาหาร เจาะ 4 รู เป็นแนว เจาะจนถึงแนวโพรงหนอน บางครั้งเกาะนิ่ง ๆ ใช้ปากแตะบริเวณกิ่งอยู่เฉย 3-5 นาที แล้วเริ่มเจาะตำแหน่งใหม่สันนิษฐานว่าที่เกาะเฉยๆเพื่อใช้ประสาทที่ปลายปากรับรู้การเคลื่อนที่ของหนอนในโพรง จากนั้นจึงเลือกเจาะตำแหน่งเป้าหมาย เช้าวันนั้นอุณหภูมิ 32.4 องศาเซลเซียส

คนรักม้า คนเลี้ยงม้าที่บ้านหนองชาด


ถ้าพูดถึงแก่งตะนะหรือเขื่อนปากมูลคนทั่วประเทศนึกออกได้ว่าอยู่จังหวัดอุบลราชธานี รู้ถึงความขัดแย้งของชุมชนเกี่ยวกับน้ำ เกี่ยวกับเขื่อน เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวประมงลุ่มน้ำมูล แต่เรื่องที่เขียนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูคนหนึ่งที่รักม้า กลัวม้า แต่มาเป็นคนเลี้ยงม้าพันธุ์พื้นบ้าน ที่บ้านหนองชาด อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
ครูชูชาติ วารปรีดี ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดลำปาง ด้วยวิถีของการเป็นข้าราชการ ทำให้ครูชูชาติมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี มามีชีวิตและครอบครัวที่นั่น เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ครู ชูชาติเล่าว่า “เหตุแห่งการมาเป็นคนเลี้ยงม้าเกิดจากวันหนึ่งพาลูกชายตัวเล็กๆ ชื่อ“ปอบปูลา” เข้าไปในหมู่บ้านและรับรู้เรื่องราวว่า ม้าถูกฆ่าโดยใช้กระสอบคุมหัวแล้วใช้ค้อนทุบจนตายเพื่อนำไปทำลูกชิ้น ทั้งพ่อลูกสลดใจโดยเฉพาะปอบปูลา จากเหตุที่รับรู้ในวันนั้นครูชูชาติเริ่มคิด หากเหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ไม่ช้าม้าพันธุ์พื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นสัตว์กู้ชาติต้องสูญพันธุ์แน่ ๆ ครูชูชาติจึงเริ่มต้นศึกษาเรียนรู้กับภูมิปัญญาภูมิรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับม้าทั้งที่ กลัว ๆ กล้า ๆ วันเวลาผ่านไปหลายปี ครูชูชาติได้ชักชวนชาวบ้านหนองชาดมาร่วมกันอนุรักษ์ม้าและก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านขึ้น เพื่อการเรียนรู้ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เพื่อการบำบัดเด็กพิเศษ ปัจจุบันชมรมมีม้าอยู่ กว่า 40 ตัว”
ครูชูชาติสรุปตอนท้ายของการพูดคุยว่า “ผมไม่ได้คิดอะไรมากเพียงแต่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าของม้าพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งเป็นสัตว์ที่ร่วมกู้ชาติให้ประเทศเป็นไทถึงทุกวันนี้เท่านั้น”

วันศุกร์, เมษายน 24, 2552

ต้นหมากเม่าหรือจะสู้ยูคาได้











สมัยที่เป็นเด็กเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาอยู่ชนบทในภาคเหนือ ถึงเดือนพฤศจิกายน มีกิจกรรมลูกเสือเดินทางไกลเข้าค่ายพักแรม พวกเราเด็ก ๆ จะชอบมาก เพราะการเดินทางไกลต้องเดินผ่านป่าแพะ (ป่าเบญจพรรณ) ลูกเสือตัวเล็กจะแวะข้างทางเก็บลูกไม้ชนิดหนึ่งเม็ดเล็ก ๆ สีแดง ๆ ม่วง ๆ รสเปรี้ยวอมฝาดกินด้วยความอร่อย ลูกไม้ในดวงใจของพวกเรานั่นก็คือ “หมากเม่า” หรือ “มะเม่า” นั่นเอง
“หมากเม่า” ต้นไม้ป่าที่มีอยู่คู่ประเทศไทยเกือบทุกภาคเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นเบอร์รี่ ไม้ยืนต้นอายุยืนชนิดนี้ต้นโต ๆ อาจมีขนาดถึงสี่คนโอบ เมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 5-10 เมตร เริ่มออกดอกผลเมื่ออายุได้ 1-2 ปี ออกดอกคล้าย ๆ ยอดกะเพราแต่ละช่อดอกยาวประมาณ 1-2 นิ้ว เมื่อติดผล ผลจะแน่นติดกันเป็นสีเขียว และทยอยสุก จากสีแดง ๆ ไปถึงสีม่วงเข้ม หมากเม่าเป็น 7-ELEVEN ของนกในธรรมชาติ นกกินผลไม้เช่น นกปรอด รวมถึงกระรอก กระแต กินหมากเม่า หมากเม่านับว่ามีคุณค่าต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
วันนี้มีโอกาสลงพื้นที่ อำเภอวัฒนานคร เจ้าหน้าที่ห้องสมุดประชาชนอำเภอ นำเดินผ่านป่ายูคา ป่าเศรษฐกิจ ป่าต้นกระดาษของบริษัททำกระดาษชื่อดังเขาแหละ ไปหัวไร่ปลายนาซึ่งเป็นสระน้ำเก่าแก่ที่พ่อแม่เขามอบไว้เป็นมรดกพร้อมที่ดิน
ป่าหัวไร่ปลายนาพื้นที่นิดเดียวเต็มไปด้วยพืชพันธุ์นับร้อยชนิด เช่น หมากเม่า พะยูง ไข่เน่า กะบก และที่ไม่รู้จักอีกมาก เขาพาไปดูต้นหมากเม่าและยกให้ 5-10 ต้นให้ขุดเอาเอง ขนาดสูงประมาณหนึ่งฟุตเพื่อนำไปปลูกไว้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ไว้เป็นแหล่งอาหารของนกในอนาคตชดเชยต้นไม้ในธรรมชาติที่นับวันจะหายไปจากพื้นที่บริเวณนี้แล้ว
มาถึงบัดนี้มุมมองเกี่ยวกับต้นหมากเม่าที่เรามองเป็นมุมมองเล็ก ๆ ไม่น่าสนใจในสายตาของคนที่มองตนเองว่า เพื่อความอยู่รอด เพื่อความรุ่มรวยของเขา ลูกหลานจะเป็นอย่างไรก็ช่าง....มุมมองเช่นนั้น “ต้นหมากเม่าหรือจะสู้ยูคาได้”

วันพฤหัสบดี, เมษายน 23, 2552

ลดโลกร้อนได้เมื่อลดเผาป่าริมทาง


ใครก็ตามหากเป็นนักเดินทาง ภาพที่มักพบเห็นเสมอ ๆ คือภาพของป่าริมทางหรือหญ้าป่าพงริมทางถูกเผา จะโดยตั้งใจมุ่งหวังเพื่อกำจัดวัชพืชกำจัดป่าริมทาง หรือไม่ได้ตั้งใจเป็นอุบัติเหตุจากการทิ้งก้นบุหรี่ หรือจุดไฟด้วยวัตถุประสงค์ใด ๆ แล้วไม่ดับให้สนิทเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความสูญเสียหลาย ๆ อย่างทั้งสิ้น
ริมถนนสายสุวรรณศร หมายเลข 33 ที่เริ่มจากจังหวัดสระบุรี ผ่านนครนายก ปราจีนบุรี ไปอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก็มีภาพการเผาป่าริมทางให้เห็นอยู่เนื่อง ๆ ดังเช่นภาพที่ปรากฏ
หากมาวิเคราะห์แยกแยะความสูญเสียจากการเผาป่าริมทางอาจพบความเสียหายได้หลายประการดังนี้
· ประการแรก ทรัพย์สินทางราชการเสียหายเช่น สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ เมื่อถูกไฟไหม้รัฐต้องนำเงินภาษีอากรของชาติมาใช้จ่ายแก้ไข โดยไม่ใช่เกิดจากเหตุอันควร อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเสียซ้ำซ้อนคือ “ทรัพย์สินเสียหายแล้วยังต้องสูญเงินภาษีอากรอีกด้วย”
· ประการที่สอง สูญเสียโอกาสในการใช้ทรัพย์สินไปในช่วงเวลาซ่อมแซม เช่นสูญเสียการติดต่อสื่อสารในกรณี โทรศัพท์ หรือ ภาคธุรกิจภาคราชการ ไม่สามารถดำเนินกิจการในช่วงเวลาไฟฟ้าดับ ซึ่งบางครั้งอาจประเมินค่าความเสียหายไม่ได้ เป็นต้น
· ประการที่สาม การเผาป่าริมทางคือการเผาชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในวงกว้าง ชนิดที่ขาดการควบคุม ไฟจะรุกไหม้ไปถึงไหน กี่ชีวิตที่สูญเสียมิได้คำนึงถึง ชีวิตบางชนิดอาจสูญพันธุ์ในเหตุการณ์ป่าริมทางถูกเผาในครั้งนั้นก็อาจเป็นได้
· ประการที่สี่ การเผาป่าริมทางมักลุกลามสู่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สวนผลไม้ไร่พืชผล ทำให้เกิดความสูญหายโดยผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินมิได้ปรารถนาให้เกิดขึ้น
· ประการที่ห้า การเผาไหม้ทำให้เกิดความร้อน เป็นความร้อนที่เพิ่มขึ้นให้กับโลกนี้ในทางตรง ในทางอ้อมการเผาไหม้ทำให้เกิดก๊าซคาบอนไดออกไซด์ ก๊าซคาบอนมอนนอกไซด์ เป็นเหตุให้เกิดภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นตัวเร่งให้โลกร้อนผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดเมื่อภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในไม่กี่ปีน้ำทะเลจะรุกท่วมแผ่นดิน ในไม่ช้าเราอาจพบว่า จังหวัดสระแก้ว จังหวัดลพบุรี ถูกน้ำทะเลท่วมไปหมดแล้ว ไม่น่าเชื่อ...ถ้าไม่เกิดขึ้นจะดีไหม
· ประการที่หก.....
· ประการที่เจ็ด....
เรามาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันหาวิธีการที่จะพิทักษ์ธรรมชาติรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อโลก เพื่อเรา

วันอาทิตย์, เมษายน 19, 2552

ลีลาวดีในสวนประดู่ป่า







ลีลาวดี เป็นชื่อไม้ดอกชนิดหนึ่ง ชื่อดั่งเดิมคือ “ ลั่นทม” ความเป็นมาของต้นลั่นทม
ดูซับซ้อนอาจกล่าวได้ว่าเป็นไม้ต้องห้ามในอดีต คนไทยสมัยก่อนจึงไม่นิยมปลูกด้วยความเชื่อต่างๆนาๆ เช่น ลั่นทมเป็นต้นไม้ที่ปลูกได้เฉพาะในวังหรือในวัดเท่านั้น ยางต้นลั่นทมเป็นพิษถ้าเข้าตา ตาอาจบอดได้ไม่ควรปลูกในบ้าน ลั่นทมเป็นต้นไม้ที่แสดงถึงความเศร้าโศกนิยมปลูกในสุสานของชาวต่างชาติ ด้วยความเชื่อดังกล่าว เราจึงเห็นลั่นทมต้นโตๆ อยู่ที่วัด อยู่ที่วัง เช่น วัดเขาวัง เกาะสีชัง
วัดภูเขาทอง อันที่จริงแล้วต้นลั่นทมโตๆ เป็นตัวแทนที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้บ้างเหมือนกัน ลั่นทมดั่งเดิมไม่ใช่ไม้ดอกของไทยเรา แต่เป็นไม้ดอกที่ถูกนำมาจากต่างประเทศอาจจะโดยนักเดินทาง เช่นชาวโปรตุเกส ชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส หรือชาติอื่นๆ นำมาปลูกในช่วงการแสวงหาอาณานิคมก็เป็นได้ ลั่นทมเข้ามาในประเทศไทยที่มีบันทึกไว้ในช่วงเวลาสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ 100 กว่าปีมาแล้วนำมาจากประเทศอินโดนีเซีย ที่ผ่านมาเคยพบต้นโตๆที่นครหลวงพระบาง ประเทศเพื่อนบ้าน เข้าใจเองว่าถูกปลูกสมัยฝรั่งเศสครอบครองคนลาวเรียกลั่นทมว่าดอกจำปา
ปัจจุบันนี้ ลีลาวดีนิยมปลูกในบ้าน ในสวน ในรีสอร์ท มีการนำเข้าพันธุ์ใหม่ๆจากต่างประเทศเพื่อการค้ามีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งสีสันและกลิ่นที่หอมเย็น ที่ประดู่ป่าแคมป์ สวนข้างบ้านลีลาวดี กำลังออกดอกในช่วงเดือนเมษายน ส่งกลิ่นหอมเย็นๆ ไปทั่วสวน สวยงามเยือกเย็น ไม่ลึกลับซับซ้อนอีกต่อไป

ชายหาดแห่งกาลเวลา


ความเปลี่ยนแปลงและการเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆบนโลกเรา ในปัจจุบันสามารถรับรู้จากระบบการสื่อสารที่ทันสมัย ทั้งภาพและเสียง ผ่านโทรทัศน์ ผ่านระบบ Internet แน่นอนว่าภาพที่เห็นนั้นมีทั้งจริง มีทั้งเท็จ มีทั้งจริงบ้างเท็จบ้าง ทุกภาพที่ผ่านการสื่อสารออกไปย่อมกระทบอารมณ์ของผู้คน ภาพเดียวกันที่เห็นทุกคนก็คิดไม่เหมือนกัน ด้วยว่าแต่ละคนมีกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของตนแตกต่างกัน บางคนชอบก็เชียร์ บางคนชังก็แช่ง บางคนรัก บางคนเกลียดบางคนสงสาร
เหมือนดั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของประชาชนในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2552 มีการเรียกร้องความต้องการต่างๆ โดยใช้สีเสื้อเป็นเขตแบ่งมวลชน สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง มีสี น้ำเงินเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นสีเสื้อใด ไม่ว่าความต้องการนั้นคืออะไร ไม่ว่าความประสงค์นั้นบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ไม่ว่าความสูญเสียนั้นจะมากน้อยเพียงใด กาลเวลาก็กลืนกินเหตุการณ์เรื่องราวนั้นๆไป
หากจะเปรียบเทียบความเป็นไปในโลกนี้เป็นชายหาดสักแห่งหนึ่งมี หิน ทราย กุ้ง หอย ปู ปลา แมงกะพรุน หอยเม่น เป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏ เมื่อคลื่นกระทบฝั่งแต่ละครั้งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว มิได้จริงแท้แน่นอนจีรังยั่งยืน โลกจึงเหมือน “ ชายหาดแห่งกาลเวลา” นั้นเอง

วันพฤหัสบดี, เมษายน 09, 2552

ดอกกันเกรา



ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อ “บ้านหนองกันเกรา” สันนิฐานว่าหมู่บ้านนี้เคยมีต้นกันเกราอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันถามถึงต้นกันเกราเด็กๆไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น หากพูดคุยกับผู้สูงอายุพอบอกเล่าถึงต้นกันเกราได้บ้าง เช่น ไม้กันเกราเป็นไม้ที่มีเนื้อเหนียว นิยมนำมาทำดุมเกวียน ทำอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของเกวียน ทำเสาบ้าน ปัจจุบันไม่มีต้นกันเกราแล้ว
เดือนนี้เป็นเดือนเมษายน กันเกราออกดอกสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมเบาๆ คุณค่าของไม้กันเกรา ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org ระบุว่า ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา เป็นไม้มงคล เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนครพนม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fagraea fragrans แก่นมีรสฝาด ใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต รักษาผิวหนังพุพอง
สรุปว่า เรารักต้นกันเกรา เรามาปลูกต้นกันเกราในวันที่ 22 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันต้นไม้แห่งชาติกันเถอะนะ

ของขวัญจากธรรมชาติ




ธรรมชาติทุกแห่งหนไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ภูผาหรือพื้นดิน ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งประทานของขวัญแก่มวลมนุษย์ทั้งสิ้น ของขวัญที่สำคัญและล้ำค่านั้นคือ “กล้วยไม้ป่า” กล้วยไม้ป่าเกือบทุกชนิดมีสีสันที่สวยงาม เบ่งบานทนนาน บางชนิดเกาะตามคาคบของต้นไม้ กิ่งไม้ บางชนิดเกาะชูช่ออยู่กับภูผา บางชนิดเกิดเป็นกล้วยไม้ดินในป่าพรุ ป่าน้ำซับ หลากหลายสายพันธุ์
ความนิยมเลี้ยงกล้วยไม้ป่าทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการนำกล้วยไม้ป่าออกจากป่าจากผู้คน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง เป็นชาวเขา ในภาคเหนือ นำออกมาพอประมาณจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว หากจำหน่ายไม่หมดก็นำกล้วยไม้กลับไปเลี้ยงไว้กับต้นไม้ใกล้บ้าน แล้วนำมาขาย อีก กลุ่มที่สอง เป็นชาวเรา นำมาจากตะเข็บชายแดนในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ขายเป็นกอง ๆ ขายไม่ได้ก็นำไปทิ้ง ที่สวนจตุจักรก็เคยเห็น..เรามาช่วยกันตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรของขวัญอันล้ำค่าจากธรรมชาติคือกล้วยไม้ป่า จะยังคงอยู่คู่ป่าไม้ คู่ภูผาและพื้นดิน โดยมีผู้คนนำไปเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอยู่คู่ประเทศไทยคู่โลกตราบนานเท่านาน

ความเชื่อ




“คอปเตอร์” เป็นเด็กที่ชอบนอนสะดุ้งผวา เมื่ออายุได้ 7 เดือน พ่อของคอปเตอร์ได้ปรึกษาเพื่อนถึงวิธีแก้ปัญหาลูกไม่ให้นอนสะดุ้งผวา เพื่อนได้ให้เครื่องรางของขลังมาอย่างหนึ่งเรียกว่า “ปลัดขิก” พ่อนำมาร้อยเชือกผูกเอวให้คอปเตอร์ โดยเชื่อว่าลูกจะนอนไม่สะดุ้งผวา คอปเตอร์จึงมีปลัดขิกผูกเอวตั้งแต่บัดนั้นมา
เวลาผ่านไปปีนี้คอปเตอร์มีอายุเจ็ดขวบแล้ว คอปเตอร์ไม่เคยถอดปลัดขิกออกจากเอวเลย ปลัดขิกจึงเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายไปแล้ว
วันก่อนได้พูดคุยกับคอปเตอร์ ถามเขาว่า “หนูผูกปลัดขิกไว้ที่เอวทำไมนะ” คอปเตอร์ตอบว่า ผูกไว้แล้วหมาไม่กัด..งูก็ไม่ฉก..นกก็ไม่จิก..ปลอดภัยดีครับ
สรุปว่า ปลัดขิกอันเดียวกันพ่อกับลูกชายเชื่อไม่เหมือนกัน แปลกดีแฮ่...

วันพุธ, เมษายน 08, 2552

เส้นทางหรือลานประหาร

เช้าวันหนึ่ง อากาศสดใส จิตใจก็สงบนิ่ง ขับรถยนต์จากบ้านพักเพื่อไปทำงาน ขับไปได้ระยะหนึ่งพบเห็นซากสุนัขถูกรถชนตาย ตัวที่หนึ่ง ตัวที่สองไม่ห่างกันนัก ซากนกเอี้ยง.....ซากนกกะปูด ซากนกเขา ซากแมวสีขาวนอนตายลืมตาโพลงเห็นลูกตาข้างเดียว ซากงู.....นับชีวิตที่ดับดิ้นบนท้องถนนกว่าจะถึงที่ทำงานระยะทาง 150 กิโลเมตร นับจนลืมว่ามีกี่ชีวิตกันแน่ที่จากโลกนี้ไปแล้ว......

โอ้... ถนนที่บ่งบอกถึงความเจริญ ถนนที่ทำให้การเดินทางสะดวกสบาย รวดเร็ว ถนนของมนุษย์แต่ดูเหมือนว่า ถนนเป็นลานประหารเพื่อนมนุษย์ที่นับจำนวนไม่ถ้วน..... ช่วยคิดด้วยเถอะความตายถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมดา..... แต่ความเมตตาก็ควรมีอยู่ในใจของมนุษย์ทุกคนไม่ใช่รึ....

วันอังคาร, เมษายน 07, 2552

2522 ถึง 2552


เมื่อเจ็ดเมษายนสองพันห้าร้อยยี่สิบสอง เทพธิดาจุติ เป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ มีรหัสประจำตัวว่า “ ลูกหวาย” เธอเริ่มพูดและเดินได้เมื่ออายุประมาณ 8 เดือน ตัวเล็กแต่พัฒนาการดีเยี่ยมทุกอย่าง หาก พี่ ป้า น้า อา จะให้อะไรรับประทาน ก็จะถูกตั้งคำถามว่า “มีโปรตีนรึเปล่า” เป็นที่ฮากันประจำ เรื่องเรียนหนังสือก็ไม่ด้อยกว่าใครเลือกเรียนโปรแกรม Inter..... จบปริญญายังรักษาเกียรตินิยมไว้ได้อยู่

เธอท่องไปในโลกกว้างชดเชยความฝันของพ่อแม่ผู้ให้ชีวิต ยิ่งพบปะผู้คนมาก ยิ่งแกร่ง ยิ่งรอบรู้ ยิ่งฉลาด มาบัดนี้ถึงเวลาที่เธอจะออกเรือน ซึ่งก็น่าเหมาะสมด้วยวัย ยี่สิบเก้าแก่ ๆ แล้ว
“ลูกหวาย” เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เส้นทางเดินของลูกชัดเจน มั่นคง ที่บ้านสวนเรามีหมาตัวน้อยๆ ลูกสาวชาวมอญเพิ่งอายุครบ 1 ขวบในวันเดียวกันคือเจ็ดเมษายน เธอมีรหัสว่า “แพร”หรือ“แพรพะยูง” เป็นเพื่อนแก้เหงาคนแก่เพลินดีเหมือนกัน

วันพฤหัสบดี, เมษายน 02, 2552

ดินถิ่นเกิด







"บ้านดิน"ทำด้วยดิน มีเหงื่อเป็นน้ำผสมลงในดิน มีการลงแขกแรงกายจากเพื่อนบ้านเป็นมิตรภาพสายสัมพันธ์ บ้านจึงร่มเย็นในฤดูร้อน อบอุ่นในฤดูหนาวและปลอดภัยในฤดูฝน บ้านดินเติมชีวิตที่พอเพียงให้กับคนทุกคนที่เห็นคุณค่าของ"ดิน"รู้รักดินถิ่นเกิด