วันอังคาร, มีนาคม 31, 2552

ปราสาทเขาน้อยสีชมพูครั้งที่สอง


ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ในวันที่ 31 มีนาคม 2552 ดูสดใสแปลกตา ด้วยช่วงเวลานี้ต้นตะแบกผลัดใบมีดอกสีม่วงอ่อน ๆ บานอยู่เต็มต้นฟ้าเลยดูโปร่งใส พื้นดินรอบ ๆ บริเวณปราสาททั้งสามองค์ ชุ่มชื้น ฝนคงตกไปเมื่อวันวาน ปราสาทเขาน้อยสีชมพูตั้งอยู่บนภูเขาลูกเล็ก สูงจากระดับพื้นดินปกติไม่มาก สังเกตจากบันไดทางขึ้นนับก้าวแล้วประมาณ 100 กว่าขั้นเท่านั้น และเป็นบริเวณภูเขาที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้พบเห็นสัตว์ เช่น กระรอก , กระแต(ตัวเล็กๆคล้ายกระรอก) , ไก่ป่า , นกกะปูด , นกแซงแซวสีเทา , นกกางเขน
เมื่อเข้าไปกราบไหว้พระปรางค์ ทำให้นึกถึงคนสมัยโบราณที่สร้างปรางค์ปราสาท เขาทำได้วิจิตร ประณีต สวยงาม และตั้งใจจริง ๆ เหลี่ยมของอิฐ ความโค้งเว้ารูปทรงที่ปรากฏน่าประทับใจมากและเมื่อได้อ่านข้อมูลรายละเอียดประกอบ ปราสาทเขาน้อยแล้ว ทำให้ทราบว่าปราสาทเขาน้อยสีชมพู เป็นพุทธสถานที่ก่อสร้างราว พ.ศ. 1180 นับถึงปัจจุบันก็ 1370 กว่าปีมาแล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

วันจันทร์, มีนาคม 30, 2552

ฐานดิน


คนทุกคนย่อมมีความใฝ่ฝันหรือมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตนเองใช่ไหม เมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา เรามีความใฝ่ฝันต้องการเป็นข้าราชการเพื่อรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความใฝ่ฝันนั้นไม่เคยทำให้เราเปลี่ยนเส้นทางเลยตลอดเวลาการทำงานสามสิบกว่าปี งานสิ่งใดที่เป็นโอกาสที่จะทำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม การบวชเพื่อถวายในโอกาสต่าง ๆ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงการนำพาประชาชนศึกษาเรียนรู้แนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง การพาประชาชน นักศึกษา ไปศึกษาแหล่งการเรียนรู้โครงการพัฒนาดินเปี้ยวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อำเภอบ้านนาและที่แห่งนี้แหละที่เป็นที่จุดประกายความคิดให้เราว่า หากวันใดเราได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา การพัฒนา “ฐานดิน” ให้เป็นฐานการเรียนรู้ต้องปรากฏ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยทุกคน

วันพฤหัสบดี, มีนาคม 26, 2552

ความงามของ"ลูกสะบ้า"


สัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสไปศึกษาการเลี้ยงตัวอ้นที่ดอยมูเซอ ดูแล้วก็น่าสนใจดีแต่จะเขียนถึงการเลี้ยงตัวอ้นในโอกาสหลัง เรื่องที่จะเขียนวันนี้เป็นเรื่อง “ลูกสะบ้า” เพราะเม็ดลูกสะบ้าที่พบที่ตลาดชาวเขาดอยมูเซอมีความสวยงามมาก ชาวเขาชั่งกิโลขายกิโลกรัมละ 20 บาท ซื้อมาหนึ่งกิโลนับเม็ดสะบ้าได้ 53 เม็ด ชาวเขานำฝักสะบ้ามาขายด้วยฝักยาวประมาณหนึ่งเมตรแต่ไม่คอยสนใจฝักเท่าไร
เหตุที่สนใจลูกสะบ้าเพราะลูกสะบ้าดูแกร่งผิวเป็นมันวาว มีรูปทรงและขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ดูเป็นศิลปะดี มองลูกสะบ้าทำให้คิดถึงลูกสาวคนโตคนเดียว ดูลักษณะถ้าจะเปรียบเทียบเธอกับลูกสะบ้าพอใกล้เคียงกันแกร่งสวยดูดี อีกประเด็นหนึ่งลูกสะบ้ายังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เล่นช่วงประเพณีสงกรานต์ในกลุ่มคนหลายชาติเช่น มอญ หรือคนไทยในภาคต่าง ๆ หากสนใจว่าเล่นสะบ้าเล่นอย่างไรให้เข้าไปดูใน Website http://www.prapayneethai.com/ ลูกสะบ้าเป็นเม็ดพืชจากฝักเถาไม้เลื้อย ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็มีอาจพบได้บริเวณทางเดินขึ้นไปบริเวณสนามกอล์ฟเก่าที่ปิดไปแล้ว เถาของลูกสะบ้าจะเลื้อยไปบนต้นไม้ใหญ่จึงดูเหมือนว่าสะบ้าเป็นต้นไม้ใหญ่ไปเลย

วันพุธ, มีนาคม 25, 2552

นกปรอดสวนที่บ้านสวน




ห้องน้ำที่บ้านสวนเป็นห้องน้ำที่ออกแบบสบาย ๆ ไม่มีหลังคา และยังปลูกต้นลีลาวดี (ลั่นทม) ไว้ในห้องน้ำอีกหนึ่งต้น บริเวณกิ่งของลีลาวดีเอากล้วยไม้ตระกูลหวายไปแขวนไว้ 1 กระถาง เมื่อเข้าห้องน้ำมองลีลาวดีบ้าง มองกล้วยไม้บ้างก็เพลินดี
มาระยะหนึ่งต้องไปทำงานต่างจังหวัดหนึ่งสัปดาห์จึงได้กลับไปบ้านสวนครั้งหนึ่ง เจ้านกปรอดสวน (Streak-eared Bulbul) กลัวบ้านจะเหงาเลยมาอยู่เป็นเพื่อนทำรังที่กระถางกล้วยไม้นั่นแหละ
สัปดาห์แรกแอบดูที่รังเห็นไข่สองฟอง กลับไปอีกสัปดาห์เป็นลูกนกแล้วแต่มีเพียง 1 ตัว สัปดาห์ที่สามนกปรอดสวน(Streak-eared Bulbul) ก็พาลูกน้อยออกท่องเที่ยวพเนจรแล้ว
มีคำถาม ถามตัวเองว่า ทำไมนกปรอดสวน(Streak-eared Bulbul) จึงมาทำรังอยู่ใกล้คน เป็นเพราะเจ้าของบ้านไม่ได้อยู่บ้านในช่วงเวลากลางวันใช่ไหม หรือว่าต้องการให้คนปกป้องรังและลูกน้อยของมันให้พ้นอันตรายจากสัตว์อื่น ๆ ปรอดสวนไม่ต้องตอบก็ได้นะ

วันอังคาร, มีนาคม 24, 2552

เจ็ดเมษายนของลูกสาวคนเดียว

พอใกล้เดือนเมษายนของทุกปี ความรู้สึกบอกว่าใกล้เข้าสู่ฤดูร้อน ใกล้ถึงวันสงกรานต์และเป็นช่วงเวลาปิดเทอมของนักเรียนทั้งหลาย คุณครูก็เหมือนได้พักหายใจซักหนึ่งเดือน เด็กๆนักเรียนช่วงปิดเทอมไปหาที่เรียนพิเศษกันในกรุงเทพ ไปพักหอพักบ้างอยู่กับญาติบ้าง
ลูกหวายเป็นลูกสาวที่ช่วงเดือนเมษายนไม่ค่อยได้อยู่บ้านมาตลอดแม้ว่าในวันที่เจ็ดเมษายนจะเป็นวันคล้ายวันเกิดของเธอก็ตาม เกือบสามสิบปีมาแล้วที่ลูกหวายเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ เมษาปีนี้ไปอยู่กับยาย เมษาปีนี้ไปเรียนพิเศษอยู่ที่กรุงเทพ เมษาปีนี้ไป Summer ที่ AUSTRALIA เมษาปีนี้ไปทุน AFS ที่ ITALY เมษาปีนี้ไปทำงานที่ซิดนีย์ สำหรับเมษายน สองพันห้าร้อยห้าสิบสอง เธอจะอยู่บ้านฉลองวันเกิดกับคุณพ่อ คุณแม่ น้องชายและใครอีกสักคนหนึ่ง เราจะไปดูหนังเรื่องก้านกล้วย 2 ด้วยกัน

วัดร่องขุ่นพุทธประติมากรรม


ที่จังหวัดเชียงรายมีประติมากรรมทางพุทธศาสนาแห่งหนึ่งที่ผู้คนหลั่งไหลไป เยี่ยมชมทั้งชาวไทย และจากชาวต่างประเทศ พุทธประติมากรรมแห่งนี้คือ “วัดร่องขุ่น” บุคคลผู้รังสรรค์วัดร่องขุ่นท่านเป็นศิลปินแห่งชาติคือ ท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ศิลปินแห่งชาติชาวเหนือที่มีศิลปะหลุดพ้นกฎเกณฑ์หรืออาจกล่าวได้ว่า “ศิลปินแห่งจินตนาการ” เป็นจินตนาการที่เหนือกว่าความรู้ใด ๆ ภาพวัดร่องขุนที่ปรากฏจึงเป็นดั่งเทพนิยายบนสรวงสวรรค์ มีความโดดเด่น เบาพลิ้ว อ่อนไหว สงบนิ่ง สวยงามเหนือพรรณนา
ในหลายปีที่ผ่านมาท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ไม่เคยหยุดการรังสรรค์ผลงานและท่านยังกล่าวไว้อีกด้วยว่า ในอนาคตลูกศิษย์ของท่านยังจะรังสรรค์ผลงานวัดร่องขุ่นต่อไปอีกสามรุ่น การกล่าวเช่นนี้เป็นการบอกให้ทราบว่า การที่ผู้คนหลั่งไหลมาเยี่ยมชมวัดร่องขุ่นนั้นเกิดจากวัดร่องขุ่นไม่หยุดการพัฒนา ศิลปะใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เรียกว่า พลวัต (Dynamics) เป็นดั่งพายุหมุนขยายอย่างไร้ขอบเขต ความสวยงามแห่งพระพุทธศาสนาจึงเผยแผ่กระจายไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและอีกยาวนานชั่วนิจนิรันดร์

วันจันทร์, มีนาคม 23, 2552

สตรอเบอร์รี่กับใบตองตึง


ที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก มีชาวเขาปลูกต้นสตรอเบอร์รี่ไว้ตามเนินเขาลดหลั่นกัน สตรอเบอร์รี่ที่นี่ผลอาจไม่ใหญ่เหมือนที่ปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่หรือเชียงรายแต่ผลก็ดูสวยงาม การปลูกสตรอเบอร์รี่ปลูกเป็นร่องและทำเหมือนขั้นบันได บริเวณโคนต้นสตรอเบอร์รี่ตลอดร่องที่ปลูก ชาวเขานำใบไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ใบตองตึง” ใบใหญ่มีลักษณะคล้ายใบสักมาคลุมดินไว้ด้วยวัตถุประสงค์คือรองรับผลสตรอเบอร์รี่ ทำให้ผลสตรอเบอร์รี่ดูสวยงามไม่สัมผัสกับพื้นดินและป้องกันไม่ให้มดกัดผลสตรอเบอร์รี่อีกด้วย
ภูมิปัญญาชาวเขาหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นล้วนสั่งสมประสบการณ์เป็นภูมิรู้ การคาดเดาด้วยกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของเราอาจทำไม่ได้ อาจผิดจากความเป็นจริงดั่งเช่นตัวอย่างใบตองตึงที่ชาวเขานำมาคลุมดินโคนต้นสตรอเบอร์รี่ มิใช่เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำอย่างที่คิด แต่ความจริงแล้วเพื่อป้องกันมดกัดผลสตรอเบอร์รี่...ฉะนั้นการได้ซักถามสัมภาษณ์จากผู้รู้จริง ผู้ปฏิบัติจริงจึงเป็นคำตอบที่น่าจะถูกต้องที่สุด

ดอยมูเซอ


คนภาคเหนือเรียกภูเขาว่า “ดอย” ดอยมูเซอน่าจะมีความหมายเชิงปรากฏ คือมีชาวเขาเผ่ามูเซออยู่ที่บริเวณภูเขาแห่งนี้ ดอยมูเซออยู่จังหวัดตากตามเส้นทางไปอำเภอแม่สอด อยู่ห่างจากถนนสายเอเชียประมาณ 30 กิโลเมตร มนต์เสน่ห์ของดอยมูเซอ คือ ความสวยงามของภูเขาที่มีป่าไม้ไม้อุดมสมบูรณ์ บริเวณใดที่มีต้นงิ้วป่าออกดอก มักพบเห็นนกแซงแซวหงอนขน เป็นฝูง 6-7 ตัว บินเกาะโผกินแมลง และกินน้ำหวานจากดอกงิ้วอยู่ที่ต้นงิ้วป่า นกแซงแซวมีสีดำตัดกับดอกงิ้วสีแดงปนส้มดูสดใสเบิกบาน กลางวันอากาศเย็นสบาย ๆ กลางคืนอุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส อากาศหนาว ความเงียบสงบร่มเย็น กาลเวลาดูเหมือนจะช้าลง ผักสดๆเช่น มะระหวาน ยอดฟักแม้ว ผักกาด ปลอดสารพิษ มีให้รับประทาน ผู้คนที่ดอยมูเซอมีหลายเผ่าเช่น ลีซอ มูเซอดำ มูเซอแดง แต่ละชนเผ่าต่างก็ใช้ภาษาของตน ฟังและพูดภาษาของกันและกันไม่ได้ เด็ก ๆ เยาวชนได้เรียนหนังสือ ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสื่อสารถึงกัน ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขไม่ทะเลาะวิวาทไม่แบ่งสีเสื้อ สีแดง สีเหลือง ต่างเผ่าเป็นเพื่อนกันได้ ภาพที่เห็นนี้(ถ่ายหน้าร้านขายของตลาดชาวเขาดอยมูเซอ)ซ้ายมือเป็นมูเซอ ขวามือเป็นสีซอเป็นเพื่อนกันเรียนจบมอต้นแล้วละ

วันอังคาร, มีนาคม 10, 2552

เกลียวคลื่นกับโขดหินที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า

“อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ”ฟังชื่ออุทยานแล้วมีความรู้สึกว่าคงต้องลงทะเลไปเกาะไกล ๆแน่ แต่ความเป็นจริงแล้วที่ตั้งอุทยานอยู่ชายฝั่ง เป็นหาดมีแหลมเล็ก ๆ ยื่นลงไปในทะเลบริเวณหาดแม่รำพึง อำเภอเมือง จังหวัดระยองนี่เอง
ลักษณะเด่นของอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าคือมีธรรมชาติทั้งทะเลและป่าไม้บนภูเขาอยู่ด้วยกัน ถึงจะเป็นป่าขนาดจิ๋วแต่ก็ทำให้เราสามารถศึกษาชีวิตของนกป่าเช่น นกขี้เถ้าใหญ่ นกแซงแซวสีเทา นกตีทองได้ ส่วนชายหาดทรายและเกาะแก่งหินมีสิ่งมีชีวิตหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ปะการังเห็ดหูหนู ปลาดาว ปลิงทะเล ปู กุ้ง หอย ปลา และอื่นๆ
สรุปว่า หากต้องการเรียนรู้โดยกลุ่มผู้เรียนมีขนาดไม่มากนัก อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดเหมาะสมดีนะ