วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 27, 2552

โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ความฝันอันยิ่งใหญ่เรียกร้องวิถีไทยกลับคืน


โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ (สอนกระบือไถนา)
ความฝันอันยิ่งใหญ่เรียกร้องวิถีไทย วิถีบรรพบุรุษให้กลับคืน
______________________

เช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 อากาศที่จังหวัดสระแก้วสดใส ยังไม่เริ่มร้อนซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิอาจสูงถึง 38 องศาเซลเซียสในบางวัน ณ บริเวณโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ มีกลุ่มคนจำนวนมากเร่งงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยมีหมายกำหนดการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเปิดโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ในวันอังคารที่ 10 มีนาคม 2552 นี้
ที่โรงเรียนสอนกระบือให้ไถนา มีอะไรน่าสนใจและเป็นองค์ความรู้บ้าง คงเริ่มลำดับจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับ นายบัญชาทรัพย์ ปรีวิลัย ชาวสกลนคร ซึ่งเป็นครูสอนกระบือให้ไถนาที่อยู่ที่นี่ กล่าวว่า “ปัจจุบันมีกระบือทั้งหมด 26 ตัว เป็นกระบือที่มีผู้นำมาถวายแด่สมเด็จพระเทพฯ จำนวน 14 ตัว เมื่อปีที่แล้ว กระบือทั้ง 14 ตัวนั้นมาจากจังหวัดขอนแก่น สุรินทร์ นครพนม สกลนครและลพบุรี โดยมีตัวผู้ที่คุมฝูงเป็นกระบือจากจังหวัดขอนแก่น ผ่านมาหนึ่งปี ออกลูกอีก 12 ตัว มีทั้งตัวผู้ ตัวเมีย กระบือทั้งหมดจะไม่ดุ สอนให้คุ้นกับคนได้ กระบือนั้นจะเลี้ยงให้เป็นอย่างไรก็ได้ เขาน่ารัก” จากนั้นบัญชาทรัพย์ก็ไปจูงลูกกระบือตัวผู้มาตัวหนึ่งเดินมาหา และบอกลูกกระบือว่า “ทำความเคารพซิลูก” ลูกกระบือคุกเข่าหน้าลงทั้งคู่น่ารักมาก สิ่งที่ได้พูดคุยกับ บัญชาทรัพย์ แม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ ก็รู้สึกประทับใจมาก
ได้เดินดูไปโดยรอบบริเวณโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ พบว่าแต่ละสิ่งที่ปรากฏ ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ความรู้ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น การปลูกแฝกเพื่อยึดเกาะป้องกันการพังทลายของดินริมสระน้ำ การใช้กังหันลมเป็นระหัดวิดน้ำ การทำบ้านด้วยดินเหนียว การมุงหญ้าคาโดยไม่ต้องทำเป็นตับ การทดลองพันธุ์ข้าวทั้งของสุพรรณบุรี ปทุมธานี สกลนคร การปลูกพืชอาหารสัตว์ การปลูกพืชปุ๋ยหมัก การทำแก๊สชีวภาพเพื่อการหุงต้มและผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำ และอื่น ๆ อีกมากมายทุกเรื่องและทุกองค์ความรู้ที่ปรากฏ ณ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์เป็นสิ่งที่หายไปจากวิถีไทย วิธีบรรพบุรุษมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ณ ที่แห่งนี้แหละ จะเป็นต้นแบบเพื่อเรียกร้องวิถีไทยวิถีบรรพบุรุษให้กลับคืน

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 18, 2552

Milestone



ไมล์สโตน (Milestone) เป็นภาษาฝรั่งถ้าภาษาไทยหมายถึงหลักกิโลเมตรนั่นแหละ วันนี้ขอเขียนถึงหลักกิโลเมตรเพื่อเป็นอนุสรณ์ของชีวิตซักหน่อย ช่วงเวลาหนึ่งของการ รับราชการได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว รับผิดชอบพื้นที่ 9 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สถานศึกษาแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 33 ถนนสุวรรณศร ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงคือกรุงเทพมหานครระยะทาง 255 กิโลเมตร ตั้งห่างจากอำเภอวัฒนานคร 22 กิโลเมตรและห่างจากชายแดนประเทศกัมพูชาที่อำเภออรัญประเทศ 44 กิโลเมตร หลักกิโลเมตรหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้วจึงมีความพิเศษคือเป็นหลักกิโลเมตรที่มี ตัวเลข 22 , 33 , 44 , 55 อยู่ในหลักเดียวกัน
Milestone หลักนี้นอกจากจะมีความหมายเป็นหลักกิโลเมตรในการบอกระยะทางตามถนนแล้ว ยังเป็นหลักที่บอกเหตุการณ์สำคัญในชีวิตช่วงหนึ่งของเราอีกด้วยนะ

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 17, 2552

ชะมวงกวางกับหม้อข้าวหม้อแกงลิง



เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มีโอกาสไปศึกษาต้นไม้ พรรณไม้ที่สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติแม้จะเป็นช่วงปลายฤดูหนาวใบไม้ร่วงแต่ที่ทุ่งค่ายยังมีเสน่ห์ของต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น เคี่ยม มังตาน ไม้เล็กเช่น ระกำ ลุมพี และชะมวงกวาง รวมไปถึง หม้อข้าวหม้อแกงลิง ซึ่งชอบพื้นที่ป่าพรุ จากต้นไม้ที่พบ แสดงว่าทุ่งค่ายเป็นพื้นที่ป่า 2 ประเภทคือ ป่าดิบ และป่าพรุอยู่ด้วยกัน เดินศึกษาธรรมชาติไปถึงบริเวณหอคอยเหล็กสูง ๆ เชื่อมต่อกันด้วยสริงมีทางเดินเป็นแผ่นเหล็ก ความสูงตั้งแต่ 10-30 เมตร เดินขึ้นไปศึกษาทีละชั้น สวยงามมากความรู้สึกเมื่อเราได้เดินอยู่บนยอดไม้มุมมองเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเป็นมุมมองที่ฝรั่งเรียก “Bird Eye View” จินตนาการและความคิดก็เปลี่ยนไปด้วย
เมื่อกลับออกมาบริเวณทางเข้าสวนพฤกษศาสตร์ได้พบผู้รู้ท่านหนึ่งชื่อ คุณมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ ท่านอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้ 2 ชนิด คือ ต้นชะมวงกวาง และต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ความว่า “ต้นชะมวงกวางเป็นไม้ลำต้นตรง ปลวกไม่กิน ชาวบ้านชอบตัดไปทำรั้ว ทำกรงไก่ กรงเป็ด ชะมวงกวางมันตายกับความดีของมันนั่นแหละ ผมพยายามศึกษาเพื่อขยายพันธุ์ กลับพบความสัมพันธ์ระหว่างชะมวงกวางกับต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง มีความสัมพันธ์อย่างมาก ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงอิงแอบชะมวงกวางและเจริญเติบโตได้ดีหากขาดชะมวงกวางหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะเฉาไม่เติบโต ผมกำลังศึกษาลึกๆ อีกต่อไปครับ”
สรุปว่า ยังมีคนดีดี... ที่ใส่ใจศึกษาถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกเรา เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปเปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นดำรงเผ่าพันธุ์เป็นเพื่อนร่วมโลกอยู่กับมนุษย์ตลอดไป

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 16, 2552

ฤๅกาเหว่าจะสูญพันธุ์

หากใครก็ตามถูกเรียกว่า “ผู้สูงอายุ” จะคุ้นเคยกับเพลงของนักร้องยุคเก่า ที่ชื่อ “ทูล ทองใจ” เนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า “เสียงดุเหว่าแว่วมาเหมือนเตือนให้สองเราผวาจากกัน ..”คนโบราณเรียกนกกาเหว่าว่า “ดุเหว่า” เป็นเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาได้เฝ้ามองพฤติกรรมของนกต่าง ๆ ในสวนซึ่งมีเนื้อที่กว่า 13 ไร่ เช่น นกเอี้ยงสาริกา นกกิ้งโครง นกกาเหว่า ว่าเขาอยู่และสัมพันธ์กันอย่างไร ประเด็นที่พบและน่าสนใจคือ ในหนึ่งปี มีลูกนกกาเหว่าเกิดในสวน 2 ชุด จำนวน 4 ตัว ชุดแรกเป็นตัวผู้ 1 ตัว (สีดำ) ตัวเมีย 1 ตัว (สีน้ำตาลดำ) และชุดที่ 2 ก็เหมือนชุดแรก พฤติกรรมของพ่อแม่กาเหว่าในฤดูผสมพันธุ์มีตัวผู้หลายตัวบินไล่ตามตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ ตัวเมียบินโฉบไปมา จากนั้นตัวเมียมักเกาะซุ่มซ่อนอยู่ตามต้นไม้ใกล้บริเวณ ที่นกเอี้ยงสาริกา หรือนกกิ้งโครงทำรังอยู่ พฤติกรรมต่อมาเห็นไม่ชัดเข้าใจว่าคงไปแอบไข่ในรังนกทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวมา ภาพปรากฏอีกระยะหนึ่ง คือนกกิ้งโครงเลี้ยงลูกกาเหว่าตัวโต สอนให้บิน โดยมีพ่อและแม่ที่แท้จริงของกาเหว่ามาอยู่ใกล้ ๆนกกิ้งโครงพยายามเลี้ยงลูกคิดว่าเป็นลูกตน สุดท้ายพ่อแม่กาเหว่าก็พาลูกกาเหว่าทั้งสองชุด จากไป ธรรมชาติสร้างความประหลาดความฉงน ให้มนุษย์เสมอมีคำถามมากมาย เกี่ยวกับกาเหว่า เช่น
· ทำไมแม่กาเหว่าไม่ฟักไข่เองอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย
· หากขาดนกอื่นฟักไข่ให้กาเหว่าจะสูญพันธุ์หรือไม่ หรือกาเหว่าจะปรับพฤติกรรมไปอย่างไร
· ในความเป็นจริงของธรรมชาติแล้วทุกอย่างจะเกาะเกี่ยวสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหรือไม่
ช่างมันเถอะฟังเพลงกล่อมลูกดีกว่านะ “เจ้ากาเหว่าเอย... ไข่ไว้ในรังให้แม่กาฟัก... แม่กาก็หลงรักคิดว่าลูกในอุทร... คาบเอาข้าวมาเผื่อคาบเอาเหยื่อมาป้อน...ถนอมไว้ในรังนอนป้อนเหยื่อให้ลูกกิน…..”

วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 06, 2552

ช้างเผือกในฝัน



นาฬิกาบอกเวลาตีสามสามสิบสามนาที เสียงกาเหว่าร้องดังมาแต่ไกล ตื่นมาพร้อมความฝันที่เป็นสุข...เป็นความฝันที่กลัวๆกล้าๆ เพราะฝันว่าได้มีโอกาสร่วมดูแลช้างเผือกของในหลวงช้างหนึ่ง ยังเป็นช้างเด็กมีความซุกซน ทำอะไรได้บ้างแต่ยังไม่เก่ง ขี้เล่น สนุกกับการทำกิจกรรมที่ผู้ดูแลให้ทำ ความที่เราเป็นคนกลัวช้างมาแต่เด็ก ในฝันก็เหมือนจริงคือกลัวๆกล้าๆ เมื่อตื่นขึ้นรู้สึกสนุกกับฝันดี... เพราะอยู่กับช้าง อยู่กับป่า อยู่กับน้ำตก ที่สวยงามด้วย
เช้าวันนี้ต้องเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์เดินทางไปราชการ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นวิทยากรให้ความรู้กับครู กศน.ของจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่อง เทคนิคการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน และร่วมทีมวิทยากรนักสืบสายน้ำให้ความรู้กับนักศึกษา กศน. อบต. ในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว….
เรื่องทั้งหมด ขอสรุปว่า คงคิดถึงงานมาก ความฝันและความจริงเกิดบูรณาการกัน ตัวเองจะต้องเดินทางเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน ซึ่งมีช้างจำนวนมาก.... เลยเก็บมาฝันเป็นเรื่องราวไปถึงช้างเผือกแน่ะ... อันที่จริงแล้ว “แม้ฝันก็ถือเป็นฝันแบบมีชั้นเชิง เพราะเป็นฝันที่มีจินตนาการใช่ไหม”

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 05, 2552

Designer


ดีไซน์เนอร์ (Designer) หากแปลเป็นภาษาไทย หมายถึง นักออกแบบ นักคิดค้น นักวางแผน หรือนักสร้างสรรค์ทำนองนั้น อาชีพทุกอาชีพจำเป็นต้องมี Designer จึงทำให้อาชีพนั้น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า อาชีพตัดผม ล้วนแล้วแต่มี Designer คอยสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ให้วงการเสมอ ๆ
อาชีพนักการศึกษาเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนักคิดค้น นักออกแบบ กิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งภาษาทางการศึกษาเรียกว่า “นวัตกรรมการเรียนรู้ ” เหตุด้วยโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงนั้น วงการศึกษาจึงต้องประยุกต์ บูรณาการปรับแต่งวิธีการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกลมกลืน ที่สำคัญการออกแบบต้องเข้าใจง่าย นำไปใช้ให้เกิดผลได้จริง เรียนรู้ได้จริงเป็นรูปธรรม ความยากง่ายให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายการเรียนรู้ก็จะเป็นธรรมชาติ ทุกคนมีความสุขกับการเรียนรู้นั้น
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนเป็นรูปแบบง่าย ๆ สอดคล้องกับบริบทชุมชน เช่น กิจกรรมนักสืบสายน้ำ เน้นการดูแลสายน้ำ (สายเลือด สายชีวิต) โดยการศึกษาจากตัวชี้วัดความสะอาดจากชีวมวลที่มีอยู่ในน้ำได้แก่ หนอนน้ำ หอยเจดีย์ เป็นต้น หรือกิจกรรมนักสืบชายหาดเน้นการดูแลชายหาดริมทะเลโดยดูจากซากสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏอยู่บนชายหาดในช่วงเวลาน้ำลงต่ำสุด เป็นต้น
การออกแบบการเรียนรู้หรือการเป็น Designer จึงจำเป็นที่ควรมีอยู่ในหัวใจนักการศึกษาทุกคน เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย