วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 27, 2551

กาสรกสิวิทย์โรงเรียนกระบือแห่งแรกของโลก


ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 33 ถนนสุวรรณศร ที่ผ่านจังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี เข้าสู่จังหวัดสระแก้ว ก่อนถึงตัวจังหวัดสระแก้วประมาณ 5 กิโลเมตร ขวามือเป็นที่ตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์โรงเรียนสอนกระบือแห่งแรกของโลก ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ณ ห้วงเวลานี้เป็นระยะเวลาเริ่มต้นการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงบริเวณสถานที่
จากการได้เข้าเยี่ยมชมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ดูเป็นคนเก่งมีความคล่องตัวสูงทำให้ทราบว่าโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนกระบือให้สามารถกลับมาไถนาได้อีกครั้ง ซึ่งเขาเคยทำหน้าที่นี้หลายร้อยปีมาแล้ว แต่คนทอดทิ้งกิจกรรมเช่นนั้นไปเสีย และอีกวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อสอนคนให้รู้จักพากระบือไปไถนาได้ เหตุเพราะผู้คนปัจจุบันลืมวิธีใช้กระบือไถนาไปแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบอกกล่าวอีกว่าในพื้นที่ของโรงเรียนกาสรกสิวิทย์แบ่งเป็นสามส่วน
ส่วนแรกเป็นส่วนการต้อนรับผู้มาเยือนทั้งการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูล ส่วนที่สองเป็นส่วนการสอนและการเรียนรู้ของกระบือและคน ส่วนที่สามเป็นส่วนแสดงองค์ความรู้ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ในเบื้องต้นได้กำหนดหลักสูตรคร่าว ๆ ไว้ 3 หลักสูตร หลักสูตรสอนกระบือให้ไถนา 3 วัน หลักสูตรสอนคนให้พากระบือไถนา 10 วัน และหลักสูตรที่สอนทั้งกระบือและ คนทำนา 15 วัน
ในเวลาอันใกล้นี้เราอาจได้เห็นวิถีไทยวิถีเกษตรอย่างยั่งยืน ที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันแลกเปลี่ยน การลงแขกลงแรงและรอยยิ้มหนึ่งเดียวในโลกอีกครั้งหนึ่ง

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 23, 2551

กะเหรี่ยงคอยาวที่แม่ฮองสอน



“กะเหรี่ยงคอยาว” เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่มีประเพณี วัฒนธรรมไม่เหมือนกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นกล่าวคือ วัฒนธรรมการนำปลอกทองเหลืองสวมไว้รอบคอและเพิ่มจำนวนขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุ บางคนสวมมากกว่า 25 ปลอก จึงทำให้คอดูยาวกว่าปกติ (คอยาวกว่าปกติจริงๆ) การสวมปลอกคอทองเหลืองนั้นนิยมทำเฉพาะผู้หญิงโดยเริ่มสวมตั้งแต่เด็ก เป็นความสมัครใจของผู้สวมเองที่จะรักษาวัฒนธรรมนี้ ไม่มีการบังคับ แต่เมื่อตัดสินใจสวมปลอกทองเหลืองแล้วต้องสวมไปตลอดชีวิต
จากการได้สัมภาษณ์พูดคุยกับกะหรี่ยงคอยาวที่หมู่บ้านห้วยปูแกง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้เข้าใจวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงคอยาวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แม้ว่าผู้หญิงที่สวมปลอกทองเหลืองจำนวนหลายปลอกก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีชีวิตคู่ มีครอบครัวและมีบุตรแต่อย่างใด ปลอกทองเหลืองที่สวมใส่นั้นกะเหรี่ยงคอยาวถือว่าเป็นเครื่องประดับ เขาจึงทำความสะอาดทุกวันให้สวยงาม จึงดูเหมือนว่าปลอกทองเหลืองสุกใสเหมือนทองคำแท้ กะเหรี่ยงคอยาวมีนิสัยรักสงบ เอื้ออารี ยิ้มแย้ม เป็นมิตร สุภาพ
แม้ว่าผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วโลกเพื่อเยี่ยมเยือนกะเหรี่ยงคอยาว อาจนำพาวัฒนธรรมต่างๆ มาเพื่อให้เขาได้พบได้เห็น แต่กะเหรี่ยงคอยาวยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ด้วยความเชื่อมั่นในตัวตนที่ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ปฏิเสธความเจริญ รู้จักใช้ Internet เพื่อการศึกษาสืบค้น ใช้ Solar Cells เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
สรุปว่า มนุษย์ทุกผู้คนที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ อาจเข้าใจดีว่าความเจริญสักเท่าใด สุดท้ายย่อมกลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม

วันเสาร์, พฤศจิกายน 22, 2551

ทุ่งดอกบัวตอง




“บัวตอง” เป็นภาษาเหนือ หมายถึง “บัวทอง” ดอกบัวตองหรือดอกทานตะวันป่า เป็นดอกไม้ที่ชอบขึ้นในบริเวณพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่สนสองใบ สนสามใบขึ้นอยู่ด้วย ฉะนั้นเมื่อเราพบเห็นทุ่งดอกบัวตองก็พบเห็นต้นสนเช่นกัน
เดือนพฤศจิกายนของทุกปีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปชมความงามของ ทุ่งบัวตองในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นความงามทางธรรมชาติ แม้ว่าการเดินทาง แสนหฤโหดต้องขับรถ เลี้ยวลดคดไปคดมาตามไหล่เขามากกว่า 1,800 โค้ง ไปถึงดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นดอยแห่งดอกบัวตอง เมื่อไปถึงได้พบเห็นดอกบัวตองบานสะพรั่ง สะพรึบ ซับซ้อนบนเขาหลาย ๆ ลูกสุดสายตา ความงามที่พบเห็น ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยหายไปโดยสิ้น ธรรมชาติได้มอบของขวัญล้ำค่าให้มวลมนุษย์อาจเป็นขุนเขาที่ห่างไกล หรือแม้แต่ในใต้ทะเลลึก แต่ธรรมชาติไม่ได้บอกว่ารักษาสมบัติล้ำค่านั้นอย่างไร มนุษย์ต้องเรียนรู้การดูแลรักษาหากมนุษย์ไม่ใส่ใจ ธรรมชาติเพียงแต่ขอของขวัญล้ำค่านั้นกลับคืน
เรามาช่วยกันรักษาทุ่งดอกบัวตอง ให้คงความสวยงามไว้ตลอดไปเพื่อคนรุ่งหลังที่ยังไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสได้มาชื่นชมในวันข้างหน้านะ

วันจันทร์, พฤศจิกายน 03, 2551

กองเกลือนาเกลือที่สมุทรสาคร


ใกล้ฤดูหนาวปีนี้ ได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาครนับว่าเป็นโชคจริง ๆ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน คณะอาจารย์ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสมุทรสาคร ให้ความกรุณาพาไปศึกษาเรื่องราวการทำนาเกลือจากคุณตาทองเจือ แสงจันทร์ ท่านอายุ 78 ปี แล้ว อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 3 ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ในการพูดคุยสนทนา สัมภาษณ์การทำนาเกลือจากท่าน คาดหวังว่าจะได้รายละเอียดเพื่อให้เข้าใจวิธีการทำนาเกลืออย่างแท้จริง แต่ผลการสัมภาษณ์กับพบว่า การทำนาเกลือนั้น เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ (เคมี) เป็นทั้งศิลปะ เป็นทั้งคุณธรรม เป็นทั้งความสามัคคี มีคำพูดที่เฉียบคมของคุณตามากมายที่อยากบอกเล่าให้เรารู้ ตัวอย่างเช่น
“ทำนาเกลือนี้พื้นที่ 40 ไร่ ทำคนเดียวได้ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องจ้างคนงาน”
“การทำนาเกลือไม่มีหลักสูตรอะไรที่ตายตัว ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในการเดินน้ำ”
“ทำนาเกลืออย่างไรก็อยู่ได้ ถ้าไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย”
“ทำนาเกลือใช้พื้นที่มาก พี่น้องที่มีที่ดินร่วมกันต้องสามัคคีกัน ทำร่วมกัน”
ถ้าอยากรู้จริงต้องมาเรียนรู้กับตา ปีนี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงเดือน มกราคม แล้วจะเห็นขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงเม็ดเกลือ
สงสัยว่าต้องมาฝังตัวอยู่กับคุณตาทองเจือ แสงจันทร์ซัก 2-3 เดือนซะแล้วจะได้ รู้จริงเสียทีว่า “ความเค็มของเกลือนั้นได้มาอย่างไร”

ดูเหยี่ยวอพยพที่ชุมพร


ช่วงเวลาเดือนตุลาคม ของทุกปี มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติวิทยาอย่างหนึ่งคือคาราวานเหยี่ยวและนกอินทรีอพยพ ปรากฏโฉมให้เห็นบนท้องฟ้าตามเส้นทางจากทิศเหนือไปทิศใต้ โดยผ่านแนวด้ามขวานของประเทศไทยนับหมื่นนับแสนตัวตลอดทั้งเดือน
จุดบริเวณที่นักดูเหยี่ยวอพยพ ยึดเป็นแหล่งมารวมกัน เพื่อเฝ้าดูจุดหนึ่งคือลานดูเหยี่ยวอพยพริมทุ่งนา บ้านอู่ตะเภา ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร วันนั้น (30 ตุลาคม) เวลาประมาณแปดนาฬิกาสามสิบนาที ที่ลานดูเหยี่ยวไม่มีนักดูเหยี่ยวมีเพียงเก้าอี้ประมาณ 20 ตัว อยู่ในเต็นท์ที่ว่างเปล่า เนื่องจากเทศกาลดูเหยี่ยวผ่านพ้นไปแล้ว เราดึงเก้าอี้มานั่งพิงเสาเต็นท์มองขึ้นไปบนท้องฟ้าเห็นจุดดำแต่ไกล ๆ ฝูงเหยี่ยวนับร้อย ๆ เริ่มบินใกล้เข้ามา กล้อง Binoculars Olympus EXWP1 8 x 42 มองเห็นได้ชัดเจน แม้ว่าสิ้นเดือนตุลาคมแล้วฝูงเหยี่ยวยังอพยพอยู่ คิดว่าเขาคงหนีหนาวมาจากไซบีเรีย และไปหากินแถบบริเวณเกาะต่างๆในอินโดนีเซียกระมัง
หัวใจเต้นแรงเมื่อปรากฏเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลงต่ำบินวนมองเห็นชัดในกล้องส่องทางไกลเต็มตัว สวยงามมากหางกางแผ่ออกปลายปีกคลี่กระจาย เจ้าเหยี่ยวที่แสนสวยตัวนี้ ชื่อ “เหยี่ยวทะเลทราย” บางครั้งชีวิตเราก็มีเรื่องอะไรดีดี ผ่านเข้ามาได้เหมือนกันนะ