วันศุกร์, เมษายน 24, 2552

ต้นหมากเม่าหรือจะสู้ยูคาได้











สมัยที่เป็นเด็กเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาอยู่ชนบทในภาคเหนือ ถึงเดือนพฤศจิกายน มีกิจกรรมลูกเสือเดินทางไกลเข้าค่ายพักแรม พวกเราเด็ก ๆ จะชอบมาก เพราะการเดินทางไกลต้องเดินผ่านป่าแพะ (ป่าเบญจพรรณ) ลูกเสือตัวเล็กจะแวะข้างทางเก็บลูกไม้ชนิดหนึ่งเม็ดเล็ก ๆ สีแดง ๆ ม่วง ๆ รสเปรี้ยวอมฝาดกินด้วยความอร่อย ลูกไม้ในดวงใจของพวกเรานั่นก็คือ “หมากเม่า” หรือ “มะเม่า” นั่นเอง
“หมากเม่า” ต้นไม้ป่าที่มีอยู่คู่ประเทศไทยเกือบทุกภาคเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นเบอร์รี่ ไม้ยืนต้นอายุยืนชนิดนี้ต้นโต ๆ อาจมีขนาดถึงสี่คนโอบ เมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 5-10 เมตร เริ่มออกดอกผลเมื่ออายุได้ 1-2 ปี ออกดอกคล้าย ๆ ยอดกะเพราแต่ละช่อดอกยาวประมาณ 1-2 นิ้ว เมื่อติดผล ผลจะแน่นติดกันเป็นสีเขียว และทยอยสุก จากสีแดง ๆ ไปถึงสีม่วงเข้ม หมากเม่าเป็น 7-ELEVEN ของนกในธรรมชาติ นกกินผลไม้เช่น นกปรอด รวมถึงกระรอก กระแต กินหมากเม่า หมากเม่านับว่ามีคุณค่าต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
วันนี้มีโอกาสลงพื้นที่ อำเภอวัฒนานคร เจ้าหน้าที่ห้องสมุดประชาชนอำเภอ นำเดินผ่านป่ายูคา ป่าเศรษฐกิจ ป่าต้นกระดาษของบริษัททำกระดาษชื่อดังเขาแหละ ไปหัวไร่ปลายนาซึ่งเป็นสระน้ำเก่าแก่ที่พ่อแม่เขามอบไว้เป็นมรดกพร้อมที่ดิน
ป่าหัวไร่ปลายนาพื้นที่นิดเดียวเต็มไปด้วยพืชพันธุ์นับร้อยชนิด เช่น หมากเม่า พะยูง ไข่เน่า กะบก และที่ไม่รู้จักอีกมาก เขาพาไปดูต้นหมากเม่าและยกให้ 5-10 ต้นให้ขุดเอาเอง ขนาดสูงประมาณหนึ่งฟุตเพื่อนำไปปลูกไว้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ไว้เป็นแหล่งอาหารของนกในอนาคตชดเชยต้นไม้ในธรรมชาติที่นับวันจะหายไปจากพื้นที่บริเวณนี้แล้ว
มาถึงบัดนี้มุมมองเกี่ยวกับต้นหมากเม่าที่เรามองเป็นมุมมองเล็ก ๆ ไม่น่าสนใจในสายตาของคนที่มองตนเองว่า เพื่อความอยู่รอด เพื่อความรุ่มรวยของเขา ลูกหลานจะเป็นอย่างไรก็ช่าง....มุมมองเช่นนั้น “ต้นหมากเม่าหรือจะสู้ยูคาได้”

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดิฉันคิดว่าถ้าคนเรามีแต่คำนึงถึงความอยู่รอดของตนเอง แล้วนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามา นำต้นไม้สมัยใหม่เข้ามาปลูก ทำให้ดินเสื่อมสภาพ และทำให้ต้นไม้ที่เคยมีตั้งแต่สมัยก่อนๆหดหายไป ซึ่งทำให้เด็กรุ่นหลังหาดุต้นไม้สมัยก่อนได้ยาก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดิฉันคิดว่าถ้าคนเรามีแต่คำนึงถึงความอยู่รอดของตนเอง แล้วนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามา นำต้นไม้สมัยใหม่เข้ามาปลูก ทำให้ดินเสื่อมสภาพ และทำให้ต้นไม้ที่เคยมีตั้งแต่สมัยก่อนๆหดหายไป ซึ่งทำให้เด็กรุ่นหลังหาดุต้นไม้สมัยก่อนได้ยาก