วันจันทร์, พฤษภาคม 31, 2553

งูปากจิ้งจกสีเทา(สีขาว)ที่ปางสีดา








เมื่อคืนนี้ฝนตกที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา รุ่งเช้าผีเสื้อมากมายบินอยู่บนยอดต้นไม้ที่มีดอก มีเกสร มองไปเป็นสีส้มอิฐตัดกับสีเขียวของใบไม้ ผีเสื้อชนิดนั้นคือผีเสื้อสีอิฐธรรมดา พรุ่งนี้จะเป็นวันเปิดงานเทศกาลดูผีเสื้อ ทุกอย่างพร้อมแล้ว สถานที่ถูกเตรียมไว้อย่างดี ผีเสื้อก็มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะที่เดินไปตามถนนลูกรัง มองเห็นงูชนิดหนึ่งเลื้อยช้ามาก ๆ ส่ายหัวไปมาเบาๆอยู่บนถนน ลักษณะคล้ายงูเขียวปากจิ้งจก แต่ทำไมตัวถึงเป็นสีขาวตลอด หรือเป็นช่วงเวลาที่งูลอกคราบ จึงบันทึกภาพไว้ เมื่อเดินกลับมาถึงที่ทำการของอุทยานนำภาพมาให้เจ้าหน้าที่สื่อความหมายดู เขาบอกว่า งูชนิดนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ง่วงกลางดง” น่าจะเป็นงูที่มีพิษอ่อน
กลับมาทีทำงานสืบค้นอย่างละเอียด งูสีขาวที่แสนสวยตัวนี้มีชื่อว่า งูปากจิ้งจกสีเทา เป็นงูไม่มีพิษ ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ บุคคลที่มีการเรียนรู้อยู่เสมอๆ ถือว่าเป็นบุคคลผู้ไม่ประมาทในชีวิต

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 27, 2553

แร่ทองคำนั้นสำคัญไฉน










บริเวณพื้นที่ราบ ใกล้เชิงเขาสามสิบที่ทอดตัวตามแนวทิศตะวันออก ตะวันตก พื้นที่ประมาณ 40-50 ไร่ พบร่องรอยขุดเป็นหลุมเต็มไปทั่วบริเวณ มีผู้คน ประมาณ 40-50 คน กระจายอยู่ตามหลุมที่จับจอง บ้างลงไปอยู่ในหลุมลึกประมาณ 2 เมตร นำเศษ กรวด หิน ดิน ทราย ที่ผู้ขุดเชื่อว่าเป็นชั้นแร่ส่งขึ้นบนปากหลุม คนอยู่ปากหลุมนำไปเทลงในอ่างไม้ ให้เพื่อนใช้น้ำฉีดล้างเพื่อหาทองคำ ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนฉีดน้ำ ถามเขาว่า “มาจากไหนกันครับ” คนล้างแร่บอกว่า อยู่ที่วัฒนานคร สระแก้ว นี้แหละ ถามว่า “พบทองคำบ้างหรือยัง” คนล้างบอกยังเลยตอนนี้ทดลองล้างชั้นแร่ชั้นนี้ดูก่อน ถ้าจะเจอทองคำคงต้องขุดลึกลงไปอีกประมาณหนึ่งเมตร ทองคำที่ได้มีรูปร่างต่างๆ กัน เช่น บางครั้งเป็นเม็ด บางครั้งเป็นเส้นคล้ายเส้นผม บางครั้งเป็นแผ่น ขนาดน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งกรัม ห้ากรัม สิบกรัม ไม่แน่นอน
จากการศึกษาการเกิดแหล่งแร่ทองคำ เกิดได้จาก 2 แหล่ง คือการเกิดจากสายแร่หรือทางแร่ทองคำซึ่งเกิดรวมกับหินอัคนี เช่น แร่ควอตซ์กับแร่ไพไรด์ อีกแหล่งหนึ่งเกิดจากแหล่งแร่บนลานแร่ ซึ่งมีธารน้ำไหลผ่าน จึงมักพบทองคำปะปนกับ กรวด หิน ดิน ทราย แหล่งแร่ทองคำแหล่งนี้จึงเคยเป็นท้องน้ำมาก่อน แหล่งแร่ทองคำที่ขุดบริเวณ บ้านบ่อนางชิง ตำบลห้วยโจด อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ใกล้เชิงเขาสามสิบ น่าเป็นแหล่งแร่บนลานแร่ซึ่งมีธารน้ำไหลผ่าน ชนิดแหล่งแร่ทองคำแหล่งที่สอง

วันพุธ, พฤษภาคม 26, 2553

ล่องแพแม่น้ำพะโต๊ะชุมพร





อำเภอพะโต๊ะอยู่ห่างจากจังหวัดชุมพร ตามเส้นทางลัดเลาะผ่านไหล่เขาที่สองข้างทางเต็มไปด้วย สวนปาล์ม สวนหมาก สวนยางพารา สวนทุเรียน สวนลองกอง มุ่งไปทางจังหวัดระนอง ระยะทาง 120 กิโลเมตร อำเภอพะโต๊ะมีอะไรเป็นแรงจูงใจให้มาล่ะ แน่นอนพะโต๊ะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ถูกแกะรอยเพื่อมาศึกษาสองเรื่อง คือ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ และเรื่องธนาคารต้นไม้
ถามว่าได้อะไรจากการดูงานแหล่งเรียนรู้ทั้งสองแห่งนี้บ้าง ตอบได้เลยว่าได้รับรู้ถึงความพยายามของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มุ่งมั่น ในการรักษาป่าต้นน้ำพะโต๊ะ ด้วยยุทธศาสตร์อัจฉริยะที่เรียกว่า “คนอยู่ป่ายัง” ใช้คนรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วมประสบผลสำเร็จอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนและความพยายามที่จะตีค่าต้นไม้ให้เป็นทรัพย์สินบันทึกอยู่ในสมุดบัญชีธนาคาร แม้อยู่ในระยะต่อสู้แต่ก็เป็นการเริ่มต้นอย่างยอดเยี่ยมที่จะเรียกป่ากลับคืนสู่โลกใบนี้ แนวคิดธนาคารต้นไม้มีข้อตกลงร่วมกันว่าไม่ยอมตีค่าต้นไม้ 4 ชนิดได้แก่ ต้นยูคาลิปตัสเพราะทำลายสิ่งแวดล้อม ไม้กฤษณาเพราะเนื้อไม้ถูกเจาะกระตุ้นสารหอม ตะกูยักษ์เป็นไม้นายทุนผลประโยชน์ ยางพาราเป็นไม้เศรษฐกิจอยู่แล้ว
หลังจากศึกษาดูงาน ขอเบิกบานกับการล่องแพไปตามแม่น้ำพะโต๊ะ ชมต้นมะเดื่อ ต้นไผ่ริมฝั่ง ทั้งถ่อ ทั้งพาย คัดท้ายเรือยางไปตามเกาะแก่ง ให้เบิกบานในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต

ชาวญิ่ปุ่นกับผีเสื้อแสนสวยที่ปางสีดา


คุณ MANABE และคุณ KAZUMI เป็นอาสาสมัครอาวุโสจากญี่ปุ่น ที่เรียกว่าอาวุโส คือ เกษียณอายุราชการแล้ว (อายุเกิน 60 ปี) มาช่วยงานด้านวิทยาศาสตร์อยู่ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้วเป็นเวลาแปดเดือนแล้ว ทั้งสองท่านเป็นคนกระตือรือร้น ช่วยงานวิทยาศาสตร์อย่างดียิ่ง ไม่เคยปล่อยเวลาว่างให้เสียไป วันหยุดอาสาสมัครทั้งสองมักเดินทางไปศึกษาผีเสื้อ ถ่ายภาพผีเสื้อ ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดาเสมอ เมื่อถ่ายภาพจัดเป็น album เขียนชื่อเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษไว้ทุกตัวนำมาให้ดูทุกครั้ง คุณ KAZUMI เป็นคุณยายที่ละเอียดอ่อนมากและจิตใจงาม ชอบสอนเด็ก ๆ พับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ เช่น เป็นหมวก เป็นนก เป็นดาว เป็นที่คั้นหนังสือ พับอย่างประณีตสวยงาม ส่วนคุณ MANABE สิ่งที่ทำเสมอคือการวิ่ง คุณ MANABE เป็นนักวิ่งมาราธอนระยะ 42.195 กิโลเมตร ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 คุณ MANABE จะเข้าร่วมแข่งขันวิ่งมินิมาราธอนที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ในวันเปิดเทศกาล “เมืองผีเสื้อของผืนป่าตะวันออก” จังหวัดสระแก้ว
บันทึกไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำที่มีต่อเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ NORIAKI และ KAZUMI MANABE

วันอังคาร, พฤษภาคม 25, 2553

ต้นสะตอป่าที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา








คนไทยหรือคนในแถบเอเชีย เช่น จีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า บริโภค ผักและผลไม้เป็นอาหารส่วนใหญ่ จึงมีรูปร่างกะทัดรัด ไม่อ้วน ระบบขับถ่ายดีเพราะเส้นใยของผักเป็นกากอาหาร ในบรรดาผักทั้งหลาย มีผักชนิดหนึ่ง เป็นฝัก คนไทยในภาคใต้กินเป็นผักดิบและนำไปประกอบอาหารอีกหลายชนิด ผักชนิดนั้นคือ “สะตอ” สะตอมีทั้งสะตอบ้านและสะตอป่า
สะตอป่ามีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ลูกดิ่ง ค้อนกลอง มะขามเฒ่า อีเฒ่า สะตอป่าเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ บางต้นขนาดสามคนโอบ สูง 30-40 เมตร สะตอป่ามีใบคล้ายใบมะขาม ฝักบิดเป็นเกลียว ส่วนที่นำมาเป็นอาหารคือเมล็ดที่อยู่ในฝัก ใกล้ ๆ บ้านพักของอุทยานแห่งชาติปางสีดามีต้นสะตอป่าขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ใกล้แผ่นหินทำให้สะตอป่าแผ่รากส่วนโคนเป็น “ พูพอน “ เพื่อยึดเกาะ พื้นดินส่วนล่างคงเป็นหินทำให้หยั่งรากแก้วลงไปได้ไม่ลึก คะเนดูขนาดความสูงอาจถึง 30 เมตร ฝักสะตอป่าต้นนี้หมดโอกาสนำมาเป็นอาหารเพราะต้นขนาดใหญ่และอยู่สูงเกินไป ที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีกฎหมายอุทยานแห่งชาติคุ้มครอง
มองขึ้นไปบนยอดต้นสะตอป่าเห็นฝักโรยตัวเป็นเกลียว ต้นเดือนพฤษภาคมยังมีฝักอยู่เลย อ้างอิง http://chumphon.most.go.th

รังนกพญาปากกว้างอกสีเงิน




ตอนสายวันเสาร์ที่แปดเดือนพฤษภาคม ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา คึกคักไปด้วยคณะเตรียมงาน ด้วยในวันที่ 29 พฤษภาคมที่จะถึง จังหวัดสระแก้วจะจัดงานวัน “เมืองผีเสื้อของผืนป่าตะวันออก” ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดาแห่งนี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับหัวหน้าอุทยานฯ คนปัจจุบันคือ คุณชาตรี ผดุงพงษ์ ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวสระแก้ว ท่านกล่าวถึงผีเสื้อไว้อย่างน่าฟังว่า “วงจรชีวิตของผีเสื้อที่อุทยานแห่งนี้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ด้วยความสัมพันธ์และความเกี่ยวโยงกัน เช่น ชนิดของต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหาร ความชื้นของอากาศ ปริมาณฝนตก การจะบอกว่าปีนี้จะพบเห็นผีเสื้อน้อยหรือมากก็กำหนดไม่ได้ ที่เดียว หากทุกคนเข้าใจธรรมชาติ ก็จะชื่นชมความงามของผีเสื้ออย่างมีความสุขได้ แม้พบเห็นผีเสื้อเพียงเล็กน้อยก็ตาม” หลังจากพูดคุยกับคุณชาตรีแล้ว ถึงเวลานัดหมายกับ คุณแก้ว คอนคำ นักสื่อความหมายของอุทยานคนสำคัญที่นัดกันไว้ แก้วชวนว่า “อาจารย์ครับ ผมจะพาไปดูนกพญาปากกว้างอกสีเงินทำรังอยู่ริมน้ำ ทำรังไม่ค่อยสวยหรอก ทำสูงจากพื้นดินสักหนึ่งเมตรครึ่ง รังของเขา ทำทางเข้าออกด้วยนะ ” เมื่อไปถึงรังสังเกตโดยรอบห่างจากรังไปประมาณสิบเมตร นกพญาปากกว้างอกสีเงินเกาะอยู่คาคบสูงขึ้นไปประมาณห้าเมตร เฝ้ามองเราอยู่ ขนาดโตกว่านกกระจอกนิดหน่อย นกพญาปากกว้างอกสีเงินทำรังบนต้นไม้ขนาดเล็กอยู่ริมน้ำ คงป้องกันสัตว์อื่นรบกวน เช่น งู กระรอก กระแต นอกจากพาไปดูรังเจ้านกพญาปากกว้างอกสีเงินแล้ว แก้วยังพาไปดูรังนกจับแมลงจุกดำ ทำรังอยู่ริมทางใกล้คน ทำรังน่ารักและสวยงามมากด้วย
สรุปว่า นกน้อยทำรังแต่พอตัว ความสวยงามของรังตามนิสัยนก ความปลอดภัยมาอันดับแรก

วันจันทร์, พฤษภาคม 24, 2553

ชีวิตหนึ่งมีค่ากว่าใดใด

หากชีวิตเป็นของเรา ชีวิตช่างมีค่าเหนือกว่าสิ่งใดใด จะกินก็คำนึงถึงสุขภาพ อาหารที่กินต้องมีคุณค่า มีประโยชน์ ซื้อหามาด้วยทรัพย์เท่าใดก็ไม่ว่า ที่อยู่ที่อาศัยต้องอยู่ในภูมิประเทศอันดี อยู่สุขสบายปลอดภัยใช้ทรัพย์มากมายพียงใดก็ยอมแลก เจ็บไข้ได้ป่วยต้องไปหาหมอที่เก่ง โรงพยาบาลชั้นดีแม้ต้องจ่ายค่าบริการสูงเพียงใดก็ไม่ปฏิเสธ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต้องมียี่ห้อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวระบายอากาศได้ดีในฤดูร้อนสวมใส่สบาย เพราะชีวิตเป็นของเราเราต้องดูแล ชีวิตเรามีค่ากว่าสิ่งอื่นใด ทำเพื่อชีวิตตนเองทำได้ทั้งนั้น
ชีวิตคนอื่นละ ไม่เป็นไร ตายบ้างไม่เท่าไร ชีวิตเขาไม่ค่อยมีคุณค่าซักเท่าใด การศึกษาก็มีน้อยด้อยความรู้ คุณภาพชีวิตไม่ต้องคำนึงถึงหรอกหาเช้ากินค่ำอยู่แล้ว หาได้ก็กิน หาไม่ได้ก็อด ตายบ้างก็ยังเหลืออีกหลายล้านคน พวกนี้น่าตายไปให้หมด ทำเศรษฐกิจของชาติพัง ชาติสูญเสียรายได้ไปมากมาย ชีวิตพวกนี้เปรียบเทียบกับการสูญเสียตึกอาคาร ห้าง ร้านค้า ความเสียหายของชาติเทียบไม่ได้เลย..นี่แหละสำนึกมนุษย์ที่ลืมรากเง้า
อย่าลืมว่าทุกชีวิตต่างเกาะเกี่ยวผูกพันกัน หากชีวิตหนึ่งอยู่ไม่ได้ อย่าหวังว่าชีวิตของตนที่มีค่าจะอยู่ได้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สำนึกของผู้บ้าอำนาจแสวงหาผลประโยชน์ ลาภยศ สรรเสริญ เป็นสำนึกของการทำร้ายตนเองและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ร่วมโลก...... แม้แต่เดรัจฉานยังรักชีวิต .......มนุษย์ผู้ไม่รักชีวิตเพื่อนมนุษย์ยิ่งกว่าเดรัจฉาน

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 13, 2553

รังนกแอ่นตาลที่จังหวัดตราด





คำสอนของพระพุทธศาสนา ในเรื่องการดำเนินชีวิตที่เป็นมงคลชีวิตซึ่งมีทั้งสิ้น 38 มงคลนั้น มงคลที่ 4 พูดถึงการอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการเลือกอยู่ในถิ่นที่สิ่งแวดล้อมดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตน มีเรื่องราวในธรรมชาติเรื่องหนึ่งที่พบเห็นและสามารถนำมาอธิบายประกอบเรื่องการเลือกถิ่นที่ไม่เหมาะสมของนกแอ่นตาลคู่หนึ่ง ซึ่งส่งผลและเป็นภัยต่อนกแอ่นตาลคู่นี้
บริเวณชายหาดราชการุณย์ริมทะเลของจังหวัดตราด มีต้นมะพร้าวสูงประมาณ 3-4 เมตร ปลูกไว้เป็นแนวตลอด ใต้ทางมะพร้าวพบเห็นรังนกแอ่นตาลแปะติดอยู่รังหนึ่ง ที่กล่าวว่าแปะติดเนื่องจากนกแอ่นตาลสร้างรังโดยใช้เศษขนนกและน้ำลายของนกเป็นเหมือนกาวประสานให้รังติดแนบกันกับใบใต้ทางมะพร้าว รังของนกแอ่นตาลคู่นี้แปลกมาก ขณะที่พบนั้นไข่ของนกลอยอยู่เหนือรังขึ้นไป ตอนแรกเข้าใจว่านกแอ่นตาลใช้น้ำลายติดไข่ไว้เหนือรัง แต่เมื่อใช้กล้องส่องทางไกล (Binoculars) ตรวจสอบแล้ว ความจริงคือไข่ของนกแอ่นตาลขนาดเล็กยาวประมาณหนึ่งเซนติเมตร กำลังลอยเคลื่อนที่ขึ้นโดยถูกมดแดงจำนวนหนึ่งช่วยกันเคลื่อนย้ายห่างจากรังไปเรื่อย ๆ โดยมีนกแอ่นตาลคู่หนึ่งบินโฉบไปโฉบมาใกล้บริเวณรัง สุดท้ายก็บินจากไป เวลาผ่านไปหนึ่งคืนไข่นกแอ่นตาลเคลื่อนออกจากรังไปไกลประมาณหนึ่งฟุตโดยความร่วมแรงของมดแดงกลุ่มนั้น
สิ่งที่พบเห็นเป็นเรื่องราวทางธรรมชาติ เป็นความจริงที่สมดุล มดแดงทำหน้าที่หาอาหาร นกแอ่นตาลก็ทำหน้าที่ขยายเผ่าพันธุ์ แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นคือนกแอ่นตาลทำรังโดยไม่ได้พิจารณาให้ดีก่อนว่าบริเวณที่ทำรังเหมาะสมหรือไม่ มีภัยอย่างไร หากเลือกแหล่งที่อยู่ที่เหมาะสม นกแอ่นตาลคงไม่สูญเสียไข่ของตนเหมือนเหตุการณ์ครั้งนี้ นี่แหละความเป็นมงคลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเมตตาเทศน์โปรดสัตว์ทั้งหลายไว้กว่า 2550 ปีมาแล้ว