วันอังคาร, พฤษภาคม 26, 2552

วันแห่งความสุข

ผมภูมิใจในตัวคุณจริงๆ คุณทำงานแบบมืออาชีพ...คุณทำงานเป็นทีมได้ดี คุณรู้ว่าต้องทำอะไรโดยไม่ต้องรอคำสั่ง.....คุณมีความรักความเอื้ออาทรต่อกัน รากเหง้าแห่งกัลยาณมิตรฝังลึกลงในใจคุณแล้ว...ผมมีความสุขมาก ๆ ที่ได้เห็นภาพเช่นนี้...ผมเชื่อว่าคุณก็คงเหมือนผมเช่นกัน..
ปัญญา วารปรีดี
26 พฤษภาคม 2552

ผลการสืบค้นที่มาของขวานหินโบราณ



ประมาณกลางปี พ.ศ.2544 นายทรงวุฒิ สุธาอรรถ (เสียชีวิตแล้ว) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว คนแรก นำทีมนักวิชาการศึกษา เจ้าหน้าที่พนักงาน ออกไปเก็บตัวอย่างประเภทของหินในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อนำมาจัดทำฐานการเรียนรู้เรื่อง “หิน” ณ ฐานนิทรรศการกลางแจ้งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ขณะที่ค้นหาหินบริเวณเชิงเขาตาง๊อก อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว นายเทวัญ เทียมเขา เจ้าหน้าที่ยามซึ่งไปด้วย ได้พบหินก้อนหนึ่ง(ขวานหินโบราณ)โผล่พ้นพื้นดินบริเวณพื้นที่ไร่ใกล้เชิงเขาตาง๊อก จึงหยิบมาด้วยเพราะดูแปลกดีมีลักษณะคล้ายเสียม นายเทวัญ เทียมเขาได้นำมาวางไว้บริเวณสวนหินหน้าเสาธงศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา เมื่อมีนักศึกษา นักเรียน ประชาชนมาเรียนรู้เรื่องหินก็มักหยิบไปดูและนำเคลื่อนย้ายไปไว้ในกลุ่มหินต่าง ๆ เสมอ ๆ จนกระทั่งวันแรม 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคม 2552นายปัญญา วารปรีดี ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว คนที่เจ็ด ได้สังเกตพบว่าหินก้อนดังกล่าวเป็นขวานหินโบราณ มีรอยบิ่นถูกใช้งานซึ่งน่าสืบค้นอย่างยิ่ง
ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 นายปัญญา วารปรีดี จึงนำคณะประกอบด้วย อาจารย์อาภรณ์ เลิศกิจคุณานนท์ อาจารย์ภัฑรกิจ ไชยถา นายเทวัญ เทียมเขา และนายประไพ เขียวชอุ่ม กลับไปบริเวณที่เคยพบขวานหินโบราณอีกครั้ง สำรวจและถ่ายภาพ สถานที่สำคัญแหล่งที่พบขวานหินโบราณไว้ เพื่อการสืบค้นในโอกาสต่อไป Coming soon ……..

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 24, 2552

บัวหลวงบานแล้ว


บัวหลวงดอกนี้บานอยู่ในบึง....บันทึกภาพเก็บไว้เกรงว่าจะล่วงโรยตามกาลเวลา....ผ่านสระน้ำเดินเข้าไปใกล้เถาย่านางแดง...ถิ่นของนกกินปลี...นกกินปลี สองสามตัวบินมาทักทายเสียงเซ็งแซ่....เป็นภาพแห่งความสุข..สั้นๆ..ของวันหยุดวันหนึ่ง นกกินปลีกับบัวหลวงเป็นเรื่องราวธรรมชาติที่เกี่ยวโยงกัน...เกี่ยวไหมเอ่ย

วันเสาร์, พฤษภาคม 23, 2552

ขวานหินโบราณ




เช้าวันเสาร์ที่ ยี่สิบสามพฤษภาคม เป็นวันมหัศจรรย์ ขณะที่เดินเล่นบริเวณฐานการเรียนรู้ “ ฐานหิน” หน้าเสาธงของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว ณ ตำแหน่งที่จัดแสดงหินฟอสซิล(หินที่มีซากพืชซากสัตว์อยู่ในเนื้อหิน) เห็นหินก้อนหนึ่งกว้างขนาดฝ่ามือ ยาวประมาณหนึ่งคืบวางอยู่ ซึ่งมีขนาดเล็กแตกต่างจากก้อนอื่นที่ใหญ่กว่ามาก จึงหยิบมาดูโดยละเอียด

หลังจากสังเกตกว่า 30 นาที รู้สึกตื่นเต้น เพราะหินก้อนนี้มีลักษณะคล้ายขวาน แต่เป็นขวานหิน มีเหลี่ยมที่เป็นคมทั้งสองข้าง และโคนหินมีรอยคอดเหมือนคอขวาน ส่วนที่เป็นคมมีรอยบิ่นถูกใช้งานอย่างชัดเจน จึงถ่ายภาพไว้และบันทึกสิ่งที่พบลงใน http://padupacamp.blogspot.com

ถามว่า หินก้อนนี้ใช่ขวานหินโบราณหรือไม่ หินก้อนนี้มาจากไหน มาได้อย่างไร ใครนำมาวางไว้ มาว่างไว้ด้วยจุดประสงค์ใด หากเป็นขวานหินโบราณจริง............. ก็นับว่าควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ข้อมูลเพิ่มเติมนักโบราณคดีกรมศิลปากรปราจีนบุรีระบุเป็นหินงอกหินย้อยที่หักลงมากระทบพื้นถ้ำเป็นรอย ส่วนด้านข้างที่มีคมเกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเล

ไก่ป่าตุ้มหูขาว


บริเวณป่าตะวันออก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เรามักพบเห็นไก่ป่าตุ้มหูขาวเสมอ ๆ ลักษณะเด่นเฉพาะของเขา คือ หนังบริเวณหูมีสีขาวนั้นเอง

ไก่ป่าโดยทั่วไปที่พบ มีความแตกต่างกันอยู่สามกลุ่ม กลุ่มแรก คือไก่ป่าตุ้มหูขาว กลุ่มที่สอง เป็นไก่ป่าตุ้ม
หูแดง กลุ่มที่สามเป็นไก่ป่าที่มีหนังบริเวณหูเป็นสีขาวแกมชมพู คงไม่แปลกใจที่ กลุ่มที่สามต้องเป็นลูกผสมระหว่างสองกลุ่มแรกแน่ ซึ่งมักพบระหว่างรอยต่อการกระจายของชนิดตุ้มหูขาวและตุ้มหูแดง ไก่ป่าในภาพที่เห็นถ่ายได้ในบริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว

นกเขาเขียว



ใครที่เคยไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือ อุทยานแห่งชาติปางสีดา คงได้เคยพบนกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายนกเขาทั่วไป แต่ตัวออกสีเขียว บินผ่านหน้ารถยนต์ที่เราขับไป หรือไม่ก็บินนำไปด้านหน้าเมื่อเราขับรถอยู่ในบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมักตัดสินไม่ได้ว่านกที่เห็นเป็นนกเขาเขียว หรือ นกเขาเปล้าธรรมดา กันแน่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไปดูผีเสื้อที่อุทยานแห่งชาติปางสีดามีโอกาสพบนกที่พูดถึงนี้แหละ อยู่บริเวณริมถนนหากินอยู่โดยไม่ตื่นกลัว จึงได้สังเกตอยู่นานพร้อมบันทึกภาพด้วยกล้อง Digital ธรรมดาๆ

ผลการสังเกตอย่างละเอียด นกที่พบ คือ นกเขาเขียว จุดสังเกตสำคัญ คือปากสีแดง ต่างจากนกเขาเปล้า ธรรมดา ที่ปากสีเหลืองแกมเขียว เอาจุดเดียวก็แล้วกันนะ เพราะส่วนใหญ่เรามักพบนกชนิดนี้ในเวลาสั้นนิดๆ โดยเฉพาะตอนเช้า ๆ หรือตอนเย็น ๆ

วันศุกร์, พฤษภาคม 22, 2552

กระสุนพระอินทร์


กระสุนพระอินทร์เป็นกิ้งกือชนิดหนึ่ง ลำตัวยาวประมาณหนึ่งนิ้วครึ่ง ปล้องมีลักษณะโค้งนิดๆ
อำพรางตัวเพื่อระวังภัยโดยการขดตัวเป็นก้อนกลมเหมือนลูกกระสุน จึงได้ชื่อว่า กระสุนพระอินทร์

นับเป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่แปลก ซึ่งอาจพบได้ในป่าธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น สัตว์ที่ชอบขดตัวนอกจากกิ้งกือกระสุนพระอินทร์แล้ว ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกชนิดหนึ่งที่ขดตัวเป็นก้อนกลมเมื่อมีภัยสัตว์ชนิดนั้นก็คือ ตัวลิ่น ลิ่นมีขนาดลำตัวไปถึงหางยาวประมาณ 100 เซนติเมตร เมื่อขดตัวแล้วเป็นก้อนกลมเหมือนลูกฟุตบอล

การขดตัวเป็นการระวังภัยจากสัตว์อื่นๆ ได้ แต่เป็นการระวังภัยที่ใช้ไม่ได้กับมนุษย์ผู้มีสมอง เว้นแต่คำพิพากษาของมนุษย์ว่า...... เมตตา หรือ ประหาร

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 21, 2552

สัญญาณดิบ

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวเกี่ยวกับสัตว์ป่าคือหมีควายที่ออกมาทำร้ายคนถึงแก่ชีวิตบริเวณเขตชุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง รายละเอียดไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมหมีควายจึงออกมาไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัย และทำไมต้องทำร้ายคนถึงแก่ชีวิต
ผลจากการกระทำของหมีควายตัวนั้น ไม่รู้ว่าเหตุเกิดจากอะไร... ไม่มีใครสนใจอยากจะรู้ด้วยซ้ำ
แต่สิ่งที่หมีควายตัวหนึ่งและเพียงตัวเดียวได้รับ เป็นความรักพวกพ้องของมนุษย์ที่เรียกสัญชาตญาณดั่งเดิมที่ฝังอยู่ในรากเหง้าโครโมโซม ให้ไปหยิบอาวุธเข้าประหารเจ้าหมีควาย เป็นอาวุธที่มิใช่เป็นเพียงเขี้ยวเล็บเหมือนของหมีควาย แต่เป็นอาวุธปืนทั้งหมดกว่า 300 กระบอก หมีควายถูกสังหารนับได้ไม่น้อยกว่า 60 นัด
แหล่งข่าวรายงานว่าซากเจ้าหมีควายถูกกระทืบซ้ำ ความรักของมนุษย์ที่มีต่อพวกพ้องมีเกินกว่าสัตว์ใด ๆ ในโลกนี้

วันพุธ, พฤษภาคม 20, 2552

ย่านางแดง กับนกกินปลีอกเหลือง


“ย่านางแดง” เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง คล้ายเถากระไดลิงแต่เถาไม่คดและแบนเท่าเถากระไดลิง เหตุที่เขียนถึงย่านางแดง เพราะเข้าใจไขว้เขวว่าย่านางแดงเป็นเถากระไดลิงจากข้อมูลที่ได้รับมาคลาดเคลื่อนนั่นเอง
ย่านางแดงมีชื่อเรียกอื่นว่า เถาขยัน ขยาน(อ้างอิงจาก http://plantlovers.multiply.com/)
ก็เรียกกัน ยอดอ่อนของย่านางแดงกินเป็นผักสดได้ คนภาคเหนือนำมากินแกล้มลาบซึ่งเป็นกับข้าวหลักที่นิยม ดอกของย่านางแดงออกเป็นช่อบานช่อยาวถึง 100 เซนติเมตร บานจากโคนไปสู่ปลายช่อ แต่ละดอกที่ทยอยบานมีน้ำหวานอยู่ภายในทำให้นกชนิดที่ชอบกินน้ำหวานขนาดเล็ก ๆ ในตระกูลนกกินปลี มาเฝ้าอยู่บริเวณต้นไม้ที่มีย่านางแดงเกาะพันและบานดอก เหตุเพราะย่านางแดงบานดอกนานอาจถึง 2-3 เดือนทำให้นกกินปลีสามารถทำรังและเลี้ยงลูกในบริเวณนั้นได้เลย
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบ นกกินปลีอกเหลือง นกกินปลีดำม่วง นกกินปลีคอสีม่วง บริเวณต้นไม้ที่มีเถาย่านางแดงอยู่

วันอังคาร, พฤษภาคม 19, 2552

วัยทองหรือวัยเฒ่า

ดูช่างเงียบ ดูจะเหงา ดูเศร้าสร้อย
ดูใจลอย ล่องไป ในทุกหน
ดูเบื่อหน่าย อย่างไร ดูชอบกล
ดูเหมือนคน ไร้สุข ทุกค่ำเช้า
จะบอกไป ให้ใคร ได้รับรู้
ความหดหู่ เหี่ยวใจ ให้อายเขา
คงเป็นเพราะ วัยทอง ของตัวเรา
หรือวัยเฒ่า น่าเบื่อ เหลือทานทน

19 พ.ค. 52

ผีเสื้อถุงทองธรรมดาในสวนสมุนไพร


ถุงทองธรรมดาเป็นผีเสื้อขนาดใหญ่กางปีกได้ถึง 150-170 มิลลิเมตร ความสวยงามของผีเสื้อถุงทองธรรมดาจัดอยู่ในอันดับ “ผีเสื้อราชินีป่าสยาม” เชียวแหละ ชื่อภาษาอังกฤษของเขาคือ Golden Birdwing หากแปลเป็นภาษาไทยกลายเป็น “เจ้านกปีกทอง”แสนสวย นิสัยถุงทองธรรมดาชอบบินช้า ๆ บินสูงจากพื้น 3-4 เมตร บินไปตรงโน้น ไปตรงนี้ เฉิดฉายไปมา ไม่ค่อยมีศัตรู นกไม่ชอบกินเพราะตัวเหนียวมียาง ผีเสื้อถุงทองธรรมดาหาดูได้ยากขึ้นในปัจจุบัน ด้วยพืชอาหาร เช่นกระเช้าสีดา กระเช้าถุงทอง ถูกทำลายหรือมีน้อยลงในธรรมชาติ
วันนี้โชคดีพบถุงทองธรรมดาบินในสวนสมุนไพรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว คงบินมาขอบคุณคณะนักวิชาการศึกษาที่ไปร่วมงานเทศกาลดูผีเสื้อ ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดาที่เพิ่งจบลงกระมัง
บันทึกภาพโดย กานต์ จำจด นักวิชาการศึกษา นับเป็นผีเสื้อตัวแรกที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว บันทึกไว้

วันจันทร์, พฤษภาคม 18, 2552

เถากระไดลิง ฤาไฉน

























นักพฤกษศาสตร์ช่วยยืนยันด้วยนะครับ ว่าเถาไม้ที่เห็นใช่เถากระไดลิงหรือไม่..โปรดส่งสารที่ http://padupacamp@gmail.com ขอบคุณนะครับ....แท้ที่จริงแล้วคือเถาขยันหรือ ย่านางแดง ยอดอ่อนกินเป็นผักได้ข้อมูลจาก http://plantlovers.multiply.com

สัตว์ป่านักปลูกป่า


วันที่ 15-17 พฤษภาคม 2552 จังหวัดสระแก้วจัดงานเทศกาลดูผีเสื้อที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ปีนี้ดูคึกคักทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนขานรับกิจกรรมกันอย่างสอดคล้อง
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้วก็ไม่นิ่งดูดาย ส่งทีมนักวิชาการศึกษาพร้อมรถอุปกรณ์นิทรรศการธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม ลงศึกษาธรรมชาติเก็บข้อมูลการจัดกระบวนการเรียนรู้ของงานเทศกาลดูผีเสื้อ ก่อนถึงวันงานจริง ๆ คณะได้เดินศึกษาสำรวจธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดาพบทั้งสัตว์เล็ก ๆ เช่น กระสุนพระอินทร์ซึ่งเป็นกิ้งกือชนิดหนึ่งเมื่อถูกตัวจะม้วนเป็นก้อนกลมกลิ้งได้ พบไก่ป่าหูขาว พบนกต่าง ๆ เช่น เขียวก้านตอง โพระดกหูเขียว ขุนแผน กินปลีอกเหลือง ปรอดเหลืองหัวจุก เขาเขียว จาบคาเคราสีน้ำเงิน พบร่องรอยสัตว์ป่า (รอยตีน)เช่น เก้ง กระทิง หมูป่า ช้างป่า โดยเฉพาะช้างป่า นอกจากจะพบรอยตีนแล้ว ยังพบมูลช้างป่าที่กินลูกไม้แล้วถ่ายไว้จนลูกไม้เจริญเติบโต โดยได้ปุ๋ยจากมูลช้างป่านั่นเอง
ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในป่าบนโลกเรามาช้านานแล้ว สัตว์เกือบทุกชนิดรู้คุณของโลกที่ตนอยู่อาศัยเมื่อได้ประโยชน์จากโลกก็ตอบแทนบุญคุณโลก ดังเช่นกรณีช้างป่าได้กินได้อยู่ในธรรมชาติก็ปลูกป่าคืนให้ธรรมชาติเป็นการตอบแทน มนุษย์เราคิดและทำบ้างหรือไม่

นกจาบคาเคราน้ำเงิน ที่ปางสีดา


เวลาประมาณทุ่มกว่าแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาพร้อมคุณกำพลนักดูนกและคณะ นำรถปิคอัพมารับที่บ้านพักเพื่อพาไปส่องสัตว์ ด้วยมีรายงานมาว่าช้างป่าลงกินดินโป่ง เส้นทางส่องสัตว์ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จากบ้านพักกิโลเมตรที่ 20 ไปสิ้นสุดที่จุดชมวิว รถขับไปเรื่อย ๆ คนส่องไฟ spotlight ก็ทำหน้าที่ ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง บนต้นไม้สูงบ้าง รถวิ่งไปได้ ประมาณ 3 กิโลเมตร บนถนนที่สูงขึ้นไปประมาณ 4 เมตร มีกิ่งไม้แห้งยื่นออกมากลางถนน ภาพผ่านเข้ามาในเงาแสง Spotlight เป็นนกเกาะกิ่งไม้แห้งหลับอยู่ คนส่องไฟส่งสัญญาณให้คนขับรถ ค่อย ๆ ถอยหลังมาจนได้ระยะที่เหมาะ เมื่อไฟส่องชัดเจนภาพที่เห็นคือ แม่นกจาบคาเคราน้ำเงินพร้อมลูก ๆ อีกสามตัวเกาะกิ่งไม้หลับนิ่ง ๆ บางครั้งอ้าปากแหงนหน้าขึ้นบนท้องฟ้าลักษณะคล้ายหาว...แม่กับลูกหันหน้าไปฝั่งตรงข้ามกัน จากนั้นเสียงลั่นชัตเตอร์กล้อง 4 กล้องดังเป็นข้าวตอกแตก
เมื่อได้ภาพพอใจแล้วพวกเราทุกคนก็จากมา จาบคาเคราน้ำเงินแม่ลูกยังคงหลับต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นภาพแห่งความสุขนะ

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 14, 2552

นักรีไซเคิลตัวจริง


ผลิตผลจากความชาญฉลาดของมนุษย์ในศตวรรษที่ผ่านมา (คศ.2000) เกิดขึ้นอย่างมากมาย บางครั้งดูว่าเป็นความฉลาดที่คิดได้แต่สุดท้ายเหมือนจะจบลงด้วยความโง่เสียมากกว่า
ดั่งเดิมผลิตผลที่มนุษย์คิดทำขึ้นใช้ในการดำรงชีวิตเมื่อใช้จนหมดอายุแล้วทุกอย่างจะกลับคืนสู่ธรรมชาติได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่นใบตองห่อข้าว กระดาษห่ออาหาร ปิ่นโตใส่อาหาร (เหล็กเคลือบ) ถุงผ้า (ถุงเป๋อหรือย่ามของชาวเหนือ)ทุกอย่างย่อยสลายได้ แต่ปัจจุบันผลิตผลเกือบทุกอย่างดูดี ใช้ง่าย สะดวกแต่บอกเวลาของการย่อยสลายแทบไม่ได้ หมายความว่าย่อยสลายยากเช่น ถุงพลาสติก โฟมชนิดต่างๆ จึงเกิดปัญหาขยะไปทั่วโลก หลายชาติหาที่ทิ้งขยะไม่ได้ก็แอบเอาขยะมาทิ้งกลางทะเลที่เป็นกลางบ้าง ทิ้งในทะเลเพื่อนบ้านบ้างเป็นข่าวอยู่เสมอ
ทุกอย่างมีที่มา ที่ไป มีเหตุมีผล เพียงแต่ว่าจะเริ่มแก้ไขที่ไหนดี จะแก้ที่ผลของเหตุที่เกิดแล้ว หรือจะแก้ที่เหตุเพื่อไม่ให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา
สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง(คนเก็บขยะ)ได้เริ่มแก้ไขแล้วแม้ว่าเป็นการแก้ไขเพื่อปากท้องของตนก็ตาม ก็นับว่ามีส่วนคือการคัดเลือกขยะเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้งหรือหลายครั้ง ที่เรียกว่า “Recycle” นั่นเอง.

วันพุธ, พฤษภาคม 13, 2552

คลองหมากเม่า







“คลองหมากเม่า” เป็นคลองเล็ก ๆ ยาวประมาณ 200 เมตร เป็นคลองขุดเพื่อกันเขตที่ตั้งของศูนย์วิทย์ ฯ สระแก้ว ที่เรียกคลองหมากเม่าเพราะพบต้นหมากเม่ากำลังเติบโตตามธรรมชาติตลอดคลอง นับดูมีจำนวนถึง 36 ต้น ปีนี้ (2552) ต้นหมากเม่าเริ่มออกผลเป็นปีแรก ในอนาคตคลองหมากเม่าจะเป็นแหล่งอาหารของนกกินผลไม้และสัตว์กินผลไม้ เช่น กระรอก กระแต อย่างแน่นอน
หมากเม่ามีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง อันดับแรกหมากเม่าเป็นผลไม้รสเปรี้ยวอมหวานนิด ๆ ฝาดหน่อย หมากเม่าจึงเป็นสมุนไพรมีคุณสมบัติเป็นยาระบายและบำรุงสายตาเพราะมีวิตามิน C (ผลไม้รสเปรี้ยว) จากงานวิจัยพบว่า หมากเม่ามีวิตามิน B1 B2 C และวิตามิน E
จากข้อมูล Website http://hs4is.multiply.com/ ระบุว่ามีผลงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับหมากเม่า เช่น
กัมมาลและคณะ (2546) ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ของสมุนไพรไทย 5 ชนิด ได้แก่ หมากเม่า ฟ้าทลายโจร หญ้าแห้วหมู ผักเป็ดแดง และสายน้ำผึ้ง พบว่า หมากเม่า สายน้ำผึ้งและหญ้าแห้วหมู มีศักยภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV ได้
สรุปว่า หมากเม่ามีคุณค่าต่อสัตว์ต่อมนุษย์ทั้งเรื่องอาหารและยารักษาโรคน่าสนใจไหม

วันอังคาร, พฤษภาคม 12, 2552

เถากระไดลิงกับนกกินปลี






ในสวนสมุนไพรซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้ฐานหนึ่งของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว มีต้นไม้เถาชนิดหนึ่งเรียกว่า “เถากระไดลิง” ในข้อมูลจากพจนานุกรมบอกว่าเถากระไดลิงมีดอกที่ยอดเป็นสีขาว แต่ที่ศูนย์วิทย์ฯ สระแก้ว เถากระไดลิงมีช่อดอกยาว ๆ สีแดงดอกบานติดต่อกันนับเวลาเป็นเดือนๆ เพราะแต่ละช่อดอกทยอยบานไล่กันคล้าย ๆ กับดอกกล้วยไม้ตระกูลหวาย การที่เถากระไดลิงบานดอกในเวลาที่ต่อเนื่องทำให้นกประเภทกินน้ำหวาน เช่น นกกินปลี มาอยู่ มากิน มาเลี้ยงลูกที่ต้นไม้บริเวณที่เถากระไดลิงบานดอกอยู่ และจากการสังเกตยังพบว่านกกินปลีกินแมลงตัวเล็กๆเช่น แมลงเม่าด้วยเช่นกัน
นักวิชาการศึกษาของศูนย์วิทย์ฯ สระแก้ว จึงใช้โอกาสนี้ศึกษาชีวิตนกกินปลีชนิดต่าง ๆ เช่น กินปลีอกเหลือง กินปลีดำม่วง ทั้งเพศผู้ เพศเมียและลูกนก พร้อมฝึกการใช้ Binoculars และ Telescope การถ่ายภาพผ่าน Telescope ไปพร้อม ๆ กัน
บางครั้งโอกาสก็อยู่ใกล้เราจนทำให้เราเกือบมองไม่เห็น เราคงต้องเรียนรู้ที่จะมองทุกสิ่งทุกอย่างใกล้ ๆ ตัวเพื่อเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติตามความเป็นจริง (หมายเหตุ ได้ตรวจสอบแล้วต้นไม้ไม่ใช่เถากระไดลิงแต่เป็นเถาขยันหรือย่านางแดง ยอดอ่อนกินเป็นผักสดได้)

วันจันทร์, พฤษภาคม 11, 2552

ร่องรอยวิถีชุมชนบ้านนาข่า


หากใครได้มีโอกาสไปจังหวัดอุดรธานี แหล่งหนึ่งที่นักเดินทางไม่เคยพลาดเห็นจะเป็นชุมชนบ้านนาข่า ที่นี่เป็นสถานที่ผลิตผ้าไหมและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยชาวบ้านนาข่า ซึ่งมีให้เลือกหลายร้านทั้งสองฝั่งถนน ในราคายุติธรรม (ถูกมาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่กรุงเทพฯ) ผ้าไหมกับชุมชนนาข่าเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน
จังหวัดอุดรธานีเมื่อผ่านไปทางไหนต้องพบเห็นพญานาคเต็มเมืองไปหมด ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกสถานที่ก็มีพญานาค ไฟส่องทางริมถนนก็มีพญานาค น้ำพุวงเวียนก็มีพญานาค ใกล้ๆ หมู่บ้านนาข่ามีวัดอยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดนาคาเทวี ที่ซุ้มประตูระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่าอยู่ตำบลบ้านนาข่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ฟังชื่อวัดแล้วน่าจะเกี่ยวพันกับพญานาคจึงชื่อว่า นาคาเทวี
วัดแห่งนี้มีต้นยางขนาดใหญ่อยู่หลายต้นขนาดอาจถึง 4-5 คนโอบคะเนว่าน่าจะมีอายุ 100-150 ปี ต้นไม้ใหญ่ขนาดนี้เป็นเหมือนหลักศิลาจารึกที่บอกเรื่องราวในอดีตได้ หากเราพยายามสังเกตอย่างละเอียด อย่างกรณี ต้นยางที่อยู่ในวัดนาคาเทวีมีร่องรอยถูกขุดที่โคนต้นเป็นแผลเป็น มีรอยใช้ไฟสุมในต้นยางแต่ละต้นมีแผล 2-3 แห่ง กาลเวลาผ่านไปต้นยางพยายามปิดแผลเป็นแต่ก็ปิดได้ไม่หมด จึงทำให้เราทราบได้ว่าเมื่อ 50-60 ปีก่อนชาวชุมชนบ้านนาข่าได้อาศัยน้ำมันยางจากต้นยางในวัดเหล่านี้เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงและทิ้งร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนบ้านนาข่า

นกกินปลีดำม่วงที่ศูนย์วิทย์สระแก้ว




นกกินปลีดำม่วง (Purple Sunbird)

คุณกำพล บุญชูสว่าง ภูมิปัญญาท้องถิ่นการดูนกซึ่งท่านให้ความกรุณาเป็นวิทยากรนำดูนกในกิจกรรมค่ายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้วเสมอ ๆ รายงานว่าพบนกกินปลีดำม่วง ในบริเวณศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว และคาดว่านกต้องทำรังเลี้ยงลูกบริเวณนี้ด้วยที่คาดเดาเช่นนี้เพราะมีดอกไม้ที่ให้น้ำหวานคือดอกเถากระไดลิงบานติดต่อกันนานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว
เช้าวันที่สิบเอ็ดพฤษภาคมเป็นวันพืชมงคล ขณะที่ยืนอยู่ริมหน้าต่างห้องทำงาน ใช้ telescope ของ Swarovski มองออกไปเห็นลูกนกกินปลีดำม่วงที่คุณกำพลรายงานไว้จริงๆเกาะต้นกระท้อนอยู่ จึงนำกล้องถ่ายรูปทาบเลนซ์ telescope ถ่ายภาพลูกนกกินปลีที่น่ารักไว้ได้ มองนาฬิกา เวลา 10.10 น. กด Altimeter ดูความสูงจากระดับน้ำทะเลบอก 110 เมตร
สรุปว่า พบนกกินปลีดำม่วงซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nectarinia asiatica ตัวเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 110 เมตร เวลา 10.10 น. วันที่ 11 พฤษภาคม 2552 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว อ.เมืองสระแก้ว

ตามรอยโครงกระดูกคนโบราณ



บ่ายของวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 คณะของเราลงสำรวจแหล่งน้ำที่อ่างเก็บน้ำเขาสามสิบ เพื่อวางแผนทำกิจกรรมนักสืบสายน้ำ ขยายผลลงสู่พื้นที่ระดับหมู่บ้าน ในวันที่ 27 – 28 พฤษภาคม 2552 จากการสืบหาข้อมูลในบริเวณนั้นพบว่าที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว มีโครงกระดูกของคนโบราณที่ชาวบ้านขุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก บางครั้งพบเครื่องใช้เครื่องประดับอยู่กับโครงกระดูกด้วย เช่น หม้อดิน ลูกปัดแบบต่างๆ คณะของเราจึงตามไปดูจากแหล่งข้อมูลที่ได้รับ
พบโครงกระดูกคนโบราณกองอยู่ในศาลาเล็กๆ เป็นโครงกระดูกชิ้นใหญ่ เช่น กระดูกแขน กระดูกขา และกะโหลก มีคนพิการนอนเฝ้าอยู่หนึ่งคน มาทราบภายหลังว่าเป็นหมอดู คนพิการที่เฝ้าอยู่นี้แนะนำว่า ถ้าต้องการรู้ข้อมูลเพิ่มให้ไปหา นายไหม ทูคำมี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแห่งนั้น เมื่อคณะได้พบปะพูดคุยกับ นายไหม ซึ่งอายุ 62 ปีแล้ว นายไหมเล่าเรื่องราวต่างๆ ประมวลแล้วเป็นตำนานที่ไม่มีหลักฐานใดยืนยันถึงการขุดพบสมบัติต่างๆ ในหลุมศพหรือใกล้โครงกระดูก แต่นายไหม มีลูกปัดร้อยเป็นพวง 4 – 5 เส้นมาให้ดู พร้อมบอกราคา เส้นละ 2,000 บาท ถึง 7 หมื่นบาท ลูกปัดที่นำมาให้ดูจริงหรือไม่ก็ยากพิสูจน์ทราบ ประเด็นที่ต้องการคือ การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของคนโบราณกลุ่มนี้ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เป็นคนโบราณอยู่ในช่วงเวลาใด อายุโครงกระดูกเท่าใด มีวัฒนธรรมอย่างไร เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ แต่การขุดโครงกระดูมากองไว้ดังที่ปรากฏ นับเป็นที่สะเทือนใจยิ่ง ควรจัดการกับโครงกระดูกของคนโบราณนั้นอย่างไรมิใช่กองไว้อย่างที่เห็น
หมายเหตุ ทุกอย่างมีทั้งจริงมีทั้งเท็จ ผู้ที่จะบอกได้ว่าเรื่องใดจริง เรื่องใดเท็จ มิใช่โครงกระดูกของคนโบราณ แต่เป็น ตาไหม ทูคำมี นั่นเอง

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 07, 2552

ต้นไคร้ ไม้ชลอน้ำ



ใครก็ตามที่มีภูมิลำเนาเกิดหรือมีชีวิตอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน หรือ แม้แต่บริเวณต้นน้ำนครนายก ที่รองรับน้ำจากป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะพบเห็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง สูงประมาณ 1-2 เมตร ขึ้นเป็นกอ เกาะซอกหินอยู่กลางแม่น้ำ ไม้ชนิดนี้ถูกน้ำท่วมก็ไม่ตาย น้ำไม่สามารภพัดพาไปได้ ต้นไม้ต้นนั้นคือ “ต้นไคร้” หรือ “ไคร้น้ำ”
ต้นไคร้เป็นต้นไม้ที่ทั้งเหนียวและทนทาน ต้นไคร้จึงมีคุณสมบัติเป็นเขื่อนธรรมชาติที่ชลอความเร็ว ความแรงของน้ำได้ เมื่ออดีต (40-50 ปีที่ผ่านมา) เด็กที่เกิดริมแม่น้ำ ที่มีต้นไคร้อยู่ จะได้ประโยชน์จากต้นไคร้โดยนำมาทำลูกข่าง เมื่อลูกข่างหมุน จะมีเสียงดัง หึ่ง...หึ่ง มีความเหนียวทนทานเมื่อนำไปเล่น ในฤดูหนาวอากาศเย็นจัดน้ำในแม่น้ำลดลง รากของต้นไคร้เป็นฝอยอุกอุย ปลากดตัวเหลืองๆ ไปนอนนิ่งใต้รากของต้นไคร้ เด็กๆ ใช้มือจับปลากดมาเป็นอาหารได้
ธรรมชาติมักสร้างสิ่งคู่กันไว้อย่างสมดุลเสมอ เช่น มีสายน้ำที่มีความเร็วจากความลาดชัน ก็มีพันธุ์ไม้ที่ช่วยชลอสายน้ำไว้ เพียงแต่มนุษย์พบเห็นและเข้าใจความเป็นจริงในธรรมชาติหรือไม่ ถ้าเข้าใจก็นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าไม่เข้าใจแล้วทำให้ธรรมชาติขาดสมดุล ก็อาจเกิดโทษได้เหมือนกัน เช่น การเกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนี้

นกกินเปี้ยวที่อู่ต่อเรือ



นกกินเปี้ยว(Collared Kingfisher) Todiramphus chloris ชื่อว่านกกินเปี้ยวฟังดูแล้วชื่อแปลกดีไหม ที่จริงแล้วนกกินเปี้ยวเป็นนกอยู่ในวงศ์นกกะเต็น (Kingfisher) นกในวงศ์นี้มีสีสันสดใสปากแหลมยาว ตัวป้อม ขาและหางสั้น กินปลาหรือสัตว์น้ำเป็นอาหาร บินได้รวดเร็ว กระพือปีกถี่ ๆ ได้บินตรงหรือทิ้งดิ่งได้ เช่นนกกะเต็นปักหลัก สำหรับนกกินเปี้ยวแล้วสีสันแตกต่างจากนกในวงศ์ไปบ้างคือด้านหลังและหัวเป็นสีฟ้าหรือฟ้าอมเขียว ท้องเป็นสีขาวที่เรียกนกกินเปี้ยวเพราะชอบกินปูเปี้ยวและปูก้ามดาบเป็นอาหาร ถิ่นอาศัยจึงเป็นบริเวณป่าชายเลนหรือริมตลิ่งของแหล่งน้ำ ในภาพนี้ถ่ายที่บริเวณอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บ้านเสม็ดงาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี สงสัยกินเปี้ยวคู่นี้งอนกันหรือเปล่าหันหลังให้กันเสียแล้ว

อู่ต่อเรือกองทัพเรือกู้เอกราช




การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หรือการบรรจุวิชาประวัติศาสตร์ให้อยู่ในหลักสูตร การเรียนรู้ นับเป็นความสำคัญยิ่งไม่ควรละทิ้งเพราะประวัติศาสตร์เป็นรากฐานของความเชื่อมั่นความทระนงที่ทำให้คนมีที่มา ที่ไป เริ่มจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน ประวัติของบุคคลสำคัญที่ทำความดีเป็นแบบอย่าง เช่น ความเก่ง ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความรักชาติ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนมีรากเหมือนต้นไม้ที่มีราก ถ้ามีรากแก้วยิ่งไม่ไหวเอน ชาติจึงมั่นคงอยู่ได้ ที่บ้านเสม็ดงาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี มีสถานที่สำคัญและเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของชาติไทยคืออู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ.2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมขุนทหาร แม่ทัพ นายกอง ได้ใช้บริเวณคุ้งทะเลของบ้านเสม็ดงามแห่งนี้เป็นสถานที่ต่อเรือรบนับร้อยลำ เพื่อเป็นกองทัพเรือไปกู้ชาติในครั้งนั้นนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกหน้าเดียว ที่กองทัพเรือกู้เอกราชให้ชาติไทยได้สำเร็จร่องรอยที่มีอยู่ให้ชนรุ่นหลังตามรอยศึกษาคือซากเรือที่ต่อไม่เสร็จจมอยู่ในน้ำที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้และต้นตะเคียนยักษ์ยาวกว่า 34 เมตร ที่ยังไม่ได้ขุดทำเรือแต่ต้องรีบเดินทางก่อน ด้วยเวลาและโอกาสอำนวยแล้ว (ผ่านพ้นฤดูมรสุม) และพระองค์กู้ชาติได้สำเร็จ
ทุกประวัติศาสตร์มีคุณค่าให้เรียนรู้ศึกษาเพื่อจรรโลงเผ่าพันธุ์ความเป็นไท ของคนไทยสืบนานเท่านาน ทุกคนต้องศึกษาเรียนรู้

วันศุกร์, พฤษภาคม 01, 2552

ผ้าขาวม้าหรือผ้าฆ่าม้า


การลงไปในพื้นที่ได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านนับว่าเป็นผลดี ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ซึ่งปกติธรรมดาเราไม่สามารถรู้ได้ บางเรื่องก็ดีมีประโยชน์ บางเรื่องก็โหดร้าย กรณีตัวอย่างเช่นเรื่องราวที่ “ครูอู๊ด”แห่งบ้านหนองชาดเล่าให้ฟังเกี่ยวกับม้าดังต่อไปนี้
ครูอู๊ด เล่าว่า ม้าเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณของการหลบหลีก เป็นสัญชาตญาณที่มีมาแต่กำเนิดของสัตว์ชนิดนี้ ชาวบ้านเมื่อจะฆ่าม้าแม้ผูกล่ามแล้วจะใช้ค้อนทุบก็ไม่สามารถจะทุบให้ตายได้ง่าย ๆ เพราะม้าจะหลบหัวไม่ให้โดนทุบ ชาวบ้านจึงนำผ้าขาวม้ามาผูกตาม้าเมื่อม้ามองไม่เห็น อวสานชีวิตจึงเกิดขึ้นกับม้าผู้น่าส่งสาร นับเป็นเรื่องจริงที่เศร้ามาก
ผ้าขาวม้ามีประโยชน์ต่อคนอย่างอเนกอนันต์ แต่กลับกลายเป็นโทษถึงชีวิตสำหรับม้าเพื่อนร่วมโลกของเรา “ผ้าขาวม้าจึงกลายเป็นผ้าฆ่าม้า” ไปได้