วันอังคาร, กันยายน 30, 2551

ประวัติศาสตร์การเกิด"วงแหวนสุริยะ"ที่ควรจดจำ

วันที่สิบแปดสิงหาคมสองพันสี่ร้อยสิบเอ็ดถ้านับถึงปีนี้ก็นับได้ถึง 140 ปีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปีว่า“จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอจังหวัดประจวบคีรีขันธ์” และเหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นจริง ความสวยงามที่ถูกบันทึกไว้ด้วยภาพถ่ายคือภาพวงแหวนสีทองมีหัวเป็นเพชรขนาดใหญ่สว่างไสวอยู่บนฟากฟ้าภาพถ่ายนี้จึงเป็นตราสัญลักษณ์ของ “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ” มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนจังหวัดสระแก้ว มีการบันทึกข้อมูลไว้ว่าเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ณ อำเภอตาพระยาเมื่อวันที่ยี่สิบสี่ตุลาคม สองพันห้าร้อยสามสิบแปด เวลาสิบนาฬิกาห้าสิบห้านาที สามสิบสองวินาที ภาพที่ปรากฏเป็น“วงแหวนสุริยะ” ที่สวยงามผู้บันทึกภาพได้มอบภาพถ่ายให้ “ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว” ไว้เป็นที่ระลึก ณ ตึกอำนวยการให้ทุกคนได้ชม

ในวันที่หนึ่งตุลาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( 1 ตุลาคม 2411 )ชาวศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจากทั่วประเทศวางพวงมาลาสักการะ

วันจันทร์, กันยายน 29, 2551

"บ้านดิน"ศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติ

ในอำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว มีแหล่งการเรียนรู้แห่งหนึ่งที่จัดว่าสำคัญยิ่งเพราะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีเอกลักษณ์ซึ่งสามารถบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ แหล่งการเรียนรู้ที่กล่าวถึงนั้นคือ “บ้านดินศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติ”

ความเป็นมาของบ้านดินศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติเริ่มต้นจาก ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดสระแก้วโดยมี คุณสมิตร เย็นสบาย เจ้าของที่ดินแห่งนี้เป็นแกนนำก่อตัวให้ใช้ที่แห่งนี้เป็นฐานเรียนรู้อบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจากการพูดคุยกับวิทยากรประจำศูนย์ คุณสุเวช คำเดชะ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวว่า หลักสูตรการอบรมของบ้านดินศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติต้องเป็นระยะเวลา 4 คืน 5 วัน เพราะมีฐานการเรียนรู้ทั้งสิ้น 9 ฐานเรียนรู้ รุ่นหนึ่งๆรับได้ 70-80 คน ฐานการเรียนรู้แต่ละฐานมีความสำคัญยิ่ง เช่น ฐานบ้านดินเป็นการเรียนรู้การนำดินเหนียวมาทำบ้านให้ผู้เข้าอบรมได้อยู่อาศัย เป็นต้น นอกจากฐานบ้านดินแล้ว ยังมีฐานต่างๆดังนี้ ฐานวิถีชาวนา ฐานคนรักแม่พระธรณี ฐานหมูหลุม ฐานคนเอาถ่าน ฐานคนมีน้ำยา ฐานสมุนไพรใกล้บ้าน ฐาน Bio-gas ฐาน Bio –diesel เมื่อซักถาม คุณสุเวช คำเดชะ ว่าองค์ความรู้ที่ให้กับเกษตรกรผู้มาอบรมนั้นได้กล่าวถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ คุณสุเวช คำเดชะ ตอบว่า “ ยังครับอยากให้ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษามามีส่วนร่วมในกิจกรรมแห่งนี้ด้วยครับ”

สรุปว่า แหล่งการเรียนรู้บ้านดินศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติแห่งนี้ควรเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่บูรณาการภูมิรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชนผู้มาเรียนรู้

My son go inter....

มีลูกชายคนเดียวบุคลิกเขาสุขุมเยือกเย็นอารมณ์ขันนิดๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยานใช้จ่ายระมัดระวังจะซื้อของอะไรเลือกมากต้องเป็นของดีของแพงแต่ซื้อให้ได้ในราคาถูก สมบัติจึงมีไม่มากมีกางเกงยีนส์เก่าๆ 2 ตัว แจ๊กเก็ตเท่ห์ๆ หนึ่งตัว รองเท้าไอ้เข้ (จระเข้) หนึ่งคู่ เสื้อยืดยี่ห้อที่คิดไม่ถึงซักห้าหกตัว กางเกงขาสั้นตัวโปรดจากจตุจักร รองเท้าแตะนิ้วคีบสีดำๆ เป้และกล้อง canon 450 D พร้อมอุปกรณ์ครบครัน นาฬิกาก็ไม่ใช้ เขาบอกว่าดูเวลาจากโทรศัพท์เอา ชอบงานศิลปตั้งแต่เล็กๆ เคยไปดูช่างปั้นดินที่ด่านเกวียนนครราชสีมา เคยปั้นช้างจากดินน้ำมันตัวเท่าหัวไม้ขีดไฟมาให้พ่อดู....ไม่เคยคิดจะไปต่างประเทศ...อยู่เมืองไทยนี่แหละดีละพ่อทำงานบริษัทฝรั่งออกแบบ Website ใช้เงินดอลล่าร์ อยู่ 5-6 เดือน ฝรั่งบอก “you go inter....” เมื่อวานนี้ลูกโทรศัพท์มาจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย “Hallo daddy” อ้าว My son go inter.... ซะแล้ว ถามไปว่า “ How are you” ลูกชายบอกว่าโคตร Advance เลยพ่อ

วันจันทร์, กันยายน 22, 2551

Solar cell ที่คลองช่องกล่ำ




จะมีใครรู้บ้างไหมว่าจังหวัดสระแก้ว มีแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ เรื่อง การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่รู้จักในภาษาทับศัพท์ว่า “โซลาเซลล์ (solar cell )” ตั้งอยู่ที่ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้วสถานที่แห่งนี้เป็นโครงการทดลองเป็นโครงการพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้คนไทยทั้งประเทศได้ศึกษาทั้งในส่วนแก่นแท้ทางวิทยาศาสตร์และความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของชุมชน

จากการสอบถามสัมภาษณ์ นายสมพงษ์ ทิพย์โอสถ หัวหน้าสถานีพลังงานแสงอาทิตย์คลองช่องกล่ำ
กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว เป็นพื้นที่ทดลอง เรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์เพราะพื้นที่แห่งนี้ “ ดวงอาทิตย์มีองศาตกกระทบกับแผ่นดินเบี่ยงเบนน้อยที่สุด” หมายความว่าพื้นดินจะรับพลังงานแสงอาทิตย์เข้มตรงเต็มๆ สอดคล้องกับความเป็นไปของพื้นที่ ในส่วนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โครงการได้ทดลองแผงโซลาเซลล์หลายแบบเพื่อดูว่าแบบใด ทนทาน ราคาถูก เหมาะสมที่จะนำมาใช้งานกับประเทศไทยเรา

นอกจากแหล่งเรียนรู้แห่งนี้จะเป็นสถานที่ทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วยังเป็นสถานที่ทดลองต้นแบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากแหล่งเก็บน้ำคลองช่องกล่ำบน ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับการเรียนรู้ของคนไทยทุกคน

วันศุกร์, กันยายน 19, 2551

เป็ดก่า(White -Winged Duck)


นกเป็ดน้ำที่เราสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทย คงจะเป็น “เป็ดแดง” (Lesser Whistling-Duck) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่นกเป็ดน้ำที่หายากมาก และใกล้สูญพันธุ์ คือ “เป็ดก่า” (White-Winged Duck)
วันนี้ (15 ก.ย. 51) มีโอกาสไปศึกษาสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ได้เห็นเป็ดก่าที่มีชีวิตอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า รู้สึกดีใจ สุขใจ และหวังว่าในอนาคตจำนวนเป็ดก่าอาจเพิ่มขึ้นได้ในธรรมชาติ เมื่อการเพาะเลี้ยงและการวิจัยประสบความสำเร็จ จากการได้เห็นเป็ดก่าในกรง พบว่า สีสันและความมันวาวของขน ความสดใสและสุขภาพของเป็ดก่าดูดีมาก ลักษณะเด่นของเป็ดก่า คือ หัวและคอสีขาวมีจุดดำกระจาย ปากเหลืองหรือส้ม ลำตัวมองโดยรวมมีสีดำน้ำตาลเข้ม ด้านหลังมีสีเขียวน้ำเงิน ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ถิ่นที่พบคือลำธารและแหล่งน้ำในป่า สถานภาพปัจจุบันเป็นนกหายากและใกล้สูญพันธุ์
หนึ่งชีวิตที่สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ คือ ดัชนีชี้วัดการขาดสมดุลธรรมชาติ โปรดระลึกเสมอว่า “วันหนึ่งจะเป็นมนุษย์ หากยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของการสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้”

วันพฤหัสบดี, กันยายน 18, 2551

ละลุ(LALU)


คำว่า “ละลุ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ทะลุ” ชาวเขมรเรียกแผ่นดินที่ถูกน้ำกัดเซาะเป็นรูว่า “ละลุ” ในที่นี้ละลุเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองผักแว่น ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกี่ยวกับพื้นดินที่ทับถมกันอย่างรวดเร็วเมื่อหลายหมื่นปี ทำให้ดินบางส่วนจับตัวกันไม่แน่น เมื่อเวลาผ่านไปฝนตกน้ำซึมลงไปในส่วนล่าง ทำให้ดินที่ไม่แน่นไหลออกไปสู่ที่ต่ำ ส่วนดินที่แข็งก็ จับตัวเป็นแท่งลดหลั่นกันมองดูสวยงามน่าศึกษาเรียนรู้ ปรากฏการณ์ที่เกิด “ละลุ” เป็นไปอย่างช้า ๆ จากการพูดคุยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้นำชมเล่าว่าเขามองการเปลี่ยนแปลงของ “ละลุ” มาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา “ละลุ” ขยายพื้นที่ได้ไม่เกินหนึ่งเมตร เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี แสดงว่าปรากฏการณ์นี้เป็นไปอย่างช้า ๆ ผู้ที่รักการศึกษา หาความรู้ควรไปศึกษาธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกใบนี้ของเรา

วันพุธ, กันยายน 17, 2551

ต้นน้ำตก"ปางสีดา"


วันแรกของการเริ่มงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งใหม่ ขอเริ่มต้นการเรียนรู้ จากการเรียนรู้พื้นที่ลักษณะภูมิประเทศและธรรมชาติในพื้นที่รับผิดชอบก่อน เป้าหมายคือ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อ.เมืองสระแก้ว อุทยานแห่งนี้ มีชื่อเสียงที่มีผีเสื้อสวยงามเป็นจำนวนมากหลากหลายมีกลุ่มเยาวชนก่อตั้งเป็นกลุ่ม “รักผีเสื้อปางสีดา” ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เรื่องผีเสื้อเก็บไว้เขียนเมื่อเก็บข้อมูลได้มากกว่านี้ วันนี้ขอเขียนเรื่อง “ต้นน้ำตก” นะ เพราะไปพบ “ต้นน้ำตก” ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาแล้วรู้สึกกระทบใจตอนที่เป็นเด็ก คุณครูสอนว่า “แม่น้ำทุกสายที่พวกเราเห็นนั้นกว่าจะเป็นแม่น้ำได้จะต้องมีต้นน้ำหลาย ๆ ต้นน้ำไหลมารวมกัน ตอนเด็กสงสัยมากต้นน้ำมันเป็นอย่างไรไม่เคยเห็นซักที วันนี้พบแล้ว ต้นน้ำจริงๆ เป็นต้นน้ำตกปางสีดา ลักษณะขออธิบายประกอบภาพ องค์ประกอบของต้นน้ำคือมีป่าไม้ขึ้นอยู่บนภูเขาขนาดลดหลั่นกันไป ที่ชายเขามีตาน้ำผุดขึ้นจากดินขนาดเล็ก ๆ แล้วค่อยไหลลงสู่ที่ต่ำ ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นหลาย ๆ แห่งก็เรียกว่าต้นน้ำหลาย ๆ ต้นน้ำไหลรวมกันกลายมาเป็นต้นน้ำตก “ปางสีดา” ให้เราชื่นชมความสวยงาม ความชุ่มฉ่ำในอุทยานแห่งชาติแห่งนี้
นอกจากต้นน้ำแล้วในธรรมชาติยังมีสิ่งที่เราควรค้นหาอีกมากมายเราไปเรียนรู้ด้วยกันนะ

วันอังคาร, กันยายน 16, 2551

เส้นทางเสด็จสมเด็จของปวงชน

นับเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่เส้นทางสายเรียบคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี ผ่านอำเภอองค์รักษ์ อำเภอบ้านนา สู่บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หรือ อีกชื่อหนึ่งที่ประชาชนเรียกชื่อเดียวกันคือ “โรงเรียนนายร้อย จปร.” เป็นเส้นทางเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระอาจารย์ของนักเรียนนายร้อยทุกคน ถ้านับจำนวนครั้งที่พระองค์เสด็จมาสอนคงมากกว่าหนึ่งพันครั้ง พระองค์เป็นทั้งครูผู้สอนสั่งเป็นทั้งแบบอย่างวิธีการเรียนรู้ พระองค์ซักถามจดบันทึกนำไปเขียนหนังสืออันทรงคุณค่ามากมายให้ชาวไทยได้อ่าน พระองค์นำทำถึงฤดูฝนดำนาปลูกข้าว ฤดูหนาว พระองค์เสด็จมาเก็บเกี่ยวทรงพระกรุณานำพาลูกศิษย์เรียนรู้วีถีชีวิตของชุมชน ภูมิรู้ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในอนาคตทหารของชาติย่อมจะรักและเข้าใจประชาชนอย่างแท้จริง
ชาวนครนายกทุกคนนับเป็นผู้มีบุญที่ได้รับพระเมตตาจากพระองค์ท่าน ครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสถวายรายงาน เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมและการดำรงอยู่ของไทยพวนอำเภอปากพลีแด่พระองค์ท่านก็นับเป็นความภูมิใจสำหรับตนเองและวงค์ตระกูลไปตลอดชีวิตแล้ว